โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

หวั่นซ้ำรอย "สายสีม่วง" รฟม.รื้อประมาณการผู้โดยสาร ปรับลด 4 เท่าตัวทุกเส้นทาง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 20 มิ.ย. 2562 เวลา 03.21 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 03.20 น.
rea02200662p2

ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะนำมาคำนวณ “ราคาตั๋ว” ของรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทาง

แม้ว่าการที่ในปีแรกผู้โดยสารไม่เป็นตามประมาณการที่คาดไว้ จะถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดแล้ว อาจจะเป็นเพราะมีการตั้งเป้าผู้โดยสารสูงเกินจริงหรือไม่ เพื่อให้โครงการมีความคุ้มค่าและได้รับการอนุมัติโครงการโดยง่าย

ย้อนดูรถไฟฟ้าบีทีเอสสายแรกของประเทศไทยได้ออกวิ่งวันที่ 4 ธ.ค. 2542 มีคนใช้ 150,000 เที่ยวคน/วัน จากเป้า 500,000 เที่ยวคน/วัน กว่าจะมาถึงจุดพีกทะลุ 6-7 แสนเที่ยวคน/วัน ต้องใช้เวลานับ 10 ปี

ด้านสายสีน้ำเงินช่วง “หัวลำโพง-บางซื่อ” รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย เปิดบริการวันที่ 3 ก.ค. 2547 มีผู้โดยสารเฉลี่ย 154,360 เที่ยวคน/วัน ปัจจุบันอยู่ที่ 327,177 เที่ยวคน/วัน ยังไม่ถึงเป้าที่ “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” คำนวณไว้ 423,000 เที่ยวคน/วัน ก่อนจะตัดสินใจลงทุนโครงการนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว

สายสีแดงช่วง “พญาไท-สุวรรณภูมิ” หรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดบริการวันที่ 4 ม.ค. 2554 จากผู้โดยสารช่วงแรก 30,000 เที่ยวคน/วัน ต่ำจากเป้า 90,000 เที่ยวคน/วัน และไต่ขึ้นแตะ 95,771 เที่ยวคน/วันในปัจจุบัน

ที่น่าจะเป็นบทเรียนคือสายสีม่วง ช่วง “เตาปูน-คลองบางไผ่” ที่เปิดบริการวันที่ 6 ส.ค. 2559 มีคนนั่งโหรงเหรง 20,750 เที่ยวคน/วัน ต่ำจากเป้า 120,000 เที่ยวคน/วัน

แต่พลันที่รัฐบาลรันการเดินรถ 1 สถานีที่เป็นฟันหลอเชื่อมต่อระหว่าง “สถานีเตาปูน” ของสายสีม่วงกับ “สถานีบางซื่อ” ของสายน้ำเงินสำเร็จในวันที่ 11 ส.ค. 2560 ทำให้ผู้โดยสารดีดขึ้นเป็น 26,073 เที่ยวคน/วัน จากนั้นก็เพิ่มทุกปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 51,548 เที่ยวคน/วัน ยังห่างจากเป้าที่ปรับใหม่ 73,443 เที่ยวคน/วัน

เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่าตัวเลขประมาณการของ “บริษัทที่ปรึกษา” ไม่สะท้อนความเป็นจริงอย่างมโหฬาร

จากกรณีของสายสีม่วง ทำให้ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ได้รื้อเป้าปริมาณผู้โดยสารใหม่ในทุกเส้นทางที่อยู่ในความรับผิดชอบ

ยังไม่รู้ว่าตัวเลขที่ออกมาจะมากกว่าหรือน้อยกว่าตัวเลขที่ “กรมการขนส่งทางราง” มี “สราวุธ ทรงศิวิไล” เป็นอธิบดีคนแรก ซึ่งเครื่องร้อนเตรียมเขย่าเป้าผู้โดยสารใหม่ยกแผง

โดยร่วมกับ “ไจก้า-องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น” ให้อยู่บนโลกความเป็นจริงมากขึ้น เพราะผู้โดยสารในแผนแม่บทรถไฟฟ้า 10 เส้นทางสูงเกินจริงไปถึง 4 เท่าตัว

ส่องปริมาณผู้โดยสารที่ รฟม.ปรับใหม่ ในส่วนของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย “บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค” จะเปิดเต็มโครงข่ายวันที่ 31 มี.ค. 2563 อยู่ที่ 492,432 เที่ยวคน/วัน

สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วง “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” อยู่ที่ 334,722 เที่ยวคน/วัน ส่วนช่วง “แบริ่ง-สมุทรปราการ” ยอดผู้ใช้บริการจะไปรวมกับของบีทีเอส ซึ่งหลังเปิดใช้เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 97,000 เที่ยวคน/วัน

ด้านโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทยสายสีเหลือง “ลาดพร้าว-สำโรง” อยู่ที่ 145,900 เที่ยวคน/วัน สายสีชมพู “แคราย-มีนบุรี” อยู่ที่ 187,770 เที่ยวคน/วัน

สายสีส้ม “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” อยู่ที่ 121,599 เที่ยวคน/วัน สายสีม่วงช่วง “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” เมื่อเปิดบริการจะต่อเชื่อมกับสายสีม่วงไปคลองบางไผ่ ทำให้ผู้โดยสารอยู่ที่ 349,312 เที่ยวคน/วัน

สายสีน้ำตาล “แคราย-ลำสาลี” รถไฟฟ้าสายที่ 11 ในแผนแม่บท อยู่ที่ 218,547 เที่ยวคน/วัน

ขณะที่รถไฟฟ้าตระกูลสายสีแดงของ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ได้พยากรณ์ไว้จะมีผู้โดยสารนั่งสายสีแดงมีคิวจะเปิดในเดือน ม.ค. 2564 ช่วง “บางซื่อ-รังสิต” อยู่ที่ 376,000 เที่ยวคน/วัน และช่วง “บางซื่อ-ตลิ่งชัน” อยู่ที่ 96,000 เที่ยวคน/วัน

ด้านสายในอนาคตที่จะเริ่มก่อสร้างหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว มีส่วนต่อขยายสายสีแดงช่วง“รังสิต-ธรรมศาสตร์” อยู่ที่ 28,150 เที่ยวคน/วัน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา อยู่ที่ 47,570 เที่ยวคน/วัน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช อยู่ที่ 55,200 เที่ยวคน/วัน และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก (missing link) อยู่ที่ 28,150 เที่ยวคน/วัน

ปัจจุบันรถไฟฟ้าที่เปิดบริการ 4 สาย มีผู้ใช้บริการรวมกันอยู่ที่กว่า 1.52 ล้านเที่ยวคน/วัน แต่เมื่อเปิดบริการครบทุกเส้นทางคาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการอยู่ที่กว่า 2.848 ล้านเที่ยวคน/วัน

นับเป็นการเดิมพันของเอกชนผู้รับสัมปทานไม่ว่าจะสายเก่าและสายใหม่ไม่น้อย ในเมื่อรถไฟฟ้าเป็นทางเลือกหนึ่งของการเดินทางของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0