โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

หลุมดำใหญ่เท่าดาวพฤหัสบดี กำลังเคลื่อนตัวไปรอบใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก

Khaosod

อัพเดต 23 ม.ค. 2562 เวลา 13.30 น. • เผยแพร่ 23 ม.ค. 2562 เวลา 13.30 น.
_105305967_wanderingblack-e19468493aaf6b768ee1fe31657e62cb6185b44f
Getty Images

หลุมดำใหญ่เท่าดาวพฤหัสบดี กำลังเคลื่อนตัวไปรอบใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก – BBCไทย

หลุมดำนั้นเป็นวัตถุอวกาศที่ลึกลับ เราไม่อาจจะมองเห็นหรือตรวจจับตำแหน่งของหลุมดำในขณะที่มันสงบนิ่ง ไม่ได้กลืนกินดวงดาวต่าง ๆ อยู่ หรือชนปะทะเข้ากับหลุมดำอื่นจนมีการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลุมดำที่มีมวลปานกลางระหว่าง 100 – 100,000 เท่าของดวงอาทิตย์นั้น จนบัดนี้นักดาราศาสตร์ก็ยังค้นหาไม่พบ

แต่ล่าสุดทีมนักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่น (NAOJ) ได้ตรวจพบความเคลื่อนไหวที่แปลกประหลาดของกลุ่มเมฆโมเลกุลบริเวณใกล้ศูนย์กลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งชี้ว่าอาจมีหลุมดำขนาดใหญ่เท่าดาวพฤหัสบดีและมีมวลราว 32,000 เท่าของดวงอาทิตย์ กำลังเคลื่อนตัวไปโดยรอบบริเวณดังกล่าวอย่างไร้ทิศทาง เหมือนคนพเนจรร่อนเร่

รายงานการวิจัยที่เผยแพร่ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org ระบุว่านักดาราศาสตร์ญี่ปุ่นใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ ALMA ในประเทศชิลีมาทำการวิเคราะห์ โดยพบว่ากลุ่มเมฆที่หนาแน่นและมีความเร็วสูงบริเวณห่างจากใจกลางดาราจักรของเราไป 20 ปีแสง มีรูปร่างและการเคลื่อนตัวในลักษณะที่โคจรวนรอบวัตถุที่มองไม่เห็น ซึ่งวัตถุดังกล่าวน่าจะมีมวลมหาศาลด้วย

ทีมนักดาราศาสตร์ญี่ปุ่นเรียกวัตถุที่มองไม่เห็นดังกล่าวว่า HCN-0.009-0.004 ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าวัตถุนี้คือหลุมดำมวลปานกลางที่แวดวงดาราศาสตร์เฝ้าค้นหามาโดยตลอด

ดร. ชุนยะ ทาเคกาวะ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของ NAOJ บอกว่าลักษณะการเคลื่อนที่และการแผ่ขยายตัวของกลุ่มเมฆโมเลกุลที่พบ แตกต่างไปจากเมฆชนิดนี้ตามปกติซึ่งมักจะเกิดจากการชนกันระหว่างกลุ่มเมฆฝุ่นซูเปอร์โนวา

การค้นพบในครั้งนี้นอกจากจะเป็นหลักฐานชี้ถึงการมีอยู่ของหลุมดำมวลปานกลางแล้ว ยังช่วยเผยถึงวิธีการที่สามารถใช้ตรวจหาตำแหน่งหลุมดำในขณะที่มันสงบนิ่งอยู่ได้อีกด้วย โดยทีมผู้วิจัยแนะให้มองหาการเกิดประจุไฟฟ้าของก๊าซในกลุ่มเมฆที่กำลังหมุนวนรอบวัตถุที่มองไม่เห็น เพราะอาจเป็นร่องรอยที่ชี้ว่าตำแหน่งดังกล่าวมีหลุมดำอยู่ ซึ่งหลุมดำนี้เพิ่งจะดูดกลืนบางสิ่งลงไปก่อนหน้านั้นและทิ้งประจุไฟฟ้าบางส่วนเอาไว้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0