โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

หลายมิติ ยาแก้ปวด

Rabbit Today

อัพเดต 23 เม.ย. 2562 เวลา 10.41 น. • เผยแพร่ 23 เม.ย. 2562 เวลา 10.41 น. • อายุรศาสตร์ง่ายนิดเดียว
painkiller-health-and-sport-Rabbit-Today-banner

ยาแก้ปวด เป็นยาที่ใช้มากที่สุดอันหนึ่งในวงการแพทย์ เวลาที่เราปวดไม่ว่าจะปวดอะไรก็ตาม เราอยากหายปวดโดยเร็วใช่ไหมครับ อยากได้ยาอะไรก็ได้ที่ระงับอาการปวดได้ดี และบางทีจะหงุดหงิดใจถ้าคุณหมอไม่สามารถระงับอาการปวดได้อย่างที่เราต้องการ

ไม่ใช่ว่าคุณหมอไม่อยากให้ยาแก้ปวดแบบชะงัดนะครับ แต่ข้อมูลและหลักการการให้ยาแก้ปวดบ่งบอกว่าควรใช้ในระดับที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลอันไม่พึงประสงค์ของยา

อาการปวดจะแบ่งเป็นสองแบบง่ายๆ คือ ปวดเฉียบพลันในระยะสั้นไม่เกินสามเดือน และปวดเรื้อรัง คือปวดนานเกินกว่าสามเดือน สำหรับการปวดเฉียบพลันจะมีสาเหตุการปวดชัดเจน การอักเสบของเนื้อเยื่อ การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ การรักษาไม่ซับซ้อน คือให้การรักษาสาเหตุควบคู่กับยาแก้ปวด แต่สำหรับการปวดเรื้อรังจะมีความซับซ้อนมาก เพราะโดยส่วนใหญ่สาเหตุแห่งการปวดได้ทุเลาลงไปแล้ว แต่การส่งกระแสประสาทเจ็บปวดและการกระตุ้นการรับความปวดต่างๆ ตั้งแต่ระดับไขสันหลังจนถึงสมองเกิดผิดปกติไป และอาจต้องใช้การรักษา ใช้ยาในหลายมิติมาร่วมกันรักษา

อาการปวดเฉียบพลัน ยาที่นิยมใช้คือยาที่มีผลระงับการปวดจากการอักเสบตรงจุดก่อโรค ได้แก่ ยาพาราเซตามอล และยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่มีผลข้างเคียงไม่สูงมากนัก แต่ถ้าอาการปวดรุนแรงมากหรือใช้ยาข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้น ให้ขยับไปใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ของฝิ่น (Opioid analgesics) เช่น ยาแก้ปวด Tramadol, Morphine, Pethidine ยากลุ่มนี้จะควบคุมการปวดโดยระงับการส่งสัญญาณในระบบประสาททั้งในสมองและนอกสมอง 

ข้อดีคือ ระงับปวดได้ดีมาก แต่ต้องระวังอันตรายผลข้างเคียงสูง เช่น มึนงง คลื่นไส้อาเจียน ผื่นคัน วูบ หรือหากให้ในขนาดสูงเกินไป โดยเฉพาะกับการฉีดเข้าหลอดเลือดดำคือ อาจไปกดศูนย์หายใจในสมอง ทำให้หายใจผิดปกติถึงหายใจล้มเหลวได้ ส่วนผลข้างเคียงเรื่องการติดยามักจะเห็นจากการระงับปวดเรื้อรัง การระงับปวดเฉียบพลันจะเกิดการติดยาน้อยกว่าหากไม่ใช้พร่ำเพรื่อและควบคุมได้ดี

อาการปวดเรื้อรัง เนื่องจากมีความแปรปรวนในระบบประสาทรับสัมผัส มีการปรับแต่งตามการเรียนรู้ของสมอง ทำให้การรักษาจะไม่ได้ใช้ยาลดปวดเท่านั้น นอกจากรักษาสาเหตุและอาการปวดเฉียบพลันเมื่อมีอาการตามข้างต้น ยังมีการใช้ยาสำหรับรักษาอาการปวดเรื้อรังที่ชื่ออาจจะดูไม่เกี่ยวข้อง แต่สามารถระงับปวดได้และต้องระวังผลข้างเคียง 

  • ยาต้านซึมเศร้า Tricyclic antidepressant เช่น ยา Amitriptyline, Nortriptyline รักษาอาการปวดจากเส้นประสาทได้ดี
  • ยากันชัก Carbamazepine, Gabapentin, Pregabalin รักษาอาการปวดจากเส้นประสาทและปลายประสาท
  • ยาอนุพันธ์จากฝิ่นชนิดออกฤทธิ์ยาว เพื่อลดผลข้างเคียงและลดโอกาสติดยา มีทั้งแบบกิน แบบแผ่นแปะผิวหนัง แบบสูด 

การติดยาอนุพันธ์จากฝิ่นเป็นปัญหามาก เพราะจะต้องใช้ยาในขนาดสูงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจมีอันตรายได้ ปัจจุบันจึงใช้การรักษาแบบผสมผสาน ใช้ยาหลายตัวในขนาดต่ำ และใช้วิธีทางกายภาพบำบัดมาลดปวดด้วย เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากยาแก้ปวดมากเกินพอดีนั่นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0