โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

หลักฐานซัด'ช่องส่องผี' ให้ข้อมูลบิดเบือนประวัติศาสตร์!!

เดลินิวส์

อัพเดต 02 ก.ค. 2563 เวลา 09.14 น. • เผยแพร่ 02 ก.ค. 2563 เวลา 08.51 น. • Dailynews
หลักฐานซัด'ช่องส่องผี' ให้ข้อมูลบิดเบือนประวัติศาสตร์!!
เพจดังงัดหลักฐานซัดหนัก “ช่องส่องผี” ให้ข้อมูลผิดๆ อ้างเจดีย์วัดกุฎีดาวพังเพราะพม่ายิงปืนใหญ่ใส่ ชี้พระเจ้าเอกทัศเป็นผู้สร้างวัด และสุนทรภู่เสียชีวิตที่เมืองแกลง ทำประวัติศาสตร์บิดเบือนคนแห่หลงเชื่อหนัก

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนโลกออนไลน์ได้เกิดกระแสแชร์ข้อมูลจากแฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อดังที่มีชื่อว่า โบราณนานมา ที่ออกมาให้ข้อมูลจากกรณีที่รายการผีชื่อดัง ซึ่งเผยแพร่ทางช่องดังและในอินเตอร์เน็ต (เฉพาะใน YouTube มีผู้ติดตามกว่า 1.6 ล้านคน ไปไลฟ์ในวัดต่างๆ และให้ข้อมูลในรายการหลายประเด็นบิดเบือนประวัติศาสตร์ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ โดยระบุว่า

เรื่อง “วัดกุฎีดาว” ที่รายการบิดเบือน ตอนแรกก็ว่าจะไม่เล่นประเด็น “วัดกุฎีดาว” แล้วนะ เพราะเห็นหลายเพจและหลายคนพูดประเด็นนี้ไปแล้วเมื่อเดือนก่อน พอดีตอนนี้เห็นเพจแหม่มโพธิ์ดำ กำลังพูดถึงรายการนี้อยู่ และมีอยากรู้เรื่องต่าง ๆ ที่รายการนี้กำลังบิดเบือน วันนี้จึงขอเสนอเรื่อง “วัดกุฎีดาว” ก่อนแล้วกัน

ในรายการ “ช่องส่องผี” เล่าว่าประมาณว่า “…เจดีย์ประธาน วัดกุฎีดาวที่พังทลายลงมา เพราะพม่ายิงปืนใหญ่ใส่วัด เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 และผู้สร้างวัด คือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ)…” ประเด็นหลัก ๆ มี 2 ประเด็น คือ1.สาเหตุที่เจดีย์ประธานพังทลายลงมา เพราะอะไร 2.พระเจ้าเอกทัศ คือผู้สร้าง “วัดกุฎีดาว” จริงหรือ

1.สาเหตุที่เจดีย์ประธานพังทลายลงมา มีหลักฐานชัดเจนว่า “ปล้องไฉน” ของเจดีย์ประธานวัดกุฎีดาว เพิ่งจะหักมาไม่นานสักร้อยปีมานี่เอง โดยวัดนี้อยู่ในเขตเมืองเก่าอโยธยา และใน “รายงานการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์วัดกุฎีดาว เมื่อปี 2543” ก็กล่าวถึงปัญหาของโครงสร้างวัดกุฎีดาว ที่เป็นสาเหตุให้ “ปล้องไฉน” ของเจดีย์ประธานวัดกุฎีดาว พังทลายลงมา

2.พระเจ้าเอกทัศ คือผู้สร้าง “วัดกุฎีดาว” จริงหรือ? ใน “พงศาวดารฉบับต่าง ๆ” ก็สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) มิได้เป็นผู้สร้างหรือแม้แต่บูรณปฏิสังขรณ์ “วัดกุฎีดาว” เลยด้วยซ้ำ

“วัดกุฎีดาว” นี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ช่วงแผ่นดิน “พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ” ผู้เป็นพระบรมเชษฐาธิราชของ “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” (เวลานั้นดํารงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า))

มาดูหลักฐานกัน พงศาวดารสมัยอยุธยาฉบับต่าง ๆ ได้กล่าวถึงวัดกุฎีดาวว่าปฏิสังขรณ์โดยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้งยังดํารงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในปี พ.ศ. 2254 ใช้เวลา 3 ปีเศษจึงสําเร็จ

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวง และฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวว่า “…สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลให้ช่างปฏิสังขรณ์ วัดกุฎีดาวอันใหญ่ ในปีเถาะตรีศก เสด็จไปทอดพระเนตรการที่วัดนั้น เดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง เหมือนพระเชษฐาธิราช สามปีเศษ วัดนั้นจึงสําเร็จแล้วบริบูรณ์…”

เพียงแค่นี้ก็สรุปได้แล้วว่า “สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ)” มิได้เป็นผู้สร้างหรือแม้แต่บูรณปฏิสังขรณ์ “วัดกุฎีดาว” เลยด้วยซ้ำ เพราะผู้ที่บูรณปฏิสังขรณ์ คือ “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ผู้เป็นพระบรมชนกนาถของ “พระเจ้าเอกทัศ” จึงไม่มีทางที่ “พระเจ้าเอกทัศ” จะเป็นผู้สร้าง “วัดกุฎีดาว”

นอกจากยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับสุนทรภู่ด้วย โดยระบุข้อความว่า “เมื่อสักครู่นั่งเปิดยูทูบแล้วคลิปไลฟ์ ช่องส่องผี EP.57 ก็เด้งขึ้นมาพอดี ก็เลยคลิกเข้าไปดู โดยตอนนี้ไปที่วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร และจะพูดถึงเรื่องราวของสุนทรภู่ด้วย นั่งฟังดูรายการตอนนี้เขาก็ให้ข้อมูลที่ผิดๆ หลายเรื่องด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือสุนทรภู่ เสียชีวิตที่ไหน ? ในรายการอาจารย์เรนนี่บอกว่า “…สุนทรภู่ เสียชีวิตที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง…”

วาระสุดท้ายของชีวิต “สุนทรภู่” ไม่ค่อยมีใครพูดถึง โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าชีวิตในบั้นปลายนั้น ท่านเป็นอยู่อย่างไร ตายที่ไหน และยังได้แต่งวรรณคดีอีกหรือไม่ ใน “ประวัติสุนทรภู่” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงไว้ก็ไม่ระบุว่า “สุนทรภู่” ถึงแก่กรรมที่ไหนเมื่อไร ทรงเขียนตอนจบสั้นมากแค่ว่า “…ตั้งแต่สุนทรภู่ได้เป็นที่พระสุนทรโวหาร รับราชการอยู่ 5 ปี ถึงแก่กรรมในรัชชกาลที่ 4 เมื่อปีเถาะ พ.ศ.2398 มีอายุได้ 70 ปี…”

ถ้าถามถึงหลักฐานว่า “สุนทรภู่” เสียชีวิตที่ไหน ตอนนี้ก็คงมี 2 หลักฐานหลัก ๆ คือ

1.“ประวัติสุนทรภู่” ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา ฉลอง 222 ปีมหากวีรัตนโกสินทร์ ในหน้า 33 และ 80 ระบุไว้ว่า “…เมื่อสุนทรภู่ชราก็กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ รวบรวมทุนทรัพย์ไปซื้อที่สวนอยู่บางระมาด ติดกับที่สวนบ้านของเจ้าคุณธรรมถาวรวัดระฆัง ที่ดินแปลงที่ซื้อมีผู้บอกเล่าว่าเป็นของนายจุ้ย ปู่ของนายกลั่นผู้เป็นลูกบุญธรรมของท่าน

เมื่อซื้อที่ได้สุนทรภู่ก็ไม่ได้ทำสวน แต่มีรายได้จากการแต่งหนังสือและเพลงยาวไปตามเรื่อง มีคนมาว่าจ้างเสมอ ท่านก็คงจะอยู่อย่างคหบดีชาวสวน มีรายได้ไม่ขาดแคลนจากการแต่งเพลงยาว มีบ่าวคนหนึ่งชื่ออ้ายโข่ เป็นคนดูแลสวน อ้ายโข่เป็นคนเกะมะเหรกเกเร ก่อเรื่องอยู่เนืองๆ เมื่อรู้ถึงนาย สุนทรภู่ก็เรียกมาอบรม เฆี่ยนตีไม่ปรานี แต่อ้ายโข่ก็ไม่เข็ดหลาบ สุนทรภู่อยู่มาจนอายุ 80 เศษ ก็ถึงแก่กรรมที่สวนบางระมาดนั่นเอง…”

2.เปลื้อง ณ นคร ได้กล่าวถึงการเสียชีวิตของ “สุนทรภู่” ไว้ในบทความเรื่อง “ใครแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า สุนทรภู่ หรือ เณรหนูพัด” ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 10 ฉบับที่ 4 ว่า “..ท่านจันทร์ (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ) บอกว่า น.ม.ส. (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) พูดให้ท่านฟังว่า สุนทรภู่ตายที่พระราชวังเดิมที่ห้องใกล้ ๆ กับ พระยามณเฑียร (บัว) ซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงของสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ แต่บางรายก็บอกว่าไปตายที่คลองบางหลวงโดยบอกว่าสุนทรภู่ไปทำสวนอยู่ที่นั่น…”

3.เทพ สุนทรศารทูล ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “ชีวประวัติพระสุนทรโวหาร (ภู่ ภู่เรือหงส์)” กล่าวถึงการตายของสุนทรภู่ ดังนี้ “…พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 สุนทรภู่ก็หมดที่พึ่ง ต้องออกไปอยู่บ้านแถวฝั่งธนบุรี (ตามที่บางท่านว่า) แต่บางทีก็อยู่ในวังหน้าต่อไป โดยอาศัยใบบุญอยู่กับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสของพระปิ่นเกล้าฯ จนกระทั่งถึงแก่กรรมตามเจ้านายไปเมื่อ พ.ศ. 2410 อายุ 81 ปี…”

สรุป เรื่องสถานที่เสียชีวิตของ “สุนทรภู่”

1.กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่ได้กล่าวไว้

2.พระยาปริยัติธรรมธาดา คือ “บ้านทีบางระมาด ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ”

3.เปลื้อง ณ นคร คือ “วังเดิม, คลองบางหลวง กรุงเทพฯ”

4.เทพ สุนทรศารทูล คือ “วังหน้า กรุงเทพฯ”

หลักฐานทั้งหมดนี้ อาจกล่าวต่างกันเรื่องอายุที่เสียชีวิตของ “สุนทรภู่” และเรื่องสถานที่ที่เสียชีวิต แต่ทั้ง 3 หลักฐานนี้กล่าวตรงกันอย่างหนึ่ง คือ “สุนทรภู่เสียชีวิตที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง”

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : โบราณนานมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง..

- ติงกสทช.ละเลย'รายการผี' ให้ข้อมูลผิดๆ-ร้ายกว่าส้มหยุด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0