โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ๒๔๙๗ (ตอนจบ)

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 18 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น.

ต่อจากฉบับที่แล้ว หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ๒๔๙๗ พิมพ์ใหญ่ยอดนิยมซี ที่เรียกว่า ไหล่จุด พระเครื่องชุดนี้ ในช่วงต่อมามีคุณค่ามหาศาลและหายาก นี่คือคำบอกเล่าจากปากชาวบ้าน พระอาจารย์ทิม พูดย้ำอยู่ตลอด เวลาญาติโยมนำว่านมาให้ ท่านจะเสกว่าน แล้วให้ชาวบ้านนำไปตากไว้บริเวณลานวัด

ชาวบ้านอีกท่านได้เล่าให้คุณกู้ฟังว่า ตนเองได้เข้าไปในป่าลึกเพื่อเสาะหาว่านต่างๆ ที่หายากสมัยนั้นก็มี ว่านสบู่เลือดตัวผู้-ตัวเมีย, ว่านกลิ้งกลางดง, ว่านสาวหลง, ว่านพญาว่าน, ว่านหนุมานนั่งแท่น, ว่านคางคก, ว่านนางกวัก, ว่านนกคุ้ม และว่านอื่นๆ อีกมากมาย

ท่านอาจารย์ทิม อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้

แต่ที่ตื่นเต้นที่สุดคือ ไปเจอว่านชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายกับหม้อข้าวหม้อแกงลิง(มีฝาเปิดปิดดักจับแมลง) แต่นี่เป็นรูปลักษณะคล้ายกันแต่ใหญ่กว่ามาก ความกว้างเกือบเท่าศีรษะคน พอเข้าใกล้มันจะหุบ จะถอนก็ถอนไม่ได้มันจะหุบเข้าหุบออก ด้วยความกลัวจึงไม่เอาต้นว่านต้นนี้ เลยเดินทางกลับ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนเดินป่าหาของป่า ความนี้ทราบไปถึงพ่อเฒ่าท่านหนึ่งได้บอกว่า ถ้าอยากจะได้ว่านต้นนี้ต้องนำไก่เป็นๆ ไปหนึ่งตัวเพื่อไปล่อให้มันกิน จะได้ถอนต้นมันได้ เพราะว่าพอมันกินไก่แล้วลำต้นมันจะอ่อนคล้ายคนนอนหลับ แต่ต้องไปเอายามเช้าอย่าให้สาย ว่าแล้วชาวบ้านคนนั้นก็ทำตามที่ท่านผู้เฒ่าบอก ตกลงว่าได้ต้นว่านนั้นมาสำเร็จแต่ ต้องแลกด้วยชีวิตไก่หนึ่งตัว ทุกวันนี้ยังเป็นปริศนาว่า ว่านต้นนั้นเป็นว่านอะไรกันแน่ นับว่าเป็นเรื่องแปลกแต่จริง

ส่วนพระอาจารย์ทิม จะเก็บข้าวก้นบาตรไว้ทุกวัน เพื่อที่จะนำไปทำส่วนผสมในการทำพระเครื่องหลวงปู่ทวด โดยการนำข้าวก้นบาตรไปตากแดดบนหลังคากุฏิ เพื่อไม่ให้ไก่เข้าไปกิน

รูปปั้นหลวงพ่อทวด ขนาดเท่าตัวจริงที่วิหารวัดช้างให้ ปัตตานี

นอกจากนี้ยังมีการนำข้าวเหนียวในพิธีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 คือวันไหว้ครู ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี การที่นำข้าวเหนียวที่ปั้นแล้วมาปลุกเสกนั้นเป็นพิธีกรรมโบราณซึ่งมีมานานแล้ว ผู้ที่เข้าพิธีกรรมนั้น ต้องกินข้าวเหนียว เพื่อเป็นสิริมงคล และในแง่ของคนเรียนไสยศาสตร์ หากได้กินข้าวเหนียวในพิธีแล้วจะอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งข้าวเหนียวนั้นจะเป็นส่วนผสมในการสร้างหลวงปู่ทวดว่าน 2497 ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะนำไปตากแดดให้แห้งแล้วนำไปบดผสมกับว่าน 108 ชนิด

ชาวบ้านในละแวกวัดช้างให้ ทั้งชาวบ้านป่าไร่ เขามีความศรัทธาในวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ทิมเป็นอย่างมาก ซึ่งความเมตตาของพระอาจารย์ทิมนั้นมากมาย หากว่าพระอาจารย์ทิมบอกกล่าวไหว้วานอะไรแล้วละก็ ชาวบ้านเขาจะรีบดำเนินการให้ทันที เหมือนกับส่วนผสมพระอาจารย์ทิมได้กล่าวว่า ต้องการกล้วยป่าเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะนำมาเป็นตัวประสาน อีกทั้ง น้ำมันตังอิ้ว และปูนขาว เพื่อให้เนื้อรวมตัวกันและจับตัวเป็นก้อนแข็งเหมือนกับหินครกนั่นเอง

ส่วนเนื้อพระบางองค์ที่ร่วนซุย เป็นเพราะว่า ส่วนผสมในแต่ละครกอาจจะแก่ว่าน ปูนน้อย จึงทำให้พระหลวงพ่อทวดว่านรุ่นแรก เนื้อหาสาระไม่แข็งแกร่ง ในเรื่องมวลสารของพระเครื่องหลวงพ่อทวดแต่ละองค์ไม่มีสูตรสำเร็จที่ชัดเจน ฉะนั้นพระแต่ละองค์ ความแข็ง ความแกร่งนั้นไม่เท่ากัน บางองค์แก่ดิน บางองค์แก่ว่าน บางองค์แก่ปูน

หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ๒๔๙๗ พิมพ์ใหญ่ยอดนิยมซี

สำหรับมวลสารของเนื้อจะใกล้เคียงกันไม่หนีกันมาก หากเนื้อกะเทาะ หรือหักออกมาดู ตัวผมเอง หากดูทุกเนื้อ และทราบดีว่า แต่ละองค์มวลสารจะไม่หนีกันเลย ในเรื่องของมวลสารนั้นสามารถชี้ชัด นั่นต้องบวกกับพิมพ์ และแร่ศักดิ์สิทธิ์นั้นด้วย ทุกอย่างต้องกลมกลืนกัน ไม่มีรายการกระด้าง และไม่มีคำว่า เนื้อถูกแร่ผิด เนื้อผิด แร่ถูก แต่ให้ยึดถึงความชัดเจน และความเป็นธรรมชาติ

ซึ่งหากแยกคำว่า ธรรมชาติไม่ได้ ไม่สามารถแยกแยะความเก่าความใหม่ได้ เนื้อแห้งธรรมชาติ กับเนื้อที่ผ่านการอบแห้ง(ไมโครเวฟ)มันต่างกันมากให้สังเกตให้ดี แต่นั่นต้องเข้าใจคำว่า แห้งธรรมชาติ ให้ได้ หากว่าดูแล้วก้ำกึ่ง ก็สามารถตี "เก๊" ได้เลยทันที ไม่ต้องกังวล

พระแท้นั้นจริงๆ เพียงยกขึ้นมาดูรู้ว่าแท้ นั่นคือพระที่ดูง่าย หากว่าพระบางองค์ถึงขนาดส่องดูนานเป็นครึ่งชั่วโมงโอกาส "เก๊" นั้นสูงมาเลยทีเดียว มวลสารเม็ดแดงของกล้วยป่า และความแห้งเป็นเกล็ดของน้ำมันตังอิ้ว บวกกับข้าวสุกและข้าวเหนียว ผงว่านต่างๆ สองร้อยกว่าชนิด แร่ กายสิทธิ์ ยางว่านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการ "แช่" เพื่อให้ยางว่านเกาะเพื่อให้เกิดความแข็งตัวขึ้นกว่าเก่า จะมีไม่มาก เพราะว่าเวลามันกระชั้นชิด

สำหรับระยะเวลาการกดพิมพ์พระใช้เวลามากน่าดู มีทั้งพระและฆราวาสร่วมกันกดพิมพ์พระ ส่วนฆราวาสที่ร่วมกันกดพิมพ์พระก็จะต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลด้วย ท่านอาจารย์แย้ม พุฒยอด ศิษย์เอกพระอาจารย์ทิม ได้เล่าต่อไปว่า การจัดสร้างทั้งมวลสาร และพิมพ์พระไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์อะไร

การผสมเนื้อก็เช่นกัน จะใช้ "ครกตำข้าว" แบบสมัยก่อนถือว่าทันสมัยที่สุดแล้ว ชาวบ้านก็มีความชำนาญ บวกกับความศรัทธาในองค์หลวงพ่อทวด และวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ทิม การร่วมแรงกายและแรงใจจึงเป็นส่วนผลักดันทำให้พระเครื่องชุดหลวงพ่อทวดว่านรุ่นแรก พ.ศ.2497 นั้นมีความเข้มขลังสุดกำลัง เพราะว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์อะไรแต่อย่างใด เป็นความศรัทธา ใสสะอาดบริสุทธิ์มากๆ เลยทีเดียว

เรื่องเงินทองไม่ต้องพูดถึงเพราะว่าชาวบ้านทุ่มทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงเงิน ร่วมสมทบในทุกๆ เรื่องจึงไม่แปลกใจว่าทำไมพระเครื่องหลวงพ่อทวดว่านรุ่นแรกวัดช้างให้ ถึงมีความขลังแบบสุดๆ ประสบการณ์มากมายเหลือคณานับ

ส่วนการกดพิมพ์พระ พอใกล้วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ การกดพิมพ์พระได้เพียง "หกหมื่นกว่าองค์" ซึ่งพระอาจารย์ทิม ได้มองดูแล้วคงไม่ถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ พระอาจารย์ทิมได้บอกกับ อ.แย้ม ว่า "เจ้าแย้มให้ทุกคนช่วยกันกดพิมพ์พระให้ได้ถึง ๖๔,๐๐๐องค์ ก็แล้วกัน และให้ไปตระเตรียมข้าวของต่างที่จะจัดพิธีปลุกเสกหลวงพ่อทวด ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ พ.ศ. ๒๔๙๗"

ซึ่งหน้าที่ตรงนี้เป็นหน้าที่ที่ท่าน อ.แย้ม ดำเนินการในเรื่องการตระเตรียมข้าวของที่จะทำพิธีปลุกเสกหลวงปู่ทวดว่านรุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๙๗

อ.แย้ม กล่าวอีกต่อไปว่า อาจารย์ทิมมักจะพูดเปรยๆ ว่า พระเครื่องหลวงพ่อทวดชุดว่านรุ่นแรกนี้ ต่อไปจะมี "คุณค่ายิ่งกว่าทองคำ" นี่คือคำบอกกล่าวของ อ.แย้ม ที่เชื่อว่าวันนี้ก้ไม่มีใครกล้าเถียงท่าน

ครั้งพอถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ พิธีปลุกเสกหลวงพ่อทวดว่านรุ่นแรก วัดช้างให้ ได้จัดขึ้นภายในพระอุโบสถ วัดช้างให้ ในขณะที่กำลังทำพิธีปลุกเสกอยู่นั้น ได้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น "ร่างกายพระอาจารย์ทิมเกิดอาการสั่นสะท้าน แรงขึ้น และแรงขึ้น จนกระทั่งร่างกายพระอาจารย์ทิมหลังค่อมแบบคนแก่มากมาก หน้าแทบจะจรดพื้น"

ท่านอาจารย์แย้มได้เล่าให้ฟังต่อไปว่า เสียงของพระอาจารย์เปลี่ยนเป็นเสียงคนแก่มาก ในขณะที่กำลังสวดมนต์อยู่ไม่ขาดสาย เสียงสวดมนต์ไม่มีการขาดช่วงแต่อย่างใด ที่ชัดเจนเสียงสวดมนต์ของคนแก่ ซึ่งไม่ใช่เป็นเสียงของพระอาจารย์ทิมอย่างแน่นอน อ.แย้ม ท่านยืนยันกับคุณกู้ หาดใหญ่ เช่นนั้น

สำหรับพระเกจิอาจารย์ที่ร่วมในพิธีปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ทวดรุ่นแรก ๒๔๙๗ ที่บันทึกไว้ มีดังนี้
๑.หลวงพ่อศรีสุข สัจจะวาโร แห่งวัดน้ำน้อยใน จ.สงขลา
๒.หลวงพ่อพรหม วัดน้ำขาวใน จ.สงขลา
๓.หลวงพ่อทอง สำนักสงฆ์ป่ากอ อ.นาหม่อม จ.สงขลา
๔.หลวงพ่อแดง วัดศรีมหาโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
๕.หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขันธ์ จ.นครศรีธรรมราช
๖.พระครูภัทรกรณ์โกวิท (ท่านเจ้าคุณแดง ธัมมะโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดนาประดู่
๗.พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว ฯลฯ

และนี่คือ หลากหลายเรื่องราวที่หลอมรวมส่งให้…พระเครื่องหลวงพ่อทวดรุ่นนี้กลายเป็นสุดยอดพระเครื่องอมตะ-จักรพรรดินิรันตรายอมตะตลอดกาล !!

/////////////////////

ใต้ภาพ

1 หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ๒๔๙๗ พิมพ์ใหญ่ยอดนิยมซี

2 ท่านอาจารย์ทิม อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้

3 รูปปั้นหลวงพ่อทวด ขนาดเท่าตัวจริงที่วิหารวัดช้างให้ ปัตตานี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0