โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"หม้อตาหม้อยาย" สัญลักษณ์นับถือ-เซ่นไหว้ผีประจำตระกูลในชนโบราณที่สืบสายถึงปัจจุบัน

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 02 พ.ค. 2566 เวลา 03.43 น. • เผยแพร่ 29 เม.ย. 2566 เวลา 09.28 น.
ภาพปก - หม้อตาหม้อยาย
“หม้อไหม” หม้อเซ่นไหว้ผีบรรพชนของชุมชนมอญบ้านเขาทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์

แวบแรกที่ได้ยินคำว่า “ยาย” คนบ้านหนองขาวไม่ได้นึกถึง “แม่ของแม่” แต่จะนึกถึงวิญญาณบรรพชนผู้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจปกป้องดูแลลูกหลานให้มีความสุข และไม่ใช่เพียงวิญญาณต้นตระกูลทางฝ่ายหญิงเท่านั้น แม้ฟังแล้วอาจให้ความรู้สึกคล้ายสังคมผู้หญิงเป็นใหญ่ หรือมาตาธิปไตย (Matriarchy) อย่างสมัยบรรพกาลก็ตาม แต่ยายในที่นี้หมายรวมถึงวิญญาณปู่ย่าตาทวดผู้ล่วงลับทั้งข้างพ่อข้างแม่ ที่มีสถานะเป็น “สถาบัน” (Institute) ไม่จำเพาะเจาะจงใครคนใดคนหนึ่ง เพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งคำว่า“ยาย” นี้ย่นย่อมาจากคำว่า “หม้อยาย” และ“หม้อตาหม้อยาย” อีกชั้น ที่ใช้เรียกสัญลักษณ์การนับถือเซ่นไหว้ผีประจำตระกูล (Totem)

สัญลักษณ์การนับถือเซ่นไหว้ผีประจำตระกูล (Totem) ของคนบ้านหนองขาวที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ โดยมากจะเป็นหม้อดิน ที่มาของชื่อเรียก“หม้อตาหม้อยาย” ยังมีสัญลักษณ์อื่นๆ อีกบ้างไม่มากนัก เช่น ตะกร้า กระบอก ถ้วย ชาม จาน และบ้าน โดยจะเรียกชื่อสัญลักษณ์ผีประจำตระกูลของตนเหล่านี้ว่า ตะกร้ายาย กระบอกยาย ถ้วยยาย ชามยาย จานยาย และบ้านยาย เป็นต้น เป็นสัญลักษณ์ที่จะแสดงให้รู้ว่าคนผู้นั้นสืบเชื้อสายตระกูลมาจากไหน

คนบ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เชื่อกันว่าพวกตนเป็นคนไทยแท้แต่โบราณ ไม่ได้อพยพมาจากไหน อยู่อาศัยกันมาที่นี่แต่โบราณ อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นคนไทยที่ไม่มีเชื้อสายคนชาติใดปน ในขณะที่นักวิชาการระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีเชื้อมอญ เพราะสำเนียงพูดเหน่อต่ำต่างจากคนท้องถิ่นเมืองกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี หรือนครปฐม ที่ต่างก็เหน่อไปคนละแบบ รวมทั้งความเชื่อเรื่อง “หม้อตาหม้อยาย” ที่คล้ายกับความเชื่อเรื่องผีบรรพชนของมอญ

สอดคล้องกับพระครูถาวรกาญจนนิมิต (จีระศักดิ์ อึ้งตระกูล) อดีตเจ้าอาวาสวัดอินทาราม ที่เชื่อว่าคนบ้านหนองขาวเป็นไทยแท้ แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมนั้นอาจเป็นมอญ เช่น การแต่งกายนาคก่อนบวช ความเชื่อเรื่อง “หม้อยาย” ซึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพชน แต่เนื่องจากไม่หลงเหลือภาษาพูด โบราณวัตถุ และโบราณสถาน รวมทั้งเรื่องเล่าของปู่ย่าตายายที่เกี่ยวกับมอญจึงไม่สามารถสรุปให้ชัดเจนลงไปได้

เป็นไปได้หรือไม่ว่าชาวบ้านหนองขาวเป็นคนไทยแท้ไม่มีการผสมกลมกลืนทางสายเลือดกับคนชาติอื่น ทั้งที่ชุมชนแห่งนี้อยู่บนเส้นทางเดินทัพแต่โบราณระหว่างหงสาวดี ด่านเจดีย์สามองค์ และกรุงศรีอยุธยา ทั้งกองทัพพม่ายกเข้าโจมตีอยุธยา และกองทัพอยุธยาโจมตีกลับ การเป็นชุมชนบนเส้นทางเดินทัพ และทางผ่านของการกวาดต้อนเชลยศึก รวมทั้งการเดินทางของพ่อค้าวาณิช นักบวช ตลอดจนชาวบ้านตามแนวชายแดนในยามว่างเว้นสงคราม จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ที่คนบ้านหนองขาวสามารถธำรงความเป็นชาติพันธุ์ไทยแท้บริสุทธิ์เอาไว้ได้ ทั้งที่นักวิชาการเองก็ไม่อาจให้คำจำกัดความคำว่า “ไทยแท้” ได้อย่างชัดเจน แต่การที่ไม่เคยมีเรื่องเล่าว่าปู่ย่าตายายชาวบ้านหนองขาวเป็นใคร มาจากไหน จึงทำให้คนบ้านหนองขาวยืนยันว่าตนเป็นไทยแท้

อย่างไรก็ตาม คนไทยแท้บ้านหนองขาวก็ได้ซึมซับรับเอาวัฒนธรรมของผู้คนต่างๆ ที่ผ่านไปมาบนเส้นทางเดินทัพ เส้นทางการค้า และเผยแผ่ศาสนาเข้าไว้ในตัวเอง ทั้งด้านศาสนา ภาษา ความเชื่อ การแต่งกาย และอาหารการกิน ตั้งแต่ในอดีตกระทั่งปัจจุบัน ที่ยังมีคนชาติพันธุ์อื่นเข้ามาปฏิสัมพันธ์ด้วยหลากหลายตลอดเวลา เช่น มอญ พม่า กะเหรี่ยง จีน อินเดีย และลาว

ความเป็นมาของชุมชนบ้านหนองขาวมีเรื่องเล่าร่วมสมัยกับรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายในแผ่นดินอยุธยา เมื่อพม่ายกกองทัพเข้าโจมตีจนต้องเสียกรุงเป็นครั้งที่ 2 ขุนนางนักปราชญ์ราชบัณฑิตช่างศิลป์ไพร่บ้านพลเมืองถูกกวาดต้อนไปพม่าจำนวนมาก

ในส่วนของราษฎรบ้านดงรังและบ้านดอนกระเดื่อง (ปัจจุบันทั้ง 2 หมู่บ้านได้รวมเป็นบ้านหนองขาว) อยู่บนเส้นทางผ่านกองทัพ ได้รวมกำลังรับมือพม่า ดังปรากฏคูรบเป็นหลักฐานให้เห็นร่องรอยการต่อสู้ในครั้งนั้น ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “ทุ่งคู” มาจนถึงในราวปี พ.ศ. 2530 ได้มีชาวบ้านขยายพื้นที่ทำนาเข้าไปครอบคลุมพื้นที่ทุ่งคู

ปัจจุบัน บริเวณดังกล่าวได้ถูกไถแปรเป็นนาข้าวไปหมดสิ้น ส่วนทางทิศใต้ของบ้านหนองขาวปัจจุบัน เดิมเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านดงรัง ยังคงปรากฏซากปรักหักพังของเจดีย์ อุโบสถ พระพุทธรูป กำแพงแก้ว และใบเสมา ปัจจุบันได้รับการบูรณะเป็นวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า วัดใหญ่ดงรัง (วัดส้มใหญ่)

แม้เรื่องเล่าการมีส่วนร่วมในสงครามครั้งนั้นจะมีโครงเรื่องคล้ายวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน และมีจุดจบแบบเดียวกัน ด้วยกำลังเพียงหยิบมือจึงไม่สามารถต้านกองทัพพม่าได้ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งล้มตาย บางส่วนถูกกวาดต้อนเป็นเชลย ที่เหลือเล็ดลอดแตกฉานซ่านเซ็น บ้างหลบซ่อนตัวอยู่ตามป่าเขา และวัดวาอารามบ้านเรือนถูกเผาทำลาย

ภายหลังเมื่อบ้านเมืองกลับเป็นปกติแล้ว ราษฎรทั้ง 2 หมู่บ้านออกจากการซ่อนตัว ได้รวมกันตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ใกล้กับหนองน้ำ เรียกกันว่าหนองหญ้าดอกขาว เนื่องจากมีหญ้าออกดอกสีขาวปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำ ต่อมาชื่อหนองน้ำนั้นได้กลายเป็นชื่อหมู่บ้าน ทว่าเกิดการกร่อนเสียงเหลือเพียง บ้านหนองขาว ปัจจุบันร่องรอยของหนองน้ำแห่งนี้ยังอยู่ในหมู่ที่ 3 บ้านหนองคอกวัว แม้หนองน้ำแห่งนี้จะถูกกลบกลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือน แต่ไม่ว่าจะถมหนองน้ำแห่งนี้อย่างไร ก็ยังมีสภาพเป็นหนองน้ำอยู่ เพราะเมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่งก็มักจะมีน้ำเอ่อขึ้นมาเสมอ

บ้านหนองขาวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ กระทั่งมีคำกล่าวกันว่า “หมู่บ้านใหญ่ไก่บินไม่ตก” จึงเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการหลายแห่ง ได้แก่ สถานีอนามัย สถานีตำรวจ และโรงเรียนประถมขนาดใหญ่ มีถนนหลวงสายสุพรรณบุรี-กาญจนบุรีตัดผ่าน เป็นเส้นทางเดินทางไปยังตัวเมืองกาญจนบุรี ที่สำคัญคือบ้านหนองขาวมีวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่น่าสนใจมากมาย เช่น การโกนจุก บวชนาค ทรงเจ้า แห่นางฟ้า สวดพระมาลัย การทำศพ การเล่นเพลงเหย่ย ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านย่านนี้ และความเชื่อเรื่องหม้อตาหม้อยาย เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องหม้อตาหม้อยายถือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านหนองขาวที่สำคัญ ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต กระทั่งเป็นจุดเด่นที่เป็นจุดแข็งทางการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งในปัจจุบัน

การเซ่นไหว้หม้อตาหม้อยาย หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ เป็นที่รู้กันว่า “ยาย” นั้นสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ชาวบ้านหนองขาวเชื่อว่ายายจะเป็นผู้ปกปักรักษาให้ทุกคนในบ้านมีความสุข ยายจะช่วยเหลือดูแลให้ทุกคนพ้นภยันตรายทั้งปวง ดังนั้น เมื่อลูกหลานแต่งงานและแยกครัวออกไปเป็นของตนเองก็จะต้องรับยายไปอยู่ด้วย

เมื่อแต่งงานกัน ผู้หญิงจะต้องรับผีตามฝ่ายชาย แต่ก็จะรับยายของตัวไปอยู่ด้วย โดยนำหม้อฝ่ายชายและหญิงรวมกัน (หากนับถือผีเดียวกัน) เช่น ฝ่ายชาย 5 ใบ ฝ่ายหญิง 4 ใบ เป็น 9 ใบ เพิ่มของฝ่ายหญิงอีก 1 ใบ ก็จะต้องซื้อหม้อใหม่ 10 ใบ

ดังนั้น ในบางบ้านจึงอาจมีหม้อเป็นร้อยใบ เพราะเป็นตระกูลเก่าแก่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน ในแต่ละปีก็จะต้องนำหม้อลงมาทำความสะอาด หากแตกร้าวก็ซื้อเปลี่ยนใหม่ โดยทั่วไปจะมีการเซ่นไหว้ในเดือน 6 ของทุกปี ซึ่งตกราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม (เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คนมอญไหว้ผีบรรพชน) เครื่องเซ่นไหว้และช่วงเวลาในการเซ่นไหว้อาจไม่เหมือนและไม่ตรงกัน แล้วแต่ว่าตระกูลของใครจะทำสืบทอดกันมาอย่างไร

ในการรับยายไปอยู่ด้วยต้องเตรียมสิ่งของดังต่อไปนี้ คือ หม้อดินเท่ากับจำนวนหม้อยายของพ่อแม่ ผ้าขาวสำหรับปิดปากหม้อ ด้ายดิบสำหรับผูกปากหม้อและเชือกสำหรับแขวน ขี้ผึ้งสำหรับให้พ่อแม่ปั้นหุ่นยาย หมากพลู เท่ากับจำนวนยาย มะพร้าวเท่ากับจำนวนตะกร้า (สำหรับยายตะกร้า) ตะกร้าสาน ตามจำนวนยาย ชาม บ้านไม้ 2 หลัง ดาบไม้ (เจว็ด) เท่ากับของพ่อแม่ หัวข้าวหัวแกง (ข้าวแกงปากหม้อตักแบ่งมาทันทีที่หุงข้าวต้มแกงสุกโดยยังไม่มีใครตักไปกินก่อน และห้ามชิมอาหารทุกชนิดที่ทำเซ่นไหว้ยายขณะปรุง เพราะจะถือว่าเป็นการกินก่อนยาย) ขนมต้มแดงต้มขาว น้ำ และดอกไม้ธูปเทียน

กำหนดการรับยายจะทำกันในเดือน 6 และต้องเป็นวันศุกร์ ผู้รับยายจะหาบสิ่งของต้องใช้ไปบ้านพ่อแม่ พ่อแม่จะจัดเตรียมมอบยายให้กับลูก โดยนำขี้ผึ้งปั้นเป็นรูปคนเท่าจำนวนยายใส่หม้อ ตะกร้า ชาม หรือใส่บ้าน จัดเตรียมใส่หาบให้เรียบร้อย และบอกกล่าวกับยายว่า “ปู่ย่าตายายไปอยู่กับลูกหลาน ให้ลูกหลานทำมาหากินร่ำรวย มีโชคมีลาภอยู่เย็นเป็นสุข” จากนั้นลูกจะหาบหม้อยายกลับบ้านโดยมีแม่เดินมาส่งที่บ้าน

ในระหว่างทางหากมีใครทักทายห้ามพูดคุยด้วยจนกว่าจะถึงบ้าน เมื่อถึงบ้านให้นำหม้อยายไปแขวนไว้ข้างฝาบ้านตามทิศทางที่พ่อแม่บอก เสร็จแล้วจุดเทียนและธูป 3 ดอก บอกกล่าว“ขึ้นปีใหม่เดือนใหม่ ลูกหลานได้รับปู่ย่าตายายมาอยู่ด้วย ขอให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข” โดยจะต้องจุดธูปเทียนติดต่อกัน 3 วัน หลังจากรับยายมาอยู่ด้วย

จากนั้นก็จะเป็นพิธีเซ่นไหว้ประจำปี โดยจะทำกันในเดือน 6 ของทุกปี ข้าวของเครื่องใช้ประกอบด้วย บายศรีปากชาม ขนมต้มแดงต้มขาว หัวข้าวหัวแกง หมากพลู น้ำ และดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องเซ่นไหว้ยายของแต่ละครอบครัวอาจจะแตกต่างกัน ขึ้นกับแต่ละตระกูลจะปฏิบัติกันมาดังกล่าวแล้วข้างต้น

ในการรับผียายไปอยู่ด้วย ผู้เป็นลูกจะต้องหาบไปจากบ้านพ่อแม่เท่านั้น ไม่เช่นนั้นเชื่อกันว่ายายจะไม่ไปอยู่ด้วยและจะต้องกลับมารับใหม่ ในกรณีที่บ้านอยู่ไกลก็อาจต้องทำเป็นหาบออกจากบ้านพ่อแม่เป็นพิธีแล้วนำขึ้นรถ โดยจะต้องอุ้มกระจาดไว้กับตัวตลอดทาง เมื่อใกล้ถึงบ้านจึงลงจากรถแล้วหาบเข้าบ้าน ที่สำคัญจะต้องถึงบ้านก่อนเพล ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะต้องกลับไปรับยายมาใหม่ภายหลัง

นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ห้ามรับยายมาด้วยการใส่กระสอบ ใส่ลัง หรือภาชนะอื่นใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยายไม่ชอบและยายจะไม่มาอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์การนับถือผีประจำตระกูล (Totem) ที่ต่างกัน มีชื่อเรียกและรายละเอียด ในการปฏิบัติเซ่นไหว้ยายแตกต่างกันไปด้วย นั่นคือ

ยายในหม้อ ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ โดยมากเรียกว่า “ยาย” อยู่ในหม้อดินขนาดเล็ก และมีตุ๊กตาปั้นด้วยขี้ผึ้ง 1 ตัว ปิดฝาหม้อด้วยผ้าขาวมัดด้วยด้ายดิบ แขวนไว้บนข้างฝาในห้องนอน แต่ละบ้านจะมีหม้อไม่เท่ากัน ขึ้นกับการสืบทอดกันมาในตระกูลดังกล่าวแล้ว โดยจะต้องรับยายมาหากแยกครัวออกไปอยู่ต่างหาก ถ้ายังอยู่ในบ้านพ่อแม่ก็ไม่ต้องรับ เมื่อถึงเดือน 6 ก่อนเข้าพรรษาจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้ยาย และใส่หมากพลูลงหม้อหม้อละ 1 คำ โดยจะต้องคอยเปลี่ยนหมากพลูใหม่ทุก 6 เดือน

ยายในตะกร้า มีชื่อว่า “ยายตลับสี” อยู่ในตะกร้า 2 ใบ ในตะกร้าใส่มะพร้าวแห้งทั้งเปลือกและมีขั้ว (เช่นเดียวกับมะพร้าวที่คนมอญเซ่นไหว้บรรพชน ซึ่งจะเรียกว่า มะพร้าวหางหนู) พร้อมเจว็ด เป็นแผ่นไม้ยาว 1 ศอก เขียนรูปพระรามไว้ปลายไม้ จะเซ่นไหว้ในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ต่างจากยายอื่นๆ ในการเซ่นไหว้ทุกปีจะต้องเปลี่ยนมะพร้าวและใส่หมากพลูลงตะกร้า 1 คำ และหากมะพร้าวนั้นงอกก็จะถือว่าลูกหลานทำมาค้าขึ้นเจริญงอกงาม เป็นนิมิตหมายที่ดี

ยายในชาม มีชื่อต่างๆ กันไป เช่น “ยายเอี้ยง” “ยายใจ” “ยายกุเลา” “ยายทอง” “แม่ย่าท้าวทอง” และ “หลวงตำรวจ” แล้วแต่ว่าตระกูลไหนนับถือสืบต่อกันมาอย่างไร ภายในชามมีเพียงรูปคนปั้นด้วยขี้ผึ้งใส่ไว้ก้นชาม ส่วนการเซ่นไหว้ประจำปีจะทำเช่นเดียวกับยายในหม้อ

บนหิ้งหรือข้างฝาห้องของแต่ละบ้านจะประกอบด้วยบ้านหลังเล็ก 2 หลังติดกัน โดยบ้าน 2 หลังนี้ทำขึ้นง่ายๆ จากไม้กระดาน 2 แผ่น ประกบกันเป็นหน้าจั่ววางบนฐานไม้อีกแผ่นหนึ่ง ในบ้านแต่ละหลังมีเจว็ดและธูป 3 ดอก เป็นที่อยู่ของ “ปู่เขียวแม่สาคู” ซึ่งมีลูกชายชื่อ “พ่อหลวงน้อย” และ “พ่อหลวงใหญ่” ปู่เขียวเป็นเทพารักษ์ของบ้านหนองขาว มีเมียมาก เมียคนอื่นๆ นอกจากแม่สาคูจะต้องอยู่ในตะกร้า เชื่อกันว่ายาย 2 หลังนี้ดุกว่ายายอื่นๆ ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีหม้อ 2 ใบวางคู่กันเรียกว่า “ยายตา” การเซ่นไหว้ประจำปีจะทำเช่นเดียวกับยายในหม้อ

ในวันเซ่นไหว้ยาย หากเป็น“ยายพระ” หมายถึงพ่อครูฤๅษีที่เป็นพ่อครูของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในบ้านหนองขาว ปู่เขียวเองก็ต้องเรียก “ยายพระ” ว่า “พ่อครู” ด้วย สิ่งของเซ่นไหว้นอกจากบายศรีปากชาม หมากพลู น้ำ และดอกไม้ธูปเทียนแล้ว จะต้องมีขนมเปียกปูนด้วย เมื่อเซ่นไหว้แล้ว ห้ามนำขนมเปียกปูนนั้นมากินโดยเด็ดขาด จะต้องนำไปถวายพระทั้งหมด

ในเวลาปกติ เมื่อมีการทำอาหารชนิดซึ่งเป็นที่โปรดปรานของยายก็จะต้องแบ่งไปเซ่นไหว้บอกกล่าวและเรียกให้ยายกินก่อน เช่น ยายบางบ้านชอบกินแป้งจี่ ทุกครั้งที่ทำขนมจีนก่อนจะบีบเป็นเส้น ต้องแบ่งไปปิ้งเป็นแป้งจี่ชิ้นเล็กๆ เซ่นไหว้ยายก่อนเสมอ ในกรณีที่หลงลืม การบีบเส้นขนมจีนในครั้งนั้นๆ มักจะออกมาไม่เป็นเส้น ยายบางบ้านชอบกินกระต่าย หากลูกหลานนำกระต่ายมาแกงกินในบ้านต้องให้ยายกินก่อน หากไม่แล้วลูกหลานอาจมีอันเป็นไปได้ เมื่อรู้ตัวแล้วต้องไปหากระต่ายมาแกงและนำมาให้ยายกินเพื่อเป็นการไถ่โทษ

ส่วนยายบางบ้านชอบกินเต่า คนบ้านหนองขาวรุ่นเก่าๆ เมื่อเห็นเต่าซึ่งรู้ว่ายายชอบกินทั้งที่ไม่อยากฆ่าเต่าจึงมักจะพูดว่า “เต่าเน่า เต่าเหม็น” และไล่เต่าไป แต่หากเจอแล้วเจออีกถี่ๆ แสดงว่าเป็นความต้องการของยายก็จะต้องนำเต่ามาฆ่าแกงให้ยายกินจนได้ ซึ่งความเชื่อเรื่องเต่าและการปฏิบัติต่อผีมอญที่ว่าด้วยเต่าก็เป็นแบบเดียวกับชาวบ้านหนองขาวทุกประการ

ในกรณีที่มีบุคคลภายนอกมาพักอาศัยค้างแรมด้วย ตลอดจนการจัดงานบวชงานแต่งงานศพทุกชนิดก็จะต้องจุดธูปบอกกล่าวยายเสมอ ไม่เช่นนั้นเชื่อกันว่างานที่จัดขึ้นมักจะประสบกับอุปสรรคนานาประการ

มีเรื่องเล่ากันว่า ในลูกหลานบางรายที่ออกเรือนไปโดยไม่รับยายไปอยู่ด้วยมักจะมีอันเป็นไปเสมอ เช่น คนในบ้านล้มเจ็บโดยไม่รู้สาเหตุ การทำมาหากินฝืดเคือง เป็นต้น

การนับถือผีบรรพชนหรือผีปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับเป็นความเชื่อของคนอุษาคเนย์ทั่วไป ไม่ว่าตระกูลมอญ-เขมร หรือไท-ลาว โดยเฉพาะมอญที่มีข้อสันนิษฐานบางประการว่าอาจมีความใกล้เคียงทางวัฒนธรรมกับบรรพชนชาวบ้านหนองขาว อย่างน้อยเห็นได้จากรูปแบบการนับถือผี การใช้หม้อดินเผาเป็นสัญลักษณ์ในผีมอญบางกลุ่มในจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท และนครนายก

คนมอญในบางชุมชนเห็นว่าการนับถือผีบรรพชนเป็นภาระที่หนักด้วยมีข้อปฏิบัติละเอียดปลีกย่อยต้องระมัดระวังมาก รวมทั้งบทลงโทษที่รุนแรงเมื่อฝ่าฝืน ขณะที่คนบ้านหนองขาวมีทัศนคติเกี่ยวกับผีบรรพชนหรือยายว่า “ยาย” เป็นผู้ปกป้องดูแลลูกหลานมากกว่าที่จะเป็นภาระให้ลูกหลานต้องดูแล “ยาย” อย่างไรเสีย “ยาย” ที่ดูเหมือนสิ่งนามธรรม ก็ดูจะเป็นรูปธรรมที่เห็นได้จากการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ย่อมแสดงว่าประโยชน์ (Function) ทางสังคมของ “ยาย” ยังคงอยู่

โดยเฉพาะการคงอยู่ที่หมายถึงการพิจารณาอย่างเท่าทันและเลือกรับประโยชน์จาก “ยาย” อย่างสร้างสรรค์

หมายเหตุ : จัดย่อหน้าใหม่ โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายน 2560

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0