โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋: การต่อสู้กับอำนาจรัฐและมายาคติ เพื่อวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง

The Momentum

อัพเดต 12 มี.ค. 2563 เวลา 07.35 น. • เผยแพร่ 12 มี.ค. 2563 เวลา 07.34 น. • ธนบดี กสิสิทธิ์

In focus

  • ป่าเป็นเหมือนแหล่งกำเนิดชีวิตและเป็นพื้นที่จิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง ทำให้วิถีความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงต่อป่าคือการอยู่ร่วมกันและรักษาผืนป่า อันเป็นอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ที่กำลังถูกคุกคามจากภาครัฐ
  • หมู่บ้านดอยป่าแป๋ ชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตดอยช้างมากว่า 219 ปี ได้สถาปนาเป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษและพื้นที่จิตวิญญาณกะเหรี่ยงแห่งที่ 12 ตามมติครม. วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน 
  • การสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษและพื้นที่จิตวิญญาณกะเหรี่ยงหมู่บ้านดอยป่าแป๋ กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ในการรักษาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ เชื่อว่าชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันจะนำไปใช้ในการต่อสู้ เพื่อสิทธิ์ในการอยู่ร่วมกับป่าและรักษาวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

‘ไฟป่า ปัญหามลพิษ โลกร้อน’ คำเหล่านี้กลายเป็นประเด็นตั้งแต่ต้นปี 2020 ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและพยายามแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพกำลังถูกทำลายด้วยน้ำมือของมนุษย์ หลายรัฐบาลเลยมีมาตราการจัดการปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ป่าภายในประเทศตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ โดยสำหรับประเทศไทยก็คงจะเห็นจากนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 น่าจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียว หรือพ.ร.บ. ป่าไม้ที่คอยควบคุมการบุกรุกพื้นที่ป่า

อย่างไรก็ตาม มาตรการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในประเทศ แม้จะทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น แต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้กลับประชาชนหลายกลุ่มที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ป่า แน่นอนว่าประชาชนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยที่ได้รับผลกระทบจากแนวทางของภาครัฐ อีกทั้งจากวิกฤตหมอกควันในไทย สื่อจำนวนมากต่างพากันพาดหัวข่าวว่าชาวเขาเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรม ซึ่งสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์มันกลายเป็นตราบาปที่สังคมกำลังตราหน้าว่าพวกเขาคือต้นเหตุของไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ในขณะที่กฏหมายไม่สามารถทำอะไรกับกลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพลบุกรุกผืนป่าที่กลุ่มชาติพันธุ์พยายามรักษามันไว้ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์พยายามพิสูจน์ว่าวิถีชีวิตของพวกเขาไม่ได้ก่อมลพิษและทำลายผืนป่าตามภาพมายาคติที่คนในสังคมเมืองได้มองพวกเขา

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธรร่วมกับเครือข่ายชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดงานสถาปนาหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋เป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษและพื้นที่จิตวิญญาณกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฎิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยภายในงานมีชาวบ้านและกลุ่มนักวิชาการได้ออกมาอธิบายถึงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ดอยช้างป่าแป๋ และสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาร่วมงาน เพื่อพิสูจน์ว่าการใช้ชีวิตของพวกเขาไม่ได้สร้างผลกระทบต่อผืนป่าและมลพิษ เหมือนที่คนเมืองเขาเชื่อกัน

มติครม. 3 สิงหาคม 2553 หนทางการคงอยู่ของเอกลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์

นายบัญชา มุแฮ (ดิปุ๊นุ) แกนนำกลุ่มเยาวชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ได้มาเป็นวิทยากรบอกเล่าวิถีการใช้ชีวิตของชาวกะเหรี่ยงเพื่อทำลายมายาคติที่คนเมืองมีต่อชาวกะเหรี่ยง โดยดิปุ๊นุได้กล่าวถึงการทำไร่หมุนเวียนว่าชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋ใช้พื้นที่ในการทำไร่เพียงร้อยละ 2 ต่อปีจากพื้นที่ไร่ทั้งหมดของหมู่บ้าน โดยใช้พื้นที่การเพาะปลูกในระยะสั้นและปล่อยพักฟื้นในระยะยาว หมุนเวียนแบบนี้ไปเพื่อให้พื้นที่ไร่มีการฟื้นฟูสภาพดินและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า ทำให้วิธีนี้สามารถรักษาระบบนิเวศของป่าได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง ‘ป่า’ คือต้นกำเนิดของชีวิตของพวกเขาและเป็นพื้นที่จิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง ทำให้รูปแบบวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงมีความสมดุลระหว่างคนและป่าให้อยู่ในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกัน

นอกจากนี้นายบัญชา มุแฮ ยังบอกอีกว่าป่าเป็นเหมือนบ้านของเขา ชาวบ้านจึงต้องดูแลผืนป่าและระบบนิเวศอันเป็นพื้นที่จิตวิญญาณของพวกเขามาตั้งแต่สมัยบรรพชน ทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาจะสอดคล้องกับการรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน อีกทั้งปัญหาไฟป่า ชาวบ้านได้รวมตัวกันทำแนวกันไฟยาวกว่า 30 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟในวงกว้าง อีกทั้งยังมีข้อตกลงชุมชนในการจัดการกับไฟป่า จากการจัดการปัญหาไฟป่าของชาวบ้านเป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ว่าการมีอยู่ของพวกเขาจะไม่ทำลายพื้นป่าที่บรรพบุรุษของเขาดูแลมาทั้งชีวิต

บัญชา มุแฮ นำอ่านคำประกาศสถาปนาพื้นที่จิตวิญญาณ เขตวัฒนธรรม บ้านดอยช้างป่าแป๋

พื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านหมู่บ้านดอยป่าแป๋ถูกยึดจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ หลังพื้นที่ไร่หมุนเวียนหลายจุดอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในปี 2559 ทำให้ชาวบ้านที่มีไร่อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่า

ทำให้ชาวบ้านพยายามพิสูจน์และอธิบายว่าบรรพบุรุษของเขาอยู่ที่นี้มาก่อนจะมี พ.ร.บ. ป่าไม้ปี 2484 อีกทั้งวิถีชีวิตของพวกเขาไม่ได้ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศที่พวกเขากำลังรักษาแม้แต่น้อยทั้งการทำไร่หมุนเวียนและการดับไฟป่าของชาวบ้านที่ทำมาตลอดปี การยึดคืนพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทวงคืนพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงและการมีส่วนร่วมในพื้นที่จิตวิญญาณหรือป่าชุมชนตามพ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 นำมาสู่การสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษและพื้นที่จิตวิญญาณกะเหรี่ยง ตามมติครม. 3 สิงหาคม 2553

โดยทางหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ได้ยื่นข้อเสนอในการจัดการพื้นที่ทางจิตวิญญาณแก่ภาครัฐ 3 ข้อ ได้แก่

  • ขอให้เพิกถอนเขตห้ามล่าสัตว์ป่าออกจากพื้นที่ 21,034 ไร่ที่เป็นขอบเขตชุมชน ให้เหลือสถานะเขตป่าสงวน และให้สิทธิชุมชนในการจัดการพื้นที่ในรูปแบบป่าชุมชนหรือป่าจิตวิญญาณ

  • ชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋เป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว จึงยืนยันให้ใช้มติครม. 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้มีผลในการฟื้นฟูและคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม

  • ชุมชนไม่ยอมรับมติ ครม. 26 พฤศจิกายน 2561 และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และขอให้ทบทวนข้อกฏหมายเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนของชาวกะเหรี่ยง หากยังไม่มีการทบทวนและปรับปรุงแก้ไข ชุมชนจะไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการแก้ไขปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น

แผนที่แสดงการจัดการพื้นที่ของภาครัฐที่ยึดพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน

ทางด้านนายนพดล พลเสน รัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมงานในฐานะประธานเปิดงานได้รับข้อเสนอของหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ ในการแก้ไขปัญหาที่ดินไร่หมุนเวียนและส่งเสริมวัฒนธรรมกะเหรี่ยง โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนและรัฐบาลในการดูแลจัดการและหาแนวทางการแก้ไข ซึ่งทางนายนพดลยืนยันจะรับข้อเสนอและจัดตั้งคณะกรรมการร่วม

การยืนหยัดของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ คงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิของมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองที่ไม่ได้ทำลายระบบนิเวศเหมือนที่ใครหลายคนคิดไว้ สำหรับพวกเขาแล้วการสถาปนาเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษและพื้นที่จิตวิญญาณ เป็นเหมือนต้นแบบของชุมชนที่กำลังถูกคุกคามโดยภาครัฐและอาจทำให้เอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์กำลังสูญหายไป ชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋เชื่อว่าเขตวัฒนธรรมพิเศษนี้จะสร้างความเข้าใจวิถีชีวิตของพวกเขาและทลายภาพมายาคติของสังคมเมืองที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะป่าคือบ้านของพวกเขา คือ ‘โหม่ทีหล่อ ป่าทีคลอ’ (บ้านเกิดเมืองนอนของบรรพชน) และวิถีจารีตของชาวกะเหรี่ยงจะยืนหยัดปกปักษ์รักษาผืนป่าสืบทอดไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0