โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

หมอเอ้ก: บริจาคอวัยวะอัตโนมัติ ร่างกฎหมายเพื่อบริจาคอวัยวะที่ไม่ใช่การบังคับ

a day BULLETIN

อัพเดต 23 ต.ค. 2562 เวลา 09.03 น. • เผยแพร่ 22 ต.ค. 2562 เวลา 10.18 น. • a day BULLETIN
หมอเอ้ก: บริจาคอวัยวะอัตโนมัติ ร่างกฎหมายเพื่อบริจาคอวัยวะที่ไม่ใช่การบังคับ

ถ้าพูดถึงการบริจาคอวัยวะ สำหรับสังคมไทยแล้วนี่เป็นสิ่งที่ถูกมองกันอย่างผิวเผินมาโดยตลอด ทั้งปัญหาการบริจาคที่ไม่เป็นทางการ ปัญหาคนตายไม่ได้บริจาค แต่คนบริจาคกลับไม่ได้ตาย นี่ยังไม่รวมไปถึงความยุ่งยากในกระบวนการต่างๆ หากเราจะบริจาคอวัยวะในตัวสักชิ้นหนึ่ง กลับต้องมีขั้นตอนยุ่งยากวุ่นวายเต็มไปหมด

        ปัญหาเหล่านี้ทำให้ นายแพทย์คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ หมอเอ้ก อดีตนายแพทย์ประจำบ้านสาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งปัจจุบันรับตำแหน่งโฆษกส่วนตัวและที่ปรึกษา ดร. สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เริ่มผลักดันร่างกฎหมายให้เกิด ‘การบริจาคอวัยวะอัตโนมัติ’ เพื่อปรับปรุงการบริจาคอวัยวะให้ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ทว่ากลับได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนไม่ดีเท่าไหร่นักในการประชาสัมพันธ์ร่างกฎหมายครั้งแรกนี้สำหรับเขา

        ดังนั้น เราจึงขอคุยกับเขาเพื่อทำความเข้าใจถึงร่างกฎหมายนี้แบบจริงๆ กันว่า กฎหมายบริจาคอวัยวะอัตโนมัติออกแบบมาเพื่อใคร ออกแบบมาทำไม และสำคัญที่สุดคือจะแก้ปัญหาการบริจาคอวัยวะเหล่านี้ได้อย่างไร

 

หมอเอ้ก
หมอเอ้ก

การบริจาคอวัยวะอัตโนมัติ หนทางแก้ปัญหาที่จริงของความขาดแคลนในวงการแพทย์ไทย

        “รู้ไหมครับ ปัจจุบันในเมืองไทยมีผู้ขึ้นทะเบียนในการรอรับอวัยวะไม่ต่ำกว่าประมาณ 6,000-7,000 คน แต่ว่าในทะเบียนผู้ให้อวัยวะหรือผู้บริจาคในปัจจุบันมีอยู่เพียงแค่ 200 คนเท่านั้นเอง” 

        หมอเอ้กเริ่มเปิดประเด็นถึงปัญหาของการบริจาคอวัยวะที่เกิดขึ้นในสังคม แต่น้อยคนนักที่จะได้รู้ถึงตัวเลขเหล่านี้

        “ฟังดูตัวเลขอาจจะไม่ได้รุนแรงมาก แต่ถ้ามาดูเรื่องระยะเวลาในการบริจาคจริงๆ นี่กลับเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมากกว่า เช่น ผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายไต ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่รอการปลูกถ่ายมากที่สุด ปกติแล้วเวลาเฉลี่ยที่ผู้ป่วยต้องรออวัยวะคือ 3 ปีกว่าๆ เลยครับ ลองนึกภาพคนที่เขาต้องพาญาติที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังไปฟอกไตทุกวันหรืออาทิตย์ละ 2-3 วันดูสิ เสียค่าใช้จ่าย เสียทั้งเวลา เสียทุกอย่าง นี่ยังไม่รวมอวัยวะอย่างอื่นที่ต้องรอการปลูกถ่ายนานกว่านี้ เช่น แก้วตาที่ต้องรอไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีนะครับ

        “และด้วยความที่ตัวผมเองเมื่อก่อนเป็นจักษุแพทย์ ซึ่งเราก็ได้เห็นความทุกข์ทรมานของคนที่ต้องรอนานถึง 4-5 ปีในการปลูกถ่ายแก้วตา เราเห็นภาพคนคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตแบบมองไม่เห็นมาตลอด 4-5 ปี แค่นี้ก็รู้สึกลำบากแทนเขาแล้ว”

        หมอเอ้กเล่าถึงปัญหาการขาดแคลนอวัยวะที่เขาต้องพบเห็นในโรงพยาบาลตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก่อนเขาจะมองเห็นถึงจุดบกพร่องของการบริจาคอวัยวะรวมไปถึงวิธีการแก้ปัญหาตามความคิดของเขา

        “นอกจากนี้ผมยังเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบที่เรียกว่า opt in system หมายความว่าใครก็ตามที่อยากให้อวัยวะก็ไปขึ้นทะเบียนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสภากาชาดไทย เราจึงใช้คำว่าบริจาคครับ

        “แต่เมื่อผมศึกษาต่อกลับพบว่า ในต่างประเทศมีระบบอื่นที่เข้ามาบริหารจัดการอวัยวะ เป็นหลักการที่เรียกว่า mandated choice หมายความว่าเวลาประชาชนไปทำธุรกรรมกับรัฐไม่ว่าจะเป็นการต่อใบขับขี่ การต่อบัตรประชาชน รัฐหรือเจ้าหน้าที่ต้องให้เอกสารหรือแบบฟอร์มให้ประชาชนแสดงความจำนงว่าอยากจะเป็นผู้ให้หรือไม่ให้ ซึ่งระบบนี้เคยทำให้อัตราการเป็นผู้บริจาคหรือผู้ให้อวัยวะของมลรัฐอิลลินอยส์ หรือมลรัฐนิวยอร์กที่เคยอยู่ประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ พุ่งสูงเป็น 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ทีเดียว

        “และอีกแบบหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากคือ opt out system ซึ่งมีหลายคนอาจเอาไปพูดว่าเป็นการบริจาคโดยอัตโนมัติเลยทำให้เกิดการตีความไปเป็นอีกแบบ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่อย่างที่ทุกคนคิดกันเลย” หมอเอ้กเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก่อนที่เขาจะเริ่มอธิบายระบบนี้ให้ฟังอย่างละเอียด

        “ระบบ opt out system จริงๆ แล้วเป็นการเปลี่ยนตัวเลือกตั้งต้นของเราทุกคนให้เป็นผู้ให้อวัยวะ แต่สิ่งที่ต้องตั้งใจฟังคือเรามีทุกวินาทีที่จะออกจากการเป็นผู้ให้อวัยวะได้ ซึ่งตรงนี้ล้อไปตามสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่มีต่อร่างกายของตัวเองแน่นอน ไม่มีใครบังคับคุณได้

        “เหตุที่ต้องเป็นแบบนี้เพราะระบบนี้มีที่มาจากแนวคิดที่ว่า เวลามนุษย์ต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ในชีวิต พฤติกรรมทั่วไปคือเขามักจะขอเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อน เช่น การกู้บ้าน การแต่งงาน หลายๆ อย่างเราจะเลื่อนเวลาในการตัดสินใจออกไป เช่นเดียวกับการให้อวัยวะ นี่เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตนะครับ จะให้ตัดสินเลยคงทำกันไม่ได้ เราเลยสร้างหลักตั้งต้นให้คุณก่อนว่าเป็นผู้ให้นะ ถ้าใช้เวลาตัดสินใจดีแล้วว่าไม่อยากบริจาค ค่อยมาถอนชื่อออกก็ได้ 

        “ตัวผมเองอยู่ในวงการ อยู่หน้างาน เห็นปัญหามากกว่าคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ผมเห็นปัญหาและผมก็เห็นว่ามันมีวิธีแก้ไขเพียงแค่การเปลี่ยนวิธีหรือมุมคิดแค่นั้นเอง”

 

หมอเอ้ก
หมอเอ้ก

เพราะเป็นเรื่องใหม่ ต้องให้เวลาคนไทยทำความเข้าใจก่อน

       ถึงแม้ opt out system จะเป็นระบบการบริจาคอวัยวะที่สมบูรณ์แบบตามความคิดของหมอเอ้กขนาดไหน แต่เขาก็เข้าใจดีว่าการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา การประชาสัมพันธ์ และความเข้าใจของคนในสังคมค่อนข้างละเอียดถี่ถ้วน เขาจึงขอใช้การสนทนาครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการอธิบายถึง ‘ข้อโต้แย้ง’ ที่ถูกตีกลับมาหลังมีข่าวการร่างกฎหมายในการเปลี่ยนวิธีการรับบริจาคอวัยวะเกิดขึ้น

        “แต่ผมก็เข้าใจว่านี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย รวมไปถึงการพาดหัวข่าวที่สื่อความหมายไปทางอื่นด้วย เลยจะเกิดปัญหาตามมา 3 ข้อ ซึ่งผมจะอธิบายให้ฟังอย่างนี้ครับ 

        “อย่างแรกเลยคือการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ… คนชอบบอกว่าเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ ขัดกับรัฐธรรมนูญบ้าง ซึ่งผมขออธิบายว่าระบบ opt out เป็นแค่การเปลี่ยนตัวเลือกตั้งต้นเท่านั้น ส่วนสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของบุคคลก็ยังเป็นของทุกท่านเหมือนเดิมอยู่ เป็นไปตามกฎหมายตั้งแต่เกิด คลอด มีชีวิต จนถึงสิ้นอายุขัย เรามีสิทธิเสรีภาพในการเลือกเป็นผู้ให้อวัยวะหรือไม่ตลอด เพียงแต่ตรงนี้เป็นการเปลี่ยนตัวเลือกตั้งต้นเพียงเท่านั้น” ก่อนที่หมอจะยกตัวอย่างต่อว่าหากมองไปในสิ่งที่คนในสังคมยอมรับ เช่น คำนำหน้าชื่อ ยังดูเป็นสิ่งที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพยิ่งกว่า

        “ถ้าพูดในบรรทัดฐานเดียวกัน ในมุมมองส่วนตัว ผมคิดว่าการที่รัฐกำหนดคำนำหน้าให้กับเพศสภาพยังดูเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพมากกว่า เพราะผมไม่สามารถถอนคำว่านายออกจากตัวผมได้นะครับ แต่การบริจาคอวัยวะผมจะขีดเส้นใต้หนาๆ ไว้เลยว่า เราถอนชื่อออกได้ทุกวินาที

        นอกจากนี้ถ้าเราพูดกันถึงเรื่องการลิดรอนสิทธิเสรีภาพจริงๆ หลังตายไปแล้วคุณก็ยังถูกลิดรอนนะครับ มีตัวอย่างเยอะมากที่ผู้ตายเลือกบริจาคอวัยวะ แต่ทางญาติไม่มีใครรู้ว่าเขาทำเรื่องบริจาคเอาไว้ พอเขาตายไปก็กลายเป็นว่าร่างกายของเขาไม่ได้ถูกนำไปใช้ดังใจต้องการ แต่การที่เราใช้วิธี opt out ตั้งต้นไว้ ข้อดีคือจะมีการเก็บข้อมูลไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม และจะไม่มีใครแย้งเจตจำนงการบริจาคของเราได้

       “ต่อมาคือเรื่องศาสนาซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อ บางคนเขาก็เชื่อว่าการบริจาคอวัยวะชาติหน้าจะไม่ครบ 32 ประการ” หมอเอ้กกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในร่างกฎหมายที่เกิดขึ้น แต่ส่วนตัวแล้วนี่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขาแต่อย่างใด

        “อย่างที่บอกเลยครับว่าเป็นความเชื่อ ผมเลยไม่อาจจะก้าวล่วงความคิดใครได้จริงๆ นี่เป็นสิทธิและเสรีภาพในความเชื่อของบุคคล จะใช้ชีวิต มีเข็มทิศขีวิตอย่างไร เป็นเรื่องที่เลือกได้ตามใจชอบ นั่นเลยเป็นเหตุผลถ้าหากคุณมีความเชื่อหรือหลักการใช้ชีวิตที่ขัดกับหลักการในการให้อวัยวะ คุณออกจากโปรแกรมได้เลย เราไม่ได้บังคับให้คุณมาบริจาคจริงๆ 

        “สุดท้ายคือการบริจาคอวัยวะ คุณรู้ไหมว่าการซื้อขายอวัยวะในตลาดมืดจะน้อยลงกว่าเดิมถ้ามาใช้ระบบ opt out system เหตุผลที่การซื้อขายอวัยวะต้องอยู่ในตลาดมืดและมีราคาสูงเพราะความต้องการซื้อมากกว่าความต้องการขาย ตามหลักของเศรษฐศาสตร์เลย แต่คุณลองคิดดูว่าถ้าเกิดเราเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้ จะทำให้มีผู้บริจาคมากขึ้น ผลที่ตามมาคือราคาซื้อขายลดต่ำลง ความต้องการซื้อลดลง จนสุดท้ายตลาดมืดก็จะหายไปเองเพราะเรามีอวัยวะเพียงพอแล้ว ไม่ต้องหาซื้อตามตลาดมืด

        “และนั่นจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไปในตัวด้วย คุณรู้ไหม ทุกวันนี้ถ้าเรามีเงินมากพอ เราซื้อแก้วตาจากศรีลังกาในราคา 3 แสนบาท โดยใช้เวลารอแค่เดือนเดียวเองนะ ไม่ต้องมานั่งรอแก้วตานานถึง 5 ปีด้วย นี่คือตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำครับ แต่พอเรานำระบบนี้เข้ามา คนรวย คนจน ทุกคนต้องเข้าระบบให้หมด ปัญหาพวกนี้ก็จะหายไปเอง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมพยายามจะชี้แจงให้เห็นครับ”

 

หมอเอ้ก
หมอเอ้ก

เปลี่ยนอย่างเข้าใจ ค่อยเป็นค่อยไป ให้คนไทยได้ปรับตัวทัน

        “พูดตรงๆ ถ้าร่างกฎหมายนี้ผ่าน ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องแก้ปัญหา เพราะนอกจากเรื่องปัญหาที่ผมเล่าไปแล้ว วิธีการปรับใช้นี้ก็ต้องมีความค่อยเป็นค่อยไปเหมือนกัน” อีกหนึ่งปัญหาที่หมอเอ้กมองเห็นและให้ความสำคัญไม่แพ้กับการทำความเข้าใจให้แก่ประชาชน คือวิธีการดำเนินการ เพราะอย่างที่กล่าวไป อะไรที่ใหม่ มักดูจะยากเสมอ

        “อย่างแรกเลย ผมว่าเจ้าหน้าที่ต้องได้รับการสนับสนุนเกี่ยวกับการเก็บอวัยวะมากขึ้นกว่านี้ ในปัจจุบัน การเก็บอวัยวะยังเป็นแบบ centralize หรือหน่วยงานกลาง ที่จะเป็นคนเก็บอวัยวะ ซึ่งจะมีปัญหาที่ว่าก็จะมีแค่บุคลากรในเมืองเท่านั้นที่มีความรู้เรื่องการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ดังนั้น หากจะเปลี่ยนจริงๆ ผมคิดว่าเราต้องปรับหลายอย่าง ต้องมีการเพิ่มบุคลากร เพิ่มงบประมาณในการจัดเก็บตรงนี้ให้กระจายออกไปในระดับจังหวัดหรือภูมิภาค เนื่องจากว่าบางอวัยวะต้องการการจัดเก็บอย่างรวดเร็ว เราไม่สามารถจะรออวัยวะจากในเมืองเดินทางไปต่างจังหวัดได้ตลอด อวัยวะบางชิ้นเก็บได้แค่ไม่กี่ชั่วโมง มันมี Time Frame ของมัน ไม่เหมือนในหนังที่มีห้องแช่แข็งเก็บอวัยวะอะไรแบบนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องมีการสอนให้บุคลากรเข้าใจได้ทั่วถึงมากขึ้น” ก่อนที่เขาจะกลับมาเน้นย้ำอีกครั้งว่า ในภาคของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้มากที่สุด ก็ต้องได้รับการดูแลและความเข้าใจที่ถูกต้องและครบถ้วนเช่นกัน

        “แน่นอนว่าต้องมีการทำประชาพิจารณ์เกิดขึ้น ซึ่งในระยะแรกเราจะใช้ระบบ madated choice ให้เขาเลือกก่อนว่าจะเป็นผู้รับบริจาคหรือไม่รับบริจาค ก่อนที่ต่อมาอาจจะ 4-5 ปี เราถึงจะเปลี่ยนมาใช้ระบบ opt out ภายหลัง เพราะเราไม่อยากให้ดูเป็นการหักดิบจนเกินไป เราอยากใช้เวลาอธิบายให้เขาเข้าใจถึงนโยบายนี้อย่างถ่องแท้จริงๆ” ก่อนที่หมอเอ้กจะกล่าวเพิ่มเติมถึงแผนในอนาคตที่จะทำให้การบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องง่ายมากขึ้นตามความคิดของเขา

        “อีกสิ่งที่ผมอยากผลักดันคือการทำฐานข้อมูลสุขภาพของคนไทย ที่จะเลือกเป็นผู้ให้หรือไม่ให้อวัยวะก็เปลี่ยนได้เพียงปลายนิ้ว ลองนึกภาพตามผม คุณเปิดแอพฯ ขึ้นมา แค่กดว่าคุณอยากเป็นผู้ให้หรือไม่ แค่นี้จบ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้เขาเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงระบบไม่ได้สร้างภาระให้เขามากขึ้น เพราะส่วนตัวผม ผมอยากให้ระบบนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อเขามากที่สุดครับ อยากให้เขาใช้ชีวิตเหมือนเดิมปกติเลยเพียงแต่เราต้องตอบคำถามข้อเดียวว่าคุณอยากจะเป็นผู้ให้หรือไม่ให้อวัยวะ ซึ่งไม่มีผิดไม่มีถูก ถึงคุณจะตัดสินใจไม่เป็นผู้ให้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดนะครับ ถ้าหากมันขัดกับหลักการในการดำเนินชีวิตของคุณ”

 

หมอเอ้ก
หมอเอ้ก

ถ้าผมเป็นหมอผมจะช่วยได้ครั้งละคน แต่ถ้าเป็นนักการเมืองผมอาจจะช่วยได้ครั้งละหนึ่งล้านคน

        แต่ถ้าพูดในมุมมองของหมอเอ้กเอง คุณหมอมองว่าการบริจาคอวัยวะให้ใครสักหนึ่งคนสำคัญขนาดไหน เราเริ่มเจาะประเด็นถามเรื่องราวข้างในตัวหมอมากขึ้นกว่าจะมองเพียงร่างกฎหมายที่เป็นประเด็นหลักในการพูดคุย

        “การตายแปลว่าจบครับ ไม่มีภาคต่อแล้ว ไม่สามารถเอาอะไรไปจากโลกใบนี้ได้ ดังนั้น สำหรับผมแล้วในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เราทำได้เต็มที่หรือยัง เราทำตัวให้มีประโยชน์มากพอหรือเปล่า ดังนั้น การบริจาคอวัยวะสำหรับผมแล้วคืออีกหนึ่งอย่างที่ผมจะฝากเอาไว้ได้ในชาตินี้ครับ

        “ถามว่ามันมีประโยชน์ขนาดไหน เอาแบบนี้ดีกว่า คุณลองหลับตาสัก 5 นาทีดูสิ แล้วลองคิดดูว่า 5 นาทีนี้ ที่เราได้ยินแค่เสียง ได้แค่สัมผัส แค่นี้ก็ทรมานมากแล้ว แต่คนที่เขารอการปลูกถ่ายแก้วตาจริงๆ เขาต้องเป็นแบบที่คุณรู้สึกเมื่อ 5 นาทีที่แล้วนานถึง 5 ปีเลยนะ คนให้อาจจะไม่ได้รู้สึกขนาดนั้น แต่สำหรับคนรับ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก” 

        แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมหมอคนหนึ่งที่สามารถใชัชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลตรวจคนไข้ในห้องแอร์สบายๆ ถึงต้องออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ให้โดนสังคมได้ย่ำยีตัวเขา

        “เป็นคำถามที่จะมีคำตอบเดียวกับคำถามว่าทำไมถึงต้องมาทำงานการเมืองเลยครับ มันคือหลักการเดียวกัน จริงครับว่าผมสามารถเป็นหมอใช้ชีวิตสบายๆ นั่งในห้องแอร์ก็ได้ แต่มีอยู่วันหนึ่งผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเกิดมาทำไม คุณค่าของตัวเราคืออะไร สมัยที่ผมเรียน ผมมีความมุ่งมั่น ความทะเยอทะยานเหมือนเด็กทั่วไป เหมือนหมอทั่วไป เพราะผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่เรียนก็ตั้งใจอยากเป็นที่หนึ่งในเป้าหมายตรงนั้น อยู่ที่คุณจะพูดหรือไม่พูด ผมเองก็อยากเป็นที่หนึ่งสักด้านหนึ่งของผมเหมือนกัน

         “แต่พอผมไปทำงานได้รับโอกาส จากหลายๆ คนทั้งอาจารย์ เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมเรียน ไปจนถึงการได้รับทุนไปทำงานที่ต่างประเทศ ได้อยู่ในที่ที่ขึ้นชื่อว่ามีคนที่เก่งเกือบทุกมุมโลกมาอยู่ในที่เดียวกัน ทำให้ผมรู้สึกว่า คำว่าเป็นที่ 1 ยืนบนยอดภูเขามันไม่มีจริง เพราะในวันที่คุณอยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็งเมื่อใด อีกไม่นานก็จะมีคนยืนอยู่สูงกว่าคุณ ทำให้ตอนนี้ยอดภูเขาน้ำแข็งของผมไปตั้งอยู่กับคุณค่าของตัวเองมากกว่า ผมเริ่มคิดว่าจะทำอะไรที่แม้ตายไปแล้วผมก็ยังมีอะไรให้คนจดจำอยู่ นั่นคือคุณค่าของผมที่คิดไว้ แต่เผอิญคุณค่าของผมเกี่ยวข้องกับการทำให้ชีวิตของคนอื่นดีขึ้นด้วยครับ”

 

หมอเอ้ก
หมอเอ้ก

 

        จนถึงตอนนี้ หมอเอ้กได้มาเป็นหนึ่งในคณะทำงานของ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เราจึงสงสัยใคร่รู้ต่อว่าการได้มีส่วนร่วมทางการเมืองมีส่วนช่วยผลักดันร่างกฎหมายบริจาคอวัยวะอัตโนมัตินี้มากน้อยแค่ไหน

        “การมาทำงานการเมืองมีส่วนมากครับ บางคนอาจมองว่าเป็นหมอก็ช่วยคนอยู่แล้วนี่ ก็ใช่ครับ เป็นหมอได้ตรวจ ได้รักษาคนไข้อยู่แล้ว แต่สำหรับผม การเป็นหมอคือการได้ช่วยเหลือ ตรวจคนไข้ทีละคน แต่การทำงานการเมือง ถ้าทำได้ดี ทำได้เหมาะสมกับบริบทสังคมที่คุณอยู่ คุณอาจจะช่วยสังคมได้เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านคนก็ได้

        “เหนื่อยนะครับถ้าพูดตรงๆ ไม่มีใครอยากเปลืองตัวเข้ามาเล่นการเมืองหรอก ผมใช้คำนี้เลย แต่สำหรับผม ผมโตมากับคนที่ทั้งชอบและไม่ชอบ โดนคนนินทาลับหลังทั้งต่อหน้าและลับหลังตลอดอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ ผมเลยไม่ได้เห็นว่านี่เป็นการเปลืองตัวของผม ผมมองแค่ว่าในตอนนี้ผมมีเป้าหมายในชีวิตตรงส่วนนี้สำคัญที่สุด ผมทำงานการเมือง ผมมีพลังที่จะช่วยผลักดันการแก้ปัญหาตรงนี้ได้ คนเราเปลี่ยนเป้าหมายได้ตลอดนะครับ อีก 10 ปีข้างหน้าผมอาจจะไม่มีเป้าหมายในการผลักดันเรื่องแบบนี้แล้วก็ได้ ดังนั้น ณ วันนี้ผมทำงานการเมืองอยู่ ยังมีแรงที่ช่วยผลักดัน ยังมีเป้าหมายที่ซื่อตรงแบบนี้ ผมเลยคิดว่าการทำงานการเมืองจะช่วยให้เป้าหมายของผมชัดเจนมากขึ้น

        สุดท้ายเราให้คุณหมอยืนยันอีกทีว่านี่จะไม่เป็นการบังคับประชาชนแน่นอน

        “ไม่บังคับแน่นอน อย่างที่บอกว่าขีดเส้นใต้ร้อยครั้ง เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเลือกตั้งต้นเท่านั้น ไม่มีใครไปบังคับคุณได้ว่าคุณต้องเป็นผู้ให้ไปตลอดชีวิตจนสิ้นอายุขัย รัฐไม่สามารถเอาอวัยวะของคุณไปได้ มีคุณคนเดียวเท่านั้นที่ตัดสินใจได้ว่าจะให้หรือไม่ให้อวัยวะกับคนอื่น”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0