โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'หมอวรงค์'ซัด'ธนาธร'มั่วประวัติศาสตร์! ชี้ผลพวงคณะราษฎรคือแย่งชิงอำนาจ-รัฐประหาร

ไทยโพสต์

อัพเดต 25 มิ.ย. 2562 เวลา 01.35 น. • เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2562 เวลา 01.35 น. • ไทยโพสต์

25 มิ.ย.62 - นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม  สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์  โพสต์ข้อความถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศสานต่อภารกิจคณะราษฎร 2475  ว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์  ผมเห็นคุณธนาธรประกาศ การสานต่อภารกิจที่ยังไม่สำเร็จของคณะราษฎร แต่คุณธนาธรก็ไม่พูดความจริงตามประวัติศาสตร์ เพียงแต่จะพูดในสิ่งที่อยากพูด และนำไปเชื่อมโยง สู่ความชิงชังในสังคม เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่สนใจผลกระทบตามมา

สิ่งที่เราควรรู้คือ คณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครอง24 มิถุนายน 2475 เพื่อให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนาล้มสถาบัน และมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญตามมา โดยมีหลักการของคณะราษฎร 6 ข้อคือ

1. หลักเอกราช จะรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย 2. หลักความปลอดภัย จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ 3. หลักเศรษฐกิจ จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ 4. หลักเสมอภาค จะให้ราษฎรมีสิทธิเสมอหน้ากัน ไม่ให้ผู้ใดมีสิทธิเหนือผู้อื่น 5. หลักเสรีภาพ จะให้ราษฎรมีอิสระที่จะใช้สิทธิ ผู้ใดจะบังคับมิได้ 6. หลักการศึกษา จะให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างทั่วถึง

"นี่คือภารกิจหลักของคณะราษฎรที่คุณธนาธรต้องสานต่อไม่ใช่อ้างแต่ประชาธิปไตย ที่มีความหมายไม่ตรงกัน"

ต่อมาคณะราษฎรก็ได้ออกพระราชกำหนดขอพระราชทานอภัยโทษแก่คณะทั้งหมด ในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ในช่วงเริ่มต้น คณะราษฎรก็เป็นผู้แต่งตั้งผู้แทนราษฎรทั้งหมด 70 คน หลังจากนั้นจึงให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็มีชุดแต่งตั้งเท่ากับจำนวนเลือกตั้ง จนกว่าประชาชนเรียนจบชั้นประถมศึกษาครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่ไม่เกิน 10 ปี จึงให้มีการเลือกตั้งทั้งหมด

วันที่ 1 เมษายน 2476 นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตรา เท่ากับเป็นการยึดอำนาจตนเอง

วันที่ 20 มิถุนายน 2476 ก็มีการยึดอำนาจเกิดขึ้น แต่โดยอีกฝ่ายหนึ่ง

จะเห็นได้ว่าเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจมา ก็จบด้วยการแย่งชิงอำนาจกันเอง นำไปสู่การรัฐประหารที่ต่อเนื่องมา เพราะแย่งชิงอำนาจ ซึ่งต่างจากการรัฐประหารสองครั้งสุดท้ายในประเทศ ที่มีมวลชนสนับสนุน ดังนั้นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือผลพวงของการแย่งชิงอำนาจในอดีตของคณะราษฎร

"นี่คือความจริงในประวัติศาสตร์ที่คุณธนาธรไม่พูดถึง ขอย้ำว่าเราต้องศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่เพื่อสร้างความแตกแยกและชิงชัง และโปรดทราบด้วยว่าคณะราษฎรใช้คำว่าราษฎร ไม่ใช่คำว่าพลเมือง เพราะคำว่าพลเมือง เป็นคำที่ใช้ในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส"นพ.วรงค์ ระบุ.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0