โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

'หมอยง' ห้ามเกษตรกรป่วยจับสัตว์ ลดเสี่ยง 'โควิด' ฤดูฝน

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 29 พ.ค. 2563 เวลา 13.00 น. • เผยแพร่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 05.00 น.

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า แม้จะเคยพบรายงานในฮ่องกงว่าพบโรคโควิด19 ในสุนัขพันธุ์ปอมเมเรอเนียน หรือมีรายงานจากจีนและสหรัฐว่าพบโรคนี้ในเสือหรือแมว การศึกษาในจีนพบว่าไวรัสตัวนี้ติดได้ในสัตว์ตระกูล feline หรือ แมว ได้ดีกว่าสุนัข ส่วนในหมู ไก่ เป็ด ไม่ติดโรคนี้แน่นอน และไม่มีหลักฐานเลยว่าสัตว์เหล่านี้เป็นแหล่งนำโรค และไม่มีหลักฐานว่าโรคจากสัตว์เหล่านี้จะแพร่กระจายมาสู่คนได้

 

ทั้งนี้ ปกติการทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ จะเป็นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ดังนั้น ถ้าทำถูกวิธีจะปลอดจากเชื้อก่อโรคโควิด19 แน่นอน เพราะสัตว์ ทั้งหมดไม่มีหลักฐานว่าจะมีไวรัสตัวนี้อยู่ และจากการศึกษาชัดเจนว่า ไวรัสตัวนี้ไม่ติดใน หมู ไก่ เป็ด หรือในปศุสัตว์ ดังนั้นประชาชนสบายใจได้ในการบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ แต่ที่อยากเน้น คือ ต้องปรุงอาหารให้สุก และไม่ทานอาหารดิบๆ สุกๆ เด็ดขาดในช่วงนี้ การทานอาหารที่สุกความร้อนฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิดรวมทั้งโควิด-19 ด้วย

 

สิ่งที่ต้องคำนึงอย่างเดียวคือเรื่องความสะอาด เพราะเรารู้ว่าเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 นี้แพร่กระจายผ่านทางเดินหายใจ เมื่อไอ จาม และแพร่กระจายทางอุจจาระได้ เพราะฉะนั้นในอุตสาหกรรมอาหาร บุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องเน้นเรื่องความสะอาด การล้างมือเมื่อออกจากห้องน้ำหรือแม้จะไปปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ต้องหมั่นทำความสะอาดล้างมือ โอกาสที่เชื้อนี้จะไปปนเปื้อนอาหารก็ไม่มี แม้มีติดมานิดหน่อยถ้าเราทานอาหารสุกก็ปลอดภัย

โดยมาตรการอันแรกที่เกี่ยวข้องกับ กลุ่มการเตรียมอาหาร จะต้องดูแลตัวเอง กรณีเจ็บป่วยมีไข้ก็ไม่ควรปฏิบัติภารกิจหรืออยู่ในไลน์การผลิตอาหาร โดยหลักการทั่วไป ถ้าคนงานแข็งแรงดีก็ปฏิบัติภารกิจได้ปกติ แต่ขอให้ควบคุมอนามัยส่วนบุคคล ความสะอาด การล้างมือ การใส่หน้ากากอนามัยปัองกัน ฝอยละออง จากการไอ จาม ตกลงไปในอาหาร

 

ในกรณีมีผู้ป่วยติดเชื้อในสถานประกอบการ ต้องหาผู้สัมผัสโรคและถูกกักตัวอย่างน้อย 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปสู่ผู้อื่น ขณะที่สายการผลิตบริเวณที่พบผู้ติดเชื้อปฏิบัติงาน ต้องปิดอย่างน้อย 1 วัน เพื่อทำความสะอาด โดยสามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่รู้จักกันดีเพราะไวรัสตัวนี้มีเปลือกหุ้ม เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนหรือแอลกอฮอลล์ ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สำหรับ เกษตรกรที่ดูแลสัตว์เลี้ยงฟาร์ม หมู ไก่ เป็ด ให้ดูแลสุขภาพตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด อาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ ให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อให้ต่อต้านกับโรคได้ กรณีตนเองป่วย อย่าสัมผัสกับสัตว์ในฟาร์ม ขอให้แยกตัวออกมา เก็บข้าวของเครื่องใช้ ของส่วนตัว การใช้ห้องน้ำถ้าแยกได้ขอให้แยก ถ้าแยกไม่ได้ให้ผู้ป่วยใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้ายของบ้าน และทำความสะอาดห้องน้ำโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีน

“สิ่งที่กลัวที่สุดคือการระบาดของโรคโควิด 19 ในโรงงานเพราะเป็นสถานที่รวมของคนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนเตรียมการที่ดี อย่างเช่น เน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การเข้า-ออกกะ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสและการรวมพลของคนหมู่มาก เพราะเรารู้ว่าในคนหมู่มากถ้าเกิดโรคกับคนใดคนหนึ่ง คนที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้องถูกกักตัวเป็นกลุ่มใหญ่จนไม่เหลือคนทำงาน”

 

ในสายการผลิตควรเตรียมแผนปฏิบัติการไว้ล่วงหน้ากรณีเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละกะการทำงาน ควรแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน เพราะหากพบผู้ป่วยติดเชื้อในทีมหนึ่งอาจต้องกักตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดทุกคนในทีม หลังปิดไลน์การผลิต ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแล้วต้องมีทีมงานกลุ่มใหม่เข้าไปทำงานแทนทันที เพราะไม่สามารถปิดโรงงานได้ 14 วัน การเตรียมการต่างๆ ถือว่ามีความจำเป็นมาก ต้องมีการวางแผนและซ้อมแผนเป็นอย่างดี หากไม่วางแผนทีดีเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะเป็นอุปสรรคอย่างมากหากไม่สามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้

 

กรณีที่คนงานป่วยโควิด 19 และสัมผัสวัตถุดิบอาหารและบรรจุภัณฑ์ สิ่งที่เรากลัวคือฝอย ละอองจากผู้ป่วย ที่จะไปปนเปื้อนกับอาหาร และถ้ามีการบริโภคอาหารแบบไม่สุกก็สามารถติดโรคได้ แต่ถ้าอาหารนั้นปรุงสุกก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ อุณหภูมิที่สามารถฆ่าเชื้อก่อโรคโควิด 19ได้ คือ 56 องศาเซลเซียล ในเวลา 30 นาที ถ้าเป็นอุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียล สามารถฆ่าได้ในเวลา 15 นาที อุณหภูมิยิ่งสูงขึ้นก็ใช้เวลาน้อยลง ถ้า 100 องศาเซลเซียลฆ่าได้ทันที

 

ส่วนกรณีโรงแปรรูปเนื้อสัตว์พบการติดเชื้อ ต้องหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเพื่อแยกและกักตัว และต้องทำความสะอาดในพื้นที่บุคลากรผู้นั้นทำงานอยู่และปิดพื้นที่เป็นบางส่วนเพื่อทำความสะอาด แต่ไม่ได้ปิดทั้งโรงงาน

 

ทั้งนี้จากการทำวิจัยมากว่า 10 ปีในไทย พบว่าโรคในระบบทางเดินหายใจทั่วไปมักจะระบาดได้ง่ายช่วงฤดูฝนมากกว่าฤดูร้อน ดังนั้นในฤดูฝนระหว่างเดือนก.ค.- ส.ค. ประเทศไทยต้องเตรียมตั้งรับแบบเข้มแข็งกว่าปกติ เพราะหากพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ การวินิจฉัยโรคจะค่อนข้างยุ่งยากกว่าปกติ จำเป็นต้องตรวจโรคให้มากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 หรือติดเชื้อไข้หวัดธรรมดา ดังนั้นปีนี้เราจำเป็นต้องระวังมากกว่าทุกปี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0