โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"หมอน้อย” หนุ่มสาวที่ทิ้งเงินเดือน ทิ้งความสบาย เพื่อมารักษาชีวิตคนบนเกาะ

อีจัน

อัพเดต 22 ก.พ. 2563 เวลา 07.44 น. • เผยแพร่ 22 ก.พ. 2563 เวลา 07.33 น. • อีจัน
เรื่องนี้ยาว แต่อยากให้อ่านจนจบนะ …

เรื่องนี้ยาว แต่อยากให้อ่านจนจบนะ

เขา คือ ฟาอีฟ หาญทะเล หนุ่มวัย 24 ปี
ส่วนเธอ คือ ลิยานา เบนหมาด สาววัย 22 ปี

เมื่อ สัปดาห์ก่อน อีจันได้พบกับหมอเชษฐ์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ของ จ.สตูล เขาบอก อีจันต้องได้พบกับ “เขา” และ “เธอ” คู่นี้

หนุ่มสาวสองคนนี้ คือ หมอน้อยของคน 2 เกาะ คือ บุโหลนเล และ บุโหลนดอน
เรานั่งเรือจากชายฝั่งสตูล ฝ่าคลื่นไปประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ถึงเกาะบุโหลนเล
เกาะแสนสวยที่มีผู้คนอยู่ประมาณ 100 ครอบครัว

ที่นั่นเดิมไม่มี อนามัย ระบบการสาธารณะสุขก็เข้าไม่ถึง
คนบนเกาะหากเจ็บป่วย ทางเดียวที่เป็นโอกาสรอด คือ นั่งเรือ ฝ่าคลื่นลม มรสุม มายัง รพ.บนฝั่งให้ได้
เจ็บป่วยเล็กน้อยคงไม่เท่าไร เจอประเภทต้องคลอดลูก หรือ หัวใจวาย นั่นคือ ความลำบาก
ด้วยความเมตตา เมื่อประมาณ 7 ปี ก่อน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานทุนการศึกษา ให้กับเด็กบนเกาะ ที่มี วุฒิ ม. 3 มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะไปเรียนต่อเวชกรฉุกเฉิน และกลับมาดูแลพี่น้องบนเกาะบุโหลนเลและ บุโหลนดอน ได้ในอนาคต
ทุนการศึกษาถูกส่งมา 2 ปี แล้ว แต่…หาผู้รับทุนไม่ได้

วันหนึ่ง ณ เกาะหลีเป๊ะ
ฟาอีฟ เล่าว่า คุณครูของเขาไปตามเขาถึงเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งตอนนั้นเขาทำงานในรีสอร์ทและได้รับเงินเดือน เดือนละ 25,000 บาท
“ช่วงนั้น ชีวิตผมดีมาก ผมใช้ 10,000 เก็บ 10,000 ได้อย่างสบายๆ”
แต่เมื่อครูบอกว่า เขา และ น้องลิยานา เป็นเพียงเด็ก 2 คน จากทั้งเกาะที่เรียนจบ ม. 3 และสามารถรับทุนนี้ได้ ทั้งฟาอีฟ และ ลิยานา จึงตัดสินใจทิ้งงาน ทิ้งเงิน เดินทางออกจากเกาะเพื่อเรียนต่อ
เมื่อเรียนจบ ที่เกาะบุโหลนเล ถือได้ว่ามีบุคลากรแล้ว
แต่…ปัญหาต่อมา คือ ไม่มีที่ทำงาน

พี่ๆสาธารณสุขก็พยายามไปขอปันศาลาของโรงเรียนที่มีแห่งเดียวบนเกาะ เพื่อตั้งเป็นสุขศาสาบริการสาธารสุขเล็กๆ จัดเป็นสถานที่ให้ ฟาอีฟ และ ลิยานา ได้ทำงานในฐานะ หมอน้อย รักษาดูแลสุขภาพของคนทั้งเกาะ

สิ่งที่ ฟาอีฟ และ ลิยานา ต้องทำ คือ ดูแลให้บริการเมื่อมีคนเจ็บป่วยมาหา เท่าที่ความรู้กับอุปกรณ์อันจำกัดจะช่วยได้
ในวันที่ฉุกเฉิน หมอน้อย คือ ความหวังเดียวในเกาะอันห่างไกล
หมอน้อย ต้องทำคลอดได้ ซีพีอาร์คนป่วยได้ พาคนป่วยไปส่ง รพ.บนฝั่งได้
“ผมต้องซีพีอาร์คนไข้บนเรือ ตลอด 1 ชั่วโมง โดยไม่มีคนเปลี่ยน แต่เพื่อให้เขารอด ผมก็ต้องทำให้ได้ ”
ความมุ่งมั่น และจิตใจอันเข้มแข็ง ดูสวนทางกับ เสื้อผ้ามอซอและสภาพความเป็นอยู่ ที่เราดูด้วยตาก็รู้ว่า เขาและเธอ ไม่ได้สบายนัก

4 ปี ที่ผ่านมา
ทั้งคู่ไม่มีที่พัก ต้องอาศัยนอนกับครูที่ รร.
ทั้งคู่ไม่มีเงินเดือน ต้องอาศัยการเจียดงบประมาณ จาก อบต. และอบจ. มาจ่ายเดือนละ 5,000/6,000 บาท
ทั้งคู่ลำบาก เงินเดือนไม่ออกมา 4 เดือนแล้ว 

“เราสวมเสื้อเครื่องแบบที่ดูดี แต่เบื้องหลังแล้ว ชีวิตไม่ต่างกับสัมภเวสี ที่ต้องเร่ร่อนขอที่นอน ที่กิน ที่ทำงาน แต่ทุกครั้งที่คนไข้มาหา เราต้องพร้อมที่จะดูแล และช่วยเหลือ”

ฟังเรื่องราวของหมอน้อยคู่นี้ เราอยากกราบหัวใจ
เย็นวันนั้น เราเดินทางออกจากเกาะบุโหลนเล ด้วยความรู้สึกบอกไม่ถูก ใจหนึ่งปลาบปลื้มที่ได้พบหนุ่มสาวที่มีหัวใจยิ่งใหญ่เช่นนี้ อีกใจกลับหนักอึ้ง รู้เพียงว่า เราต้องหาทางช่วยเหลือให้หมอน้อยพ้นความยากลำบากนี้ให้ได้
เรือแล่นออกจากฝั่งช้าๆ หมอน้อยยืนส่งเราด้วยสายฝากความหวัง เรารู้ เขากำลังร้องไห้
และเรารู้ว่า…เราจะต้องกลับไป
แล้วเราจะต้องเจอกันอีกนะ “หมอน้อย”ของเกาะบุโหลน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0