โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

หมอนยางระสํ่า จีนไล่ตีตลาดยับ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 23 ม.ค. 2563 เวลา 04.20 น.

 

สินค้าหมอนยางพารากำลังเป็นที่นิยมของชาวจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งหากมาเที่ยวไทยแล้วมักจะมี 3 คำถามคือ 1.ได้กินทุเรียนหรือยัง 2.ซื้อหมอนยางพารากลับมาหรือเปล่า และ 3.ได้กินมังคุดหรือไม่ ขณะที่ตลาดหมอนยางพาราในไทยกำลังโต ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศแข่งขันในการผลิตและทำตลาดกันอย่างดุเดือด

สินค้าจีนรุมแย่งตลาด

นายเกรียงไกร เทพินทร์อารักษ์ ผู้จัดการสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด จังหวัดตราด เผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า โรงงานผลิตหมอนยางพาราของไทยทั้งที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงในรูปสหกรณ์ยางพาราทั่วประเทศกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จากมีสินค้าหมอนยางพาราจากจีนส่งเข้ามาตีตลาด ทั้งเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย โดยขายเพียงใบละ 200-400 บาทเท่านั้น ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วราคาดังกล่าว หากเป็นหมอนยางพาราแท้จะไม่สามารถขายในราคานั้นได้

“หมอนยางพาราแท้ 1 ใบต้องใช้นํ้ายางสดในการผลิต 5 กิโลกรัมเพื่อมาปั่นเป็นนํ้ายางข้น 60% (ราคานํ้ายางสดวันที่ 21 ม.ค. 63 อยู่ที่ 41 บาทต่อ กก.) มีต้นทุนนํ้ายางแล้วกว่า 200 บาท รวมปลอกหมอนผ้า ค่าเคมี ค่าแรง ค่านํ้า ค่าไฟฟ้า ค่าแพ็กเกจจิ้ง และอื่นๆ ต้นทุนต่อใบตก 300-400 บาทแล้ว ราคาขายส่งถ้าเป็นล็อตใหญ่จะตกใบละ 500 บาท และราคาขายปลีกตกประมาณ 800 บาท ดังนั้น ราคาที่ขายกันในตลาดหรือทางออนไลน์ใบละ 200-400 บาท ให้ตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่เป็นหมอนยางพาราแท้ แต่เป็นหมอนยางเทียม หรือหมอนยางสังเคราะห์ที่มีต้นทุนถูกกว่ามาหลอกขาย ซึ่งหากมองดูด้วยตาเปล่าไม่มีการพิสูจน์จะแยกลำบากว่าอันไหนจริง อันไหนปลอม เพราะคล้ายกันมาก”

 

 

ตีตราไทยขายจีน500-5พัน

นอกจากมีสินค้าหมอนยางสังเคราะห์จากจีนเข้ามาจำหน่ายในไทยในราคาถูกแล้ว ยังมีการนำเข้าสินค้าหมอนยางจากโรงงานผลิตในจีนมาตีตราเมด อิน ไทยแลนด์ เพื่อส่งกลับไปจำหน่ายในจีนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า นอกจากนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่จากจีนเข้ามาลงทุนผลิตหมอน และที่นอนยางพาราในไทยเพื่อส่งกลับไปจำหน่ายในจีน หากไปพบว่าขายในราคาถูก เช่นใบละ 500 บาทให้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นหมอนยางพาราปลอม แต่หากเป็นหมอนยางพาราแท้ที่จีนมาผลิตในไทย หรือมาจ้างไทยผลิตในแบรนด์เนม ลูกค้า(OEM) จะมีราคาตั้งแต่หลัก 1,000-5,000 บาทต่อใบ(ข้อมูลในปี 2560 ตลาดหมอนยางพาราในจีนมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่วนตลาดในไทยช่วงปี 250-2561 ที่หมอนยางพาราเริ่มบูมมากมีมูลค่า 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปี)

“ผู้ประกอบการไทยยังได้รับผลกระทบจากหลายเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ทำให้ทัวร์จีนมาเที่ยวไทยลดลง ในส่วนสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราดที่ดูแลอยู่ ก่อนหน้านี้มีช็อปจำหน่ายสินค้าให้นักท่องเที่ยวจีน 3-4 รายมาสั่งซื้อหมอนยางพาราเราไปจำหน่ายสัปดาห์ละ 1,000-1,500 ใบ แต่ปัจจุบันไม่มีการสั่งซื้อเลย จากไม่มีทัวร์จีนเข้า ทั้งนี้จากผลกระทบสินค้าจีนที่ตีตลาดเราทั้งในไทยและในจีน และจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ภาพรวมโรงงานผลิตหมอนยางพาราไทยที่มีกว่า 20 รายทั่วประเทศ ณ เวลานี้ต้องลดกำลังผลิตมากกว่า 50%”

 

 

 

วอนรัฐเร่งแก้ปัญหา

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการหมอนยางพารารายใหญ่ กล่าวว่า ผลกระทบนอกจากโรงงานผลิตของไทยต้องลดกำลังผลิต และมีผลประกอบการที่ลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบให้โรงงานด้วย และจากผู้ประกอบการต่างชาติใช้ยางสังเคราะห์ในการผลิต บางรายโกงส่วนผสมใช้นํ้ายางพาราแท้ไม่ 100% อยากให้ภาครัฐได้เข้ามาช่วยดูแล เช่น การทำคิวอาร์โค้ดเพื่อเช็กแหล่งกำเนิดสินค้าที่แท้จริง โดยตรวจสอบอย่างเข้มข้น และการขายในประทศสินค้าควรบังคับให้มีตรา มอก. เป็นต้น

แหล่งข่าวจากเครือข่ายยางพาราภาคตะวันออก เผยว่า ทางเครือข่ายได้ออกแถลงการณ์ ใจความสำคัญระบุว่าปัญหาหมอนยางพาราในวันนี้คือมีหมอนยางพาราปลอมจากต่างประเทศถูกนำเข้ามาขายในไทยในราคาถูก และตีตราไทยส่งออกจำนวนมหาศาล ทำให้หลายหน่วยงานและผู้ซื้อมีความสับสนเรื่องต้นทุนการผลิต สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยหลายหมื่นล้านบาทต่อปี

ขณะที่แนวคิดโครงการหมอนยางประชารัฐ(30 ล้านใบ) เพื่อเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นโครงการที่ดีและสามารถช่วยชาวสวนยางได้จริง เพราะจะดึงนํ้ายางสดออกจากระบบได้ถึง 1.5 แสนตัน ทางเครือข่ายยางพาราภาคตะวันออกที่มีสมาชิกมากกว่า 50 สหกรณ์มีความพร้อมในการรับซื้อนํ้ายางจากชาวสวนในราคานำตลาด เพื่อผลิตหมอนยางพารา และกลุ่มวิสาหกิจและสหกรณ์ก็มีเครื่องมือในการผลิตหมอนยางพาราอยู่แล้ว สามารถผลิตได้ทันทีเมื่อมีคำสั่งจากภาครัฐ

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0