โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

หมอดูชีวิต - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 09 ก.ย 2562 เวลา 10.19 น.

หมอดูบอกคุณว่า “ช่วงนี้คุณเหนื่อยใจมาก” คุณนึกถึงเมื่อสองวันก่อน คุณรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตเพราะเงินเดือนไม่พอใช้ หมอดูบอกว่า “เจ้านายคุณกดดันมาก” คุณก็นึกได้ว่าหนึ่งวันก่อนเจ้านายเร่งงานโดยไม่มีเหตุผล หมอดูบอกว่า “คุณมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับแฟน” คุณนึกได้ว่าสามวันก่อนแฟนคุณงอนคุณ ไม่คุยด้วยหลายวัน

คุณสรุปว่าหมอดูแม่นจริง มันแม่นเพราะคุณทำให้มันแม่นเอง คุณโยงความเหนื่อยใจกับเงินเดือน เจ้านายกับการเร่งงาน ความสัมพันธ์กับการงอนของแฟน

สมมุติว่าไม่มีเหตุเรื่องเงินเดือน เจ้านาย หรือแฟน คุณก็อาจโยงเข้ากับเรื่องอื่นจนได้ แล้วยกประโยชน์ให้เป็นความแม่นยำของหมอดูอีกเช่นกัน

แม้ในเรื่องที่ไม่ใช่การทำนายชีวิต ใครคนหนึ่งบอกว่า ค่าครองชีพแพงเพราะรัฐบาลแย่ เราก็อาจเห็นคล้อยตาม เพราะโยงสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน แต่จริงๆ เศรษฐกิจอาจจะยังดีอยู่ แต่ค่าครองชีพดูสูงขึ้นเพราะเจ้านายไม่ขึ้นเงินเดือนให้เรา เราโยงเพราะอยากโยง

มนุษย์เรามีนิสัยชอบโยงโดยธรรมชาติ ไม่ว่าหมอดูทำนายอะไร หรือใครพูดอะไร เราก็จะโยงเข้าเรื่องที่จริง เราไม่โยงเรื่องที่ไม่ใช่ มันเป็นธรรมชาติของสมองคนเราที่จะโยง หรือ ‘หาเรื่อง’ ชอบจับแพะชนแกะ เช่น เห็นหญิงสาวสวมกระโปรงสั้นเดินกับฝรั่งก็สรุปว่าเป็นหญิงบริการแหง ๆ เห็นผู้หญิงออกจากวัดตอนค่ำ ก็สรุปว่าพระวัดนี้มั่วสีกาแน่ ๆ

เห็นชายหญิงอยู่ด้วยกันสองต่อสองดึกๆ ดื่นๆ ก็สรุปว่าสองคนนี้ต้องมีอะไรกัน เห็นนักเรียนในเครื่องแบบในศูนย์การค้า ก็ว่าหนีเรียนแน่ แฟนขอเลิกกับ ก็โยงว่าเพราะเขาหรือเธอมีคนใหม่

อาจจะใช่ แต่ก็อาจจะไม่ใช่

โลกอินเทอร์เน็ตเดี๋ยวนี้กลายเป็นถังขยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้คนมารวมกันเพื่อ ‘เมาธ์’ คาดเดาโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน นึกอะไร จินตนาการอะไรก็เขียนออกมา คอมเมนต์ที่หนึ่งกลายเป็นคอมเมนต์ที่สอง สาม สี่ ห้า… ต่อยอดไปเรื่อย ๆ จนหาความจริงไม่เจอ

……………

ในวงการที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การโยงกันของสองสิ่งที่ไม่เกี่ยวกันเข้าด้วยกันเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผล ในทางการประพันธ์ การโยงสองเรื่องมาเปรียบกันเป็นอุปมาอุปมัย ทำให้งานเขียนมีมิติมากขึ้น สนุกขึ้น แต่ในการใช้ชีวิต การโยงกันแล้วด่วนสรุปอาจสร้างทุกข์

เคยไหมที่เมื่อคุณอ่านหรือได้ยินเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เช่น อาการของโรค ก. คือ “คนไข้จะมีอาการปวดหัว มึน ซึม ท้องไม่ดี นอนไม่หลับ” คุณก็นึกถึงตัวเองทันทีว่า “เออ! เราก็มีอาการพวกนี้นี่นา แสดงว่าเราเป็นโรค ก. แน่เลย” ทั้งที่ความปวดหัว มึน ซึม ท้องไม่ดี นอนไม่หลับ อาจเกิดจากร้อยเหตุพันประการ

นี่คือหาเหาใส่หัว หาเรื่องโยงให้เกิดทุกข์

เจ้านายยิ้มให้ ทั้งที่ทั้งปีทั้งชาติไม่เคยทำ ก็โยงว่าคงคิดไล่เราออกแน่ๆ

คนที่ไม่ชอบเราสองคนคุยกัน ก็สรุปว่าทั้งสองกำลังนินทาเรา

ตกงานก็โทษเศรษฐกิจ แต่ไม่คิดว่าตัวเองอาจตกยุค ไม่ทันความเปลี่ยนแปลง

โลกมีเรื่องร้ายๆ มากมาย ทำให้เราปลูกฝังนิสัยมองโลกในแง่ร้ายโดยไม่รู้ตัว

แต่มันคือการหาเหา ‘ทุกข์’ ใส่หัว

เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ใด ควรวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ก่อน อย่าเพิ่งโยง อย่าเพิ่งสรุป อย่าเพิ่งตีโพยตีพาย วิเคราะห์สถานการณ์ เหตุและปัจจัยก่อน จึงค่อยสรุป ไม่เช่นนั้นเราก็อาจจะทุกข์ทุกเรื่อง หรือสร้างทุกข์โดยไม่จำเป็น

นี่คือการศึกษาว่าอะไรบ้างอาจทำให้เราเกิดทุกข์ ก่อนที่ทุกข์จะเกิด เพราะรู้ทัน ตามทัน จึงไม่โยงสะเปะสะปะ

ใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งหมอดู และใช้ชีวิตโดยไม่เป็นหมอดูเสียเอง

……………

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0