โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

หมอจุฬาฯ ยืนยันไม่ให้คะแนนรบ.เหตุแก้ปัญหากัญชาไม่ได้ แถมเรื่องใหม่จ่อเข้าคิวอีก!

MATICHON ONLINE

อัพเดต 16 ม.ค. 2562 เวลา 09.40 น. • เผยแพร่ 16 ม.ค. 2562 เวลา 09.40 น.
กัญชารบ

หมอจุฬาฯ แจงกรณีกระแสข่าวผลักดัน กม.คลายล็อกกัญชารวดเร็ว   ด้านไบโอไทยแฉซ้ำ ไม่ใช่แค่สิทธิบัตรกัญชา แต่ไทยอาจถูกปิดกั้นห้ามพัฒนาสายพันธุ์กัญชาของตัวเอง พร้อมลุ้น 17 ม.ค.  ข้อสรุป ‘สิทธิบัตรกัญชา’

กัญชา-เมื่อวันที่ 16 มกราคม  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการพิจารณาการนำกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จากล่าวถึงกรณีกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า การผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในการให้กัญชาใช้ทางการแพทย์ อาจมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้ร่างพ.ร.บ.ฯถูกผลักดันอย่างรวดเร็ว ว่า  ตนก็อยู่ในกรรมาธิการของสนช.ในการพิจารณาเรื่องนี้ เมื่อทราบถึงกระแสข่าวที่ทำให้ผู้หวังดีในการผลักดันกฎหมาย เพื่อให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ต้องรู้สึกผิดหวังมากๆ เนื่องจากหากพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และมาบอกว่าเอื้อประโยชน์บริษัท หรือเอื้อต่างชาติ ข้อเท็จจริงตัวร่างดังกล่าว เขียนในบทเฉพาะกาลว่า หากเอกชนหรือมหาวิทยาลัยที่จะมีการพัฒนากัญชาทางการแพทย์จะต้องทำร่วมกับภาครัฐเป็นเวลา 5 ปี  แบบนี้ถือว่าป้องกันเอกชนเอาผลประโยชน์แล้ว แต่หากจะมีการตำหนิ หรือไม่ชอบ ส่วนตัวมองว่าควรจะเป็น 10-20 ปีมากกว่า เพราะ 5 ปีตนมองว่าน้อยไป

“ต้องย้ำว่าตัวร่างพ.ร.บ.ฯ ที่ผ่านสนช.ไปนั้นก็ไม่ได้สนับสนุนให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ แต่เรานำมาใช้ทางการแพทย์ เพื่อผู้ป่วย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม  ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ หรือร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ อันไหนจะผ่านก่อน หรือผ่านหลัง สุดท้ายหากปัญหาคำขอสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติ ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ยอมทำอะไร ทั้งที่ตอนนี้เป็นโอกาสทำได้ เพราะกฎหมายคลายล็อกกัญชาทางการแพทย์ยังไม่ประกาศใช้ เราสามารถให้คำขอสิทธิบัตรต่างๆ เป็นโมฆะได้ มีเหตุผลที่จะไปแจ้งการยกเลิก แต่หากไม่ทำ สุดท้ายกฎหมายออกมาก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะไปเอื้อต่างชาติแน่นอน เนื่องจากสิทธิบัตรที่ต่างชาติยื่นขอนั้น ไปครอบคลุมพืชกัญชา สารจากกัญชา แบบนี้นักวิจัยไทย ที่พัฒนาผลิตก็ทำไม่ได้หมด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้กัญชา กลายเป็นว่าการกระทำต่างๆเหมือนไปเอื้อต่างชาติ แต่ไม่ใช่เพราะร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ตนมองว่าเรื่องสิทธิบัตรกัญชาที่ต่างชาติมายื่นขอมากกว่า ที่สำคัญยังมีเรื่องที่ทางรัฐบาลชุดนี้ เคยหารือร่วมกับทางญี่ปุ่นว่าจะมีความร่วมมือในการทำสนธิสัญญาร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ โดยหากลงนามกันจริงๆ ไทยจะไม่สามารถพัฒนาสายพันธุ์กัญชาได้ หากรัฐไทยไปทำจริงๆ นี่คือกระบวนการโจรสลัดชีวภาพ ประเทศไทยจะเสียผลประโยชน์มหาศาล เพราะนอกจากจะจดสิทธิบัตรกัญชาไม่ได้ หากไม่ยกเลิก ไทยก็จดยาก เพราะต่างชาติยื่นขอจดเกี่ยวกับสารธรรมชาติในกัญชา ซึ่งเป็นข้อห้ามการจดสิทธิบัตรอยู่แล้ว แต่ถ้ากรมทรัพย์สินทางปัญญายืดเยื้อ สุดท้ายไทยก็หมดหนทาง และหากมีสนธิสัญญาเรื่องข้อตกลงพันธุ์พืชอีก ไทยคงไม่ต้องทำอะไรแล้ว ที่สำคัญองค์การเภสัชกรรม(อภ.) จะหันมาพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ก็ต้องพิจารณาดีๆ เพราะหากมีข้อตกลงนี้คงทำไม่ได้

“ทั้งหมดก็ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลชุดนี้ทำอะไรเพื่อประโยชน์ ที่เคยแถลงผลงานประสบความสำเร็จต่างๆ ก็คงมีเรื่องดี แต่ที่เห็นแน่ๆ เรื่องสารเคมี สารพิษ กัญชา ปกป้องประชาชนชาวไทย ผลประโยชน์ประเทศชาติแทบไม่เห็น อย่างสิทธิบัตรกัญชาก็ชัดเจน ปล่อยยืดเยื้อมานาน ถ้าให้คะแนนรัฐบาล ผมให้ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะให้ยังไงเหมือนกัน ประชาชนคงต้องใช้วิจารณญาณแล้ว” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวว่า สำหรับการทำสนธิสัญญาพันธุ์พืช เป็นอีกเรื่องที่ประชาชนคนไทยต้องจับตาดีๆ เพราะไม่ใช่แค่กัญชา แต่รวมพันธุ์พืชทั้งหมด แน่นอนว่ากัญชารับผลกระทบเต็มๆ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยเคยแสดงเจตจำนงว่า จะเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในการทำสนธิสัญญาข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)  ซึ่งหากเข้าร่วมจะทำให้ผูกติดกับ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) โดยหากเข้าร่วมการพัฒนาสายพันธุ์พืชไทย รวมทั้งกัญชาจะแคบลง โดยเฉพาะกัญชา เนื่องจากปัจจุบันกัญชาไทยจะมีอยู่ประมาณ 10-20 สายพันธุ์ ที่ยังไม่ถูกต่างชาตินำไปพัฒนาและขึ้นสิทธิบัตรเป็นของประเทศตนไปแล้ว เพียงแต่ของเรายังไม่ร่วมสนธิสัญญานี้ ทำให้ยังมีช่องในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อยู่ แต่หากเข้าร่วมของเราที่มีอยู่น้อยอยู่แล้ว และจะนำมาพัฒนาสายพันธุ์ก็เกรงว่า จะพัฒนาไม่ทันต่างชาติ ซึ่งสุดท้ายไทยก็เสียผลประโยชน์อยู่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีสิทธิบัตรกัญชาจะได้ข้อสรุปอย่างไร ผู้อำนวยการไบโอไทย กล่าวว่า ในวันที่ 17 มกราคม เวลา 10.00 น.จะมีการหารือกับทางอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่กระทรวงพาณิชย์ หลังจากนั้นจะมีการแถลงข่าว ก็ต้องดูว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องสิทธิบัตรอย่างไร เพราะหากไม่ทำอะไร เราไม่รอไม่ให้โอกาสแล้ว เราจะเคลื่อนไหวต่อ และฟ้องร้องตามเดิม

 

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0