โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

หนุ่ม เหยื่อเงินในบัญชีหาย 8.3 ล้านบาท ปีนเสาสื่อสาร-ถ่ายทอดสด ประจาน ธนาคารฯ รัฐ

สวพ.FM91

อัพเดต 21 ก.พ. 2562 เวลา 04.18 น. • เผยแพร่ 21 ก.พ. 2562 เวลา 04.18 น.
หนุ่ม เหยื่อเงินในบัญชีหาย 8.3 ล้านบาท ปีนเสาสื่อสาร-ถ่ายทอดสด ประจาน ธนาคารฯ รัฐ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 บริเวณที่ตั้งเสาสื่อสาร ใกล้ทางด่วน ด้านหลังกระทรวงสาธารณสุข รับแจ้งเหตุมีชายปีนขึ้นไปอยู่ด้านบนเสาดังกล่าว พร้อมกับติดป้ายผ้าเขียนข้อความว่า “เงิน 8.3 ล้าน หายเกลี้ยง!! ธนาคาร + โจร = ???” และ “8.3 ล้าน หายเกลี้ยง !! ลูกค้า กรุงไทย โปรดแชร์” ทราบต่อมาว่า ผู้ชายที่ปีนขึ้นไปอยู่บนเสาสื่อสาร คนดังกล่าว คือ นายเอกวิชช์ เกษเจริญ  ผู้ที่ยื่นเรื่องเรียน ธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ กรณีมีการปลอมลายเซ็น ของนายเอกวิชช์ และถอนเงินออกจากบัญชี จำนวน 8.3 ล้านบาท และมีการฟ้องร้องกันในชั้นศาล เป็นเวลานาน 10 ปี ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก บัญชีผู้ใช้ชื่อ จั้ม เอกวิชช์  ได้มีการถ่ายทอดสด ขณะอยู่บนเสาสื่อสาร อย่างไรก็ตาม จากภาพการถ่ายทอดสดผ่าน แอพพลิเคชั่น เฟซบุ๊ก จะเห็นได้ว่า นายเอกวิชช์ ได้สวมเข็มขัด เซพตี้นิรภัยไว้ด้วย
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 10.00 น. นายเอกวิชช์ เกษเจริญ ได้ลงมาพื้นล่าง พร้อมกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ทุกครั้งที่เข้ามาตามเรื่องเงิน 8.3 ล้านบาท เห็นเสาสื่อสารต้นนี้ เลยนึกว่าจะลองปีนขึ้นไปเรียกร้อง เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นรู้ว่า ตนเป็นผู้เสียหาย หรือถ้าเป็นลูกค้า ธนาคารฯ ที่เป็นองค์กรของรัฐ กว่า 10 ปียังไม่ได้รับความเป็นธรรม ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ชดเชย เมื่อครั้นไปถือป้ายร้องเรียน ทวงถามหน้า ธนาคารฯ สำนักงานใหญ่ ก็ได้รับคำตอบเพียงว่า รอศาลสั่ง ซึ่งก่อนหน้านี้มีหนังสือชี้แจงว่า อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบพนักงาน ตนไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานแค่ไหน     
 
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับคดีนี้ นายเอกวิชช์ เกษเจริญ   ซึ่งเป็นลูกค้าธนาคารฯ ใน จ.นครสวรรค์ ร้องเรียกธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ อ้างว่า ถูกเพื่อนที่ไม่ใช้เจ้าของบัญชีปลอมลายเซ็นในใบมอบฉันทะ แล้วถอนเงินไปจากบัญชีไปจำนวนกว่า 8 ล้านบาท โดยลูกค้าได้ยื่นฟ้องธนาคารฯ ในคดีความแพ่งต่อศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาและมีคำพิพากษายกฟ้อง ต่อศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาและมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องเช่นกัน เวลาผ่านมา 10 ปี คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา
 
นายเอกวิชช์ เกษเจริญ ลูกค้าของธนาคารกรุงไทย สาขาสวรรค์วิถี อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า  ตน และ คู่กรณี คือ ส.ท. คนหนึ่งใน จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็กและเปิดกิจการร่วมค้า เพื่อรับงานโครงการก่อสร้างถนนสาย ก.เทศบาลนครนครสวรรค์ พร้อมเปิดบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาสวรรค์วิถี โดยมีนายเอกวิชช์ เป็นผู้มีอำนาจในเบิกถอนแต่เพียงผู้เดียว
 
คู่กรณีเป็นคนไปรับเช็คจากเทศบาลนครนครสวรรค์ แล้วนำไปเข้าบัญชี จากนั้นวันที่ 10 กันยายน 2551 และวันที่ 3 ตุลาคม 2551 ถูกคู่กรณีปลอมลายเซ็นใบมอบฉันทะ ใบถอนเงินธนาคาร และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ไปถอนเงินจากธนาคารกรุงไทย สาขาปากน้ำโพ ซึ่งเป็นการถอนเงินต่างสาขา แต่ธนาคารฯ กลับให้ถอนเงินไปสองครั้ง รวมกว่า 8 ล้านบาท
หลังทราบเรื่องก็มีการพูดคุยกัน คู่กรณีบอกว่า จะนำเงินมาคืนให้ แต่ไม่เป็นไปตามตกลง จึงเกิดการฟ้องร้องฐานปลอมแปลงและใช้เอกสารปลอม และฟ้องธนาคารกรุงไทยในคดีความแพ่ง ฐานปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับการฝากถอนเงิน ต่อมาเดือนตุลาคม 2556 ศาลจังหวัดนครสวรรค์ศาลยกฟ้องคู่กรณี โดยเห็นว่า รายงานการตรวจตัวอย่างลายมือของนายเอกวิชช์ ในเอกสารต่าง ๆ จากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ไม่มีน้ำหนักและเห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญมีพิรุธและไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และเชื่อว่า อาจยินยอมให้ลงลายมือแทนกันได้ เพื่อใช้หนี้คู่กรณี
 
ทั้งนี้ ส่วนคดีแพ่ง ที่นายเอกวิชช์ ยื่นฟ้องธนาคารกรุงไทย สาขาปากน้ำโพ ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการตามระเบียบ ศาลจังหวัดนครนครสวรรค์ ก็ยกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น โดยศาลเชื่อคำให้การเจ้าหน้าที่ธนาคาร กรณีมอบฉันทะถอนเงินต่างสาขา สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าของบัญชีก่อน เพราะกรณีนี้เป็นการโอนเงินจากบัญชีไปอีกบัญชีหนึ่ง พร้อมมีการประทับตรา ห้างหุ้นส่วนของบริษัทและลายเซ็นในเอกสารต่าง ๆ แต่หากเป็นกรณีมอบฉันทะและถอนเงินสด  และต่างสาขา ไม่สามารถทำได้
 
อย่างไรก็ตามแม้ข้อตกลงและเงื่อนไข ในการเปิดบัญชี จะไม่มีข้อความว่า เจ้าของบัญชีสามารถมอบฉันทะให้บุคคลอื่นถอนเงินแทนได้ แต่ระเบียบวิธีปฏิบัติของธนาคาร ธนาคารก็ยินยอมให้มีการมอบฉันทะมาถอนเงินแทนได้ และในแบบฟอร์มใบถอนเงินด้านหลัง ก็มีช่องมอบฉันทะ ล่าสุดคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
 
ขณะที่ธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ ระบุว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาฎีกาออกมา ธนาคารฯ ก็พร้อมปฏิบัติตาม และที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทย ได้ชี้แจงกระบวนการตรวจสอบและให้ข้อมูลกับลูกค้ามาต่อเนื่อง รวมทั้งไม่เคยละเว้นการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดต่อธนาคาร ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ได้ยึดมั่นในการปฏิบัติงานตามหลักบรรษัทภิบาล ดำเนินงานอย่างมืออาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใส

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0