โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

หนุ่มใหญ่ชัยนาท ใช้ประโยชน์จากพืชทองคำบนคันนา ปลูกอ้อยสุพรรณบุรี 50 คั้นน้ำขาย สร้างรายได้เสริมดีเยี่ยม

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 12 พ.ย. 2562 เวลา 05.37 น. • เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 05.37 น.
12 อ้อยคั้นน้ำ

*“อ้อยคั้นน้ำ” หรือ “น้ำอ้อยสด” ที่บรรจุในขวดแช่เย็นไว้ดื่มยามอากาศร้อน ยามร่างกายเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหรือการเดินทาง น้ำตาลจากน้ำอ้อยสดๆ สามารถทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นได้ทันทีที่ดื่ม   *

“อ้อย” เป็นพืชทนแล้งที่ใช้น้ำน้อย บางพันธุ์นำผลผลิตส่งโรงงานแปรรูปเป็นน้ำตาล บางพันธุ์เหมาะจะนำมาบริโภคสด ด้วยการหีบเป็นน้ำอ้อยสดพร้อมดื่ม การปลูกอ้อยมีทั้งปลูกแบบสวนหลังบ้านและปลูกในเชิงการค้า อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยยกระดับรายได้สู่ความมั่นคง

“อ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี50” มีลักษณะลำต้นสีเขียวอมเหลือง ลำปล้องทรงกระบอก หัวท้ายเสมอค่อนข้างยาวถึงยาวมาก ไม่มีร่องหรือรอยบุ๋มบริเวณตาหรือข้อ อายุเก็บเกี่ยว 8-10 เดือน หลังปลูก ซึ่งถือว่าเป็นระยะให้น้ำ คุณภาพและปริมาณมากที่สุด สามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศและปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศตามท้องถิ่นได้ดี เจริญเติบโตเร็ว อัตราการแตกกอดี แตกได้มาก 12,000-12,500 ลำ ต่อไร่ มีความต้านทานโรคแส้ดำ โรคราใบขาว โรคลำต้นหรือไส้เน่าแดงและหนอนกออ้อยได้ดี

คุณศิวาพัชร์ มั่นคงจรัลศรี อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ที่ 10 ตำบลเที่ยงแท้ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ปัจจุบัน ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมะม่วง ปลูกมะละกอ ปลูกพริก พืชอาหารของกินปลูกหมดเลย ไม่ซื้อใครกินเลย ซื้อแต่หมู ปลูกบนพื้นที่ของแม่ พื้นที่ที่บ้าน 2 ไร่ครึ่ง ที่นาอีก 9 ไร่ 3 งาน

“ตอนนี้ปลูกอ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 อยู่ 80 กอ…กำลังจะปลูกเพิ่มอีก 400 กอ เริ่มทำอ้อยคั้นน้ำมาปีกว่าแล้ว โดยขายครั้งแรก วันที่ 5 ธันวาคม 2561… เราปลูกบนคันนา มีหลายพืช อย่าง มะม่วง มะพร้าว มะละกอ รวมทั้งอ้อยคั้นน้ำ พืชเหล่านี้มีคุณค่าดังทองคำ” คุณศิวาพัชร์ กล่าว

จุดเริ่มต้นในการปลูกอ้อยคั้นน้ำ

คุณศิวาพัชร์ เล่าว่า “ไปอบรม 1 ไร่ 1 แสน ที่พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ที่ธัญบุรี ไปเห็นอ้อยเขาลำขนาด 4 โล ก็รู้สึกสนใจ เพราะเราทำอยู่แล้ว พื้นที่เราเตรียมไว้อยู่แล้ว ก็เลยซื้อเขามา 20 ตา ตาละ 10 บาท 20 ตา เป็นเงิน 200บาท ก็เอามาปลูกเพื่อขยายพันธุ์เอง และพอได้เข้าไปอบรม 1 ไร่ 1 แสน ก็จะมีเครือข่าย มีเพื่อน ก็จะได้ไปดูของแปลงต่างๆ ก็ไปเรียนรู้ การดูแล การบำรุง การคั้น การขาย ต้นพันธุ์ ก็เอามาจากที่ในกลุ่ม 1 ไร่ 1 แสน”

 วิธีการปลูกอ้อยคั้นน้ำ

คุณศิวาพัชร์ เผย “ได้ข้ออ้อย ตาอ้อยมา เราก็นำมาแช่น้ำ 1 คืน แล้วก็มาใส่กระสอบไว้ แล้วมันก็จะเกิดรากขาวๆ แล้วเราก็นำไปใส่ถุงดำ ภายในถุงดำก็จะมีดินปลูก ดินปลูกก็นำมาจากข้างๆ บ้าน เพราะดินเราสมบูรณ์อยู่แล้ว ถ้าไม่มีก็เอาขุยมะพร้าวผสมแกลบดำ หมกไว้ 2 อาทิตย์ หรือ 15 วัน ช่วงระหว่าง 15 วัน เราก็ไปขุดหลุมรอ หลุมกว้าง50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร จากนั้นเราก็จะมีสูตรของ 1 ไร่ 1 แสน ต้องอบรมถึงจะได้มา มีสรรพสิ่งก้อน สรรพสิ่งแห้ง และสรรพสิ่งน้ำ จำหน่ายให้เฉพาะคนที่ผ่านการฝึกอบรม ราคาชุดละ 1,300 บาท โดยนำสรรพสิ่งก้อนวาง เอาสรรพสิ่งแห้งพวกหญ้าแห้ง ใบไม้แห้งอะไรที่เรามีวาง สรรพสิ่งน้ำราด จากนั้นก็นำอ้อยที่เราทำการเพาะไว้ในถุงวาง เอาเศษหญ้าเศษใบไม้กลบ แต่เราจะมีสิ่งที่พิเศษกว่าคนอื่นคือ เราจะมีผักบุ้งอยู่ในร่อง เราก็เอาผักบุ้งพูนโคน ถ้าขี้เกียจรดน้ำก็เอากระป๋องตักขี้โคลนในร่องหุ้มผักบุ้งอีกทีหนึ่ง 1 เดือน เราก็ไม่ต้องรดน้ำ หลังจากใส่สรรพสิ่ง ก็ทำการรดน้ำ ดูแลดีๆ ให้สรรพสิ่งน้ำอาทิตย์ละครั้ง หรือ 2 อาทิตย์ครั้ง ในส่วนของปุ๋ยไม่มีการใช้ปุ๋ยอะไรเลย ทั้งชีวภาพและเคมี ปลูกหลุมละตา ห่างหลุมละ 2 เมตร คูณ 2 เมตร ตอนแรกปลูกแค่ 1 เมตร 20 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร 50 เซนติเมตร ผลคือ ถี่ไป แล้วเวลาเราตัดอ้อย เวลาเราล้มอ้อย มันขวาง ทำงานไม่สะดวก เราก็ไปดูของเพื่อนที่เขาอบรม 1 ไร่ 1 แสน เป็นเวลา 5 เดือน ของเราอบรมแค่ 2 คืน 3 วัน คนที่เขาเซียนเขาก็จะไปอบรมต่ออีก 5 เดือน เราไม่ได้ไป เนื่องจากมีภาระที่บ้านจะต้องดูแล ก็เห็นเขาปลูก 2 คูณ 2 เมตร ในส่วนของผลผลิตที่ออกมาก็ค่อนข้างโอเคครับ ได้ในระดับหนึ่ง ไม่ถึงกับสวยเลย แต่ก็ไม่ถึงกับขี้เหร่ ก็กลางๆ ห้าสิบห้าสิบเพราะเราได้ลำหนึ่งสองกิโลกรัม บางลำก็มี 3 กิโลกรัม แต่ไม่ถึง 4 กิโลกรัม”

สรรพสิ่ง คือ จุลินทรีย์ สามารถเลี้ยงได้เอง

 

ศัตรู และโรคพืชที่พบเจอ

“มีหนอนคล้ายๆ หนอนเจาะกล้วย หนอนข้าวโพดเข้าไปเจาะ ต้องขยันลอกกาบ ถ้าไม่ลอกกาบหนอนก็จะเจาะ โดยวิธีการจัดการก็ลอกกาบพอแสงมันเข้าไปหนอนมันก็ร้อน มันทนแดดไม่ได้” คุณศิวาพัชร์ กล่าว

ข้อแนะนำการดูแลแปลงอ้อย

คุณศิวาพัชร์ แนะนำว่า “อ้อยเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ขาดน้ำไม่ได้ ขาดน้ำแล้วข้อจะถี่ แค่รักษาความชื้นดูดินให้มีความชื้นสม่ำเสมอ ดูแสงแดดที่ได้รับ คืออย่าให้ดินแห้งแตก”

 

การให้ผลผลิตและการเก็บเกี่ยวผลผลิต

คุณศิวาพัชร์ เผย “ถ้าดูแลดีสม่ำเสมอ ระหว่าง 6-8 เดือน สามารถนำมาคั้นน้ำ…ถ้าตามสูตรของอาจารย์ จะได้ปริมาณน้ำอ้อยมาก โดยของอาจารย์ อ้อย 1 กิโลกรัม ได้น้ำครึ่งลิตร ส่วนอ้อยของเรา 1 กิโลกรัม ได้ 300-400 ซีซี… 1 ต้น ของอาจารย์ ให้น้ำอ้อย 2 ลิตร แต่อ้อย 1 ต้น ของเราได้น้ำแค่ครึ่งลิตร ในส่วนของการเก็บเกี่ยวผลผลิต ดูสี ดูความยาวจากลำอ้อย สังเกตความยาวจากข้ออ้อย ประมาณสัก 20 ข้อ สีลำต้นออกเหลือง ก็สามารถหีบได้ ความหวานยังไม่เคยลองวัดเปอร์เซ็นต์บริกซ์ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือวัด แต่อ้อยสุพรรณบุรี 50 เป็นอ้อยคั้นน้ำโดยเฉพาะรสชาติหวานนัว”

ในส่วนของการตลาด “ธ.ก.ส. เปิดตลาดขายทุกวันพุธ ขายอาทิตย์ละครั้ง ขายได้ต่ำสุด 400-500 บาท สูงสุดที่ 1,200 บาท”

ประโยชน์ของน้ำอ้อย

“น้ำอ้อย มีแคลเซียม บำรุงกระดูก แก้ท้องผูก คนเป็นเบาหวานสามารถดื่มได้ เนื่องจากอ้อยสุพรรณบุรี 50 เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ไม่เข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายเขาสามารถเผาผลาญได้เลย” คุณศิวาพัชร์ กล่าว

คุณศิวาพัชร์ บอกว่า “เครื่องหีบซื้อจากร้านที่นครสวรรค์ ที่ตลาดไทก็มีขาย อ้อยคั้นน้ำของเราขายที่ตลาดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่างเดียว ผู้สนใจที่อยู่ภายในจังหวัดชัยนาทสามารถสั่งซื้อเราผ่านการจัดส่งได้ ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดเรายังไม่มีการจัดส่ง เนื่องจากยังไม่มีวิธีการเก็บรักษาในช่วงระหว่างขนส่งที่แน่นอน”

สนใจพันธุ์อ้อย หรือซื้อน้ำอ้อยหวานเย็นชื่นใจ ติดต่อผ่านเบอร์โทร. 086-511-5965 และ 095-912-9832 คุณศิวาพัชร์ มั่นคงจรัลศรี หรือ FB:เสบียง มั่นคงจรัลศรี

วิธีการคั้นน้ำอ้อย

  • ตัดอ้อย
  • นำลำอ้อยไปล้างน้ำเปล่าให้สะอาด
  • นำไปผึ่งลมให้แห้ง (ผึ่งให้แห้ง เนื่องจากถ้าน้ำที่ล้างเข้าไปผสมในน้ำอ้อยที่ผ่านการคั้น จะส่งผลให้น้ำอ้อยเสียรสชาติและบูดเร็ว)
  • จากนั้นนำมาปอก
  • เก็บใส่ถังจำนวนเท่าที่เราต้องการ
  • ใส่ในเครื่องหีบ
  • ใส่เหยือก
  • กรอกใส่ขวด
  • แช่ในตู้แช่เย็น (หากไม่แช่เย็น ไม่เกินครึ่งชั่วโมงสีจะเปลี่ยนทันที จากสีเหลืองอมเขียวจะออกเป็นสีดำ รสชาติก็จะเปลี่ยน กลิ่นก็จะเปลี่ยนไปด้วย)
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0