โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'หนุ่มสมาร์ทฟาร์ม' ร่วมหนุนมติ 'กก.วัตถุอันตราย' แบน '3 สารพิษ' เผยสถิติ ปชช. 80% ป่วย NCDs เพียบ

MATICHON ONLINE

อัพเดต 24 ต.ค. 2562 เวลา 04.49 น. • เผยแพร่ 24 ต.ค. 2562 เวลา 03.52 น.
สมาร์ท2

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 นายอัชฌานนท์ บุญเทพ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 34 หมู่ 10 ต.ขุนควร อ.ปง จ.พะเยา เจ้าของสมาร์ทฟาร์ม ต.ขุนควร กล่าวว่า จากกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติในการประชุมครั้งที่ 41-9/2562 วันที่ 22 ตุลาคม 2562 เรื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยการประชุมดังกล่าวได้พิจารณาเรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้มีการพิจารณาปรับวัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปนั้น เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งและขอสนับสนุนจุดยืนของ กก.วัตถุอันตราย ที่ได้ตระหนักถึงพิษภัยของสารพิษที่เกิดขึ้นอันกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั้งประเทศ

หนุ่มสมาร์ทฟาร์มกล่าวต่อว่า เห็นข้อมูลสารเคมีการเกษตรตกค้างที่ส่งผลต่อสุขภาพของ ต.ขุนควร แล้ว เป็นห่วงทั้งตัวเองในฐานะผู้บริโภค และเกษตรกรในฐานะผู้สัมผัสและบริโภค ที่บ้านของตนพบว่าเกษตรกรชาวบ้านใช้สารเคมีในการเกษตรจำนวนมากซึ่งทำการเกษตรทั้งปี พบว่าประชากรร้อยละ 80 จากครัวเรือนที่ทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และผักกาดเขียวปลี ซึ่งพืชเหล่านี้ต้องใช้สารเคมีการเกษตร เช่น พาราควอต ไกรโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เฉลี่ยครอบครัวละ 4-5 แกลลอนต่อปี ส่วนผลกระทบทางด้านสุขภาพ พบสถิติร้อยละ 80 ของประชากร ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เป็นโรค NCDs เยอะมาก ร้อยละ 80 โรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมถึงมะเร็งก็มีอัตราการตายอยู่ในอัตราที่สูง ตัวชี้วัดคือคนที่ทำการเกษตรแล้วใช้สารเคมีแบบฉีดพ่นโดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน ตายมาแล้ว 5 คน ภายใน 2 ปี เฉพาะใน 2 หมู่บ้านใกล้เคียงกับหมู่บ้านของตน

“ผมอยากให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปหันมาสนใจและใส่ใจการทำเกษตรแบบออร์แกนิค เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นเกษตรปลอดภัยกันมากขึ้น ใช้วัชพืช ระบบนิเวศภายในสวนให้จัดการกันเองด้วยกลไกของระบบนิเวศ บวกกับความขยันของเรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพื่อสิ่งที่ดีต่อสุขภาพกายและใจของทุกคนทั้งผู้ที่เป็นเกษตรกรในฐานะผู้ผลิต/ผู้บริโภค และผู้บริโภคทั่วไปด้วย” นายอัชฌานนท์กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0