โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

หนุ่มวัย 38 ฝ่าวิกฤตแล้งผุดไร่สตรอเบอรี่ระบบน้ำหยดถิ่นภูเขาไฟ ทำเงินไร่ละ 3 แสน

สยามรัฐ

อัพเดต 26 ก.พ. 2563 เวลา 14.03 น. • เผยแพร่ 26 ก.พ. 2563 เวลา 14.03 น. • สยามรัฐออนไลน์
หนุ่มวัย 38 ฝ่าวิกฤตแล้งผุดไร่สตรอเบอรี่ระบบน้ำหยดถิ่นภูเขาไฟ ทำเงินไร่ละ 3 แสน

หนุ่มชาวเชียงใหม่ วัย 38 ปี ไม่หวั่นวิกฤตแล้ง ผุดไร่สตรอเบอรี่ระบบน้ำหยดในถิ่นภูเขาไฟที่บุรีรัมย์ ทำเงินไร่ละ 3 แสน ทั้งเนรมิตเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ ให้ นทท.เข้าไปเซลฟี่และเก็บสตรอเบอรี่สดๆ ในไร่ได้ด้วยตัวเอง เจ้าตัว ยอมรับภัยแล้งและอากาศร้อนเป็นอุปสรรคแต่ด้วยความไม่ย่อท้อพยายามหาความรู้ลองผิดลองดูจนสามารถปลูกได้ประสบผลสำเร็จ

(26 ก.พ.63) ถึงแม้ปีนี้หลายพื้นที่จังหวัดในภาคอีสานจะประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้แหล่งน้ำลำคลองต่างๆ มีสภาพตื้นเขิน แห้งขอด ส่งผลกระทบกับผู้ที่มีอาชีพทำการเกษตร แต่นายสิทธิพงษ์ ธรรมชาติอุดม อายุ 38 ปี หนุ่มชาว จ.เชียงใหม่ กลับไม่หวั่นต่อวิกฤตภัยแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนจัด ได้ผุดไร่ “สตรอเบอรี่ ลาวา” พันธุ์พระราชทาน 80 บนเนื้อที่ 3 ไร่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ แบบระบบน้ำหยด โดยใช้วิธีเพาะพันธุ์กล้าสตรอเบอรี่ที่ จ.เชียงใหม่ จนมีอายุประมาณ 3 – 4 เดือน แล้วนำมาลงแปลงปลูกที่บุรีรัมย์ อีกประมาณ 1 เดือนครึ่งก็ออกผล สามารถเก็บผลผลิตขายได้

ทั้งนี้ ยังได้เนรมิตตกแต่งพื้นที่รอบไร่สตรอเบอรี่ ลาวา ดังกล่าว ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชม เซลฟี่ และยังเปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว สามารถเข้าไปเก็บสตรอเบอรี่สดๆ จากต้นได้อีกด้วย โดยจะเก็บค่าเข้าชมเพียงคนละ 20 บาทเท่านั้น หลังจากทดลองปลูกมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 ที่ผ่านมา ก็มีประชาชน และนักท่องเที่ยวแวะเข้าไปเที่ยวชมและซื้อสตรอเบอรี่อย่างต่อเนื่อง

นายสิทธิพงษ์ บอกว่า เดิมมีอาชีพเป็นพ่อค้าเร่ขายเครื่องประดับตามจังหวัดต่างๆ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่กับครอบครัว ประกอบกับรายได้ก็ไม่มั่นคง จากนั้นจึงได้นำความรู้จากที่เคยช่วยทำไร่สตรอเบอรี่ที่ จ.เชียงใหม่ มาทดลองปลูกที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ประมาณ 6 ปี แต่ระยะหลังมีคนหันมาปลูกสตรอเบอรี่ ที่นครราชสีมาจำนวนมาก จึงลองแสวงหาพื้นที่ใหม่ๆ จนพบว่าบุรีรัมย์กำลังเป็นจังหวัดที่เติบโตด้านการท่องเที่ยว แม้จะเป็นพื้นที่มีปัญหาเรื่องภัยแล้งและสภาพอากาศร้อนก็ตาม จากนั้นเมื่อเดือน ต.ค.2562 จึงได้มาลองเช่าพื้นที่ริมถนน สายบุรีรัมย์ – นางรอง บริเวณ ต.บ้านบัว อ.เมืองบุรีรัมย์ จำนวน 3 ไร่ เพื่อทดลองปลูกสตรอเบอรี่พันธ์พระราชทาน 80 จำนวน 20,000 ต้น

ซึ่งนายสิทธิพงษ์ ยอมรับว่า ช่วงแรกก็ประสบปัญหาอุปสรรค เพราะเป็นพื้นที่แห้งแล้งและอากาศค่อนข้างร้อน แต่สตรอเบอรี่เป็นผลไม้ที่นิยมปลูกในพื้นที่ที่อากาศหนาวเย็น จึงได้พยายามศึกษาหาความรู้และเทคนิควิธีต่างๆ ลองผิดลองถูกหลายอย่าง จนเป็นที่มาของการปลูกสตรอเบอรี่ระบบน้ำหยด จนประสบผลสำเร็จสามารถเก็บผลผลิตขายได้เฉลี่ยไร่ละกว่า 300,000 บาท หักต้นทุนแล้วก็จะเหลือกำไร ประมาณไร่ละ 100,000 บาท แต่ก็จะสามารถเก็บผลผลิตขายได้ในห้วงเดือน ก.ย. – เม.ย. เท่านั้น เพราะช่วงเดือน พ.ค.- ส.ค. เป็นช่วงพักบำรุงรักษาต้น ส่วนราคาขายหากเป็นสตรอเบอรี่สดก็จะขายอยู่ที่ขีดละ 50 – 60 บาท หากใครต้องการจะเข้าไปเก็บเองสดๆ จากต้นก็จะคิดค่าบริการคนละ 20 บาทเท่านั้น

นอกจากนั้น ยังมีน้ำสตรอเบอรี่คั้นสด สตรอเบอรี่อบแห้ง เนยสตรอเบอรี่ และไวน์สตรอเบอรี่ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อหาไปรับประทานอีกด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0