โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ส.ส.สหรัฐฯขอเฟซบุ๊คระงับแผนพัฒนาเงินคริปโต

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 19 มิ.ย. 2562 เวลา 09.54 น.

แค่ก้าวแรกก็โดนสกัดแล้ว ส.ส.สหรัฐฯขอเฟซบุ๊คระงับโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล “ลิบรา” อ้างประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

 

19 มิ.ย.2562 นางแม็กซีน วอเตอร์ส ประธานคณะกรรมาธิการด้านบริการทางการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเรียกร้องให้บริษัท เฟซบุ๊ก อิงค์ ระงับแผนพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของบริษัท ที่มีชื่อว่าเงินสกุล “ลิบรา” (Libra)จนกว่าผู้บริหารเฟซบุ๊กจะมาชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวต่อสภาคองเกรส โดยอ้างถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้

แม็กซีน วอเตอร์ส
แม็กซีน วอเตอร์ส

ความเคลื่อนไหวของนางแม๊กซีนมีขึ้นหลังจากที่นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ออกมาเปิดเผยถึงแผนการสร้างสกุลเงินดิจิทัลที่จะใช้ชื่อว่า ลิบรา ( Libra)โดยมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า และหลังจากที่นายแพตทริค แมคเฮนรี่ กรรมาธิการฯจากพรรครีพับลิกันได้ทำจดหมายยื่นต่อนางแม็กซีนขอให้มีการเปิดเวทีรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ซึ่งหมายถึงการขอให้ผู้บริหารของเฟซบุ๊คมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อสภา

 

นางวอเตอร์สกล่าวในแถลงการณ์ว่า เฟซบุ๊กควรระงับการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่มีชื่อว่า Libra จนกว่าสภาคองเกรสและหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับดูแลด้านนี้จะดำเนินการตรวจสอบ โดยจะมีการเรียกผู้บริการบริษัทมาอธิบายกับสภาคองเกรสต่อไป"เฟซบุ๊กมีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้หลายพันล้านคนอยู่ในมือ และเคยแสดงให้เห็นถึงความไม่ระมัดระวังในการปกป้องข้อมูลเหล่านั้น" นางแม็กซีระบุในแถลงการณ์  ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเองครั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเฟซบุ๊กกำลังเดินหน้าขยายการใช้งานและการเข้าถึงวิถีชีวิตผู้คนโดยไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบมาก่อน

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก

“ผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลควรเห็นเรื่องนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าจะต้องให้ความสนใจจริงจังกับประเด็นความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงระดับชาติ ความเสี่ยงต่างๆเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลในโลกไซเบอร์ และความเสี่ยงของการค้าสกุลเงินดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่า คริปโตเคอร์เรนซี ได้แล้ว” แม๊กซีนกล่าวในแถลงการณ์ว่า จากประวัติที่เฟซบุ๊คเคยมีปัญหากับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้มาก่อน ดังนั้น จึงขอวิงวอนให้บริษัทสมัครใจที่จะระงับการพัฒนาเงินสกุลลิบราไปก่อนจนกว่าสภาคองเกรสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีโอกาสได้ตรวจตราเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

 

ด้านจดหมายของกรรมาธิการ แพตทริค แมคเฮนรี่ เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า คณะกรรมาธิการจำเป็นต้องก้าวข้ามข่าวลือและการคาดเดาต่างๆ แล้วจัดเวทีรับฟังข้อมูล-ข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อที่จะได้มีการประเมินโครงการนี้ (โครงการพัฒนาสกุลเงินลิบรา) อย่างกว้างขวางและรอบคอบเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบการเงินโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

ในช่วงเริ่มต้นนี้มีบริษัทและองค์กร 27 ราย สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊ก อาทิ มาสเตอร์การ์ด, วีซ่า, เพย์แพล, อีเบย์, สไตรป , ลีฟท์ , อูเบอร์, สปอทติฟาย ฯลฯ โดยจะมีการจัดตั้งสมาคมลิบรา (Libra Association)ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขึ้นมารองรับและเป็นโครงสร้างให้กับการใช้งานสกุลเงินดังกล่าว  นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังมีแผนจะตั้งบริษัทลูก ใช้ชื่อ คาลิบรา (Calibra) ทำหน้าที่สร้างสรรค์บริการต่างๆสำหรับสกุลเงินลิบรา อาทิ กระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet)เพื่อให้ลูกค้าเก็บสะสมหรือใช้จ่ายเงินลิบรา ผ่านทางแอปพลิเคชั่นต่างๆของเฟซบุ๊ก เป็นต้น

บรูโน เลอ มารี รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส
บรูโน เลอ มารี รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส

ความเคลื่อนไหวสกัดกั้นการเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัล “ลิบรา”ของเฟซบุ๊ค ไม่ได้มีขึ้นเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ในประเทศฝรั่งเศส นายบรูโน เลอ มารี รัฐมนตรีคลัง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการนี้เช่นกัน โดยเขาออกมาระบุอย่างดุเดือดว่า สกุลเงินลิบราไม่สามารถเกิดขึ้น และจะต้องไม่เกิดขึ้น มีรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่นระบุว่า เขาได้เรียกร้องให้ผู้ว่าการธนาคารกลางและหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านบริการการเงินของประเทศในกลุ่ม G-7 ไปศึกษา-พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการออกเงินคริปโตสกุล “ลิบรา” ของเฟซบุ๊คมาให้รอบคอบแล้วจัดทำรายงานผลการศึกษาดังกล่าวออกมาในเดือนกรกฎาคม ขณะเดียวกันนายมาร์คุส แฟร์เบอร์ สมาชิกสภายุโรปจากเยอรมนี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงติงเตือนว่า โครงการนี้อาจทำให้เฟซบุ๊คกลายเป็น “ธนาคารเงา” (แหล่งการเงินนอกระบบธนาคารที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามที่ควรจะเป็น) และหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลก็ควรเฝ้าระวังในเรื่องนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0