โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'ส. ศิวรักษ์'ซัดพวกขวาจัดกล่าวหา'ส้มหวาน'ล้มเจ้า เป็นวจีทุจริตเลวร้ายกว่าความทุจริตทางกาย

ไทยโพสต์

อัพเดต 23 เม.ย. 2562 เวลา 05.26 น. • เผยแพร่ 23 เม.ย. 2562 เวลา 05.25 น. • ไทยโพสต์

23 เม.ย.62- ส. ศิวรักษ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sulak Sivaraksa ว่าช่วงที่ผ่านมานี้มีการพูดถึงการล้มเจ้ากันบ่อย พวกขวาจัดกล่าวหาว่าพรรคอนาคตใหม่ต้องการจะล้มเจ้า นายพลทหารบางคนก็ออกมาโจมตีคนที่มีหัวก้าวหน้าว่าต้องการล้มเจ้า คำพูดอันเหลวไหลเหล่านี้อาจสร้างเป็นกระแสให้เกิดความรุนแรงได้ เพราะวจีทุจริตนั้นเลวร้ายกว่าความทุจริตทางกายเป็นไหนๆ 

เช่น สมัยเมื่อก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เราก็มีอุทิศ นาคสวัสดิ์ สมัคร สุนทรเวช อุทาน สนิทวงศ์ ฯลฯ ออกมากล่าวร้ายนายป๋วย อึ้งภากรณ์ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นญวนคอมมิวนิสต์ ซึ่งเรามีสิทธิ์ฆ่าเขาได้ โดยที่คนพวกนี้คุมสื่อมวลชนกระแสหลักผู้คนจึงหลงเชื่อเขาตามๆ ไป จนเกิดวิกฤติการณ์ 6 ตุลาฯ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่นำมาเอ่ยไว้เป็นอุทาหรณ์ อยากจะกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า เมื่อกษัตริย์ราชวงศ์โรมานอฟที่ประเทศรัสเซียต้องปลาสนาการไป ในสมัยรัชกาลที่ 6 ของเรานั้น พระเจ้าอยู่หัวของไทยตรัสถามสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งเคยเสด็จไปศึกษาที่รัสเซียจนถือได้ว่าเป็นราชโอรสบุญธรรมของพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 กษัตริย์องค์สุดท้ายของรัสเซีย กรมหลวงพิษณุโลกฯ กราบทูลพระเชษฐาธิราชว่าการที่สถาบันกษัตริย์ในรัสเซียต้องล่มสลายลงนั้น เพราะพระมหากษัตริย์ทรงฟังแต่คำสรรเสริญเยินยอของพวกประจบสอพลอ ทรงปฏิเสธที่จะฟังถ้อยคำของพวกหัวก้าวหน้า ทั้งๆ ที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระทัยดี โอบอ้อมอารี และรักพสกนิกร แต่ไม่ทรงทราบความจริงเลยว่าคนยากไร้เดือดร้อนอย่างไรบ้าง ระบบโครงสร้างของสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เป็นไปในทางเผด็จการ ไม่เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์

อย่างพระเจ้าแผ่นดินที่เยอรมันก็ต้องสิ้นสภาพไปในเวลาใกล้ ๆ กัน เพราะความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ พระราชกรณียกิจต่างๆ ก็ไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบเพื่อความชอบธรรม ในขณะที่สถาบันกษัตริย์ในอังกฤษมีความยืดหยุ่นมากจนถึงกับยอมรับว่ารัฐสภา มีอำนาจเหนือพระราชา และการปกครองบ้านเมืองนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีสถานะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง หากทรงสามารถตักเตือนรัฐบาลได้ ให้กำลังใจรัฐบาลก็ได้ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ได้ แต่การกระทำดังกล่าวต้องเป็นไปภายใน โดยที่มหาชนไม่อาจทราบได้ ถึงเรื่องละเอียดอ่อนเหล่านี้ 

ประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันตก ที่รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้ เพราะสถาบันนั้นๆ ยอมรับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีพระราชอำนาจในทางการเมือง ดังขอให้ดูตัวอย่างได้ที่ประเทศนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก วิลันดา และเบลเยียม เป็นตัวอย่าง 

ยิ่งเบลเยียมด้วยแล้ว ประชาชนในรัฐเล็กๆ พูดภาษาฝรั่งเศสส่วนหนึ่ง ภาษาเฟลมิชส่วนหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายนี้ตั้งตัวเป็นดังขมิ้นกับเกลือหรือน้ำกับน้ำมันเอาเลยทีเดียว แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยอมรับว่าพระมหากษัตริย์เป็นจุดรวมน้ำใจของคนในชาติ ดังขอให้สังเกตพระอภิไธยของพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้คำว่า “The king of the Belgians” ไม่ใช่ “The king of Belgium” เราหน้าจะตราข้อแตกต่างที่ว่านี้ ว่ามีความสำคัญเพียงใด 

เมื่อมองฝรั่งแล้ว ลองหันมามองในเอเซียนี้บ้าง ว่าพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นนั้น ทรงเป็นเทวราชหรือเทวาธิราชเอาเลยด้วยซ้ำ ไม่มีใครอาจวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ท่านได้ และผู้คนได้รับการศึกษามา เพื่อไปตายปทนพระจักรพรรดิได้ในกณีใดก็ได้

เรื่องทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผมเคยเขียนแล้วในเรื่อง “ความเข้าใจในเรื่องราชาธิปไตย” ซึ่งเป็นเล่มเล็กๆ น่าจะหาอ่านได้ไม่ยาก

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0