โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ส้มเขียวหวานวังชิ้น สวน ลอน เชียงชา การันตีคุณภาพด้วยรางวัลชนะเลิศ

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 17 ม.ค. 2563 เวลา 04.31 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 04.31 น.
17 ส้ม

ส้มเขียวหวาน กล่าวได้ว่าเป็นผลไม้สุขภาพชนิดหนึ่ง มีสรรพคุณและคุณค่าทางโภชนาการมากมายโดยเฉพาะมีวิตามินซี วิตามินเอ (เบตาแคโรทีน) วิตามินดี มีธาตุแคลเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และคอลลาเจน ทั้งยังมีใยอาหารที่ช่วยเกี่ยวกับระบบขับถ่าย หาซื้อมารับประทานเลยครับ ทั้งตามตลาดสด ห้างโมเดิร์นเทรด แม้แต่ในร้านสะดวกซื้อ ซื้อหามาแล้วเพียงปอกเปลือกรับประทานได้ หรือจะคั้นน้ำมาดื่มก็ได้สะดวกดี

แต่ท่านผู้อ่านคงจะทราบนะครับว่า ส้มเขียวหวาน นั้นมีกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคซึ่งเป็นปลายทางหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการเริ่มต้นผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวาน 1 ปี หรือ 1 ฤดูกาล มีความหวังเพียงครั้งเดียว แต่ตลอดฤดูกาล หรือ 12 เดือน เกษตรกรต้องคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใจจดใจจ่อ  เพราะลงทุนไปแล้วจะได้ผลคุ้มทุนหรือไม่ ลงทุน 100 อาจได้ผล 70 เพราะมีปัจจัยความเสี่ยงหรือตัวแปรหลายอย่าง ทั้งฝนฟ้าอากาศ โรคแมลง ฯลฯ ก็เพียงเพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาด ทำรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว

เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ผมได้ลงพื้นที่ไปดูสวนส้มเขียวหวานของเกษตรกรรายหนึ่ง ซึ่งผลิตส้มเขียวหวานที่มีรสชาติดี มีการดูแลการผลิตตามมาตรฐาน GAP นำผลผลิตส้มเขียวหวานไปประกวด ณ เวทีใด ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศติดต่อกันมาหลายปี ผมจึงได้ขอนัดพบและได้ไปพบกับเกษตรกรรายนี้ทั้งครอบครัวครับ

คุณลอน เชียงชา อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110  หมู่ที่ 6 ตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โทร. 087-186-8608ภรรยา คุณลำ เชียงชา และลูกสาว คุณณัฐชยาภรณ์ เชียงชา ซึ่งเป็นทายาทที่จะรับช่วงในการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ต่อไป คุณลอน นอกจากจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานแล้ว ยังมีตำแหน่งทางฝ่ายปกครอง เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 fh;p

คุณลำ กล่าวว่า ครอบครัวของตนทำสวนส้มเขียวหวานต่อเนื่องมาจากพ่อ-แม่ ซึ่งเดิมทีเห็นพ่อ-แม่ ปลูกถั่วเหลืองมาก่อนเหมือนกันกับเพื่อนบ้าน ต่อมาก็เปลี่ยนมาปลูกส้มเขียวหวาน ราวๆ ปี พ.ศ. 2500 และเป็นเกษตรกรรายแรกของหมู่บ้านที่ปลูกส้มเขียวหวาน กิ่งพันธุ์นั้นก็นำมาจากบ้านสุเม่น อำเภอศรีสัชนาลัย เมื่อคุณลำมีครอบครัวก็ช่วยกันดูแลสวนส้มเขียวหวานให้กับพ่อ-แม่ ต่อมาก็มีรายอื่นๆ เริ่มปลูกส้มเขียวหวานกันมากขึ้น คุณลอน เห็นเขาปลูกส้มแล้วขายได้ราคาดี จึงขยายกิ่งพันธุ์โดยการตอนกิ่งจากสวนส้มของพ่อ-แม่ นำมาปลูกในพื้นที่ใหม่ ส่วนสวนส้มเขียวหวานของพ่อ-แม่นั้น ต้นแก่เกินกว่าที่จะให้ผลผลิต และพบว่ามีโรคโคนเน่าจึงตัดทิ้งทั้งหมด

คุณลอน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ครอบครัวได้ปลูกส้มเขียวหวานแปลงใหม่มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 รวมเนื้อที่ 14 ไร่ ปลูกระยะห่างระหว่างต้น 4.5 เมตรx4.5 เมตร ได้จำนวนต้น 1,200 ต้น นอกจากนี้ ก็มีพื้นที่บางส่วนขุดสระน้ำ จำนวน 1 ไร่ และพื้นที่ทำนาอีก 2 ไร่ คุณลอน บอกอีกว่า ตนไม่ได้ปลูกส้มเขียวหวานพร้อมกันทั้ง 14 ไร่ แต่ทยอยปลูกเป็นแปลงๆ ไป ต้นส้มเขียวหวานจึงมีอายุแตกต่างกันไป และปลูกครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2558 ทั้งหมดใช้กิ่งพันธุ์ที่ตอนนำมาจากต้นส้มเขียวหวานรุ่นก่อนๆ มาขยายพันธุ์

ส่วนเรื่ององค์ความรู้นั้น คุณลอน บอกว่า “เราได้ประสบการณ์การเพาะปลูก การดูแลส้มเขียวหวานมาจากพ่อ-แม่ ทั้งไปเข้าร่วมการอบรม ไปดูงาน ทำให้เกิดความมั่นใจว่าเราผลิตส้มคุณภาพ ปลอดภัยได้เป็นอย่างดี”

การดูแลบำรุงรักษาผลผลิตที่ได้

นำไปประกวดเวทีไหน ก็ได้รางวัล

คุณลอน ได้เล่าถึงการดูแลส้มเขียวหวานให้ได้คุณภาพที่ตลาดตอบรับเป็นอย่างดี บริโภคแล้วปลอดภัย

น้ำ มีความสำคัญอย่างมากต่อการบำรุงต้นส้มเขียวหวาน แต่น้ำที่สวนของคุณลอนนั้นไม่ได้จัดหามาได้ง่ายๆ และเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตรกรสวนส้มเขียวหวานที่จะต้องบริหารจัดการเรื่องน้ำอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เพราะแหล่งน้ำสำคัญคือ แม่น้ำยม ถึงฤดูฝน น้ำล้นตลิ่งไม่จำเป็นต้องสูบน้ำมาให้ต้นส้มเขียวหวาน เพราะส้มเขียวหวานก็ได้รับน้ำฝนตลอดฤดูกาล แต่เมื่อถึงฤดูร้อน น้ำในแม่น้ำยมแห้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้นส้มเขียวหวานก็ต้องการน้ำ โดยเฉพาะช่วงการเร่งดอก บำรุงผล คุณลอน ต้องใช้วิธีการสูบน้ำจากแม่น้ำยมมากักเก็บไว้ในสระน้ำ แล้วสูบน้ำขึ้นแปลงส้มผ่านท่อพีวีซี ขนาด 2 นิ้ว ทดเหลือนิ้วครึ่งและแจกจ่ายไปตามแถวต้นส้มเขียวหวานทุกต้น ผ่านหัวจ่ายสปริงเกลอร์ แต่บางช่วงจังหวะเวลาก็ต้องใช้สายยางเป็นตัวช่วยเมื่อต้องการจะอัดน้ำให้ต้นส้ม ส่วนพื้นที่แปลงปลูกส้มเขียวหวานเป็นที่ลาดเชิงเขาต้องใช้แรงดันน้ำ คุณลอน แก้ไขปัญหาด้วยการติดตั้งระบบแอร์แว ไว้เป็นจุดๆ ซึ่งทุกสวนที่ผมเดินทางผ่านเขาก็ติดตั้งแอร์แวกันทั้งนั้น

*แอร์แว คืออะไร มีหลักการทำงานอย่างไร  *

แอร์แว (air ware) เป็นคำทับศัพท์ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ฟองอากาศในน้ำ ผมศึกษาเพิ่มเติมเพราะมีการถกเถียงกันในเรื่องประสิทธิภาพของแอร์แว มีงานวิจัยที่น่าสนใจ คือ จากรายงานการวิจัยของวิทยาลัยชุมชนน่าน เรื่องการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูงด้วยระบบสูบน้ำพลังงานทดแทนฯ โดยผู้วิจัยได้ศึกษาแนวคิด หลักการ ทฤษฎีจากตำรา เอกสาร คู่มือแนวทางและรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ในงานวิจัยระบุถึงหลักการทำงานของแอร์แวว่า อากาศที่มากับน้ำจะถูกดันเข้าไปในแอร์แว เมื่ออากาศถูกดันเข้ามามากๆ และไม่มีที่ออกก็จะเกิดแรงดัน ดันน้ำในท่อแอร์แวออกมา ซึ่งแรงดันในท่อแอร์แวทั้ง 2 ท่อ จะดันสลับกันไปมาเป็นผลให้เกิดแรงดันน้ำในท่อส่งน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ 30-40% สามารถส่งน้ำไประยะทางไกลๆ หรือในที่สูงได้ ใช้เวลาในการสูบน้ำน้อยลง ทำให้ประหยัดพลังงาน ชะลอการสึกหรอของเครื่องสูบน้ำได้ และถ้าเพิ่มระยะทางในการส่งน้ำไปไกลกว่าเดิม สามารถทำได้โดยการเพิ่มความยาวของท่อแอร์แวให้ยาวขึ้น

แอร์แวจึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ในแปลงส้มเขียวหวานของคุณลอน ซึ่งจะเห็นว่าแค่การบริหารจัดการน้ำก็ต้องใช้ประสบการณ์ การสังเกต และมีการลงทุนสูงมาก

การบริหารจัดการน้ำในการหล่อเลี้ยงต้นส้มเขียวหวานนั้น คุณลอน บอกว่า ต้องพิจารณาจากการสังเกตการแสดงอาการของต้นส้มว่ามีความต้องการน้ำช่วงไหน ปริมาณมากน้อยเพียงใดในหนึ่งฤดูกาลส้มเขียวหวานต้องการน้ำในช่วงเวลาและปริมาณที่แตกต่างกัน ช่วงที่หล่อเลี้ยงลำต้นในการลำเลียงน้ำและธาตุอาหารเพื่อที่จะสะสมอาหาร จะให้น้ำ 5 วัน ต่อครั้ง แต่ถ้าช่วงเวลาที่จะดึงดอกจะให้น้ำถี่ขึ้น จนได้ผลส้มขนาดเล็ก จะให้น้ำ 7-10 วัน ต่อครั้ง ครั้งละ 30 นาที และต้องให้น้ำตลอดไปจนเก็บเกี่ยวผล เพราะถ้าขาดน้ำผลก็จะร่วง การบำรุงต้น-ใบ-ดอก-ผล ด้วยปุ๋ยและธาตุอาหาร คุณลอน บอกว่า ปุ๋ยมีความสำคัญมาก ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจะต้องใช้ควบคู่กันไป ปุ๋ยเคมีนั้นจะให้ปีละ 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เป็นช่วงเร่งดอก จะใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ผสมกับ สูตร 46-0-0 อัตรา 1 : 1  ให้ต้นละ 1.5-2.0 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับอายุของต้นส้ม ครั้งที่ 2 ใส่ในช่วงขยายผลส้ม ขณะที่ผลมีขนาดเท่าผลมะนาว ใส่สูตร 15-15-15 ปริมาณที่ให้เท่ากับช่วงที่ 1 ส่วน ครั้งที่ 3 ใส่ก่อนเก็บผลส้ม 2 เดือน จะให้ปุ๋ย สูตร 13-13-21 หรือ 0-0-60 ปริมาณเท่าเดิม

การให้ปุ๋ยอินทรีย์จะใส่ปีละครั้งในช่วงหน้าแล้ง ราวๆ เดือนเมษายน ก่อนที่จะมีฝนตก เป็นปุ๋ยหมักที่ใช้วัตถุดิบจากฟางข้าว ขี้วัว กากน้ำตาล พด. 1 ซึ่งปุ๋ยหมักนี้ คุณลอน บอกว่าผลิตร่วมกันเป็นกลุ่ม แล้วแบ่งปันกันนำไปใช้ในสวนของแต่ละคน ที่สวนของคุณลอน ใส่ปุ๋ยหมัก ต้นละ 3-5 กิโลกรัม เป็นการบำรุงต้นไปด้วยในตัว

เรื่องโรค-แมลง คุณลอน บอกว่า ก็เป็นปัญหาหนักอยู่เหมือนกัน การที่จะกำจัดเมื่อเกิดการระบาดก็ต้องคิดใคร่ครวญ เพราะมันกระทบทั้งตัวเองและผู้บริโภค คุณลอนจะใช้วิธีการป้องกันมากกว่า ด้วยการออกสำรวจตรวจรอบๆ สวน ว่ามีแมลงอะไรเข้ามารบกวนบ้าง คุณลอน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ ปี พ.ศ. 2562 ช่วงกลางคืน จะใช้ไฟฉายออกส่องภายในสวน พบผีเสื้อกลางคืน เคยจับได้คืนๆ หนึ่ง ราวๆ 50 ตัว ต้องทำลายทันที สำรวจแบบนี้ทุกๆ คืนปริมาณก็จะลดลง แต่ถ้าเล็ดลอดสายตาไปและมันไปเจาะเข้าที่ผลส้ม เพียงแค่ 2 วัน ก็จะเกิดแผลเป็นวง ในที่สุดผลก็จะร่วง

แมลงตัวร้ายบางชนิดที่คุณลอนพบ วิธีการที่คุณลอนใช้เพื่อป้องกันและกำจัด ใช้อยู่ 2 วิธีการ คือ นำลูกเหม็นบรรจุในถุงพลาสติกแล้วนำไปแขวนไว้ตามกิ่งของต้นส้มเขียวหวาน วิธีการนี้กลิ่นของลูกเหม็นที่ระเหิดออกมา แมลงบางชนิดไม่ชอบ ก็จะไม่เข้ามารบกวน ส่วนแมลงวันทองตัวร้ายจะใช้น้ำมันเครื่องที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว บรรจุลงในขวดพลาสติกที่ผ่าข้าง 2 ด้าน ด้านบนของขวด แล้วนำกล้วยเสียบไม้แขวนในขวด นำขวดไปแขวนไว้ตามกิ่ง เมื่อแมลงวันทองได้กลิ่นกล้วยก็จะเข้ามาตอม เมื่อบินออกไม่ได้ก็จะร่วงหล่นลงในน้ำมันเครื่อง ที่สุดก็ตายไป ทั้ง 2 วิธีการ ก็เป็นภูมิปัญญาที่เกษตรกรในละแวกนั้นใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะถ้าสวนใครไม่ดำเนินการป้องกัน หรือกำจัดก็จะเกิดการระบาดและลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ จึงต้องร่วมมือกัน

ส่วนแมลงหรือแมงอื่นๆ ที่มีมารบกวน อย่าง เพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยหอย ก็พบบ้าง แต่ไม่มากนัก

การใช้ยาหรือสารเคมี เมื่อจำเป็นต้องใช้หากเกิดการระบาด คุณลอน บอกว่า ก็ใช้เท่าที่จำเป็นตามอาการ ใช้ตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัดและตามการปฏิบัติที่เป็นข้อกำหนดของ GAP

โรคก็มีนะ…ส้มเขียวหวาน จะพบเจอกับโรคหลายชนิด ซึ่งมาตามฤดูกาล ทั้งโรคโคนเน่า โรคแคงเกอร์ส้ม โรคราสนิม  ถ้าเกิดกับส่วนใดของส้มเขียวหวาน ไม่ว่าจะที่ใบ ผล ก็จะตัดแต่ง บิดทิ้ง แต่ถ้าระบาดมากก็จะใช้ยากำจัด แต่ก็ใช้ตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด

ส่วนการจัดการสวนส้มเขียวหวานนั้น คุณลอน กล่าวว่า “ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีทั้ง 8 ข้อ เพื่อให้ผลผลิตส้มเขียวหวานได้มาตรฐานปลอดภัย ปลอดศัตรูพืชและคุณภาพถูกใจ”

ข้อกำหนด GAP 8 ประการ ตั้งแต่เรื่อง

  • น้ำ
  • พื้นที่ปลูก
  • การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร
  • การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว
  • การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
  • การพักผลผลิต การขนย้ายและการเก็บรักษาผลผลิต
  • สุขลักษณะส่วนบุคคล และ
  • การบันทึกข้อมูลและการตรวจสอบ

ผลผลิตส้มเขียวหวาน

คุณลอน บอกว่า ผลผลิตส้มเขียวหวานที่สวนแห่งนี้ จะออกสู่ตลาด 3 รุ่น คือ

รุ่นที่ 1 ปลายเดือนพฤศจิกายน

รุ่นที่ 2 ต้นเดือนมีนาคม

รุ่นที่ 3 ปลายเดือนมิถุนายน

“ส้มเขียวหวาน รุ่นที่ 1 จะเป็นส้มที่มีรสชาติอร่อยมาก” คุณลอน กล่าว และกล่าวอีกว่า “แม้สวนส้มของผมมีจำนวน  14 ไร่ 1,200 ต้น แต่ตั้งใจที่จะบริหารพื้นที่ไม่ให้มีผลผลิตพร้อมกัน เพราะมีขีดจำกัดในเรื่องน้ำ ปัจจัยการผลิต เงินทุน  แรงงาน จึงแบ่งพื้นที่ผลิตออกเป็นแปลง แปลงละ 300-400 ต้น ผลผลิตที่ได้ แปลงที่มีต้นส้ม 300 ต้น ปีใดที่มีฝนฟ้าดีจะได้ผลผลิต 30,000 กิโลกรัม ส่วนใหญ่ได้ผลส้ม เบอร์ 00 เบอร์ 1 และ เบอร์ 2”

การตลาด และราคา

ตลาดส้มเขียวหวาน ที่คุณลอน นำผลผลิตส้มเขียวหวานไปขาย ก็คือ ล้งส้มเขียวหวานในท้องถิ่น (โรงคัดบรรจุผลไม้  รับซื้อส้มเขียวหวาน) ต้องจ้างแรงงานเก็บผลส้มเขียวหวานนำไปส่งให้ล้ง ณ ที่ทำการล้ง แล้วคัดขนาดหรือเบอร์ คิดราคาตามเบอร์ ณ ราคาตลาดในวันนั้น อย่างเช่น ส้มเขียวหวาน เบอร์ 000 หรือ 00 จะได้ราคา กิโลกรัมละ 30 บาท  ราคานี้มิใช่ว่าจะได้ทุกปี บางปีฝนฟ้าอากาศไม่อำนวยก็ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาล จะได้ราคาสูงขึ้นมาหน่อย และผู้บริโภคมีความชื่นชอบในเรื่องรสชาติ ขนาดผล เปลือกบาง จึงมีการขอจองซื้อกันล่วงหน้า และมีคำสั่งซื้อเข้ามาตลอด

ปัญหาที่ยังแก้ไขได้ไม่หมด ตามที่คุณลอนปรารภออกมา ก็อย่างเช่น ภัยแล้งขาดแคลนน้ำ ทำให้ต้นทุนสูงในการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงใส่เครื่องสูบน้ำ โรค-แมลง ราคาขายก็ยังไม่เสถียร มีขึ้น มีลง ไม่มีการประกันราคา เป็นปัญหาซ้ำซากที่ต้องพบทุกปี มากน้อยแตกต่างกันไป ก็ต้องติดตามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

*การจัดการและการดูแลผลผลิตที่ดี *

นำไปประกวด การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศ

คุณลอน กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ตนเองให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการสวน ต้องโล่งเตียนอยู่เสมอ สะอาด ไม่ให้มีแมลงเข้ามาหลบซ่อน โรคก็ไม่ระบาดมากมาย ใครๆ เข้ามาดู เห็นผลผลิตก็จะชักชวนให้นำผลส้มเขียวหวานไปเข้าประกวด “ผมก็นำผลส้มไปประกวดทุกเวทีนะครับ ถ้าได้รับการแจ้งมาเพราะส้มของผมผิวสวย ผลใหญ่ ผลมีขนาดสม่ำเสมอ ที่สำคัญเป็นส้มปลอดภัยทั้งเราและผู้บริโภค เรื่องนี้ผมปฏิบัติมาด้วยดีเสมอต้นเสมอปลาย”

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 คุณลอน ได้นำผลส้มเขียวหวานไปเข้าประกวดในการประกวดผลผลิตส้มเขียวหวานที่หน้าที่ว่าการอำเภอวังชิ้น ผลการประกวดส้มเขียวหวานของคุณลอนได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการให้ได้รับรางวัลที่ 1 ได้รับรางวัลเป็นเงินสดและใบเกียรติยศ

ผมได้สนทนากับ คุณประดิษฐ์ สลีหล้า รักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร จากสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ในฐานะประธานกรรมการตัดสินการประกวด ได้กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นการส่งเสริมสินค้าเกษตรส้มเขียวหวานของเกษตรอำเภอวังชิ้น มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ตลอดจนการมีคุณภาพชีวิตทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ดีขึ้น คณะกรรมการได้กำหนดหลักเกณฑ์การส่งผลส้มเขียวหวานเข้าประกวด

ผลการตัดสินที่ให้ส้มเขียวหวานจากสวนคุณลอน ได้ที่ 1 ก็เพราะเข้าหลักเกณฑ์การพิจารณา คือมีขนาดผลโตสม่ำเสมอ รูปร่างลักษณะตรงตามพันธุ์ เปลือกบาง ปอกง่าย เนื้อมีรสชาติหวาน หรือหวานอมเปรี้ยว เมล็ดมีขนาดเล็ก และมีจำนวนเมล็ดน้อย วัดความหวานได้ 11 องศาบริกซ์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0