โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ส่อบานปลาย! ซัดเดือดปมต้นทุนสินค้าเกษตร

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2562 เวลา 06.00 น.

จบไม่ลง! หลังรัฐมนตรีเกษตร เปิดข้อมูล 7 ต้นทุนสินค้าเกษตรสำคัญของไทย “ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน” สับเละ “ชโยดม-เพิก” อัดรัฐจนแต้มแก้ปัญหาเล่นกลตัวเลข มโนฟันกำไร นายกสมาพันธ์ทุเรียน -ข้าวโพด คาด สศก.หยิบตัวเลขผิด ส่งปล่อยไก่ตัวโต

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากข้อมูลที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูล ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีความชื้น 15% ขายได้ 7,703 บาท/ตัน นั่นคือข้าวแห้ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในมือชาวนาแล้ว แต่ที่ชาวนาขายความชื้นไม่ต่ำกว่า 25%-30%  หากคิดคำนวณทอนลงมาชาวนาขายข้าวได้แค่ 3,000-4,000 บาทต่อตันเท่านั้น อยู่ไม่ได้ชาวนา เจ๊งทั้งประเทศแล้ว ส่วนต้นทุนการผลิตไม่เกินเฉลี่ยทั้งประเทศไม่น่าเกิน 5,000 บาทต่อตัน แต่ข้อมูลผลผลิต 6,243 บาทต่อตันสูงเกินไป พวกที่ทำข้อมูลให้รัฐมนตรีเป็นนักวิชาการ ไม่เคยถามเกษตรกรโดยตรง นั่งเทียนในห้องแอร์ วันนี้ราคาข้าวที่ชาวนาขายได้แนวโน้มตกต่ำลงมามาก ต้องให้ท่านออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง

 

นายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานกลุ่มคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  รัฐบาลจนแต้มไม่สามารถแก้ปัญหามาลดต้นทุนให้เกษตรกรดูแล้วทำให้เกษตรกรดูเหมือนให้มีกำไร แก้ไขปัญหาผิดมาโดยตลอด ตั้งแต่ปาล์มขวด ในตลาดราคาขาย 24 บาทต่อขวดลิตรก็ให้ขายที่ 34 บาท ส่วนต้นทุนราคา 1.97 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ใช่ ดังนั้นต้องชี้แจงมาเลย เพราะก่อนหน้านี้เคยคุยเรื่องต้นทุนมากว่า 10 รอบแล้ว ราคาต้นทุนกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัมนี่ถือว่าตัวเลขต่ำสุดแล้ว แต่วันนี้เป็นอะไรถึงลดต่ำต้นทุนหายไป 1.10 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งที่ราคาปุ๋ย ค่าแรงน้ำมัน แพงขึ้น ผมถามว่าลดต้นทุนส่วนไหน ดังนั้นทาง สศก.จะต้องชี้แจงที่มาที่ไปตัวเลขดังกล่าวนี้

สอดคล้องกับนายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยและอดีตหัวหน้าพรรคยางพาราไทย กล่าวว่า ก็ไม่แปลกถ้าจะเล่นกลกันทางตัวเลขต้นทุนเดิมที่เกษตรกรเคยรับรู้รับทราบกันมาซึ่งก็ไม่ได้เอามาจากไหนก็มาจากหน่วยงานรัฐ  ที่คิดกันไว้ที่เกือบๆ 65 บาทต่อกิโลกรัม ผ่านมา 5 ปีรัฐบาลไม่สามารถทำราคาเกิน 65 บาทต่อกิโลกรัมได้ได้ ก็เลยใช้วิธีการคำนวณต้นทุนการผลิตใหม่เหลือ 31 บาทกว่าเพราะฉะนั้นราคายางพาราเฉลี่ย 40 กว่าบาทก็เกินต้นทุนการผลิตแล้ว

“แบบนี้เก่งมาก เก่งแบบศรีธนญชัยศรี แต่ชาวบ้านไม่ได้อะไร ข้อมูลนี้เก็บไว้ภูมิใจคนเดียว เพราะคนอื่นเขาไม่สนุกด้วย  แก้ปัญหาง่ายมากแค่ลดต้นทุนการผลิตจาก 64 บาทกว่าเหลือ 31.59 บาทแค่นี้เองฝีมือล้วนๆ”

ด้านนายบุญส่ง นับทอง อดีตนายกสมาพันธ์สมาคมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สงสัยจะเพี้ยนไปแล้ว ที่เอาต้นทุน การผลิตยางพารา มาตั้งที่ 31 บาท และต้นทุนปั๊มน้ำมันมาอยู่ที่ บาทกว่าๆ และบอกว่าเกษตรกรกำไร จากราคาที่ขายผลผลิตได้ ถ้ามี ผู้บริหารกระทรวง แบบนี้ ผมว่า เกษตรกร ประเทศไทยคงแห้งและเหี่ยวไปอีกนาน

นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ  กล่าวว่า ไร่ ตอนนี้ต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เฉลี่ยทั่วประเทศราคาไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ใช่อยู่ที่  3.93 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมีการคำนวณ 4,400-4,800 บาทต่อไร่ ผลผลิตอยู่ที่ 800 บาทต่อกิโลกรัม ช่วงนี้ "หนอนข้าวโพดลาย"จุดระบาดยิ่งต้นทุนเพิ่ม เพราะเกษตรกรต้องใช้ยาปราบศัตรูพืช ไม่เช่นนั้นข้าวโพดจะเสียหายทั้งหมด วันนี้จึงถามกลับไปว่าต้นทุนมาจากไหน

เช่นเดียวกับนายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย เผยว่า ข้อมูลที่ได้รับจาก สศก. 17.60 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ใช่ต้นทุนที่ 9.23 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำเกินไป ถ้าเป็นจริงจากข้อมูลนี้ชาวสวนทุเรียนถูกหวยรางวัลที่ 1 ทุกปี ทั้งนี้การคำนวณต้นทุนขึ้นอยู่กับเกษตรกรดูแลมากน้อยต่างกัน พื้นที่ไม่เท่ากัน ระยะการปลูกในหรือนอกฤดู เฉลี่ยโดยทั่วไป 15-17 บาทต่อกิโลกรัม สงสัยคาดว่ารัฐมนตรีน่าจะดูช่องผิดข้อมูลที่ออกไปน่าจะคลาดเคลื่อน

ด้านนายอานนท์ โลดทนงค์ รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คนที่ 1 ดูแลรับผิดชอบเรื่องสับปะรดโรงงาน กล่าวว่า การให้ข้อมูลว่า ราคาต้นทุนอยู่ที่ 2.43 บาทต่อกิโลกรัม เป็นไปไม่ได้ ค่อนข้างจะห่างไกลจากข้อเท็จจริงมาก ซึ่งต้นทุนสับปะรดจริงๆนั้นอยู่ที่ 4.50-5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต้นทุนนี้เป็นการประเมินเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่ต้นทุนภาคตะวันออก กับต้นทุนของภาคตะวันตก ต้นทุนอาจจะไม่เท่ากัน เพราะทางประจวบฯปลูกแล้วจะไว้ตอ 2 แล้วค่าเฉลี่ยผลผลิตจะลดลง อย่างของภาคตะวันออกเก็บเกี่ยวรอบเดียวต้นทุนอาจจะต่ำมานิดหนึ่ง แต่ภาพรวมไม่ต่ำกว่า 4.50 บาทต่อกิโลกรัมแน่นอน ยืนยันได้เลย

“การให้ข้อมูลต้นทุนมองว่าน่าจะผิดพลาดอย่างรุนแรง คงต้องทบทวนกันใหม่ หาก สศก.ให้ข้อมูลท่านแล้วกล้ายืนยัน ไม่มีใครรับไม่ได้ แต่ก็เข้าใจว่าข้อมูลที่ออกมาแต่ละฝ่ายอ้างไม่มีความเป็นเอกภาพ แต่อย่างน้อยอยากให้อยู่บนฐานข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นออกมาห่างไกลเกินไป ผมรู้สึกอึ้ง! เลย ไม่ทราบว่าคิดได้อย่างไร ว่าเกษตรกรมีเงินเหลืออู้ฟู้เลย ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น ขณะนี้เกษตรกรดิ้นกระแด่วๆ จะตายอยู่แล้ว”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0