โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ส่อง 4 กลุ่มหุ้นเด่นท้ายปีอุตฯ ท่องเที่ยว-น้ำมันสดใส

Manager Online

อัพเดต 21 ต.ค. 2561 เวลา 12.44 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2561 เวลา 11.52 น. • MGR Online

ผู้จัดการายวัน 360 – ส่อง4กลุ่มหุ้นเด่นรับไตรมาสสุดท้ายปี2561 พบ กลุ่มท่องเที่ยว ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง และน้ำมัน แนวโน้มผลดำเนินงานเร่งตัว กูรูแนะนำเข้าสะสม

เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเศษก็จะผ่านพ้นปี 2561 ก้าวสู่ปี 2562 โดยทั่วไปในไตรมาสสุดท้ายของปี จะเป็นช่วงไฮซีซั่นในหลายธุรกิจ เนื่องจากจะมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นของรายได้และยอดขาย อย่างไรก็ตามในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยให้ต้องติดตาม ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ซึ่งปัจจัยลบนักวิเคราะห์ให้น้ำหนักไปทางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับหลายประเทศที่อาจขยายตัววงกว้าง จากปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวผลักดันให้ต้นทุนสินค้าหลายอย่างสูงขึ้น และทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จนอาจกดดันเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนในปี 2562

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถูกคาดการณ์ว่าจะยิ่งเป็นการเร่งให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ในปี 2562 มีแผนขึ้นดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ส่วนประเทศไทยแม้ยังไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยแต่มองว่าคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นว่าใกล้จะสิ้นสุดนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายแล้ว จากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวชัดเจน น่าจะกดดันมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ถูกคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.4% โดยมีการลงทุนของภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุน และคาดว่าปีหน้าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยประเมินว่าจะขยายตัวได้ 4.5% หลังสถานการณ์การเมืองในประเทศมีพัฒนาการไปในเชิงบวก เพราะเรื่องการเลือกตั้งที่มีความชัดเจน ถือเป็นปัจจัยบวกด้านจิตวิทยาที่สำคัญ

และจากสถานการณ์ต่างที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ทำให้พบว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2561 มี 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่อัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ,กลุ่มค้าปลีก ,กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มพลังงานน้ำมัน ซึ่งแต่ละกลุ่มมีได้รับปัจจัยผลักดันที่แตกต่างกันไป แต่มีความน่าสนใจเข้าลงทุน ดังนี้

AOT โดดเด่นนำกลุ่มท่องเที่ยว

ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงาน สถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย.) พบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 28.54 ล้านราย ขยายตัว 8.71% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้รวม 1.49 ล้านล้านบาท ขยายตัว 10.95% ขณะที่นักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากที่สุด 10 อันดับ ประกอบด้วย จีน, มาเลเซีย, ลาว, ญี่ปุ่น, เกาหลี, อินเดีย, กัมพูชา, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และเวียดนาม ตามลำดับ

จากตัวเลขดังกล่าว สะท้อนว่าการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นไปแบบฟื้นตัวเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาด หลังจากมีเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต และเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวจีนที่สนามบินดอนเมือง โดยมาจากแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวต่าง ๆ ของภาครัฐ ทำให้โครงสร้างการท่องเที่ยวของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง รวมถึงมีอัตราการขยายตัวที่ดีมาโดยตลอด

ส่วนหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่โดดเด่น หลายฝ่ายยกให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยราคาหุ้นตอบรับปัจจัยบวกไปบ้างแล้ว แต่ยังมีอัพไซด์อยู่ ส่วนประเด็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เกิดข้อพิพาทด้านการออกแบบอาคารซึ่งอาจส่งผลให้การดำเนินงานล่าช้ามองว่าเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น

ล่าสุดผลดำเนินงานงวดไตรมาส 4/2561 (ก.ค.-ก.ย. 2561) มีโอกาสทำกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 4.52 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 21.3% ส่งผลให้ภาพรวมงวดปี 2561 (ต.ค. 2560 -ก.ย. 2561) มีกำไรสุทธิรวม 2.44 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 18.2% จากช่วงปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.06 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 8% และมีจำนวนเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นอีก 6.2% ทำให้คาดว่า AOT จะจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2561 ที่ 1.03 บาท/หุ้น

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทยังมีประเด็นที่น่าติดตามอื่นๆ ที่มีผลต่อผลดำเนินงานในอนาคต อาทิ การเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินสุวรรณภูมิเฟสที่ 1 ในปี 2561 รวมถึงการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร (PSC) สำหรับทั้งเที่ยวบินระหว่างประเทศ และเที่ยวบินในประเทศในระยะยาว ที่ผ่านมาหลายฝ่ายเชื่อว่า ผลการดำเนินงานของ AOT ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 4/2561 และจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 เป็นต้นไป จึงยังคงแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 83.00 บาท/หุ้น

CENTEL เตรียมเร่งฟื้นตัวรับไฮซีซั่น

นอกจากนี้ บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) เป็นอีกหนึ่งหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวที่โดดเด่นเนื่องจากที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับลงมาค่อนข้างมาก จากความกังวลด้านนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญลดลง แต่ด้วยการฟื้นตัวกลับมาของนักท่องเที่ยว รวมถึงช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ(ไตรมาส4/61 และ ไตรมาส1/62) บริษัทมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันธุรกิจอาหารยังจะได้รับปัจจัยหนุนจากการเลือกตั้งที่ชัดเจน ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้มีราคาเหมาะสม 53.00 บาท/หุ้น

BJC นำกลุ่มค้าปลีกรับช่วงเทศกาล

กลุ่มค้าปลีกเป็นอุกหนึ่งอุตสาหกรรม ที่ถูกคาดหมายว่าผลดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มจะปรับตัวดีขึ้นอย่างโดดเด่นจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้และไตรมาสแรกของปี 2562 เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล นอกเหนือจากการบริโภคโดยปกติในช่วงที่ผ่านมาที่เติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายคาดว่า ในช่วงปลายปีภาครัฐจะออกมาตรการมากระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น เหมือนเช่นก่อนหน้านี้ และเมื่อรวมกับปัจจัยบวกจากการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนมากขึ้น น่าจะทำให้กำลังซื้อหรือกำลังจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มนี้โดดเด่น โดยบริษัทที่ถูกยกให้มีความน่าสนใจของกลุ่มได้แก่ บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เนื่องจากถูกคาดหมายว่า แนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส3/61 จะเติบโตโดดเด่นสุดในกลุ่มค้าปลีก โดยคาดโต 17.9%

ปัจจัยสำคัญมาจากการเติบโตของสาขาเดิม( SSSG) ของ BIGC จะพลิกเป็นบวกราว 2.5% แม้จะเผชิญฝนที่ค่อนข้างมาก แต่ถือว่าทำโปรโมชั่นได้ประสบผลสำเร็จ, คาดอัตรากำไรขั้นต้นจะทำได้ดีเพราะมีการนับสต็อกของ BIGC ทำให้มีการกลับรายการตั้งสำรองสินค้าเป็นปกติในไตรมาส 3 ของทุกปี และคาดเห็นการเติบโตได้ต่อเนื่องทั้งธุรกิจ Packaging Consumer และ Healthcare and Technical

สิ่งที่น่าสนใจคือ BJC มีแนวโน้มกำไรจะโตต่อและทำจุดสูงสุดของปีในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ จากช่วงไฮซีซั่นธุรกิจ และจะรับรู้โรงงานแก้วแห่งที่ 5 ได้เต็มไตรมาส รวมถึงคาดจะปรับโครงสร้างภาษีได้แล้วเสร็จ และเห็นอัตราภาษีจ่ายลดลง ทำให้ถูกคาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะเติบโต 26% และ 21% ในปีหน้า โดยมีราคาเหมาะสมอยู่ที่ 71.00 บาท/หุ้น ภายใต้คาดการณ์กำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 6.56 พันล้านบาท

ROBINS ตามติดจากช่วงพีคของปี

ด้าน บมจ.โรบินสัน (ROBINS) ถูกยกให้เป็นอีกหนึ่งหุ้นในกลุ่มค้าปลีกที่มีความโดดเด่นในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เนื่องจากเข้าไฮซีซันของกลุ่มค้าปลีก มีงานเทศกาลต่างๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก ประกอบกับฐานในเดือนตุลาคม ปี2560 ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 ของปีนี้เติบโตอย่างมาก

ไม่เพียงเท่านี้ ROBINS ยังถูกคาดการณ์ว่ามาร์จิ้นน่าจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ผลจากการเพิ่มสัดส่วนสินค้าไพรเวตแบรนด์ ซึ่งจะเน้นการขายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนเพาเวอร์บายและซุปเปอร์สปอร์ต ถือว่ามีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น โดยเฉพาะซุปเปอร์สปอร์ตที่มียอดขายมากกว่า 40% จากการปรับปรุงสาขาเดิม และเทรนด์รักสุขภาพทำให้คนหันมาออกกำลังกายมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายขยายตัวต่อเนื่อง

ขณะที่การเปิดสาขาใหม่ 2 แห่ง ซึ่งในช่วงต้นปี 1 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี และไตรมาส 4/61 เตรียมเปิดอีก 1 แห่ง ที่จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันมียอดจองพื้นที่แล้วกว่า 70-80% ทำให้ประเมินว่าบริษัทจะมีกำไรปี 2561 เติบโต 13% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.74 พันล้านบาท ส่วนปี 2562 คาดว่ากำไรจะเติบโต 14% และกลับมาเปิดสาขาเพิ่มเป็น 3 แห่ง

ปัจจุบัน ROBINS มีระดับการซื้อขายค่อนข้างถูก บนพื้นฐาน P/E ที่ 24-25 เท่า ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มค้าปลีก และต่ำกว่าระดับ P/E ของบริษัทในอดีตที่ 27 เท่า ทำให้มีความน่าสนใจเข้าลงทุน โดยราคาเหมาะสม 79.00 บาท/หุ้น

STEC สดใสนำขบวนหุ้นรับเหมา

จากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีอยู่หลายโครงการ และถูกเร่งดำเนินการในช่วงปลายปีนี้ ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2562 ทำให้หุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาในช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้งหุ้นที่เกี่ยวโยงกับนักการเมือง และ หุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากการเมือง จะมีการเคลื่อนไหวที่หวือหวา ซึ่งหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างคือหนึ่งในกลุ่มหุ้นดังกล่าว ที่มีการเคลื่อนไหวตอบรับข่าวรัฐบาลในการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีผลลากยาวไปถึงรัฐบาลชุดต่อไป เพราะจะได้รับผลประโยชน์จากการสานต่อโครงการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งจะช่วยเติม Backlog ของบริษัทให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ถูกยกให้เป็นหนึ่งในกลุ่มหุ้นรับเหมาก่อสร้างที่น่าสนใจ โดยถูกคาดการณ์ว่า กำไรในไตรมาส3/61 จะเติบโต 5% จากไตรมาสก่อน และเติบโต 48%จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเริ่มงานรถไฟฟ้าสีชมพู-เหลือง และโรงไฟฟ้า Gulf 2 แห่ง รวมถึงเดินเครื่องงานสายสีส้มเต็มที่ แม้ถูกกดดันจากงานรัฐสภาใหม่ และคาดว่ามาร์จิ้นน่าจะอยู่ที่ 7.7% จากการควบคุมต้นทุนได้ดี

ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ 1.2 แสนล้านบาท มากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตเกือบ 2 เท่า และรองรับรายได้อย่างน้อย 3 ปี ทำให้ถูกปรับประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้าขึ้นเฉลี่ย 16.5% เป็น 1.25 พันล้านบาท พลิกจากขาดทุนในปีก่อน และ 1.58 พันล้านบาท ตามลำดับ จากมาร์จิ้นที่ดีกว่าคาดทำให้มีราคาเหมาะสม 28.50 บาท/หุ้น โดยมีปัจจัยบวกจากการเร่งผลักดันงานประมูลภาครัฐจำนวนมากในไตรมาส4/61-ไตรมาส1/62

นอกจากนี้ STEC ยังมีปัจจัยบวกที่รออยู่คือ การยื่นซองประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2 แสนล้านบาท ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ และรู้ผล 13 พ.ย. ซึ่งคาดเห็นความร่วมมือกันในกลุ่ม BSR (BTS-STEC-RATCH) กับพันธมิตรอีก 1 ราย ขจณะเดียวกันอ้างอิงสถิติการเลือกตั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา พบว่าก่อนเลือกตั้ง 5 เดือน กลุ่มรับเหมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4%

PTT - PTTEP รับอานิสงส์ราคาน้ำมันขาขึ้น

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2561 เนื่องจากสหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรอิหร่านจะมีผลในทางปฏิบัติวันที่ 4 พ.ย.นี้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกจะหายไปประมาณ 2.5 ล้านบาร์เรล/วัน

นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียเข้ามาเพิ่มเติม โดยปัจจุบันซาอุดีอาระเบียมีกำลังการผลิตน้ำมันประมาณ 10-11 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนการผลิตเชลล์ออยล์ในสหรัฐฯก็ประสบปัญหาไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ เนื่องจากเต็มศักยภาพการขนส่งทางท่อแล้ว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาลงทุนขยายแนวท่อส่งน้ำมันอีกระยะหนึ่ง ทำให้ถูกคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้น อาจมีผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทันที

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มน้ำมันในอุตสาหกรรมอย่าง บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และบริษัทแม่ ปตท.(PTT) โดย PTTEP มีปัจจัยสนับสนุนคือ ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในแดนสูง หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จะหนุนกำไรของบริษัท เพิ่มขึ้น 720 ล้านบาท และมีผลต่อราคาพื้นฐานที่ 1.60 บาท

ขณะเดียวกัน แม้ปัจจุบันหลายฝ่ายมองว่าราคาหุ้น PTTEP เต็มมูลค่าพื้นฐานแล้ว แต่บริษัทยังมี Upside จากการประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งระทราบผลประมาณพ.ย. – ธ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่า PTTEP จะสามารถประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกชได้ และมีโอกาสเข้าถือหุ้นในแหล่งเอราวัณในสัดส่วน 25% ทางอ้อมในฐานะหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล ทำให้ถูกประเมิน Upside เพิ่มอีกประมาณ 18-35 บาท

ไม่เพียงเท่านี้ หลายฝ่ายคาดว่ากำไรปกติงวดไตรมาส 4/61 ของ PTTEP ประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10-20% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/61 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้กำไรปกติปี 2561 ของบริษัทจะประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% ผลักดันราคาเหมาะสมของหุ้นเพิ่มขึ้นมาที่ 150บาท/หุ้น พร้อมอัตราเงินปันผลเฉลี่ย 3.7%

ขณะที่ PTT มีประเด็นสนับสนุน คือ ภาษีจ่ายจากการโอนสินทรัพย์สู่ PTTOR เป็นรายการพิเศษที่ไม่กระทบต่อปัจจัยพื้นฐาน แม้เป็นรายการเงินสดออกก็ตาม เพราะถือเป็นรายการเพียงครั้งเดียว ส่วนแนวโน้มกำไรปกติในครึ่งปีหลัง ถูกคาดการณ์ว่ายังอยู่ระดับดี หนุนจากกำไรในบริษัทลูกโดยเฉพาะ PTTEP และ PTTGC ที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง ชดเชยผลกระทบจากต้นทุนก๊าซ และนโยบายพลังงานของรัฐบาลได้

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ PTT มีราคาเหมาะสม 60.00 บาท/หุ้น จากการได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง Valuation ไม่แพง โดยปัจจุบันซื้อขายบน P/E เพียง 10.5 เท่า พร้อมผลตอบแทนเงินปันผลปี 2561 ที่ 4.3%

นอกจากนี้ PTT ยังมีปัจจัยบวกที่รออยู่ได้แก่แผนการนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ช่วงครึ่งหลังปี2562 รวมถึงท่อก๊าซ East Mediterranean Gas (EMG) ที่ถูกตัดจำหน่ายราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐไปตั้งแต่ปี 2554-59 มีโอกาสกลับมาใช้งานอีกครั้งหลังปี 2562 และการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0