โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ส่อง “รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน” หุ้นกลุ่มรับเหมาแค่พระรอง

Manager Online

อัพเดต 15 ก.ค. 2561 เวลา 14.23 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2561 เวลา 13.52 น. • MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - “นั่นเพราะโครงการรถไฟฟ้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เป็นหนึ่งในโครงการ ที่ได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (EEC) ที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา หมายถึงผู้ที่ชนะโครงการดังกล่าวไม่ใช่เพียงดำเนินการให้แล้วเสร็จแค่งานก่อสร้างระบบรางและสถานีเท่านั้น แต่ยังได้สิทธิสัมปทานในการบริหารจัดการรถไฟ และพื้นที่รอบเส้นทางเป็นระยะเวลา 50 ปีด้วย สิ่งนี้เพิ่มแรงดึงดูดให้แก่กลุ่มทุนจากธุรกิจอื่น ๆ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก”

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังเริ่มมีสัญญาณบวกเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัญญาณบวกของภาครัฐ ต่อการเร่งเครื่องเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่วางเป้าหมายให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีหน้า

เมื่องานประมูลโครงการขนาดใหญ่เริ่มขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มบริษัทรับเหมา-ก่อสร้างในตลาดหุ้นไทย ให้น่าจับตามองด้วยเช่นกัน โดยสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามหลังจากนี้คือบริษัทใด จะเป็นผู้ชนะประมูลโครงการต่าง ๆ ที่ทยอยออกมาตั้งแต่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก โครงการทางด่วนดาวคะนอง - กาญจนาภิเษก มอเตอร์เวย์ 2 เส้น รถไฟรางคู่ 9 เส้นทาง และ รถไฟฟ้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

แต่คราวนี้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ถูกจับตามากที่สุดอย่าง “โครงการรถไฟฟ้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” หรือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ระยะทางรวม 220 กม. มูลค่ารวม 220,000 ล้านบาท ทั้งในแง่ของเงินลงทุนและการก่อสร้างนั้น กลุ่มรับเหมา-ก่อสร้างอาจเป็นแค่พระรองของเรื่องเท่านั้น

นั่นเพราะโครงการรถไฟฟ้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เป็นหนึ่งในโครงการ ที่ได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (EEC) ที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา หมายถึงผู้ที่ชนะโครงการดังกล่าวไม่ใช่เพียงดำเนินการให้แล้วเสร็จแค่งานก่อสร้างระบบรางและสถานีเท่านั้น แต่ยังได้สิทธิสัมปทานในการบริหารจัดการรถไฟ และพื้นที่รอบเส้นทางเป็นระยะเวลา 50 ปีด้วย

สิ่งนี้เพิ่มแรงดึงดูดให้แก่กลุ่มทุนจากธุรกิจอื่น ๆ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก ไม่เพียงเท่านี้ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนใน EEC พ.ร.บ.ฉบับพิเศษนี้ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เกิน 51 % ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินก็ได้รับอานิสงส์จากเงื่อนไขดังกล่าวไปด้วย เรียกได้ว่าใครชนะประมูลครั้งนี้ก็เปรียบเหมือนเสือนอนกิน….. สบายไปทั้งชาติ ดังนั้นมูลค่าลงทุนแค่ 220,000 ล้านบาทกับผลประโยชน์ที่จะได้รับถือว่าถูกและคุ้มค่าที่สุด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนี่คือโครงการที่มีขนาดใหญ่และจำเป็นที่จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญในหลายๆด้าน ทำให้หลายกลุ่มธุรกิจไม่คิดจะฉายเดี่ยวเข้าประมูลโครงการเพียงลำพัง เพราะเกรงว่าความเชี่ยวชาญที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อการชนะการประมูลโครงการดังกล่าวได้ จึงกลายเป็นที่มาของโมเดลการร่วมทุนแบบ กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการคว้าโครงการ

ล่าสุด พบว่า การปิดขายเอกสารคัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่าลงทุน 2.2 แสนล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศมากถึง 31 รายที่เข้ามาซื้อซอง ได้แก่

1.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)

2.บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง

3.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)

4.บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)

5.บจ.เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (ไทย)

6.ITOCHU Corporation (ญี่ปุ่น)

7.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (จีน)

8.บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)

9.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

10.บจ. ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น (ญี่ปุ่น)

11.China Railway Construction Corporation Limited (จีน)

12.บมจ. ช.การช่าง (CK)

13.บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH)

14.บมจ. ทีพีไอ โพลีน (TPIPL)

15.CHINA RAILWAY GROUP LIMITED (จีน)

16.China Communications Construction Company Limited (จีน)

17.China Resources (Holdings) Company Limited (จีน)

18.CITIC Group Corporation (จีน)

19.Korea-Thai High-speed Railroad Consortium Inc. (เกาหลีใต้)

20.บจ. เทอดดำริ

21.Salini Impregio S.p.A. (อิตาลี)

22.บจ. ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย)

23.TRANSDEV GROUP (ฝรั่งเศส)

24.SNCF INTERNATIONAL (ฝรั่งเศส)

25.Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (ญี่ปุ่น)

26.บมจ. เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE)

27.บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN)

28.บจ. แอล เอ็ม ที สโตน (ไทย)

29.WANNASSER INTERNATIONAL GREEN HUB BERHAD (มาเลเซีย)

30.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (จีน) และ

31.MRCB Builders SDN. BHD. (มาเลเซีย)

โดยหลังจากนี้ คาดว่าจะเกิดการรวมกลุ่มของกลุ่มทุนใน 31 บริษัทนี้ก่อนทำการยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 12 พฤศิจกายน 2561 เพื่อเข้ายื่นซองเสนอราคาแข่งขัน เพราะในเงื่อนไขของ TOR กำหนดอย่างชัดเจนว่าการรวมกลุ่มเข้าประมูลจะทำได้เพียงเฉพาะบริษัทที่เข้าซื้อเอกสารคัดเลือกแล้วเท่านั้น ไม่สามารถดึงกลุ่มทุนที่อยู่นอกเหนือจากนี้เข้ามาร่วมลงทุนได้

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้พอเห็นรูปร่างการรวมตัวของกลุ่มทุนในประเทศ และต่างประเทศเพื่อเข้าแข่งขันประมูลงานได้ในระดับหนึ่ง นั่นคือการรวมตัวของกลุ่มทุนอย่างบีทีเอส, ซิโน-ไทย, ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ และกลุ่ม ปตท. ในนามของ (เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์) กลุ่มถัดมาคือ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะร่วมลงทุนกับกลุ่มทุนจากจีนเข้าประมูลแข่งขันในครั้งนี้ ถัดมาคือ กลุ่มอิตาเลียนไทย และ ซิโนไฮโดร ฯ จากจีน และกลุ่ม ช.การช่าง ที่จะร่วมมือกับบริษัทในเครืออย่าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ นอกจากนี้เชื่อว่าจะเกิดการรวมตัวของกลุ่มทุนอื่น ๆ เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 2-3 กลุ่ม

โดยกลุ่มทุนที่โดดเด่นในตอนนี้ หลายฝ่ายให้น้ำหนักไปที่กลุ่มทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารรถไฟฟ้าอย่าง BTS และ BEM เนื่องจากมีประสบการณ์ในการบริหารรถไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน ถัดมาคือกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ฯ (ซีพี) และกลุ่ม ปตท. ที่มีความแข็งแกร่งในฐานเงินทุนและพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ไม่ควรมองข้ามกลุ่มทุนต่างประเทศที่เข้ามาร่วมซื้อซองคัดเลือกในรอบนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการด้านบริหารจัดการรถไฟในต่างประเทศ หรือบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบรางทั้งสิ้น

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่ากลุ่ม BTS ที่มีทั้ง STEC,RATCH และเครือ ปตท. จะได้พันธมิตรรายใหญ่เข้ามาร่วมหุ้นด้วยนั่นคือ เครือซีพี แต่ดูเหมือนการเจรจาหาข้อยุติในการถือหุ้นจะไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ที่ต้องการรับเป็นผู้บริหารรถไฟฟ้า และพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะได้รับจากโครงการดังกล่าว ทำให้เครือซีพีอาจหันไปจับมือกับกลุ่มทุนจากจีนและพันธมิตรอื่น ๆ ตั้งกลุ่มเข้ามาร่วมประมูลแข่งขันแทน

แหล่งข่าวตลาดทุนรายหนึ่งให้ความเห็นต่อโครงการดังกล่าวว่า การเข้าร่วมประมูลในโครงการไอสปีดเชื่อม 3 สนามบินครั้งนี้ บริษัทที่เข้าประมูลจะมีจุดเด่นเพียงเรื่องเดียวไม่ได้ แต่ควรที่จะครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นั่นคือตั้งแต่เรื่องการผลิตและจัดหารถไฟฟ้าเข้ามาให้บริการ,งานก่อสร้างระบบรางและสถานี,งานด้านระบบไฟฟ้าและเทคโนโลยี,งานด้านบริหารบริการรถไฟฟ้าและฐานการเงินที่แข็งแกร่งเพื่อการลงทุนในระยะยาวสำหรับโครงการและธุรกิจต่อขยายหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ

“หากมองที่ ซีพี และ ปตท. ที่ส่งบริษัทลูกเข้ามาซื้อซอง ต้องยอมรับว่าเป็นกลุ่มทุนที่มีฐานเงินทุนแข็งแกร่งที่สุด แต่ไม่มีความชำนาญในเรื่องรถไฟฟ้า จำเป็นต้องเข้าร่วมทุนกับพันธมิตรอื่น ๆ ที่มีความชำนาญในงานด้านก่อสร้างและงานรถไฟฟ้า รวมถึงระบบและเทคโนโลยีต่าง ๆ รถไฟฟ้าต้องโรงไฟฟ้าสำหรับจ่ายไฟฟ้าของตนเองด้วย ดังนั้นบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าย่อมต้องสนใจเข้ามาลงทุนด้วย ขณะที่กลุ่มทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาร่วมประมูลส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการให้บริการรถไฟฟ้าอยู่แล้ว ทำให้มีความชำนาญและมีระบบรวมถึงเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ได้ เขาอาจเข้ามาในรูปแบบร่วมลงทุนโดยถือหุ้น 10-20 % กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทย หรือเข้ามาแบบเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และนำบริษัทขนาดกลางของไทยเข้ามาเสริมในจุดแข็งต่าง ๆ เพื่อโอกาสที่จะชนะประมูล ต้องไม่ลืมว่าสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่เกิน 51 % และอายุสัมปทานที่จะได้รับถึง 50 ปี นับว่าล่อต่อล่อใจเป็นอย่างมาก ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ถือว่ามีความเชี่ยวชาญมากกว่าใคร การเข้าร่วมกลุ่มกับรายไหนย่อมช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่กลุ่มนั้นแน่นอน ซึ่งอาจเข้าไปร่วมถือหุ้น หรือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และดึงต่างชาติเข้ามาช่วยเสริมก็ได้”

สำหรับกลุ่มรับเหมา-ก่อสร้างอย่าง STEC,ITD,CK และ UNIQ ล้วนแล้วแต่เคยมีประสบการณ์รับก่อสร้างงานระบบราง ขณะที่ฐานะเงินลงทุนก็ไม่แพ้กลุ่มทุนอื่นแต่ แต่โครงการนี้เชื่อว่าอาจเข้ามาในลักษณะร่วมถือหุ้นอัน 2-3 ด้วยสัดส่วน 20-30 % มากกว่าเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านงานก่อสร้าง แต่ไม่เชี่ยวเชี่ยวชาญด้านระบบและบริหารจัดการ

“การเคลื่อนไหวของกลุ่มรับเหมาช่วงนี้ย่อมโดดเด่น เพราะภาครัฐเร่งเครื่องเปิดประมูลงานหลายโครงการ แต่สำหรับไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน กลุ่มนี้น่าจะเป็นพระรอง บริษัทไหนจะโดดเด่นที่สุดต้องพิจารณาจากตัวพันธมิตรที่เข้าไปร่วมลงทุนด้วยกัน ว่าครบเครื่องหรือแข็งแกร่งเพียงใด”

นอกจากนี้ สิ่งที่นักลงทุนควรติดตามต่อไปนั่นคือหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะบริษัทที่มีที่ดินใกล้แนวรถไฟฟ้าหรือใกล้สถานีจำนวนมาก จะได้รับอานิสงส์จากเรื่องดังกล่าว จนอาจทำให้ในอนาคตผลประกอบการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นก่อนที่จะมีการประกาศผู้ชนะประมูล น่าจะได้เห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นที่มีโอกาสคว้างานโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ในลักษณะเก็งกำไรรับข่าวเท่านั้น และหลังจากได้ผู้ชนะประมูล ในระยะสั้นหุ้นบริษัทที่ชนะจะปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าว จากนั้นจะปรับตัวลงจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อีกทั้งยังต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเริ่มคืนทุน แต่ระยะยาวถือว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจเข้าลงทุนเป็นอย่างมาก ด้วยอายุสัมปทานที่ได้รับ และรายได้จากช่องทางต่าง ๆ

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็นการแนะนำของบรรดาโบรกเกอร์เพื่อให้เข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มรับเหมา - ก่อสร้าง ที่โดดเด่นอย่าง ITD ,CK และ STEC จากโอกาสที่มีอาจชนะการประมูลในโครงการดังกล่าว และโครงการอื่นๆของภาครัฐ รวมถึง BEM และ BTS จากโอกาสคว้าสายการเดินรถไฟฟ้ามาบริหารเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มฐานรายได้ระยะยาวในอนาคต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0