โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ส่องเส้นทางชีวิต 'ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร' แห่งเมืองคนดุ

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 10.45 น.

"ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร" เกิดและเติบโตในเมืองคนดุ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในหมู่คนรู้จักว่า มีนิสัยใจคอกว้างขวาง ไม่เกรงกลัวใคร และด้วยบุคลิกดังกล่าว เขามักเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์แหลมคมที่เป็นทั้งด้านบวกและด้านลบอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเข้ามารับตำแหน่งสำคัญอย่างหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีพื้นที่เกือบสองล้านไร่ และเต็มไปด้วยเรื่องราวและผลประโยชน์

จากชีวิตวัยเด็กที่ค่อนข้างโลดโผน และมีโอกาสรู้จักและมีสายสัมพันธ์กับตระกูล"อังกินันท์" ซึ่งเป็นตระกูลการเมืองดังตระกูลหนึ่งของเพชรบุรี ชัยวัฒน์มีโอกาสได้เข้าเรียนระดับปริญญาตรีในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านการบริหารทรัพยากรป่าไม้ คณะเดียวกันในอีกหลายปีต่อมา

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ชัยวัฒน์ เริ่มชีวิตราชการเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่กรมป่าไม้ ก่อนที่จะเติบโตในสายงานทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่วนอุทยานในจังหวัด รวมทั้ง วนอุทยานชะอำ

ปลายปี 2551 ชัยวัฒน์ในขณะที่มีอายุ 44 ปีได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันในหมู่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าเป็นพื้นที่ทำงานที่ท้าทายมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยขนาดที่กว้างใหญ่ ของพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ และสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อน ส่วนหนึ่งอันเนื่องมาจากแนวเขตแดนที่ติดกับประเทศพม่า และการมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่า และที่นี่เอง ที่ทำให้ชัยวัฒน์เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในปีต่อๆ มา จากสถานการณ์และเรื่องราวที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้อง

จากเหตุการณ์เถาวัลย์คลุมป่าในช่วงปีแรกๆ ที่เขาเข้ารับตำแหน่ง ชัยวัฒน์มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับองค์กรภายนอก ก่อนที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าและการถูกร้องเรียนเป็นครั้งแรกๆ กับบางองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสภาทนายความและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อันเนื่องมาจากแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงกัน และความเชื่อมั่นของเขาว่า เขาดำเนินการถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว

ในปี 2553 ชัยวัฒน์ริเริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนบ้านโป่งลึก-บางกลอยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้รับงบประมาณจากสำนักคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังพบว่าโครงการช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ก่อนหน้านี้ได้ยุติลง พร้อมๆ กับการดำเนินการ "ยุทธการตะนาวศรี" ซึ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังถูกนำไปผูกโยงกับเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของทหารตกติดต่อกัน 3 ลำ ในป่าลึกของแก่งกระจานในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2554

แต่ก่อนที่จะกลายเป็นความขัดแย้งที่บานปลายออกไป ชัยวัฒน์ได้นำกำลังเข้าช่วยเหลือกู้ศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 17 คน และด้วยบุคลิกความเป็นผู้นำ ที่นำกำลังกู้ศพผู้เสียชีวิตด้วยตัวเองเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใต้บังคับบัญชาจนทำให้ภารกิจสำเร็จลงด้วยดี ทำให้ชัยวัฒน์ได้การยอมรับนับถือเป็นอย่างมากจากผู้ใต้บังคับบัญชา และได้รับการยกย่องจากคนไทยทั่วประเทศเขาได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประจำปี 2554 จากวีรกรรมในครั้งนั้น

แต่ในเวลาไม่นานนัก เรื่องราวยุทธการตะนาวศรีที่เขาดำเนินการ ได้รับการเปิดเผยจากสื่อบางสำนักและนำไปสู่ข้อโต้แย้งบางประการที่ว่า ในการดำเนินการรื้อถอนทำลายเผาสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินที่สำรวจพบในป่าทางตอนบนเพื่อป้องกันแก้ไขการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำและเหตุผลทางด้านความมั่นคง อาจมีทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนดั้งเดิมที่นั่นปะปน

ชัยวัฒน์เคยชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ว่า เขาได้พยายามเจรจากับกลุ่มคนที่เขาพบในป่านานกว่าปี เพื่อให้โอกาสในการอพยพโยกย้ายและขนย้ายสิ่งของ และยืนกรานว่าไม่ได้ดำเนินการใดๆ กับชุมชนดั้งเดิม หากแต่เป็น"ชนกลุ่มน้อย" ที่ลักลอบหลบหนีเข้ามาตามแนวชายแดน

การดำเนินการดังกล่าว นำไปสู่ความขัดแย้งและการฟ้องร้องดำเนินคดีกันไปมา ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 11 คดี ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีทางการปกครอง

ในระหว่างการต่อสู้คดีที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ชัยวัฒน์ต้องรับมือกับปัญหาการล่าสัตว์ในพื้นที่ รวมทั้งขบวนการล่าช้างและการล่าสัตว์ป่าเพื่อเกมกีฬาโดยนายตำรวจใหญ่และพวก ทำให้งานด้านป้องกันและปราบปรามของเขาเด่นชัดขึ้น เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะโดยทั่วไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0