โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ส่องเมกะเทรนด์โลก ‘เมดิคัลฟู้ดส์’ติดลมบน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Business News

เผยแพร่ 18 ก.ย 2561 เวลา 12.16 น.

'นักวิชาการ สจล. อัพเดตเทรนด์อาหารโลก แนะจับตา 2 กลุ่มหลักคือ อาหารทางการแพทย์หรือเมดิคัลฟู้ดส์เติบโตแบบก้าวกระโดด จากมูลค่าการตลาดในไทยประมาณ 1.5 พันล้านบาท และอาหารเสริมโภชนาการสูงหรือฟังก์ชันนัลฟู้ดส์เน้นพัฒนาสูตรตอบโจทย์เฉพาะบุคคล

รศ.ประพันธ์ ปิ่นศิโรดม คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมเมดิคัลฟู้ดส์ในประเทศไทยยังมีน้อย ทั้งกระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาล และบางส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่แนวโน้มการทำตลาดมีช่องว่างที่น่าสนใจมากกว่าฟังก์ชันนัลฟู้ดส์ สังเกตได้จากจำนวนผู้เล่นที่ยังน้อยอยู่ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

อาหารทางสายยาง ตลาดใหญ่

รศ.ประพันธ์ กล่าวว่า คาดการณ์ว่าในปี 2568 เมดิคัลฟู้ดส์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยที่ต้องบริโภคทางสายยางมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของผู้ป่วยสูงอายุ ส่วนโรคที่พบมากอันดับต้นๆ ได้แก่ ความดัน เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคทางอารมณ์และจิตใจ และกลุ่มผู้ป่วยที่ขาดสารอาหาร

เมดิคัลฟู้ดส์ เป็นอาหารที่ออกแบบมาเพื่อผู้ป่วยโดยเฉพาะ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่ใช่อาหารทั่วไป มี 2 ลักษณะคือบริโภคทางปากและผ่านทางสายยางไปยังกระเพาะหรือลำไส้ ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละประเภท นอกจากนี้ยังต้องออกแบบให้เหมาะกับความสามารถในการกลืนของผู้ป่วย รวมทั้งคุณค่าทางโภชนาการให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละโรค ที่สำคัญต้องมีการประเมินจากแพทย์แล้วว่า มีความจำเป็นจะต้องบริโภคอาหารทางการแพทย์ เพื่อความเหมาะสมในแต่ละบุคคลคล้ายกับยาที่ต้องการใบสั่งจากแพทย์

กลุ่มเป้าหมายของเมดิคัลฟู้ดส์ ส่วนใหญ่จะต้องอยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือคอร์สการรักษาโดยแพทย์ เมดิคัลฟู้ดส์หรืออาหารทางการแพทย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่มักเป็นอาหารเหลวที่ใช้สายยาง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ

ดังนั้น แนวทางการออกแบบจึงต้องมีสารอาหารครบถ้วนตามที่ผู้ป่วยต้องการ ลดสารอาหารบางตัวให้เหมาะสมกับโรคของผู้ป่วย อาทิ เบาหวาน ไต การเพิ่มสารอาหารบางตัวให้เหมาะสมกับโรคของผู้ป่วย และการดัดแปลงให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดีขึ้นหรือลดลงได้ตามต้องการ

ขณะที่ฟังก์ชันนัลฟู้ดส์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1. สารที่ช่วยในการเจริญเติบโตหรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ2 .เป็นสารที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์ หรือพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น น้ำมันมะพร้าว หญ้าหวาน ซึ่งทั้ง 2กลุ่มมีทั้งจากธรรมชาติและเกิดจากการสังเคราะห์ เพื่อให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น

สูงวัย ลูกค้าเป้าหมายอาหารพิเศษ

"การวิจัยและพัฒนาฟังก์ชันนัลฟู้ดส์ ส่วนใหญ่จะเป็นการใส่สารออกฤทธิ์ เช่น วิตตามิน เกลือแร่ ไฟเบอร์ โอเมก้า ส่วนใหญ่จะอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนม นมถั่วเหลือ เบเกอรี่ ตลาดใหญ่อยู่ในประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมทั้งญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้ผลิตเมดิคัลฟู้ดส์และฟังก์ชันนัลฟู้ดส์รายใหญ่ ร่วมกันทำตลาดอย่างจริงจัง พร้อมทั้งได้กำหนดความข้นหนืดของอาหารสำหรับผู้สูงอายุตามลำดับความสามารถในการบดเคี้ยว เพื่อให้เลือกซื้อได้อย่างเหมาะสม"

ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นสำหรับเมดิคัลฟู้ดส์ ขณะที่ฟังก์ชันนัลฟู้ดส์มีความหลากหลาย ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบเครื่องดื่มเป็นหลัก อีกทั้งกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่ต้องการบริโภคอาหารเสริมที่มาจากธรรมชาติ รวมทั้งกลุ่มที่ต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับสารออกฤทธิ์ที่นำมาใช้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มมาจาก1. พืช 2. สัตว์ และ3. จุลินทรีย์ ซึ่งจะนำมาผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้มีมีคุณสมบัติตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย อาทิ บำรุงสมอง ชะลอวัย ลดริ้วรอย เพิ่มกล้ามเนื้อ ลดน้ำหนัก และทำให้สุขภาพดี เป็นต้น ผู้ประกอบการที่นำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์จะต้องศึกษารายละเอียดในการนำไปใช้ เพื่อเกิดประสิทธิภาพและประโยชน์แก่ผู้บริโภค เนื่องจากสารออกฤทธิ์แต่ละตัวมีวิธีการนำไปใช้แตกต่างกัน จึงต้องอาศัยนักวิจัยที่เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0