โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ส่องสาระ'ภาษีที่ดินใหม่' ดีเดย์เริ่มใช้-เก็บจริง'1ม.ค.63'

เดลินิวส์

อัพเดต 20 พ.ย. 2562 เวลา 03.32 น. • เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 08.33 น. • Dailynews
ส่องสาระ'ภาษีที่ดินใหม่' ดีเดย์เริ่มใช้-เก็บจริง'1ม.ค.63'
สัมภาษณ์พิเศษ “เกรียงยศ สุดลาภา” รองผู้ว่าฯ กทม. เพื่อทำความเข้าใจ “ภาษีที่ดิน” ฉบับใหม่ ก่อนดีเดย์เริ่มใช้-จัดเก็บจริง “1 ม.ค.63” โดยรัฐบาลยกเว้นหากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหลังแรก มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท  

พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ได้เริ่มบังคับใช้กฏหมายหลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษามาตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.62 แต่มีกำหนดเริ่มจัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ในวันที่ 1 ม.ค. 63 โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้แก่ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง, ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ สำหรับหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีตามกฏหมาย ได้แก่ เทศบาล, อบต., กทม., เมืองพัทยา, และ อปท.อื่น ๆ ที่มีกฏหมายจัดตั้ง 

    

นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ "ชุมชนเมือง-เดลินิวส์" ว่า พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เป็นภาษีใหม่ที่จะนำมาใช้จัดเก็บภาษี แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งประชาชนจ่ายภาษีมาทุกปี ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของตนเอง โดยรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น จะเป็นของ อปท.นั้น ๆ นำไปใช้พัฒนาท้องถิ่นของตนเองโดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐบาลส่วนกลาง 

    

โดยอัตราการจัดเก็บภาษี ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มีการแบ่งประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และที่ดินรกร้างว่างเปล่า อัตรภาษีที่ใช้จัดเก็บจะเป็นรูปแบบขั้นบันได เพิ่มขึ้นตามมูลค่าฐานภาษี ซึ่งฐานภาษีจะคิดตามมูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด ตามการประเมินของกรมธนารักษ์ โดยสิ่งปลูกสร้างในแต่ละประเภทจะมีราคาประเมินกลางที่แตกต่างกันไป โดยราคาประเมินกลางของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการปรับตามรอบบัญชี การประเมินราคาทุก 4 ปี ทั้งนี้ ประชาชนเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทการประกอบเกษตรกรรม (ม.40) และเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน (ม.41) จะได้รับการยกเว้นภาษีตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 50 ล้านบาทแรก 

    

เช่น นาย ข. มีบ้านที่ใช้อยู่อาศัยเป็นหลังหลัก โดยมีชื่อเป็นเจ้าของบ้านและมีชื่อในโฉนดที่ดิน ที่เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร นาย ข.จะได้รับยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก แต่ถ้าเกินจาก 50 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีจากส่วนเกินนั้น ต่อมา นาย ข. มีคอนโด/ห้องชุดอีก 2 หลัง อยู่ในเขตจตุจักรกับเขตสายไหม เจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีต้องตรวจสอบก่อนว่า นาย ข. ได้อยู่อาศัยที่คอนโด/ห้องชุดแบบเป็นบ้านหลังรอง หรือให้เช่า หากอยู่อาศัยเป็นแบบบ้านหลังรอง จัดเก็บภาษีในแบบบ้านบ้านหลังรองคือ นาย ข. จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.02 ต่อปี แต่ถ้าให้เช่าก็จะทำการจัดเก็บแบบอื่น ๆ คือ นาย ข. จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.03 ต่อปีของราคาประเมินจากกรมธนารักษ์ 

    

ต่อมา นาย ข. มีที่ดินอยู่ที่ จ.ศรีษะเกษ เจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษี ใน อปท.เขตที่ นาย ข. มีที่ดินอยู่ ก็จะตรวจสอบว่าที่ดินนั้นมีไว้ทำอะไร ถ้าทำเกษตรกรรมจะจัดเก็บอัตราภาษีในส่วนของเกษตรกรรม แต่ถ้าทำอื่น ๆ จัดเก็บอัตราภาษีตามแบบอื่น ๆ ต่อไป โดยเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษี จะไม่นำทรัพย์สินของ นาย ข. ที่มีอยู่ในต่างจังหวัดมารวม คิดมูลค่าการเสียภาษี รวมกับทรัพย์สินอื่นที่อยู่ใน กทม. แต่ถ้ามีบ้านหรือที่ดินหรือห้องชุดที่อยู่ใน กทม.เหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่เขตไหนจะนำมาคิดรวมกันตามตัวอย่าง

    

ในส่วนทรัพย์สินที่เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หากมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน ทางเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษี จะแจ้งข้อมูลการเสียภาษีไปยังบุคคลทั้ง 2 คนที่มีชื่อร่วมกันในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ อาทิ สามี-ภรรยา/พี่-น้อง เพื่อให้รับทราบ แต่จะทำการจัดเก็บภาษีจากเพียงคนเดียวตามที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะระบุเมื่อมาติดต่อเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษี 

    

นายเกรียงยศ กล่าวอีกว่า ในส่วน กทม. เจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ของแต่ละเขตได้ดำเนินการออกสำรวจและทำความเข้าใจกับประชาชนมาโดยตลอด แต่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการทำงาน เนื่องจากบางพื้นที่ตามเขตรอบนอก มีเพียงที่ดินว่างเปล่า ไม่สามารถระบุเจ้าของได้ หรือบ้านที่อยู่อาศัยไม่มีคนอยู่ หาเจ้าของเจอ ทำให้การสำรวจเป็นไปได้ยาก ซึ่งที่ดินและบ้านพักอาศัยในพื้นที่ทั้ง 50 เขตของ กทม.มีอยู่ประมาณ 3 ล้านกว่าแปลง สำรวจไปได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ในส่วนของอาคารชุดนั้นปัจจุบันสำรวจเกือบครบ 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือบางส่วนที่เจ้าของเป็นต่างชาติ็ได้แค่ประสานไปยังนิติบุคคลของอาคารชุดนั้น ๆ ให้ช่วยส่งเอกสารการจัดเก็บภาษีให้เจ้าของทราบ

แต่ถึงแม้จะยังสำรวจไม่ครบก็ตาม เจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้อก็ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากการส่วนที่สำรวจได้ จัดทำเป็นเอกสารส่งไปให้ไปรษณีย์ เพื่อจัดส่งเอกสารให้กับเจ้าของที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง บ้านที่พักอาศัยหรืออาคารชุดต่างๆ เพื่อทำการตรวจสอบและรับทราบว่า ตนมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ตรงตามที่สำรวจหรือไม่ และต้องจ่ายภาษีในอัตราเท่าใดหากพบว่าไม่ถูกต้องก็ยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ ภายใน 30 วันหลังจากได้รับเอกสาร ทั้งนี้ เอกสารที่จะจัดส่งทางไปรษณีย์อาจจะมีความล่าช้า หรือบางคนอาจจะไม่ได้รับ เพราะข้อมูลที่ กทม.ได้รับจากกรมที่ดิน จะมีเพียงโฉนดที่ดิน กับชื่อ แต่เลข 13 หลักกับที่อยู่ปัจจุบันและรหัสไปรษณีย์ไม่มี จึงอาจทำให้เสียเวลาในการค้นข้อมูลและอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งข้อมูลทางไปรษณีย์ได้ 

อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถตรวจสอบทรัพย์สินได้ที่สำนักงานเขตตามที่สำนักเขตติดประกาศไว้ได้ โดยประชาชนสามารถมาติดต่อเริ่มจ่ายภาษีได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป ซึ่งปไม่ต้องกังวลใจว่าจ่ายภาษีมากขึ้นกว่าเดิม เพราะรัฐบาลยกเว้นให้อยู่แล้วหากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่พักอาศัยเป็นหลังแรก มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท  แต่หากประชาชนมีความสงสัยหรือไม่เข้าใจเรื่องเกี่ยวกับการคิดอัตราภาษีใหม่ สามารถสอบถามเกี่ยวกับการเสียภาษีพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ได้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0