โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ส่องมาตรการสู้ภัยฝุ่นพิษของ 3 เมืองใหญ่

SpringNews

เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 03.11 น. • SpringNews
ส่องมาตรการสู้ภัยฝุ่นพิษของ 3 เมืองใหญ่

ช่วงเวลานี้ของปี เป็นช่วงที่หลายๆ เมืองรอบโลกต้องเผชิญกับฝุ่นพิษมากกว่าปกติ องค์การอนามัยโลกระบุค่า PM 2.5 ไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง และค่า PM 10 ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่หลายเมืองในไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับมีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานไปไม่รู้กี่เท่า เรามาดูกันว่าเมืองใหญ่เหล่านี้จัดการกับปัญหาอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะบรรเทา แล้วทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ลอนดอน

ลอนดอนผจญมลพิษทางอากาศหนักมากในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 เมื่อประชาชนทั่วไปใช้วิธีเผาถ่านเพื่อให้ความอบอุ่นในบ้าน และอุตสาหกรรมหนักในใจกลางเมืองก็ปล่อยสารเคมีขึ้นสู่อากาศ

ยิ่งอากาศหนาว คนก็ยิ่งเผาถ่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถ่านคุณภาพต่ำ ส่งผลให้มีการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์สู่อากาศมากขึ้น นอกจากนี้ สภาพอากาศแอนไทไซโคลนเหนือกรุงลอนดอนทำให้อากาศเย็นถูกกดอยู่ใต้ชั้นอากาศอุณหภูมิสูง ช่วงปี 1952 วิสัยทัศน์บนท้องถนนวิกฤติหนัก มองไปข้างหน้าได้แค่ไม่กี่เมตร คาดว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตกว่า 1 หมื่นราย

ปี 1956 สหราชอาณาจักรออกกฎหมาย “อากาศสะอาด” เป็นการกำกับดูแลทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน กำหนดพื้นที่ควบคุมควันในเมืองต่างๆ อนุญาตให้ใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ทำให้เกิดควันเท่านั้น พร้อมทั้งให้เงินอุดหนุนครัวเรือนที่เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงที่ “สะอาด” ขึ้น กฎหมายนี้ถูกใช้จนถึงปี 1968 จนคุณภาพอากาษในกรุงลอนดอนดีขึ้นมากในทศวรรษต่อมา แต่ถึงดีขึ้น คุณภาพอากาศในกรุงลอนดอนก็ยังอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ล่าสุด รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่ “Ultra Low Emission Zone” โดยจะมีการเก็บเงินคนขับที่สร้างมลพิษทางอากาศ ซึ่งเมืองลอนดอนระบุว่า ตั้งแต่บังคับใช้ระเบียบนี้ มลพิษทางอากาศลดลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม กรุงลอนดอนยังคงเป็นเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป

ปักกิ่ง

การเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมในจีน และการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น ส่งผลให้มลพิษทางอากาศสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 2014 รายงานโดยสถาบันวิทยาศาสตร์สังคมในเซี่ยงไฮ้ ระบุว่ากรุงปักกิ่งใกล้ถึงระดับที่มนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้

ปี 1998 รัฐบาลจีนเริ่มบังคับใช้กฎหมาย ปรับมาตรฐานการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลง สร้างระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก และสร้างระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น จีนใช้เวลา 2 ทศวรรษจึงเห็นผล รายงานของสหประชาชาติระบุว่า จากการเปรียบเทียบค่าฝุ่นในอากาศระหว่างปร 2013 และ 2017 พบว่ามลพิษลดลงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ และมลพิษในบริเวณโดยรอบปักกิ่งลดลง 25 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบัน ถึงแม้คุณภาพอากาศจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ปัญหามลพิษก็ยังไม่หมดไป ปักกิ่งยังคงต้องสู้กับ PM2.5 ผู้ใช่รถใช้ถนนยังคงสวมหน้ากากจนเป็นเรื่องให้เห็นเป็นปกติ ในขณะที่หลายเมืองใหญ่ของจีนยังคงมีค่ามลพิษทางอากาศสูงกว่าที่รัฐบาลกำหนด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสหประชาชาติเผยว่า มาตรการอย่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์ แรงจูงใจภาคเอกชนที่รัฐบาลเสนอ ความโปร่งใสของข้อมูล และการขยายเศรษฐกิจออกนอกเขตอุตสาหกรรม สามารถช่วยลดระดับมลพิษได้

เม็กซิโกซิตี

กรุงเม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องมลพิษทางอากาศในช่วงปี 1970 ถึง 1980 รายงานระบุว่า แค่หายใจปกติก็เหมือนกับสูบบุหรี่ 1 โหลต่อวัน รถยนต์หลายแสนคันที่แล่นบนท้องถนนผลีกดันให้ระดับมลพิษสูงมาก และเมืองยังล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้เป็นกับดักอากาศ ไม่ถ่ายเท

ปี 1989 เม็กซิโกซิตีกลายเป็นเมืองแรกของโลกที่จำกัดจำนวนการใช้รถยนต์ ลดจำนวนรถบนท้องถนนในช่วงวันจันทร์ถึงวันศุกร์ลง 20 เปอร์เซ็นต์ด้วยการกำหนดหมายเลขทะเบียนรถ ซึ่งส่งผลให้มลพิษลดลงทันที นอกจากนี้ รัฐบาลยังขยายระบบขนส่งมวลชน และเข้มงวดกวดขันรถยนต์เรื่องการปล่อยควันพิษมากขึ้น ทำให้คุณภาพอากาศในเมืองดีขึ้นหลายปีต่อมา

อย่างไรก็ตาม ก็ยังประชาชนบางส่วนที่ซื้อรถยนต์เพิ่ม เพื่อที่จะสามารถขับรถออกจากบ้านได้ทุกวัน ประกอบกับจำนวนประชากรที่มากขึ้น เขตอยู่อาศัยที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ทำให้มีคนใช้รถมากขึ้น และคนต้องเดินทางนานขึ้น ส่วนคนที่ไม่มีรถใช้ ส่วนใหญ่ต้องพึ่งการเดินทางที่ไม่ค่อยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เม็กซิโกซิตีประกาศภาวะสิ่งแวดล้อมฉุกเฉิน หลังค่า PM2.5 สูงกว่าค่ากำหนดมาตรฐานโดยองค์การอนามัยโลกถึง 6 เท่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0