โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สโมสรนิสิตจุฬาฯ ออกแถลงการณ์กรณีอุ้มหาย ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’

The Bangkok Insight

อัพเดต 07 มิ.ย. 2563 เวลา 01.50 น. • เผยแพร่ 07 มิ.ย. 2563 เวลา 01.50 น. • The Bangkok Insight
สโมสรนิสิตจุฬาฯ ออกแถลงการณ์กรณีอุ้มหาย ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ : องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์กรณีอุ้มหาย "วันเฉลิม" ขอประณามและต่อต้านการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

จากกรณีการอุ้มหายนาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากกรณีการอนุมัติหมายจับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 โดยศาลทหาร ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังปรากฏว่า บนโลกโซเชียลได้มีการติด #Saveวันเฉลิม จนกลายเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงเป็นอันดับหนึ่งอย่างรวดเร็วนั้น

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ต่อประเด็นข้างต้น ได้มีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ที่ได้ให้ความหมายของการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ “การอุ้มหาย” ว่าหมายถึง “การจับกุม การคุมขัง การลักพาตัว หรือ การลิดรอนเสรีภาพรูปแบบอื่น ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการภายใต้อำนาจหรือการสนับสนุนหรือการยอมรับจากรัฐ ตามด้วยการปฏิเสธไม่รับรู้การลิดรอนเสรีภาพดังกล่าว หรือโดยการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของผู้สูญหาย ทำให้ผู้สูญหายอยู่นอกการคุ้มกันของกฎหมาย”

อนึ่ง แม้ไทยจะมิได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคี แต่ก็ได้มีการลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวไปแล้วมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 อันถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทยที่มีความตั้งใจจริงในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครอง ตลอดจนใส่ใจต่อปัญหาการอุ้มหาย อีกทั้งตามกฎหมายภายในและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่ ได้แก่ มาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อ 3 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และข้อ 6 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) นั้น ต่างก็ได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีมาตั้งแต่กำเนิด

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

กล่าวคือ “สิทธิในชีวิต” ซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดสิทธิทั้งปวง และเป็นสิ่งที่รัฐไม่อาจปฏิเสธถึงความมีอยู่ของสิทธิดังกล่าวได้ จึงทำให้รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของประชาชนจากการละเมิดของบุคคลอื่น โดยเฉพาะหากการละเมิดนั้นตั้งอยู่บนความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนว่าเป็นการกระทำของรัฐแล้ว รัฐยิ่งจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีดังกล่าวโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำไปสู่กระบวนการเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) จึงขอประณามกรณีการอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีดังกล่าวโดยเร็ว อบจ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่าทีของรัฐบาลในครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิในชีวิต และสิทธิขั้นพื้นฐานด้านอื่น ๆ ของประชาชน อันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลต่อไป

ก่อนนี้ คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการหายตัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยประณามและต่อต้านการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "เดวิด กริฟฟิท" ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงว่า ทางการกัมพูชาต้องเร่งสืบสวนต่อข้อกล่าวหาที่ว่า วันเฉลิมถูกลักพาตัว และต้องสืบให้ทราบว่าเขาอยู่ที่ใด ส่วนทางการไทยต้องยืนยันว่าวันเฉลิมถูกจับตามคำร้องขอของตนหรือไม่

“จนกว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ ทางการกัมพูชาต้องดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วนที่สุด หากพบตัวเขา ต้องไม่ส่งตัวกลับประเทศไทย เนื่องจากเสี่ยงที่จะถูกประหัตประหาร"

อย่างไรก็ตาม หากวันเฉลิมถูกควบคุมตัวอยู่ ทางการกัมพูชาต้องยืนยันว่า เขาอยู่ในการควบคุมของทหารหรือตำรวจ หากเขาอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของรัฐ เราขอให้ทางการประกันว่า ได้มีการควบคุมตัวเขาในสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ และอนุญาตให้เขาสามารถติดต่อทนายความอิสระ เข้าถึงบริการทางการแพทย์และติดต่อครอบครัวได้ทันที

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พลเมืองไทยหายตัวไป หลังแสดงความเห็นทางการเมือง วันเฉลิมมักแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย การหายตัวไปอย่างกะทันหันของเขาในเหตุการณ์ที่รุนแรง เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่ง”

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังไล่เรียงข้อมูลพื้นฐาน จากกรณีดังกล่าวไว้ ดังนี้

"วันเฉลิม" นักกิจกรรมจากไทยในวัย 37 ปี อยู่ระหว่างลี้ภัยในกัมพูชา เพื่อนคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า เขาถูกลักพาตัวเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน หลังจากพูดคุยกับเขาทางโทรศัพท์ในเวลา 17.54 น. ช่วงที่วันเฉลิมลงมาจากห้องเพื่อซื้ออาหาร

เพื่อนของเขาบอกว่า การพูดคุยทางโทรศัพท์ยุติลงอย่างกระทันหัน โดยวันเฉลิมพูดเพียงว่า “หายใจไม่ออก” เมื่อเพื่อนโทรศัพท์ไปสอบถามที่อพาร์ทเมนท์อีก 30 นาทีต่อมา มีรายงานว่าพบกล้องวงจรปิดแสดงภาพรถยนต์เก๋งฮอนด้าไฮแลนเดอร์ ขับออกจากด้านนอกคอนโดมิเนียม โดยยังไม่ทราบว่าเขาอยู่ที่ใด

ในเฟซบุ๊กของวันเฉลิม ระบุว่า เขาอยู่ระหว่างลี้ภัยเนื่องจากสนับสนุนประชาธิปไตย ทางการไทยได้ฟ้องคดีต่อเขา ส่วนใหญ่ตั้งแต่ปี 2561 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความต่อต้านรัฐบาลในเฟซบุ๊กเพจ "กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ ๆ"

มีรายงานว่า ทางการไทยขอให้ทางการกัมพูชาส่งตัวเขาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนในขณะนั้น ทั้งยังฟ้องคดีต่อเขาเนื่องจากเขาไม่มารายงานตัวตามประกาศในปี 2557 ซึ่งนักกิจกรรมและนักการเมืองหลายคนได้รับคำสั่งให้มารายงานตัว หลังการทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น

ก่อนจะลี้ภัย วันเฉลิมทำงานเป็นเยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านเอชไอวี เป็นผู้ดูแลงานภาคสนามด้านเอชไอวีของสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

ทางการไทยได้ร้องขอมาเป็นเวลานาน ให้ประเทศเพื่อนบ้านส่งตัวนักกิจกรรมจากไทยเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลกับความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยชาวไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทางการไทยขอให้ส่งตัวกลับมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0