โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สู่ยุคที่ 2 'พิเชษฐ' ขอปั้น LINE ให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับประเทศ (Cyber Weekend)

Manager Online

เผยแพร่ 17 ส.ค. 2562 เวลา 02.24 น. • MGR Online

การที่ LINE มีช่องทางที่สามารถเข้าถึงคนไทยที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 44 ล้านรายอยู่ในมือ ทำให้ปัจจุบันแนวทางการให้บริการของ LINE หันมาเน้นในเรื่องการเพิ่มระยะเวลาที่ผู้ใช้งานอยู่บน LINE มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคที่ 2 ของ LINE

ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นยุคที่ 1 ของ LINE ภายใต้การดูแลของ 'อริยะ พนมยงค์' ที่ปลุกปั้น LINE ให้กลายมาเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการสื่อสารที่คนไทยใช้งานมากที่สุดในเวลานี้ รวมถึงการคลอดบริการอื่นๆมาเสริมทั้ง LINE MAN และ LINE TV

เมื่อมาถึง LINE ในยุคที่ 2 ที่เปลี่ยนมือมาสู่ 'พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINEประเทศไทยคนปัจจุบัน ที่วิสัยทัศน์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นแพลตฟอร์มแชทสำหรับผู้ใช้งานทุกคน ด้วยการนำประสบการณ์ในสายงานที่มีมาปรับใช้เพื่อเจาะเข้าไปยังหน่วยงานภาครัฐ เพื่อผลักดันให้ LINE กลายเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้น เพราะจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้อีกมากในยุคดิจิทัล

ชื่อของ พิเชษฐ อาจจะไม่ได้คุ้นกันมากนัก เพราะที่ผ่านมาทำงานอยู่ในฐานะเบื้องหลังที่คอยประสานงานระหว่างบริษัทเทคโนโลยี กับภาครัฐ ตั้งแต่สมัยทำงานที่ ออเร้นจ์ (ก่อนเปลี่ยนมาเป็นทรูในปัจจุบัน) ก่อนไปศึกษาต่อ และกลับมาทำงานที่ กูเกิล (ประเทศไทย) และย้ายมาดูแลฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ให้กับ LINE ประเทศไทย

***ความท้าทายเมื่อต้องดูแลภาคธุรกิจด้วย

พิเชษฐ เริ่มเล่าให้ฟังถึงการขึ้นมารับตำแหน่งในครั้งนี้ว่าเกิดขึ้นจากการที่ 'อึนจอง ลี' รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหารธุรกิจระดับโลก LINE คอร์ปอเรชั่น ที่อยู่ในช่วงหาซีอีโอมาแทนที่ อริยะ มองว่า ในการที่ไปมองคนข้างนอกเพื่อมารับตำแหน่งนี้ จริงๆมีคนข้างในที่ทำได้อยู่ เลยลองรับความท้าทายครั้งนี้ดู จากเมื่อก่อนจะรับผิดชอบในส่วนของการติดตามนโยบายต่างๆ ของภาครัฐจะส่งผลกระทบอะไรกับทางบริษัทบ้าง ทำให้เห็นว่าหลายๆอย่างที่เป็นนโยบายหรือข้อกฏหมายของไทยอาจจะยังไม่ครอบคลุม ก็จะเข้าไปพูดคุยเพื่อทำงานร่วมกัน

ทำให้ที่ผ่านมาพยายามเข้าไปคุยกับหน่วยงานภาครัฐตลอด ว่าจะออกกฏหมายอะไรขึ้นมา อย่าให้เนื้อหาในการออกกฏหมายมาทำร้ายบริษัทที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่บังคับให้บริษัทในไทยเท่านั้นที่ทำตาม แต่ถ้าเป็นบริษัทที่อยู่ต่างประเทศไม่ทำตามก็มีแต้มต่อในการทำธุรกิจทันที ขณะเดียวกัน เมื่อดูถึงเนื้องานแล้วพอเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ ก็จะต้องเข้าไปดูในส่วนของภาคธุรกิจด้วย ซึ่งถือว่าเปลี่ยนหน้าที่ไปเยอะมาก และก็กำลังอยู่ในช่วงที่ปรับตัวอยู่

แม้ว่าที่ผ่านมาประสบการณ์ 7-8 ปี ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องภาครัฐในบริษัทเทคโนโลยี ก็ทำงานควบคู่ไปกับฝ่ายธุรกิจด้วยกันอยู่แล้ว เพราะว่าจริงๆ ลูกค้าของบริษัทเทคโนโลยี แพลตฟอร์มก็มีหน่วยงานภาครัฐอยู่แล้ว เพราะในการทำผลิตภัณฑ์ หรือบริการขึ้นมาทุกอย่างต้องตอบโจทย์การใช้งานของประชาชน หลายๆอย่างก็ต้องดูความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐที่นำไปใช้งานต่อจริงๆ

***ต่อยอดจาก LINE ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มกลาง

อย่างแรกที่เริ่มคิดเลยคือการนำ LINE Official Accounts ที่ในปัจจุบันนี้ทุกคนสามารถเริ่มสร้างขึ้นมาได้ด้วยตนเอง ทำให้ LINE ต้องพัฒนาอะไรให้ผู้ใช้มากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จาก LINE ได้ อย่างโรงเรียนเอกชนทุกวันนี้ เริ่มนำ LINE ไปใช้งานเพื่อเช็กชื่อนักเรียน ยิ่งในอนาคตสามารถพัฒนาไปในเรื่องของการให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัย อย่างกรณีที่เด็กออกจากโรงเรียนให้ทำการแจ้งเตือนไปยังผู้ปกครอง ก็สามารถนำไปต่อยอดได้สารพัด

นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปทำโปรเจกต์ร่วมกับ SIIT (สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ก็มีนักศึกษานำแพลตฟอร์ม LINE ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างกลุ่มสำหรับอาจารย์ และนักศึกษาให้ใช้แจ้งข้อมูลการเรียนการสอน ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่นักศึกษาเจออยู่ในปัจจุบัน

ในจุดนี้ ถ้าสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มกลางให้ทุกมหาวิทยาลัยนำไปใช้งานได้ ก็จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยให้อาจารย์ และนักศึกษาโฟกัสอยู่กับการเรียนการสอนได้มากขึ้น หรือแม้แต่ถ้านักศึกษาไม่สะดวกในการเดินทางก็สามารถพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการศึกษาผ่าน Live จากทาง LINE ได้

เนื่องจากทุกวันนี้ การศึกษาในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะปิดโอกาสนักเรียน หรือนักศึกษาที่ไม่มีทุนทรัพย์ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้ อย่างการเรียนพิเศษในช่วงมัธยม

ดังนั้นจะดีมากถ้าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำครู อาจารย์เก่งๆ มาทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับกระทรวงศึกษาฯโดยเฉพาะในช่วง ม.4-ม.6ที่จะเก็บตกก่อนเข้ามหาวิทยาลัย มาร่วมกันสอน อย่างคณิตศาสตร์ ม.4 บทเรียนที่ 1 ให้นักเรียนที่สนใจกดเข้าไปดูผ่าน LINE ซึ่งก็พร้อมที่จะเป็นแพลตฟอร์มช่วยให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าไปดูได้

ถ้าทำตรงนี้ได้ การศึกษาจะกระจายตัวไปในวงกว้าง แล้วจะช่วยในเรื่องของบุคลากรครูที่มีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในโรงเรียนต่างจังหวัด ซึ่งทุกวันนี้สามารถเข้าถึง LINE ได้อยู่แล้ว

***หน่วยงานรัฐนำไปใช้เพื่อให้บริการประชาชน

อย่างการนำไปใช้ในเรื่องสาธารณสุข โดยยกกรณีอย่าง 'คิวรองเท้าแตะ' ในการไปต่อแถวตั้งแต่เช้ามืดเพื่อรับการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐ ที่เมื่อเข้าไปทำการสำรวจแล้ว คนไข้ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษา หรือตรวจสุขภาพต่อเนื่องจากที่เคยรักษา

ในส่วนนี้จริงๆ แล้วสามารถนำเทคโนโลยีอย่างวิดีโอคอลล์เข้าไปช่วยได้ หรือในจุดที่มีศูนย์บริการสาธารณสุข ก็ทำให้เป็นจุดให้บริการมีเภสัชกรคอยช่วยจ่ายยา แทนที่จะต้องไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งทุกอย่างสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยได้ จริงๆในระบบคิวถ้าต้องการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย LINE ที่เป็นระบบที่ง่ายผู้สูงอายุใช้งานได้ ก็เข้าสามารถเข้าไปช่วยได้อย่างการนัดหมาย หรือจองคิวล่วงหน้า ซึ่งในช่วงเริ่มต้นอาจจะต้องมีให้บริการทั้งลูกค้าออนไลน์ และออฟไลน์ไปด้วยกัน เพื่อให้ทยอยเปลี่ยนมาใช้งานคิวออนไลน์ที่สะดวกกว่า

ปัจจุบันเริ่มมีโรงพยาบาลเอกชนนำ LINE ไปใช้ในการแจ้งคิวนัดหมายเพื่อให้คนไข้กลับเข้ามารักษา และมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงการแจ้งเตือนให้ทานยา

แม้แต่เรื่องของเกษตรกร เพราะข้อดีของ LINE นอกจากคนใช้เยอะ ข้อดีอีกอย่างคือคนใช้ง่าย ถ้าหน่วยงานภาครัฐที่มีไอเดียดีๆ ก็สามารถเข้ามาคุยกันแล้วทำงานร่วมกับ LINE ได้ เป้าหมายของ LINE คือการเข้าไปช่วยให้ชีวิตประจำวันของคนง่ายขึ้นดีขึ้น

'แน่นอนว่าด้วยการที่ LINE เป็นบริษัทเอกชนทุกอย่างไม่ได้ทำให้ฟรีๆ แต่ผมเชื่อว่าการที่เรามีอินฟราสตรัคเจอร์ มีประสบการณ์ และมีเทคโนโลยี จะถูกกว่าทำเองแน่นอน'

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0