โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สูตรความสำเร็จฉบับ 'Marvel Studios' สร้างหนังยังไงให้กลายเป็นจักรวาล

The MATTER

เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 02.37 น. • Rave

จากสถิติที่ผ่านมา 70-75% ของหนังแฟรนไชส์ เวลาสร้างภาคต่อมักจะแป้กมากกว่าปัง แต่หนึ่งในค่ายที่ประสบความสำเร็จในการสร้างจักรวาลภาคต่อ และยืนระยะได้ยาวนานถึง 10 ปี คือ ‘Marvel Studios’ นับตั้งแต่ Iron Man ภาคแรกฉายเมื่อปีค.ศ. 2008 มาจนถึง Spider-Man ภาคล่าสุดที่ยังอยู่ในโรงทุกวันนี้ (2019) อะไรคือปัจจัยที่ทำให้มาร์เวลสามารถสร้างหนังที่ยังคงมีแฟนๆ ติดตามกันอย่างเหนียวแน่น?

ความสำเร็จของหนัง 22 เรื่องในเวลา 10 ปี สร้างมูลค่าให้ค่ายนี้ไปราว 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ยังไม่นับรวม Spider-Man ภาคล่าสุด) และได้รับเรตติ้งที่ดีจากคนดูเฉลี่ยถึง 84% ใน Rotten Tomatoes (ขณะที่หนังแฟรนไชส์เรื่องอื่นอยู่ที่ 68%) รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลบนเวทีต่างๆ เฉลี่ยถึง 64 ครั้งต่อเรื่อง!

Kevin Feige ผู้อำนวยการสร้างของ Marvel Studios เคยให้สัมภาษณ์ถึงเคล็ดลับความสำเร็จของ Marvel ว่าเป็นการหาจุดสมดุลระหว่าง ‘การพยายามสร้างรูปแบบใหม่ๆ’ กับ ‘การรักษาความต่อเนื่องแบบเดิมๆ’ เพื่อให้คนดูตื่นเต้นในทุกๆ ภาคต่อที่ออกมา พร้อมกับยังคงเป็นแฟนที่ติดตาม Marvel อย่างต่อเนื่อง แต่การหาจุดสมดุลนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

Harvard Business Review จึงได้รวบรวมเอาข้อมูลภาพยนตร์ของ Marvel ที่เข้าฉายก่อนปี 2018 จำนวน 20 เรื่อง ประกอบด้วย 243 บทสัมภาษณ์, 95 คลิปวิดีโอที่สัมภาษณ์โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบท, 140 รีวิวจากบรรดานักวิจารณ์ชื่อดัง, วิเคราะห์บทและสไตล์ภาพของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง, ไปจนถึงความเชื่อมโยงของนักแสดง 1,023 คนและคนทำงานเบื้องหลังอีก 25,853 ชีวิต หลังวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด HBR ก็พบว่ามี 4 ปัจจัยหลักที่สามารถอธิบายความสำเร็จของ Marvel ได้

เลือกคนไม่มีประสบการณ์ที่มีประสบการณ์

Marvel เลือกผู้กำกับที่ไม่ได้มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับหนังซูเปอร์ฮีโร่มาก่อน โดยผู้กำกับ 15 คนจากค่ายนี้ มีเพียง Joss Whedon (ผู้กำกับ The Avengers และ Avengers: Age of Ultron) คนเดียวที่เคยทำงานเกี่ยวกับหนังซูเปอร์ฮีโร่มาก่อน ที่เหลือมาจากสายอินดี้ ตลก สยองขวัญ หรือคลาสสิก เพื่อให้ผู้กำกับเหล่านั้นสร้างส่วนผสมใหม่ให้หนัง โดยปรับใช้จากประสบการณ์ของตัวเอง และนั่นทำให้ Thor: The Dark World มีโทนของ Shakespear อยู่, Ant-Man ก็จะดูเหมือนหนังแนวปล้นธนาคาร, Captain America: The Winter Soldier ก็มีความเป็นหนังสืบสวนสอบสวน ขณะที่ Guardians of the Galaxy นั้นจริงๆ มีวิธีแบบโอเปร่าอยู่

ตัวอย่างที่นักวิจารณ์พูดถึงบ่อยๆ คือ Iron Man ภาคแรก (2008) ที่จับเอาJon Favreau ผู้กำกับหนังอินดี้ ที่มีชื่อเสียงด้านการสร้างคาแรกเตอร์ที่เป็นที่จดจำและบทสนทนาที่เฉียบคมในหนัง มาพบกับ Robert Downey Jr. ที่ไม่เคยเล่นหนังแอคชั่นใหญ่มาก่อน ตอนนั้นมีนักวิจารณ์ออกมาบอกตรงกันหลายเสียงว่าน่าจะไม่รอด แต่ด้วยส่วนผสมของประสบการณ์และความขาดประสบการณ์ ทำให้เกิดความลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ

นักวิจารณ์เคยบอกว่า หนังซูเปอร์ฮีโร่ฟอร์มใหญ่ทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีเนื้อเรื่องแค่ 30 นาทีแรก จากนั้นก็เป็นการประโคมเอฟเฟ็กต์ ระเบิด หรือฉากต่อสู้ต่างๆ แต่หนังของ Marvel ไม่เป็นแบบนั้น เพราะวิธีทำงานของ Marvel Studios คือให้อิสระผู้กำกับในการทำงานมากๆ แต่ค่อนข้างควบคุมด้าน Logistics หรือการใช้ Special Effect ต่างๆ ไม่เหมือนหนังซูเปอร์ฮีโร่ทั่วไป

สร้างความต่อเนื่องจากทีมงานชุดเดิม

อย่างที่บอกว่าจุดแข็งของ Marvel คือการหาจุดสมดุลระหว่างความใหม่กับอะไรเดิมๆ จึงยังมีการใช้สตาฟผสมกันระหว่างชุดใหม่กับชุดเดิม ในหนังหนึ่งเรื่อง จะมีสตาฟทีมครีเอทีฟ 30 คน และทีมทั้งหมดอีกราว 2,500 คน  โดยจากสถิติแล้ว ทีมครีเอทีฟ ราว 25% จะเป็นคนชุดเดิม และในทีมทั้งหมดก็จะมีสตาฟเดิมอยู่ด้วย 14%  โดยสัดส่วนจะยิ่งมากขึ้น ถ้าเป็นภาคต่อของเรื่องเดียวกัน

นอกจากนี้ เรายังจะเห็นนักแสดงระดับรางวัลอย่าง Gwyneth Paltrow, Anthony Hopkins, Forest Whitaker หรือ Lupita Nyong’o ที่เล่นหนังให้ Marvel หลายต่อหลายภาค (ทั้งที่รู้กันว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่นี่เป็นของอันตรายสำหรับนักแสดงสายอาร์ต) ความสามารถในการรักษานักแสดงชุดเดิม นอกจากจะดึงดูดคนใหม่ๆ ที่มีความสามารถให้มาทำงานด้วยแล้ว ยังช่วยทำให้คนดูรู้สึกคุ้นเคย และรู้สึกว่ามีทั้งความเก่าความใหม่ผสมผสานกัน

ไม่ทำหนังซูเปอร์ฮีโร่แบบมีสูตรสำเร็จ

แม้จะมีหลายคนบอกว่า หนังซูเปอร์ฮีโร่เป็นหนังที่มี ‘สูตรสำเร็จ’ ยังไงก็ต้องมีฮีโร่ มีผู้ร้าย และมีฝ่ายที่สาม ซึ่ง Marvel Studios ก็มี แต่สิ่งที่ HBR วิเคราะห์ทั้งจากสคริปต์ องค์ประกอบ และภาพของหนัง ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วหนัง Marvel มีโทนอารมณ์มากกว่าปกติ ตัวอย่างเช่น Iron Man 2 นั้นจะมีมุกตลกเยอะ ขณะที่ Thor เน้นเรื่องไปทางเศร้าๆ ดาร์กๆ หรือใน Black Panther ก็มีการสอดแทรกเรื่องการเมืองเข้าไป

นั่นเพราะหนังของ Marvel ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับภาคก่อนก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ต่อ และยังคงอยู่ในขั้นตอนของการทดลองตลอดเวลา ที่น่าสนใจคือแฟนๆ รู้สึกตื่นเต้น และอนุญาตให้ Marvel ทดลองมาได้ตลอด

ใช้ประโยชน์จากความสงสัยของคนดู

ที่ชัดเจนคือหนังทุกเรื่องของ Marvel มีความเชื่อมโยงกัน และทิ้งปริศนาไว้ในแต่ละเรื่อง ให้คนดูได้ติดตามและสงสัยว่า “ต่อไปจะยังไงนะ” (ส่วนใหญ่จะอยู่หลัง End Credits) ซึ่งนอกจากจะทำให้คนดูอยากดูต่อแล้ว ยังเกิดการสนทนากันหลากหลายรูปแบบในโซเชียลมีเดียหลังหนังเข้าฉายในโรงแต่ละครั้ง ทั้งบทสนทนาระหว่างแฟนๆ ด้วยกันเอง และบทสนทนาระหว่างแฟนๆ กับผู้กำกับหรือนักแสดง ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การประชาสัมพันธ์ การสร้างคอมมูนิตี้อันเหนียวแน่นให้กับกลุ่มคนดูของ Marvel รวมถึงการนำเมสเสจเหล่านั้นไปคิดต่อสำหรับหนังเรื่องต่อๆ ไปด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก

hbr.org

variety.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0