โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สุวิกรม อัมระนันทน์: ฝันใหญ่ๆ ของชนเผ่าคนรุ่นใหม่ตัวเล็กๆ

a day BULLETIN

อัพเดต 21 ต.ค. 2562 เวลา 16.22 น. • เผยแพร่ 20 ต.ค. 2562 เวลา 17.58 น. • a day BULLETIN
สุวิกรม อัมระนันทน์: ฝันใหญ่ๆ ของชนเผ่าคนรุ่นใหม่ตัวเล็กๆ

ณ ช่วงเวลาที่สังคมขับเคลื่อนไปอย่างเร้าใจด้วยเรื่องราวแปลกใหม่ทั้งวิธีคิด วิถีชีวิต และการลงมือทำ ที่ถ่ายทอดผ่านคนรุ่นใหม่จนเป็นที่จับตาของคนทุกรุ่นทุกวัย โดยเฉพาะเหล่าเจเนอเรชันวายที่ยกพลมายึดหัวหาดความสำเร็จได้อย่างน่าประทับใจ ด้วยความโดดเด่นชัดเจนเรื่องเป้าหมายและตัวตน ยิ่งบวกเข้ากับเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด ทุกอย่างในทุกวันนี้จึงล้วนมีเฉดสีที่แตกต่างจากเคย

        เมื่อมีความมุ่งมั่นบวกไอเดียแปลกใหม่ จึงไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นคนอายุน้อยประมาณสามสิบเศษประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับในสาขาอาชีพต่างๆ บางคนปั้นธุรกิจไปไกลระดับแถวหน้าของประเทศ หรือก้าวไปยังเวทีโลก เช่นกันกับต้นเรื่องของเราอย่าง‘เปอร์’ - สุวิกรม อัมระนันทน์ หนึ่งคนเจนฯ วายแถวหน้าที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ณ นาทีนี้

        จากนักแสดงวัยรุ่นที่เราคุ้นเคย สู่บทบาทงานพิธีกรการันตีคุณภาพด้วยรางวัลระดับประเทศมากมาย จากรายการทอล์กโชว์เปี่ยมแรงบันดาลใจ ‘Perspective’ ที่รวบรวมบุคคลมากความสำเร็จมาบอกเล่าแนวคิดเคล็ดลับการไปถึงปลายทาง เช่นกันกับความเหมือนที่แตกต่างอย่าง ‘ยินดีที่ได้รู้จัก’ เรื่องราวความเป็นอยู่ของชาวบ้านปกติไม่ได้ร่ำรวยหรือการงานใหญ่โตมาจากไหน แต่พลังการสนทนาสร้างการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ได้เสมอ 

        ไม่ต่างกับการสนทนาระหว่างเขาและ adB ในครั้งนี้ ซึ่งเราโชคดีเหลือเกินที่สุวิกรมหาเวลาจากตารางคิวที่แน่นเอี๊ยดให้เราได้พบเขา

 

สุวิกรม อัมระนันทน์
สุวิกรม อัมระนันทน์

คนรุ่นใหม่มาแรงเหลือเกินแทบทุกวงการ โดยเฉพาะเจเนอเรชันของคุณ หลายคนเติบโตประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยมาก คุณพอจะหาเหตุผลอธิบายเราได้ไหม  

        ผมไม่รู้จักเรื่องเจนฯ เลย เพราะผมเองมีเจเนอเรชันไม่เหมือนกับชาวบ้านสักเท่าไหร่ เลยไม่ทราบว่าพฤติกรรมของเจนฯ ไหนเป็นอย่างไร แต่พอรู้ว่าตัวเราและเพื่อนในวัยใกล้เคียงกับเรามีความชอบที่เหมือนและแตกต่างกันไปบ้าง ส่วนตัวชอบมีเพื่อนที่อายุมากกว่า เรียกว่าเพื่อนคราวพ่อ อาวุโสมากที่สุด 82 ปี แต่ยังเต็มไปด้วยพลังงาน ทำงานได้ตลอด ประชุมรอบเช้ากับคนต่างชาติ เย็นมาอีกรอบกับอีกชาติอีกภาษา

        ผมชอบที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ใหญ่มาตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกันก็มีสังคมกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน เลยทำให้เรามีความหลากหลาย สามารถไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ผู้ใหญ่ท่านน่ารักใจดีมีเมตตา สนุกไปกับการใช้ชีวิตร่วมกับเรา อาจจะไม่ใช่กิจกรรม แต่จะเน้นพูดคุยสุดแท้แต่ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน

        ความต่างของวัย ผมมองว่าไม่มีอะไรต่างกันนัก ภาพรวมมนุษย์คล้ายคลึงกัน มนุษย์ทุกคนมีงาน มีความรัก และต้องการผ่อนคลาย เพียงแค่งานแต่ละคนขอบเขตไม่เท่ากัน ใหญ่เล็กต่างกันไป

        ผมมีโอกาสได้คุยกับคนที่เป็นเจ้าของกิจการใหญ่ เศรษฐีระดับทอปเท็นของประเทศ การพักผ่อนของเขาคือหลังเลิกงานได้ออกเรือยอชต์ไปกลางทะเล นั่นคือความสุข ซึ่งมองเข้าไปจากมุมของคนที่ยังไม่มีมากเท่าเขาก็อยากจะได้ แต่หารู้ไม่ว่าทั้งหมดที่เห็นต้องแลกมาด้วยการทำงานหนักแทบตายเพื่อหาเงินเป็นร้อยล้าน พันล้าน แสนล้าน เพื่อซื้อเรือออกไปหาความสุข

        ขณะเดียวกันคนทำงานโรงงานก็มีความสุขง่ายๆ เพียงเล่นหมากฮอสกับเพื่อน ความสุขมันเท่ากันนะ ไม่ต่างกัน สุขคือสุข ทุกข์คือทุกข์ ไม่จำเป็นต้องหาเงินได้มากขนาดนั้นแล้วถึงจะมีความสุข ไม่จำเป็นเลย ความสุขเกิดขึ้นได้ทุกเวลา โอกาส และสถานภาพ

        ผมมักพูดติดตลกอยู่เสมอว่า คนรวยๆ เขาอาจไม่รู้ว่าการนั่งเล่นหมากฮอสก็สนุกได้ ไม่ต้องทำงานหนักขนาดนั้นก็มีความสุขได้ แน่นอนว่าการทุ่มเททำงานหนักก็ต้องเสียสละบางเรื่องในชีวิตไป ทุกคนมีวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน เอาเวลาไปทุ่มเทกับอะไรมากก็โดดเด่น ให้เวลากับอะไรน้อยความสมบูรณ์ก็ลดลง บางคน งานประสบความสำเร็จมากแต่ไม่มีครอบครัว หรือมีครอบครัวแทบไม่เจอหน้าลูกเลย 

        ดังนั้น ขึ้นชื่อว่ามนุษย์หากนึกอิจฉาแล้วสามารถทำได้หมด ทั้งคนจนอิจฉาคนรวยในเรื่องความมั่งมี แต่รู้ไหม หลายๆ ครั้งคนรวยก็อิจฉาคนจน อยากจะมีเวลาเหลือแบบนั้นบ้าง มีหมด

ณ ปัจจุบัน มีสิ่งหนึ่งที่ผู้คนไม่ว่าสาขาอาชีพไหนมักให้ความสำคัญ นั่นคือการหาตัวตนของตัวเองให้เร็วที่สุดเพื่อจะทุ่มเทและต่อยอดอย่างสุดชีวิต คุณเองมีความคิดแบบนี้ด้วยไหม

        การที่เรามีเป้าหมายในชีวิต รู้ว่าต้องการอะไร เพื่อจะได้ทุ่มเทให้เป้าหมายนั้นบรรลุโดยเร็วเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราพูดเรื่องความสำเร็จและเห็นภาพร่ำรวยพันล้านแสนล้านเร็วๆ ทำได้ตอนอายุสามสิบต้นๆ แบบที่หลายชอบคิดกัน คำถามต่อมาคือคุณจะอยู่บนโลกนี้กี่ปี สมมติสามสิบประสบความสำเร็จมาก แล้วอีกสามสิบปีที่เหลือคิดไหมว่าจะทำอะไร จะอยู่อีกนานขนาดไหน และอยู่อย่างไร 

        อย่าลืมว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จเรื่องงาน คุณต้องสูญเสียอย่างอื่นเป็นการแลกเปลี่ยน เราเคยเห็นคนที่ประสบความสำเร็จตำแหน่งใหญ่โตตอนอายุน้อยมาก โหมงานหนัก ยอมแลกทุกอย่างแม้แต่สุขภาพ สุดท้ายก็เสียชีวิตตอนอายุ 45 วงจรชีวิตสั้นมาก อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าชีวิตมันเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ผมมีแบบที่ชอบและไม่ก้าวก่ายคนอื่น หากเขาทุ่มเทเพื่อมีชีวิตแบบนั้นอย่างที่เขาต้องการ ไม่มีใครสามารถตัดสินได้

ชีวิตที่คุณชอบเป็นแบบไหน

        แบบตอนนี้เลย ได้ทำในสิ่งที่รัก มีเวลาให้กับสิ่งที่ชอบ มีเป้าหมายในการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งมีความสนใจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้เลือกสิ่งที่ชอบที่สุดตอนนี้ ผมชอบกอล์ฟ ได้เล่นทุกวันก็เยี่ยม มีเพื่อนไปเล่นด้วยทุกวันก็พอแล้ว ส่วนงานอยากพัฒนาศักยภาพตัวเองให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นให้มากที่สุดตามความสามารถที่เรามี

ความฝันของคนช่วงอายุนี้ไม่ใช่ประสบความสำเร็จเร็ว เป็นเจ้าของกิจการแบบนั้นเหรอ คนสอนคนสร้างสตาร์ทอัพเต็มไปหมด มันเป็นวิถีไปแล้วหรือเปล่า

        ผมกลับมองว่าคนที่คิดแบบนั้นคงตั้งเป้าไปที่ความสำเร็จในชีวิต งาน หรือเงิน แต่การที่ผมทำรายการหรือตั้งบริษัทขึ้นมา ไม่ได้มองว่าอยากจะรวยประสบความสำเร็จเป็นที่ตั้ง จุดเริ่มมาจากความคิดที่ว่า หนึ่ง—ทำอย่างไรผมจะได้ทำงานในแบบที่อยากอย่างยั่งยืน ถ้าไม่มีคนจ้างจะได้ทำอยู่ไหม เลยตั้งบริษัทนี้ขึ้นเพื่อทำงานแบบนี้ สอง—คือเราคิดถึงคนอื่นว่าหากไม่มีรายการแบบเราแล้วเขาจะได้แรงบันดาลใจจากไหน จะมีโอกาสได้พูดคุยกับคนเหล่านั้น (แขกรับเชิญ) ที่ไหน เราคิดแบบนี้เป็นที่ตั้ง คงต่างจากคนอื่นที่สร้างกิจการตามที่ยกตัวอย่างมา ทั้งนี้ขอยืนยันว่า การมีหรือไม่มีบริษัทไม่ได้ทำให้ความสุขของผมลดน้อยลง งานกับชีวิตมันคนละเรื่องกัน

แล้วคุณเองหาตัวตนพบ รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรเมื่อไหร่

        ย้อนกลับไปอายุ 17-18 ผมไม่รู้หรอกว่าอยากทำอะไร คิดแค่ทำงานที่มั่นคงเพื่อมีรายได้มาดูแลตัวเองและคนรอบข้าง แต่ไหนแต่ไรผมชอบดูแลคนอื่น ไม่ชอบเป็นภาระหรือตัวถ่วง แม้ตอนนี้จะมีเพื่อนอายุต่างกันมาก รุ่นอายุ 70-80 แต่ผมก็ไม่ชอบให้เขามาดูแล ยินดีเป็นฝ่ายดูแลช่วยเหลือเขา

        หลายคนชอบคิดว่าอยากมีคนมาดูแลคอยสนับสนุน แต่ผมมองว่าชีวิตจะมีค่ามีศักดิ์ศรีหากเราสามารถช่วยเหลือเจือจุนคนอื่นๆ ได้ ยกตัวอย่างเวลาทำงาน ผมต้องมีคุณค่าต่อองค์กรมากกว่าเงินที่เขาจ้างเรา ผมถามเสมอว่าทำไมถึงจ้างผม ผมมีคุณค่าอะไร คุณให้ค่าจ้างเยอะขนาดนี้ผมต้องตอบแทนด้วยอะไร แล้วผมทำได้ไหม หากไม่ ก็ไม่ทำ ที่ถามเพื่อให้เราภูมิใจในตัวเอง 

        เมื่อเราเป็นผู้ให้ เราจะเดินต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องระมัดระวัง แต่ถ้าเป็นฝ่ายขอ เราจะระแวงตลอด ถ้าเขาไม่ให้จะอยู่ยังไง เราต้องอยู่ได้สิ แต่ถ้าวันหนึ่งไม่มีพ่อแม่ จะอยู่ยังไง วันหนึ่งไม่มีสปอนเซอร์จะอยู่ได้อย่างไรด้วยตัวของเรา ดังนั้น ในวันที่ยังพึ่งพากันก็ต้องเรียนรู้ที่จะดูแลผู้มีพระคุณเหล่านี้จนไปถึงวันที่ไม่มีเขา

 

สุวิกรม อัมระนันทน์
สุวิกรม อัมระนันทน์

หลายคนกลัวการลงมือทำตั้งแต่อายุน้อยๆ โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจ ส่วนตัวคุณเจออุปสรรคมากน้อยขนาดไหนในช่วงตั้งไข่

        อย่างแรกผมไม่ได้เจริญเติบโตรวดเร็วกว่าใคร แค่โชคดีที่เริ่มทำงานก่อนคนอื่น ผมเริ่มงานตอนอายุ 17 ปี ใช้เวลา 10 ปีกว่าจะเปิดบริษัทได้ ดังนั้น ถ้าคุณเริ่มงานอายุ 23 พอ 33  ก็อาจเป็นเจ้าของธุรกิจได้ ตอนอายุ 18 ผมเริ่มมีเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจระดับประเทศบางคน เวลาผ่านไปพวกเขาก็เติบโตขยับขยายขึ้น จนตอนนี้ผมเองมีโอกาสเจอนักธุรกิจระดับประเทศ ระดับโลกมากขึ้น ทั้งไทยและต่างชาติ โอกาสที่จะเติบโตก็มากขึ้น ซึ่งคนอื่นๆ อาจพบโอกาสแบบนี้ตอน 40-50 เหมือนจังหวะของชีวิต เพียงแค่ผมได้ทำก่อนคนอื่น มีโอกาสก่อนเท่านั้น แต่สิ่งที่คุณจะถามต่อไปก็คือ ทำไมโอกาสมาแล้วผมถึงคว้าได้ มันเป็นเรื่องของการฝึกฝนใส่ใจในสิ่งที่คนอื่นๆ มองข้าม ขัดเกลาจนพร้อมก่อนคนอื่น

        โอกาสมีสำหรับทุกคน เพียงแต่คุณมองเห็นหรือเปล่า ส่วนหนึ่งบางเรื่องหาคำตอบไม่ได้ อาจมีคนข้างบนเขาขีดไว้แล้ว แต่เชื่อเถอะว่าการสนใจและใส่ใจรอบด้านเป็นสิ่งที่ดี เพราะเราไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายจะได้ใช้ไหม แต่เวลาจะใช้จะได้พร้อม อยากเป็นอะไร สนใจอะไร ก็ต้องพยายามเข้าใกล้สิ่งนั้นให้มากที่สุด เรียนรู้ input เข้าไปให้มากที่สุดเพื่อความชำนาญ

        เราไม่รู้เลยว่าโอกาสจะมาเมื่อไหร่ เหมือนตอนเด็กๆ ไม่รู้หรอกเรียนไปทำไมวะ วิชานั้น วิชานี้ จนโตมาเราได้เอาทักษะจากที่เรียนจากที่ฝึกมาใช้ถึงได้รู้ว่ามันมีประโยชน์นะ เช่นกันกับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คอย input เตรียมพร้อมไว้ให้อย่างดีทั้งการศึกษา มารยาท  กาลเทศะ ทัศนคติการดำเนินชีวิต ทุกอย่างมันกำลังออกดอกออกผลในทุกช่วงชีวิตที่เป็นอยู่

        คนเรามักตั้งเป้าผิดกับชีวิต ชอบวัดความสำเร็จจากเงินในบัญชี ซึ่งผมไม่ได้วัดจากตรงนั้นไง สำหรับผม คนประสบความสำเร็จคือคนที่มีความสุขในการใช้ชีวิต ตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่าจะทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แม้มันจะไม่มีประโยชน์กับใคร แต่ถ้ามันสร้างความสุขในชีวิตเขาได้ก็พอแล้ว 

        ผมพูดเสมอ คนที่ค้นพบตัวตนคือคนที่รู้ว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร ทำไปเพื่อใคร แค่นั้นเอง ผมเองก็คิดแบบนี้ แต่ขอยืนยันการลงมือทำแล้วสำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่ใช่ตัววัดว่าผมจะมีความสุขไหม ไม่ได้ยึดติดกับตัววัดอะไรก็ตามที่จะเป็นข้อแม้ของความสุขหรือความทุกข์

        เมื่อก่อนอาจจะคิด จนวันหนึ่งได้เรียนรู้ มีโอกาสได้ฟังท่านอาจารย์ชยสาโร แล้วเราเข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงเป็นเช่นไร ความสุขที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องทำงานที่เรารัก ไม่ต้องอยู่กับคนที่เรารัก ไม่ต้องอยู่ในสถานะแบบที่เราอยากเป็น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไปตั้งข้อแม้ว่าชีวิตจะมีความสุขเมื่อมี 1 2 3 4  5 คำถามที่ตามมาคือ หากชีวิตไม่เคยมีโอกาสไปถึงจุดที่ตั้งใจเลยล่ะ ชีวิตจะไม่มีความสุขเลยเหรอ ต้องมีเงินสิบล้าน แล้วถ้าไม่ได้ล่ะ ชีวิตนี้ต้องแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้เท่านั้น แล้วถ้าเขาไม่รักเราล่ะจะมีความสุขไม่ได้เลยเหรอ มันไม่จำเป็นจะต้องมีตัวการใดก็ตามมามีผลหรืออิทธิพลต่อความสุขของเรา 

        สำหรับผมแล้ว ความสุขกับการใช้ชีวิตคนละเรื่องกัน ทั้งนี้อย่าไปตีความว่าผมไม่ตั้งเป้าหมายนะ 

ปกติคนเราตั้งเป้าก็ต้องหวังผล มีความคาดหวังว่าจะบรรลุเป้าหมาย มนุษย์ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อสิ่งนี้ไม่ใช่เหรอ

        ตั้งเป้าแต่ไม่ยึดติดกับเป้า ตั้งเป้าเพื่อที่เราจะได้รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร แต่ไม่ยึดติดกับผลลัพธ์ เพียงพยายามทำเพื่อเป้าหมาย แม้จะยังไปไม่ถึง แต่ก็พยายามทำต่อ และต้องเข้าใจว่าขณะพยายามนั้นไม่ใช่ทุกข์นะ

        คนชอบเอาหลายๆ เรื่องมาปนกันหมดในชีวิต จนเท่ากับทุกข์ สุขต้องรวย ไม่ใช่ มันคนละเรื่อง เอามาปนกันไม่ได้ ทำแบบนี้ดีทำแบบนั้นเลว ทำเร็วชุ่ย ช้าประณีต ไม่ใช่แล้ว นั่นเพราะ perception ของคนชอบเอาสิ่งที่ตนเข้าใจไปตีกรอบคนอื่น อย่าไปทำแบบนั้น อย่าเอา perception คนอื่นมาตีกรอบชีวิตคุณ

        เราสามารถสร้างกฎ สร้างวิถีชีวิตของตัวเองได้ มีวัฒนธรรมของตัวเราเองได้ เพราะทั้งหมดเป็นสิ่งสมมติ ใครบอกล่ะว่าตากล้องต้องแต่ตัวแบบนี้ นักสัมภาษณ์ต้องแต่งแบบนี้ ใครบอกคุณว่าคนกวาดถนนต้องมีค่าตอบแทนน้อย ถ้าคุณสร้างเรื่องราว มีสตอรีที่น่าสนใจก็สามารถมีค่าตอบแทนที่มากขึ้นได้ อย่าปล่อยให้สิ่งไหนมาเป็นตัวกำหนดเรา ตัวเรากำหนดเองได้

สิ่งที่คุณเชื่อนั้นน่าสนใจ แต่ในความเป็นจริงการง้างความเชื่ออะไรสักอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ โดยเฉพาะในสังคมบ้านเรา แค่แสดงความเชื่อของตัวเราเองที่ต่างจากคนอื่นยังยากเลย

        (พยักหน้า) ก่อนที่สังคมจะเชื่อสิ่งที่เรากำหนด หรือสิ่งที่เราเป็น มันขึ้นอยู่กับว่าเราอุทิศกับสิ่งนั้น ทำให้เขาเชื่อมากขนาดไหน ตัวอย่างมีมากมาย ยาจกที่ไม่มีเงินสักบาทอย่าง อาจารย์ไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก กลับมีคนศรัทธาเขามากเหลือเกิน เพราะเขาอุทิศให้แก่สิ่งที่เชื่อมากมาย ไม่ต่างกันกับหลักศาสนา หลักวัฒนธรรม ไม่อย่างนั้นลองคิดกันลึกๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเชื่อไปตามคุณค่าของบริบทนั้นๆ คุณต้องใส่เสื้อผ้าแบรนด์นี้ ต้องแต่งตัวแบบนั้น เพื่อเป็นสไตล์บ่งบอกว่าเป็นแบบโน้นแบบนี้  คำถามคือใครได้ประโยชน์จากความเชื่อนี้ เชื่อว่าโทรศัพท์มือถือดีกว่าโทรศัพท์บ้าน ใครได้ประโยชน์ คนขายมือถือใช่ไหม เมื่อไหร่ที่คุณเชื่อว่าข้าวญี่ปุ่นอร่อยกว่าข้าวไทย ใครได้ประโยชน์ ก็คนที่เอาความเชื่อนี้มาบอกคุณใช่ไหม ทุกอย่างเป็นแบบนั้นหมด

        ผมจึงพยายามเป็นไท เป็นอิสระ ไม่หลงตกเป็นทาสกับวัฒนธรรมใด แน่นอน รอบข้างต่างมีอิทธิพลต่อความคิด แต่ผมจะไม่ตกเป็นทาสเรื่องแบบนั้น เพราะผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้กับทุกคน ทุกคนมีสิทธิ์จะแตกต่าง มีสิทธิ์เชื่อในความคิดของตัวเอง สามารถเป็นเจ้าของลัทธิออกแบบความเชื่อของตัวเองได้ ต่อให้เราศรัทธากับความเชื่อของใคร แล้วมีคนมาต่อต้านกับสิ่งนั้น ผมต้องโกรธคนที่มาต้านเหรอ ไม่ใช่นะ คนเรามันต่างกันได้ คุณเห็นต่างจากผมได้เลย และผมก็เคารพในสิ่งนั้น ไม่ไปต่อว่าว่าคุณไม่ดี โง่ ดักดาน ใช้ไม่ได้ ก็มันชีวิตคุณ

ฟังแล้วเหมือนเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามเรียกร้องให้เกิดขึ้นในสังคม แล้วถ้ามีคนคิดแบบคุณมากขึ้นเรื่อยๆ สังคมจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน

        จริงๆ คนเราเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว เพียงแค่เราไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ชอบคิดว่าทุกคนต้องเหมือนกัน ไม่ใช่ครับ มนุษย์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สิ่งเดียวที่มนุษย์มีเหมือนกันนั่นคือความแตกต่าง เมื่อใดก็ตามที่เราเหมือนกัน คิดแบบเดียวกัน ทำแบบเดียวกัน กินเวลาเดียวกัน นั่นคือเครื่องจักร

        คนชอบเหมารวมว่าต้องมีทัศนคติต่ออย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะคนชอบตัดสินคนอื่นด้วยมุมมองของตัวเอง เหมือนแก้วกาแฟบนโต๊ะนี้ ให้วาดภาพจากมุมที่ผมนั่งก็จะเป็นแก้วเปล่าที่มีกาแฟ กับหยดน้ำ แต่ถ้าจากมุมมองคุณ มันอาจจะเป็นแก้วที่มีกาแฟหยดน้ำแล้วก็ยี่ห้อ เพราะมุมที่นั่งทำให้เห็นแบบนั้น ทั้งที่เป็นแก้วใบเดียวกันนะ แต่ไม่เหมือนกัน เพราะเห็นจากคนละมุม หากสลับที่นั่งกันอาจจะเห็นตรงกันก็ได้ใช่ไหม เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่คนไม่เข้าใจ แล้วพานทะเลาะกัน

        ทำไมไม่คิดล่ะว่าเขาเห็นไม่เหมือนคุณ เพราะมองจากคนละมุมไง อยากให้เห็นเหมือนคุณก็ชวนเขามาให้เห็นให้เข้าใจจากจุดที่คุณเป็น เมื่อไหร่ที่ทำให้เชื่อได้พิสูจน์ได้ คุณค่าในตัวคุณจะเกิดขึ้นทันที พอไม่เข้าใจก็ดันถอดใจต่อต้านตัดพ้อท้อชีวิต

 

สุวิกรม อัมระนันทน์
สุวิกรม อัมระนันทน์

คำว่าอุทิศ พิสูจน์ให้คนอื่นเชื่อให้ได้ มันก็คือ ‘การทำงานหนัก’ เพื่อไปให้ทะลุเป้าหมายไม่ใช่เหรอ คำนี้เข้าข่ายตามที่คุณยกตัวอย่างไหม 

        หลายครั้งที่เราพ่นสิ่งที่เป็นเพียงแค่ความคิด เป็นแค่ทัศนคติของเราออกไป แล้วหลายคนมองว่ามัน ‘เพ้อเจ้อ’ และยิ่งเราลงมือทำในสิ่งที่เขามองว่าเพ้อเจ้อ โดยที่ยังไม่เห็นเป็นผลสำเร็จ คนก็จะมองต่อไปอีกว่าไอ้นี่มัน ‘บ้า’ จนเวลาผ่านไปเรายังเพียรพยายามจนเกิดผลผลิตออกมา มันก็จะมีคนเริ่มเข้าใจเองว่า อ๋อ ที่มันเพ้อเจ้อ มันบ้า เพราะต้องการสิ่งนี้ไง จากความดูถูกจะกลายเป็น ‘ความเชื่อ’ ทันที และยิ่งนานไปสิ่งที่คุณทำ พิสูจน์ได้ว่าส่งผลดีอยางที่คุณพูดไว้แต่แรก ความ ‘ศรัทธา’ ก็จะตามมา ทุกคนเป็นแบบนี้หมด

        กาลิเลโอบอกว่าโลกนี้มันกลม ขณะที่ทุกคนบอกว่าแบน กาลิเลโอถูกมองว่าบ้า จนมาถึงวันที่เขาพิสูจน์ได้ตามที่เชื่อ คำว่าบ้าก็ไม่มีจริง ดังนั้น ผมไม่เคยดูถูกคนที่เพ้อเจ้อหรือบ้า แต่จะดูถูกคนที่เพ้อเจ้อแต่ไม่ทำอะไร พูดแล้วไม่ทำ ปล่อยให้เป็นเรื่องโม้ คุณโม้ได้นะ เพ้อเจ้อก็ได้ แต่ต้องลงมือทำพิสูจน์ได้จริง คนไม่ให้ค่ากับเรื่องเพ้อเจ้อที่คุณโม้แต่จะให้ค่ากับผลลัพธ์ พูดอย่างทำอย่างไม่มีใครเคารพหรือเชื่อคุณหรอก แต่ถ้าคุณพูดแล้วทำอย่างที่พูด คนจะเริ่มเชื่อคุณ เมื่อผลลัพธ์ออกมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นไปตามที่พูด คนจึงจะเริ่มให้ความศรัทธา

        ยกตัวอย่างไม่ต้องไกล ตัวผมเองนี่แหละ คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ทำงานในวงการบันเทิงเลย ตลอด 7-8 ปีแรก ท่านอยากให้ทำอาชีพที่มั่นคงเหมือนชาวบ้าน ตลอดชีวิตไม่เคยได้รับคำชมจากท่าน อาจเป็นเพราะท่านไม่เห็นว่าเรากำลังทำอะไรจนมาถึงช่วงที่เราเริ่มก่อตั้งบริษัทเองได้ ทัศนคติที่มีต่อเราก็เปลี่ยนไป ไม่ได้เตือนให้เปลี่ยนไปหาสิ่งที่มั่นคง กลายเป็นเตือนว่าจะรักษาสภาพหรือต่อยอดต่อไปอย่างไร นั่นเพราะท่านรู้สึกว่าเราทำได้ดี จนกระทั่งได้รางวัลระดับประเทศซ้ำแล้วซ้ำอีก มันเป็นการยืนยันและตอกย้ำว่าสิ่งที่ทำนั้นทำได้ดีกว่าคนอื่น คิดดูสินี่ขนาดคนใกล้ตัวที่สุดที่น่าจะเชื่อเรา ยังไม่เชื่อเลยเพราะตัวเราไม่เคยพิสูจน์อะไรให้ท่านเห็น ไม่มีผลลัพธ์อะไรมาพิสูจน์

        ดังนั้น การที่คุณลงมือทำอะไรแล้วยังไม่สำเร็จและมีคนไม่เข้าใจ มีคำดูถูก เป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และคุณก็ไม่ต้องไปสนใจอะไร ก็มันยังไม่สำเร็จไง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่สำเร็จแล้ว คนจะเข้าใจเอง

        ตลอดเวลาที่ทำงานมา 13 ปี ผ่านผู้คนที่เวียนว่าย มีโอกาสได้คุยกันเป็นหมื่นๆ คนที่เขารู้จักเราแล้วก็ไม่ค่อยมีคำถามในตัวเรา เรื่องแบบนั้นลดลง ขณะที่คนใหม่ๆ ที่พบเจอก็ยังมีข้อสงสัยในตัวผม เป็นเรื่องธรรมดา ไม่แปลกเลยที่มีคนแปลกหน้าที่ไม่เคยพบกันจะไม่ชอบหน้าหรือหมั่นไส้อะไรในตัวผม ก็เขาไม่รู้จักไง ที่สำคัญ ผมไม่จำเป็นต้องอธิบายด้วย แต่เมื่อนานไป ได้คุ้นเคยกัน ก็จะเข้าใจความเป็นตัวตนมากขึ้น หรือถ้าอยากรู้จักกันจริงผมยินดีต้อนรับ ‘ยินดีที่ได้รู้จัก’ มาสิ มาทำความเข้าใจ มาใช้ชีวิตร่วมกัน

คุณประสบความสำเร็จได้ความศรัทธาที่ว่าแล้วหรือยัง

        ผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ ไม่ได้พูดเพราะถ่อมตัวด้วยยังมีเรื่องต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา ฟังแล้วเหมือนไม่รู้จักพอ แต่ไม่ใช่ นี่คือความรู้สึกที่ไม่อยากหยุดที่จะเรียนรู้เป็นความรู้สึกยิ่งรู้เหมือนยิ่งไม่รู้ ยิ่งรู้ยิ่งไม่เข้าใจ พอลงรายละเอียดในสิ่งที่คิดว่ารู้แล้วกลับเจอแต่เรื่องที่ยังรู้ไม่หมด ดังนั้น ต้องเดินหน้าต่อไป 

คุณมีโอกาสดีมากที่ได้สนทนากับผู้คนหลากหลาย ทั้งที่ประสบความสำเร็จ มีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่แล้วใน Perspective หรือแม้แต่กลุ่มคนที่คุณไม่รู้จักมาก่อนซึ่งเป็นชาวบ้านเดินตามถนนอยู่ร่วมสังคมกับเราเช่นในรายการ ยินดีที่ได้รู้จัก ความสนุกมันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

        ผมเป็นคนขวนขวาย สนใจจะคุยกับผู้คนตลอดเวลา มีเพื่อนหลากหลายเพศ วัย สาขาอาชีพ ซึ่งคนอื่นเขาไม่มีโอกาสเหมือนผม เพราะยังไม่รู้ว่าวิธีการที่เข้าไปคุยกับคนเหล่านั้นต้องทำอย่างไร Perspective เป็นการพุดคุยกับผู้คนหลากหลายที่ประสบความสำเร็จ มีมุมมองน่าสนใจ เป็นที่รู้จัก เหมาะจะนำไปเผยแพร่ต่อ ต่างจาก ยินดีที่ได้รู้จัก จะเป็นคนที่ผมไม่รู้จักทั้งสิ้นเลย แต่อยากรู้ว่ามุมของเขาที่มี 24 ชั่วโมง เป็นอย่างไร และค้นพบว่าเขาใช้ชีวิตไปกับอะไร หลายสิ่งที่เห็นเป็นเรื่องใหม่มาก ซึ่งส่วนตัวไม่เคยสัมผัสมาก่อน ได้เห็นว่าคนที่มีเงินเดือนสองหมื่นบาท เขาบริหารจัดการอย่างไรให้ทั้งครอบครัวใช้จ่ายพอแล้วต้องเหลือเก็บ รายการนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาของคนไม่มีที่ทำกิน ว่าเขาอยู่กันอย่างไร ยาเสพติดมันเข้าไปในทุกพื้นที่ สร้างปัญหาต่อชุมชนแบบไหน ถือเป็นการเปิดโลกอีกครั้งและเข้าถึงคนได้มากขึ้น 

ภาพใน ยินดีที่ได้รู้จัก รวมทั้งคอนเซ็ปต์ที่คุณเล่า คล้ายๆ สุวิกรมกำลังออกพบประชาชน 

        ไม่คิดอะไรไปถึงตรงนั้น ผมแค่เป็นสื่อกลางให้คนได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใครไม่ว่าจะรากหญ้าหรือคนรวย คุณเข้าใจพวกเขาจริงๆ หรือยังว่าบริบทที่เป็นอยู่และความคิดพวกเขาเป็นเช่นไร เราอยากให้ผู้บริหารบ้านเมืองได้เห็นว่านโยบายต่างๆ ที่เขาออกมา จริงๆ แล้วมันตรงกับที่คนส่วนหนึ่งของประเทศต้องการจริงไหม  

 

สุวิกรม อัมระนันทน์
สุวิกรม อัมระนันทน์

แล้วในเรื่องพลังงานบวก ความสุขที่ได้ในการสนทนาจากกลุ่มคนที่โปรไฟล์ต่างกันมีความคล้ายคลึงบ้างไหม 

        ความสุขที่ได้จากการทำงานคือเวลาที่ได้ยินอะไรก็ตาม แล้วทำให้ผมรู้สึกรู้กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการได้คุยกับคนที่ประสบความสำเร็จแล้วได้มุมมองใหม่ๆ ก็เป็นสุข หรือคนที่ใครต่อใครมองว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จแต่เขาทำให้เราได้เห็นว่าของสิ่งหนึ่งมีคุณค่ามากกว่าที่คิด นั่นก็เป็นความสุขเช่นกัน ช่วงที่เข้าไปดูงานในห้องตัดต่อก็มีความสุข ถ้าคนได้ฟังเรื่องนี้คงได้ฉุกคิดอะไรบางอย่าง  

        Perspective และ ยินดีที่ได้รู้จัก มีความเชื่อเดียวกัน นั่นคือมนุษย์ทุกคนมีความเหมือนที่แตกต่าง เพราะสังคมเรามีการตัดสินกันมากเกินไป ตัดสินไปแล้วว่ารากหญ้าคิดแบบนี้ เป็นเสื้อแดง ขุนนางต้องเป็นเสื้อเหลือง แต่คุณรู้ไหมว่าพวกเขาเจออะไรมาบ้าง ทั้งประเทศคุณรู้จักกี่คน แต่จะไปตัดสินว่าใครเป็นอย่างไร ทำไมไม่คิดตามว่าบริบทหรือปัจจัยอะไรทำให้พวกเขาเป็นแบบนั้น

        ประเทศไทยมีคนมากกว่า 70 ล้านคน คุณรู้จักพวกเขาจริงๆ กี่คน ประเทศมันใหญ่ หรือจะลดลงมาเหลือแค่จังหวัดอย่างกรุงเทพฯ ที่มีสิบล้านคนก็ได้ คุณรู้จักกี่คน ถ้าจังหวัดใหญ่ไปอีก เหลือเขต เหลือหมู่บ้านที่คุณอยู่ ซอยที่คุณอาศัย ในคอนโดฯ หอพักล่ะ หลายคนคงตอบได้ว่ารู้จักไม่หมด หากเป็นอย่างนั้นผมถามคุณกลับว่า คุณมีสิทธิ์ไปตัดสินใจแทนพวกเขาทั้งที่ยังรู้จักกันไม่ดีพอเหรอ 

บทเรียนที่คุณได้จากการสนทนาคืออะไร

        ผมเรียนรู้ว่า เราไม่ต้องนิยามความสุขของเราว่าต้องขึ้นกับสิ่งใด เรื่องนี้มันทำให้ผมเบาลงมาก จนถึงขั้นที่ว่าไม่มีปัจจัยใดในโลกนี้ที่จะทำให้ผมมีความทุกข์ แม้จะมีบางครั้งที่ทุกข์แวบขึ้นมาบ้าง ผมจะนึกถึงคำนี้ อย่าให้เรื่องอะไรก็แล้วมามีปัจจัยให้เรามีความสุข 

        พระอาจารย์ชยสาโร ท่านเป็นผู้เบิกเนตรให้ผมเข้าใจเมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสสนทนา ด้วยคำถามง่ายๆ จากแฟนรายการที่ฝากถามท่าน นั่นคือ ‘ความสุขที่แท้จริงคืออะไร’ ท่านตอบว่า ความสุขที่แท้จริงต้องเป็นความสุขที่ไม่ขึ้นกับสิ่งใด ทีแรกก็งง หมายความว่าอย่างไร ใช่การทำในสิ่งที่เรารักใช่ไหม

        ท่านบอกว่า ทำในสิ่งที่รักนั่นคือความสุขแต่ไม่ใช่สุขที่แท้จริง เพราะหากวันใดไม่ได้ทำในสิ่งที่รัก ก็ไม่มีความสุขสิ ดังนั้น ความสุขที่แท้จริงต้องไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งใด  ไม่เอาความสุขของเราไปแขวนกับเรื่องไหน คนจะรักและชื่นชมเราหรือไม่ล้วนไม่ใช่ปัจจัยทั้งสิ้น สิ่งสำคัญคือเมื่อสถานการณ์นั้นๆ มาถึง เช่น ไม่ได้ทำในสิ่งที่รักแล้ว บริษัทเจ๊ง เรายังจะทำได้ตามที่พูดไหม

        เหมือนที่หลายคนคงรู้สึกว่า ใช่สิ มึงก็พูดได้มึงรวยแล้ว ใช่สิ มึงพูดได้เพราะประสบความสำเร็จแล้ว แน่นอน คำพูดแบบนี้ก็จะเป็นบททดสอบว่า ความสุขยังจะมีอยู่ไหมหากวันหนึ่งเรื่องแบบนี้มาถึง แค่ตอบคำถามแบบนี้ให้ได้ในชีวิตก็เท่านั้น  

 

FYI: Who’s Generation Y?

        การแบ่งคนตามยุคสมัยมีหลายสำนักทำออกมามากมาย เจเนอเรชันวายก็เช่นกัน โดยสรุปได้ดังนี้ ผู้ที่เกิดในยุคที่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต มีการระบุปีเกิดของคนรุ่นนี้หลากหลายมาก แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ระบุว่า เกิดระหว่าง พ.ศ. 2524-2543  

        เป็นคนที่ชอบเทคโนโลยี ชอบความเร็ว ทันทีทันใด ไม่ชอบรอนาน ชอบสีสันสดใส บรรยากาศสนุกสนาน ชอบให้เอาอกเอาใจ มีลักษณะการใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ ไม่ชื่นชอบความเป็นทางการ มองโลกในแง่ดี มองทุกอย่างแบบสดใส มีความคิดเป็นของตนเอง รักอิสระ ชอบทำงานคนเดียว มุ่งเน้นผลสำเร็จ ในบางครั้งคนที่โตกว่าอาจไม่เข้าใจถึงความคิดและพฤติกรรมบางอย่าง พวกเขามักไม่อยากทำงานประจำ ไม่อยากมีชีวิตทำงานหนักแบบพ่อแม่ แต่อยากทำตามความฝัน ทำสตาร์ทอัพ หรือเริ่มบริษัทตัวเอง

 

ขอขอบคุณสถานที่ Onion

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0