โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สุดยอด! โครงการแห่งปี “ต้านมลพิษ พิชิตโลกสวย” กับโตโยต้า

Manager Online

อัพเดต 25 พ.ค. 2562 เวลา 03.09 น. • เผยแพร่ 25 พ.ค. 2562 เวลา 03.09 น. • MGR Online

จากปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อประชากรในทุกพื้นที่ทั่วโลก สาเหตุหลักส่วนใหญ่ ล้วนเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์แทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ จึงถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันในการปกป้องโลกนี้ให้หลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าว

หนึ่งในโครงการที่มีส่วนร่วมผลักดันให้เยาวชนและชุมชน เกิดจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 14 ปี นั่นคือ โครงการ “โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” ที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้ โครงการของกลุ่มเยาวชนและผู้นำชุมชนทั้ง 7 โครงการที่คว้าชัยชนะ ล้วนน่าสนใจและมีส่วนในการร่วมลดภาวะโลกร้อนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนอีกด้วย

โครงการแรก “Eco ตโปทาราม ตามศาสตร์พระราชา ลดภาวะโลกร้อน” โดยโรงเรียนวัดตโปทาราม จ.ชลบุรี” จากปัญหาสภาพอากาศแปรปวน ปัญหาขยะและมลพิษจากยานพาหนะ รวมถึงการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง

จึงเกิดแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ร.9 มาประยุกต์ใช้สำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่น การใช้ถุงผ้า ปิ่นโตและกล่องข้าว แทนถุงพลาสติก, การนำขยะอันตรายแลกรางวัลสอยดาว, การกินผลไม้ตามฤดูกาล แทนขนมกรุกรอบ, การจัดกิจกรรม Walk Rally ทำ QR Code ติดต้นไม้ และการจัดกิจกรรม Bike for Eco ปั่นรักษ์โลก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังจัดทำ MOU ให้ความรู้กับ 3 โรงเรียนใกล้เคียง และเพื่อหลักสูตรวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาให้กับนักเรียนอีกด้วย

โครงการที่ 2 “น้ำมินร่วมใจลดเมืองร้อนด้วยมือเรา” จากโรงเรียนบ้านน้ำมิน จ.พะเยา จุดเริ่มต้นเกิดจากปัญหาในการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ เช่น การเผาวัชพืช การใช้โรงเรียน จึงต้องการปลูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชน ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อการลดภาวะโลกร้อน เช่น การให้ร้านค้าใช้ใบตองใส่ขนม, การนำถุงมาสานเป็นเสื่อรองนั่ง รวมทั้งการจัดตั้งธนาคารขยะ การใช้ถ่ายไฟฉายที่ชาร์ตได้ เป็นต้น

ส่วนกิจกรรมด้านพลังงาน ได้มีการจัดทำแผ่นป้ายติดตามจุดต่างๆแทนการใช้ไฟ, การใช้ครกกระเดื่องตำกระดาษเพื่อทำเปเปอร์มาเช่ หรือการใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตเองกับรถอีแตน นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ด้วยการติดป้ายเตือน, การใช้แก้วส่วนตัวรองน้ำขณะแปรงฟัน และการบำบัดน้ำเสียจากโรงอากาศก่อนนำกลับมาใช้ใหม่อีกด้วย เป็นต้น

ส่วน โรงเรียนศรีธาตุพิทยาคม จ.อุดรธานี ได้จัดโครงการ “บริหารจัดการขยะควบคู่กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสู่ห้องเรียนธรรมชาติบ้าน วัด โรงเรียน” โดยเน้นการบริการจัดการขยะคู่กับพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยทำงานร่วมกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน ในการจัดกิจกรรมเพื่อรักษาเอกลักษณ์ในการดำเนินชีวิตแบบวิถีชุมชนคนพื้นเมืองอีสาน

กิจกรรมที่โดดเด่น คือ การจัดทำห้องเรียนธรรมชาติ, การถนอมอาหารแบบพื้นเมือง โดยจัดทำเป็นตำราเรียนเป็นหลักสูตรท้องถิ่น, นอกจากนี้ ยังมีการใช้กระติบแทนกล่องโฟม, การใช้กระเป๋าและการห่อปกหนังสือด้วยผ้าพื้นเมือง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปลูกฝังการอนุรักษ์วิถีและภูมิปัญญาผ่านการอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ QR Cord สำหรับผลเรียน, การเรียนผ่านเว็ปไซต์ รวมถึงการจัดทำสะพานบุญเชื่อมเกาะกลางน้ำ เพื่อการเรียนรู้ระบบนิเวศสัตว์น้ำท้องถิ่นผ่านกิจกรรมสะพานบุญเชื่อมเกาะกลางน้ำ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ล้วนน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

ต่อมาเป็นเป็นโครงการของกลุ่มชุมชน ที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน โครงการแรกที่อยากนำเสนอ คือ โครงการ “รักษ์ป่า รักษ์พลังงาน และบริหารจัดการขยะ ที่ชุมชนบ้านสันป่าบง” ของชุมชนบ้านสันป่าบง จ.เชียงราย ซึ่งโดดเด่นในเรื่องของการจัดการพื้นที่สีเขียว เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งและปากท้ององชุมชน เนื่องจากปัญหาป่าเสื่อมโทรม การขาดแคลนน้ำ ซึ่งส่งผลต่อการหาเลี้ยงชีพ “การหาของป่า” ที่มีมาตั้งแต่ในอดีต

ทางชุมชนจึงต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการจับมือกับเทศบาล ร่วมฟื้นฟูป่าและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการกำหนดกติกาการอนุรักษ์ป่าร่วมกัน ส่งผลทำให้พื้นป่ากลับมาสมบูรณ์ มีน้ำเพียงพอ ที่สำคัญ ชาวบ้านสามารถหาของป่าเพื่อเลี้ยงชีพได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังจัดทำบริการจักรยานเพื่อให้ประชาชนใช้ในการเดินทาง, การทำเตาเศรษฐกิจสำหรับงานในหมู่บ้าน รวมถึงการสำรวจปริมาณขยะและตรวจแยกขยะในแต่ละครัวเรือน เป็นต้น

ที่สำคัญ เมื่อการดำเนินการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสำเร็จเป็นรูปธรรม ทำให้มีการต่อยอดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ด้วยการตั้งเป้าสร้างหมู่บ้านต้นแบบรักษ์สิ่งแวดล้อม, การสร้างฐานเรียนรู้การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมบ้านสันป่าบง, การสร้างแผนที่เส้นทางธรรมชาติ และการปลูกป่าเพิ่ม 150ไร่ ในปี 2 ปีข้างหน้า

ขณะที่ชุมชนบ้านรางพลับ จ.ราชบุรี ได้จัดทำโครงการ “นวัตวิถีรางพลับ…สู่การลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน” ซึ่งเกิดปัญหาจากการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ที่ส่งผลทำให้วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไป อันส่งให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ทางชุมชนจึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการร่วมแก้ปัญหา ด้ายการจัดกิจกรรมที่เน้นด้านการจัดการพื้นที่สีเขียว โดยเน้นการอนุรักษ์ต้นมะพลับหรือต้นพลับ ไม้พื้นถิ่นของชุมชน ที่กำลังจะสูญพันธุ์ การปลูกพืชประหยัดน้ำ

พร้อมจัดการการลดขยะ โดยใช้ผ้าแทนพวงหรีดดอกไม้สด, การจัดเลี้ยงในหมู่บ้านแบบตั้งโต๊ะพอกิน การรณรงค์ตักบาตรโดยใสปิ่นโต, การใช้น้ำชีวิภาพทำความสะอาดห้องน้ำหรือล้างจาน ขณะที่ขยะรีไซเคิล จะเน้นให้บริจาคแก่โรงเรียน ผู้สูงอายุ และเข้ากองทุนชุมชน เป็นต้น

ด้านโครงการ “ศรีจอมแจ้ง ต้นแบบชุมชนสีเขียว ร่วมลดเมืองร้อน” ของชุมชนบ้านศรีจอมแจ้ง เทศบาลตำบลหงส์หิน จ.พะเยา เน้นการจัดกิจกรรมด้านการรักษาป่า ดินและน้ำ โดยเชื่อมโยงให้เกิดความหลากหลายทางชีวิภาพ เพื่อการปะกอบอาชีพของเกษตรกรรมในชุมชน

ทั้งนี้ เนื่องจากเกิดปัญหาแหล่งน้ำธรรมชาติไม่เพียงพอ ป่าไม้เหลือน้อย บวกกับปัญหามลพิษหมอกควัน ทำให้จำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ คือ แก้ด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำบันทึกตกลงร่วมกับกรมป่าไม้ จัดทำป่าชุมชน โดยให้ชุมชนดูแลรักษาและใช้ประโยชน์สำหรับเป็นอาหารและนำไม้มาใช้สอย ทั้งช่วยป้องกันและระวังการบุกรุกพื้นป่าและไฟป่า พร้อมสร้างฝากชะลอน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

ที่สำคัญ ได้รณรงค์ให้งดใช้สารเคมีและลดการเผาในพื้นที่ ส่งผลให้ชุมชนนี้ ได้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญ โดยได้รับการรับรองมาตรฐานจากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ทั้งเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์และเป็นแหล่งอนุรักษ์นกยูงอีกด้วย

และสุดท้าย โครงการ “ลดเมืองร้อนชุมชนบ้านคลองตำหรุ หมู่ 8 มิติใหม่ ปลอดถัง ยั่งยืน ฟื้นฟูป่า โลมาสร้างรายได้ กระจายสู่ชุมชน” โดยชุมชนบ้านคลองตำหรุ หมู่8 จ.ฉะเชิงเทรา จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นชุมชนกึ่งชนบทกึ่งอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความหลากหลายด้านอาชีพ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชนวางแผนการจัดทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการลดปริมาณขยะให้น้อยลง จนปลอดถังขยะ ในสิ้นปีนี้, การใช้ถุงผ้าแลกสินค้า, การนำยางรถยนต์ทำเป็นกระถางเพาะต้นกล้าไม้ป่าชายเลน, การนำขวดน้ำใช้แล้วกลับมาใช้ดื่มได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปลูกป่าชายเลนบริเวณที่สาธารณะและจุดน้ำกันเซาะ โดยจัดตั้งธนาคารต้นกล้าป่าชายเลน เพื่อหารายได้เข้าชมชน ทั้งเปิดโอกาสให้จิตอาสาร่วมปลูกป่า เพื่อสร้างที่อยู่ให้กับสัตว์น้ำ

ทั้งทำให้ปลาโลมากลับมาหาอาหารตามธรรมชาติในอนาคต อันจะทำให้สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมต่างๆ ที่กลุ่มเยาวชนและผู้นำชุมชนได้ร่วมการสร้างสรรค์และคิดค้นแนวทางในการปกป้องโลกของเราให้รอดพ้นจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม..หากทุกคน มีจิตสำนึกและลงมือทำ เพื่อสิ่งแวดล้อม เพียงเท่านี้..ลูกหลานเราก็สามารถอยู่ในโลกนี้ ได้อย่างมีความสุขและยาวนานทีเดียว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0