โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สุดยอดการค้นพบ 10 หลักฐาน "โบราณคดี" เปลี่ยนโลก

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 21 มี.ค. เวลา 02.36 น. • เผยแพร่ 21 มี.ค. เวลา 01.10 น.
ภาพปก-สุสานจิ๋นซี
หลุมจัดแสดงหุ่นทหารดินเผาภายในสุสานจิ๋นซี

สุดยอดการค้นพบ 10 หลักฐาน “โบราณคดี” เปลี่ยนโลก

บนโลกใบนี้ มีการจัดอันดับการค้นพบ หลักฐาน ทาง “โบราณคดี” อยู่หลายครั้ง เช่น แอนติเพทรอส ไซดอนิออส (Antipatros Sidonios) นักปราชญ์และกวีชาวกรีก ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 2 ของคริสตกาล เป็นผู้ริเริ่มการจัดอันดับ 7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกยุคโบราณ ที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง มีอายุตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล-ศตวรรษที่ 2 โดยพิจารณาจากความสวยงามและความมหัศจรรย์ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม

จากยุคสมัยแรกเริ่มอารยธรรมโลกในแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ประเทศอียิปต์ ถึงยุคความรุ่งเรืองของอารยธรรมกรีกโบราณ และยุคสมัยอาณาจักรโรมันเรืองอำนาจ อาทิ พีระมิดแห่งเมืองกิเซห์ สวนลอยบาบิโลน เทวรูปซีอุส สุสานของกษัตริย์มอโซลุส โบสถ์แห่งอาร์เทมิส เทวรูปโคโลสซุส ประภาคารอเล็กซานเดรีย

หลังจากนั้นก็มีการจัดอันดับ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในมิติต่างๆ ตามมา

ดร. แพทริก ฮันต์ (Ph.D. Patrick Hunt) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จึงลุกขึ้นมาจัดอันดับบ้าง ทว่าการจัดอันดับของฮันต์ไม่ได้เน้นที่ความใหญ่โต อลังการของสิ่งก่อสร้าง แต่เลือกที่จะจัดอันดับการค้นพบ “หลักฐาน” ทาง “โบราณคดี” ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาประวัติศาสตร์โลก และสร้างคุณูปการมากมายให้กับแวดวงวิชาการ

ฮันต์ได้คัดเลือกการค้นพบ 10 อย่าง และรวบรวมไว้ในหนังสือ Ten Discoveries that Rewrote History ซึ่งการค้นพบเหล่านี้ถือเป็นการไขปริศนาอันดำมืดของโลกโบราณให้ค่อยๆ กระจ่าง ทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิต ภาษา และวัฒนธรรมของคนในยุคนั้น ซึ่ง 10 สุดยอดการค้นพบ เหล่านี้ ได้แก่

1. แผ่นหินโรเซตตา (The Rosetta Stone): กุญแจไขประวัติศาสตร์ของอียิปต์ ผ่านอักษรภาพฮีโรกลิฟฟิก

เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1799 ซึ่งเป็นช่วงที่อียิปต์อยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ร้อยเอกปิแอร์ ฟรองซัวส์ บูชาร์ด (Captain Pierre-Francois Bouchard) วิศวกรประจำกองทัพบก ได้ค้นพบแผ่นหินบะซอลต์สีดำแผ่นหนึ่งโดยบังเอิญ (บ้างว่าเป็นหินแกรนิต) ขณะคุมงานก่อสร้างอยู่ที่เมืองโรเซตตา แผ่นหินนี้น้ำหนักราว 760 กิโลกรัม บนแผ่นหินแบ่งจารึกออกเป็น 3 ตอน และมีอักษรจารึกอยู่ทั้งหมด 3 ชนิด คือ กรีกโบราณ เดโมติก และฮีโรกลิฟฟิก จากนั้นไม่นานแผ่นหินดังกล่าวก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “แผ่นหินโรเซตตา” เมื่อตกไปอยู่ในมือของอังกฤษ และถูกนำไปไว้ที่บริติชมิวเซียม ใน ค.ศ. 1802

การที่แผ่นหินโรเซตตามีอักษร 3 แบบจารึกไว้ในแผ่นเดียวกันทำให้ง่ายต่อการอ่านและตีความอักษรฮีโรกลิฟฟิก ซึ่งเป็นปริศนากว่าพันปี เนื่องจากตัวอักษรของชาวอียิปต์โบราณมีวิวัฒนาการแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ฮีโรกลิฟฟิก ฮีราติก เดโมติก และคอปติก ไล่เรียงจากอักษรภาพไปจนถึงอักษรที่มีความเป็นพยัญชนะมากขึ้นในยุคหลัง ดังนั้นนักวิชาการที่สามารถอ่านอักษรยุคหลัง ก็จะสามารถถอดความเทียบเคียงอักษรฮีโรกลิฟฟิกฟิกบนแผ่นจารึกนี้ได้

โทมัส ยัง (Thomas Young) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เป็นคนแรกที่เริ่มถอดรหัสแผ่นหินโรเซตตา และสามารถถอดรหัสอักษรเดโมติกได้ใน ค.ศ. 1814 ทว่าก่อนจะถอดความอักษรฮีโรกลิฟฟิกสำเร็จ เขาก็เสียชีวิตเสียก่อน

ฌอง ฟรองซัวส์ ชองโปลิยง (Jean-Francosis Champollion) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส เป็นผู้สานต่องานที่ โทมัส ยัง ทำค้างไว้ กระทั่งสามารถถอดความอักษรฮีโรกลิฟฟิกได้สำเร็จ ซึ่งใจความอักษรที่สลักลงไปบนแผ่นหินนี้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อ 196 ปีก่อนคริสตกาล โดยนักบวชในเมืองเมมฟิสช่วยกันทำจารึกนี้ขึ้นมาเพื่อสรรเสริญฟาโรห์ปโตเลมีที่ 5 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่สามารถแผ่ขยายการปกครองไปถึง ซีเรีย ปาเลสไตน์ หรือแม้กระทั่งเอเชียไมเนอร์ (ตุรกี)

แผ่นหินโรเซตตาถือเป็นกุญแจไขปริศนาอักษรฮีโรกลิฟฟิกของชาวอียิปต์ และทำให้นักวิชาการสามารถตีความอักษรโบราณที่จารึกอยู่ตามพีระมิด หลุมฝังศพ และจารึกต่างๆ ในยุคอารยธรรมแรกเริ่มของชาวอียิปต์เมื่อหลายพันปีก่อนคริสตกาล

2. ทรอย (Troy): ไขปริศนาเรื่องเล่าของโฮเมอร์ และประวัติศาสตร์กรีก

เรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของสงครามกรุงทรอย ในมหากาพย์อิลเลียด (The Illiad) ที่ โฮเมอร์ (Homer) กวีชาวกรีกแต่งขึ้นเมื่อราว 850 ปีก่อนคริสตกาล นับว่าเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญของโลกที่สอดแทรกทั้งความสนุกสนาน วัฒนธรรมและประเพณียุคโบราณ รวมถึงความกล้าหาญของบรรดานักรบทั้งหลาย หากนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงทรอยซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในดินแดนเอเชียไมเนอร์ (ตรงกับประเทศตุรกี ในปัจจุบัน) เป็นเพียงจินตนาการของโฮเมอร์เท่านั้น

แต่ใน ค.ศ. 1870 แวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็มีอันต้องตื่นตะลึง เมื่อเริ่มมีการขุดค้นและพบเมืองซึ่งคาดว่า น่าจะเป็นกรุงทรอย ตามเรื่องราวในมหากาพย์ของโฮเมอร์ นักประวัติศาสตร์หลายคนค้นคว้าซากเมืองโบราณในแถบทะเลอีเจียนและประเทศตุรกีเป็นเวลาหลายทศวรรษ โดยเฉพาะเนินดินสูงที่เรียกว่า “ฮิสซาร์ลิก (Hissarlik)” ซึ่งเชื่อกันว่าเนินดินนี้กลบฝังเมืองโบราณที่ถูกทำลายไปเมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา

ทว่าก็ยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันว่าที่แห่งนี้คือกรุงทรอย กระทั่งใน ค.ศ. 1870 ไฮน์ริช ชไลมานน์ (Heinrich Schliemann) มหาเศรษฐีเชื้อสายเยอรมัน ตัดสินใจทุ่มทุนเพื่อขุดค้นเนินฮิสซาร์ลิกอย่างละเอียด กระทั่งในที่สุดเขาก็ค้นพบเมืองในตำนาน ซึ่งเคยมีการสร้างซ้อนทับเมืองเดิมถึง 10 ชั้น โดยชั้นที่ 1 หรือ ทรอย 1 นั้นสร้างเมื่อเกือบ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือมีอายุราว 5,000 ปี ส่วนชั้น ทรอย 10 หรือชั้นบนสุดนั้น คาดว่าชาวโรมันสร้างเป็นที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยวเมื่อราว 1,000 ปีที่ผ่านมา

สำหรับชั้นที่มีอายุใกล้เคียงกับกรุงทรอยในมหากาพย์อีเลียดคือชั้นที่ 7 ซึ่งมีอายุราว 3,000 ปี การค้นพบครั้งนี้ทำให้โลกได้รู้จักแหล่งอารยธรรมโบราณอันยิ่งใหญ่และขุมสมบัติล้ำค่า ซึ่งมีทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากเงินบริสุทธิ์และทองคำ รวมทั้งเครื่องประดับและอัญมณีต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งและเส้นทางการค้าที่เจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้

3. ห้องสมุดอัสซีเรีย ในเมืองโบราณนิเนเวห์ (Nineveh’s Assyrian Library):เปิดประตูสู่อารยธรรมเมโสโปเตเมีย

เมืองนิเนเวห์ เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่บนลุ่มแม่น้ำไทกริส ปัจจุบันคือบริเวณที่อยู่ตรงข้ามกับเมืองโมซูล ประเทศอิรัก ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอัสซีเรีย (Assyrian Empire) ซึ่งก่อตั้งขึ้นราว 900-700 ปีก่อนคริสตกาล และแพร่ขยายอาณาเขตครอบคลุมไปถึงแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อาระเบียและอาร์เมเนีย

เมืองโบราณแห่งนี้ถูกอาณาจักรบาบิโลเนียและชนชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นศัตรูกับอัสซีเรียเข้ายึดครองและทำลายเมื่อ 612 ปีก่อนคริสตกาล ในปี ค.ศ. 1843 ปอล เอมีล โบตา (Paul Emile Botta) นักโบราณคดีและนักการทูตชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ค้นพบเมืองนิเนเวห์

ทว่าคนที่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองทางด้านวรรณคดีของดินแดนแถบนี้ก็คือ ออสเตน เฮนรี่ ลายาร์ด (Austen Henry Layard) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ลายาร์ดพบห้องสมุดหลวงของกษัตริย์อาซูร์บานีปาล (The Royal Library of Ashurbanipal) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรอัสซีเรีย พระองค์เป็นทั้งนักรบ นักปกครอง นักวิชาการ และเป็นผู้อุปถัมภ์งานด้านศิลปะและการศึกษา ห้องสมุดแห่งนี้รวบรวมงานเขียนที่เป็นแผ่นจารึกต่างๆ ไว้กว่า 22,000 แผ่น ไม่เพียงเฉพาะแผ่นจารึกในภาษาอัสซีเรียเท่านั้น แต่ย้อนหลังไปถึงจารึกโบราณของอาณาจักรอัคคาเดียและสุเมเรียเลยทีเดียว

หลักฐานทรงคุณค่าชิ้นหนึ่งคือ มหากาพย์กิลกาเมช (Gilgamesh) จารึกแผ่นดินเหนียว 12 แผ่น ว่าด้วยตำนานน้ำท่วมโลกที่เก่าแก่ของเมโสโปเตเมีย เป็นหนึ่งในงานวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่ามหากาพย์เรื่องนี้มีกำเนิดมาจากตำนานกษัตริย์สุเมเรีย และบทกวีเกี่ยวกับวีรบุรุษในตำนานที่ชื่อว่า กิลกาเมช ซึ่งเป็นต้นแบบของมหากาพย์หลายเรื่องในยุคหลัง รวมถึงมีอิทธิพลต่อมหากาพย์โอดิสซีย์ (Odyssey) ของโฮเมอร์ ส่วนตำนานที่เกี่ยวกับน้ำท่วมโลกก็ยังคล้ายคลึงกับตำนานน้ำท่วมโลกของโนอาห์ ในพระคัมภีร์ไบเบิลด้วย

4. สุสานของยุวกษัตริย์ทุตอังคามุน (King Tut’s Tomb): กษัตริย์คือ “สมมติเทพ”

การค้นพบ หลักฐาน “โบราณคดี” ครั้งยิ่งใหญ่ยังมีอีก เช่น ใน ค.ศ. 1907 หลังจากทีมสำรวจของ ธีโอดอร์ เอ็ม. เดวิส (Theodore M. Davis) ทนายความและนักสำรวจชาวอเมริกัน ค้นพบสุสานของฟาโรห์โฮเร็มเฮบ (Horemheb) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 18 ในบริเวณ “หุบผากษัตริย์” (Valley of the Kings) พวกเขายังไม่ได้สำรวจทางเข้าสุสานขนาดเล็กที่สลักชื่อว่า ทุตอังคามุน (Tutankhamun)

ทว่าหลายปีต่อมา แวดวงไอยคุปต์วิทยาก็พบว่าสุสานยุวกษัตริย์ทุตอังคามุนที่เดวิสพบยังไม่ใช่สุสานที่แท้จริง

ต่อมาใน ค.ศ. 1922 โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจาก ลอร์ดคาร์นาวอน (Lord Carnavon) เศรษฐีชาวอังกฤษ ให้ร่วมขุดค้นสุสานในหุบผากษัตริย์ เป็นผู้ค้นพบสุสานที่แท้จริงของยุวกษัตริย์ทุตอังคามุน (KV62) ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ใกล้กับทางเข้าสุสานของฟาโรห์รามเซสที่ 6 (Ramesses VI)

หลังจากเปิดประตูเข้าสู่สุสาน คาร์เตอร์ก็พบว่าสุสานยังสมบูรณ์ การค้นพบสุสานของยุวกษัตริย์ทุตอังคามุนนอกจากจะทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ รวมถึงปริศนาคำสาปต่างๆ แล้ว สุสานแห่งนี้ยังทำให้นักประวัติศาสตร์เห็นภาพอารยธรรมอียิปต์โบราณอย่างชัดเจนว่า ฟาโรห์ เปรียบเสมือนตัวแทนของเทพเจ้า (คำว่า ฟาโรห์ หมายถึง เทพเจ้าบนดิน)

แม้จะมีข้อสันนิษฐานว่าฟาโรห์ทุตอังคามุนสิ้นพระชนม์ในวัยเยาว์ ทำให้ไม่อาจสร้างสุสานได้ยิ่งใหญ่อลังการเช่นฟาโรห์องค์อื่น แต่การที่พระองค์ถูกฝังพร้อมสมบัติมากมาย ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์คือตัวแทนของเทพเจ้า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางสู่โลกหลังความตายและฟื้นคืนพระชนมชีพในภายหลัง

5. มาชู ปิกชู (Machu Picchu): เผยความลับสถาปัตยกรรมของชาวอินคา

หลังจากจักรวรรดิอินคาล่มสลายลง เนื่องจากการเมืองภายในโรคระบาด และจากการยึดครองของสเปน ใน ค.ศ. 1532 ทำให้อารยธรรมโบราณที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 13 เหลือแค่เพียงตำนาน ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1911 ฮิแรม บิงแฮม (Hiram Bingham) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยเยลให้สำรวจประเทศเปรู เพื่อค้นหาเมืองวิลคา บัมบา ซึ่งชาวสเปนได้บันทึกว่า เป็นเมืองที่กษัตริย์แห่งอาณาจักรอินคาใช้เป็นที่หลบซ่อน เมื่อครั้งพ่ายแพ้แก่กองทัพสเปน

แล้วโลกก็ต้องบันทึกการค้นพบอันยิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อบิงแฮมบังเอิญพบเมืองโบราณ มาชู ปิกชู (Machu Picchu) เมืองที่หายสาบสูญไปจากอารยธรรมอินคา

เมืองแห่งนี้ซุกซ่อนอยู่ในป่าดงดิบในเขตเทือกเขาแอนดีส ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 2,350 เมตรจากระดับน้ำทะเล เหนือแม่น้ำอุรุบัมบา (Urubamba) รายล้อมด้วยหน้าผาสูงชันราว 600 เมตร ซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของชนเผ่าอินคาในอดีตเรียงรายเป็นระเบียบสวยงาม ครอบคลุมพื้นที่ 13 ตารางกิโลเมตร สะกดให้ผู้พบเห็นจินตนาการถึงอารยธรรมที่เคยรุ่งโรจน์ของดินแดนแห่งนี้

การตรวจสอบด้วยกัมมันตภาพรังสีในรูปแบบคาร์บอนในทศวรรษ 1980 พบว่า มีความเป็นไปได้ว่ามาชู ปิกชู อาจสร้างขึ้นก่อนหรือช่วงเริ่มต้นอารยธรรมอินคา คือราวศตวรรษที่ 7 หรือราว ค.ศ. 1200-1450 และสันนิษฐานว่าเมืองแห่งนี้อาจใช้เป็นเทวสถานหรือที่พักอาศัยของชนชั้นสูง เนื่องจากตัวเมืองอยู่ห่างจากคูสโก (Cusco) อดีตเมืองหลวงของอินคา ทำให้ไม่เหมาะแก่การคมนาคม หรือเป็นแหล่งชุมชนของชาวบ้านทั่วไป

มาชู ปิกชู ยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความมหัศจรรย์ด้านสถาปัตยกรรมอีกด้วย โดยเฉพาะอนุสาวรีย์ขนาดมหึมา น่าประหลาดใจว่าชนโบราณเหล่านี้เรียนรู้วิธีขนย้ายแท่งหินขนาดยักษ์และนำมาเรียงรายต่อกันสูงเป็นชั้นๆ ได้เรียบสนิท โดยไม่ใช้ล้อเลื่อนหรือลูกรอกได้อย่างไร นอกจากนี้ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร รูปแบบการทำเกษตร หรือการทำนาเกลือที่เก่าแก่แบบขั้นบันได หอคอยสำหรับการเฝ้ามองดูผู้รุกราน การสร้างถนน สิ่งก่อสร้างตามไหล่เขา ที่ไล่ระดับเป็นขั้นๆ ซากกำแพงหินแกรนิตสีขาว นับเป็นปริศนาที่ไม่มีใครทราบจนกระทั่งบัดนี้ว่า เพราะเหตุใดพวกเขาจึงสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้บนยอดเขาสูง

6. ปอมเปอี (Pompeii) : ย้อนอดีตดูวิถีชีวิตของชาวโรมัน

ปอมเปอี เป็นเมืองชายทะเล ตั้งอยู่บริเวณอ่าวเนเปิลส์ทางตอนกลางของอิตาลี ชาวออสกันผู้สร้างเมืองนี้ขึ้นเมื่อราว 600 ปี ต่อมาถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงโรมเมื่อ 80 ปี ก่อนคริสตกาล ทำให้ปอมเปอีกลายเป็นศูนย์กลางการค้าอันมั่งคั่ง ชาวโรมันเริ่มย้ายถิ่นฐานเข้ามาปักหลักและทำมาค้าขายที่เมืองนี้ รวมทั้งก่อสร้างบ้านเรือนริมทะเลและบริเวณเชิงภูเขาไฟวิสุเวียส (Vesuvius)

แต่การระเบิดของภูเขาไฟวิสุเวียส เมื่อ ค.ศ. 79 ลาวาและเถ้าถ่านจากภูเขาไฟกลบฝังเมืองหนาราว 10 เมตร ชาวเมืองที่รอดชีวิตหลายคนพยายามกลับมาขุดค้นเพื่อหาของมีค่า ทว่าไม่สามารถไปจนถึงบ้านเรือนได้ ในที่สุดชาวเมืองก็ยอมแพ้และโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ขี้เถ้าภูเขาไฟกลายเป็นแร่ธาตุชั้นดี ทำให้คนรุ่นหลังเริ่มมาทำไร่องุ่นบริเวณนี้

กระทั่งใน ค.ศ. 1534 มีการค้นพบซากเมืองปอมเปอีเป็นครั้งแรก เมื่อคนงานขุดคลองส่งน้ำพบซากอาคารแบบโรมันและเหรียญเงินโบราณ แต่พวกเขาก็ไม่ได้สนใจและขนย้ายสิ่งกีดขวางออกไป ใน ค.ศ. 1748 โรก โคอากวิน เด อัลกูบีแอร์ (Rocque Joaquin de Alcubierre) นายทหารยศร้อยเอกแห่งกองทัพสเปน ได้รับบัญชาจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสเปน (Charles III—King of Spain) ให้ขุดค้นเมืองปอมเปอี หลังจากคนงานที่กำลังสร้างวังฤดูร้อนให้กับพระองค์พบซากเมืองเฮอร์คิวเลเนียม (Herculaneum) เมืองโบราณที่ประสบชะตากรรมเดียวกับปอมเปอีเมื่อ 10 ปีก่อน

ทว่าการขุดค้นในเชิงโบราณคดีอย่างจริงจังเริ่มขึ้นเมื่อ คาร์ล ยาคอบ เวเบอร์ (Karl Jakob Weber) สถาปนิกและวิศวรกรชาวเยอรมัน รับช่วงการขุดค้นต่อจากทีมงานชาวฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1764 และ จูเซปเป ฟิโอเรลลี (Giuseppe Fiorelli) นักโบราณคดีชาวอิตาลี ค้นพบวิธีเทปูนปลาสเตอร์ลงไปในโพรงดินที่คาดว่าเป็นร่างของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ใน ค.ศ. 1860 จนทั่วโลกได้เห็นรูปทรงและอิริยาบถในวาระสุดท้ายของชาวเมืองเหล่านี้

นักโบราณคดีขุดพบลานเสวนา โบสถ์ โรงอาบน้ำ โรงละคร และบ้านเรือนกว่า 100 หลัง ที่ยังคงความสมบูรณ์แม้กาลเวลาจะผ่านมาเกือบ 2,000 ปี เนื่องจากขี้เถ้าจากภูเขาไฟได้รักษาสภาพของเมืองไว้ไม่ให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ทำให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์ว่าชาวโรมันมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างหรูหราและมีความเจริญรุ่งเรืองเพียงใด จากหลักฐานที่เป็นรูปธรรม

7. ลิขิตเดดซี (Dead Sea Scrolls) : จารึกโบราณเก่าแก่ที่สุดซึ่งเผยวิถีชีวิตของชาวยิว

หลักฐาน “โบราณคดี” อันยิ่งใหญ่ยังมีอีก โดยในฤดูหนาว ค.ศ. 1947 คนเลี้ยงแกะชาวเบดูอินในแถบหน้าผาทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบเดดซี ระหว่างเบธเลเฮมกับแม่น้ำจอร์แดน ในเขตปาเลสไตน์ ได้พบถ้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งโดยบังเอิญ มีสิ่งปรักหักพังมากมาย รวมถึงม้วนหนังสัตว์ 3 ม้วน ซึ่งม้วนขนาดใหญ่มีความยาวถึง 8 เมตร จึงนำไปขายให้พ่อค้าคนหนึ่ง ซึ่งเขาได้มอบต่อให้กับ แอธธานาเซียส ซามูเอล (Athanasius Samuel) อาร์คบิชอปในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพบว่าม้วนจารึกเหล่านี้เป็นจารึกโบราณภาษาฮิบรู นักโบราณคดีขนานนามม้วนจารึกเหล่านั้นว่า ลิขิตเดดซี (Dead Sea Scrolls)

หลังจาก จอห์น เทรเวอร์ (John Trever) นักโบราณคดี ยืนยันว่าจารึกเหล่านี้มีอายุระหว่าง 300 ปี ก่อนคริสตกาล จนถึง ค.ศ. 200 นับว่าเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ต่อจากนั้นจึงมีการสำรวจขุดค้นในเชิงโบราณคดีอย่างจริงจังจนถึง ค.ศ. 1956 พบม้วนจารึกโบราณทั้งจากหนังสัตว์และกระดาษปาปิรัสหลายพันม้วน จารึกทั้งหมดราว 800-900 ฉบับ แยกเป็นแผ่นเล็กแผ่นน้อยกว่า 15,000 ชิ้น กระจัดกระจายอยู่ตามถ้ำ 11 แห่ง

นักวิชาการเชื่อว่าจารึกบางส่วนเป็นของชาวยิวที่เรียกตัวเองว่า เอสซีน (Essene) ซึ่งตั้งรกรากอยู่ในปาเลสไตน์ตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล จนถึง ค.ศ. 200 และอาจเป็นเอกสารสำคัญในห้องสมุดแห่งเยรูซาเล็มที่ปัญญาชนนำไปซ่อนไว้ระหว่าง ค.ศ. 68 (ก่อนสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนตินกว่า 250 ปี) เนื่องจากกลัวว่าทหารโรมันที่กรีธาทัพเข้ามายึดครองดินแดนจะเผาทำลาย

การค้นพบครั้งนี้เปิดเผยให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวยิว ในยุคก่อนการประสูติของพระเยซู นอกจากนี้จารึกบางฉบับยังเป็นฉบับคัดลอกจากพระคัมภีร์ของศาสนายูดาย และเมื่อนักประวัติศาสตร์ถอดความออกมาก็พบว่าตรงกับพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิม ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเชื่อมโยงของศาสนาคริสต์ในยุคเริ่มแรกและศาสนายูดาย ว่าอันที่จริงแล้วความเชื่อของทั้ง 2 ศาสนามีพื้นฐานมาจากขนบและความเชื่อแบบเดียวกัน และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับพันปี พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิมมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

8. สุสานจักรพรรดิจิ๋นซี และรูปปั้นทหาร 10,000 ชิ้น: เปิดประตูสู่ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิจีน

จิ๋นซีฮ่องเต้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ฉิน สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ถูกค้นพบโดยบังเอิญเมื่อชาวนาในหมู่บ้านซีหยาง เมืองหลินถง บริเวณเชิงเขาหลีซาน ห่างจากตัวเมืองซีอานไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 35 กิโลเมตร กำลังขุดดินเพื่อหาบ่อน้ำไว้ใช้สำหรับเพาะปลูกในฤดูหนาว เขาพบเหยือกดินเผา กองทหารดินเผา รวมถึงคันธนูและลูกธนูที่ทำจากทองเหลืองเมื่อขุดลึกลงไปราว 4 เมตร

หลังจากนั้นทางรัฐบาลจีนได้เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ แล้วเริ่มขุดค้นอย่างเป็นระบบตั้งแต่ ค.ศ. 1976 เป็นต้นมา และเปิดให้สาธารณชนเข้าชมในปี ค.ศ. 1979

นักโบราณคดีเชื่อว่าสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้สร้างขึ้นเมื่อ 220-210 ปีก่อนคริสตกาล มีโครงสร้างสลับซับซ้อน แบ่งออกเป็นพระราชฐานชั้นใน-นอก ภายในสุสานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีพื้นที่ราว 25,000 ตารางเมตร ใช้ระยะเวลาในการสร้างถึง 38 ปี นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ทั่วโลกตื่นตะลึงคือกองทัพทหารดินเผากว่า 10,000 ตัว ซึ่งแต่ละตัวล้วนแต่มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน รถม้าไม้มากกว่า 100 คัน สรรพาวุธที่ทำจากทองเหลืองและข้าวของเครื่องใช้โบราณอีกมากมาย

อย่างไรก็ดี นักโบราณคดีก็ยังไม่พบพระศพของจิ๋นซีฮ่องเต้ แม้จะมีการสันนิษฐานว่าหลุมพระศพอยู่บนเนินดินห่างจากหลุมขุดค้นหุ่นทหารดินเผาออกไปราว 2 กิโลเมตร โดยประเด็นเกี่ยวกับที่ฝังพระศพของจิ๋นซีฮ่องเต้ก็ยังคงเป็นปริศนาต่อไป เพราะทางการจีนยังไม่อนุญาตให้มีการขุดค้น เพราะเกรงว่าจะทำให้โบราณวัตถุอื่นๆ ได้รับความเสียหายจากการเคลื่อนย้ายและจากสภาพอากาศ กระนั้นการค้นพบสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ก็เป็นการประกาศให้โลกได้รับรู้ว่าอารยธรรมของชาวจีนนั้นยิ่งใหญ่และน่ามหัศจรรย์เพียงใด

9. แหล่งโบราณคดีโอลดูไว ยอร์จ (Olduvai Gorge): กุญแจสู่วิวัฒนาการของมนุษย์

หลุยส์ และ แมรี่ ลีกกี้ (Louis Leakey, Mary Leakey) สองสามีภรรยานักบรรพชีวินและนักโบราณคดี กับการค้นพบที่ทำให้โลกตะลึง เนื่องจากพวกเขาค้นพบแหล่งกำเนิดของสายพันธ์มนุษย์ที่ดูท่าว่าจะมีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก

หลุยส์และแมรี่ เริ่มต้นสำรวจแหล่งอารยธรรมของมนุษย์ยุคโบราณในพื้นที่ซึ่งเรียกกันว่า โอลดูไว ยอร์ช บริเวณหุบเขาและเงื้อมผาที่เป็นรอยแตกของเปลือกโลกทางแอฟริกาตะวันออก ในประเทศแทนซาเนีย ทั้งสองเริ่มสำรวจโอลดูไว ยอร์ช และบริเวณโดยรอบตั้งแต่ ค.ศ. 1931 จนกระทั่งปลายทศวรรษ 1960

แล้วใน ค.ศ. 1959 ความพยายามกว่า 3 ทศวรรษของทั้งคู่ก็ประสบผล เมื่อขุดพบเครื่องมือยุคหิน ฟอสซิลซากสัตว์ รวมถึงฟอสซิลของสัตว์ประหลาดที่คล้ายกับสัตว์ในตระกูลลิงกว่า 20 ร่าง ภายหลังพวกเขาจึงพบว่า ฟอสซิลที่พบคือสายพันธ์มนุษย์ในยุคโบราณ (Hominid)

ฟอสซิลที่สองสามีภรรยาพบนั้น นับว่าเป็นหลักฐานชิ้นแรกๆ ที่บ่งบอกว่ามนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาและใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกามาหลายล้านปี รวมถึงเป็นเครื่องยืนยันว่าทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาสู่มนุษย์ เป็นเรื่องถูกต้อง

การค้นพบฟอสซิลที่โอลดูไว ยอร์ช นับเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์ ซึ่งจากที่นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อว่ามนุษย์ยุคเริ่มแรกถือกำเนิดขึ้นมาในโลกนี้เมื่อราว 1.9 ล้านปี ฟอสซิลของโฮมินิดสายพันธ์ุต่างๆ ทำให้เรารู้ว่าจุดกำเนิดของมนุษย์สามารถนับย้อนหลังไปได้เกือบ 4 ล้านปี และถือกำเนิดในทวีปแอฟริกา จากนั้นจึงแพร่ขยายเผ่าพันธุ์ไปทั่วโลก

10. เกาะภูเขาไฟเธรา (Thera) : ความเจริญรุ่งเรืองในยุคสำริด และเส้นทางการค้าแถบทะเลอีเจียน

เธรา (Thera หรือ Thira) เป็นเกาะภูเขาไฟในหมู่เกาะไซคลาดิส (Cyclades) เป็นที่รู้จักกันในนาม เกาะซานโตรินี (Santorini) ตั้งอยู่ในทะเลอีเจียน (เส้นทางผ่านที่กรีกยกทัพเรือข้ามไปตีกรุงทรอย) มีความกว้างประมาณ 16 กิโลเมตร และอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล 567 เมตร นอกจากจะมีทิวทัศน์ที่งดงามและผืนดินอันอุดมสมบูรณ์แล้ว เกาะนี้ก็ยังมีภูเขาไฟที่สูงถึง 1,600 เมตร อยู่ตรงกลางใจของเกาะอีกด้วย

ชาวโฟนีเชียน (Phoenician) เริ่มอพยพเข้ามาลงหลักปักฐานที่เกาะแห่งนี้เมื่อราว 3,600 ปี ก่อนคริสตกาล หลังจากนั้นชาวลาโคเนียน (Laconian) ก็เข้ามาปกครองเกาะนี้ กระทั่งถึง 3,000 ปี ก่อนคริสตกาล (Bronze Age) กษัตริย์ไมนอส (Minos) ผู้ปกครองเกาะครีตก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลทางด้านศิลปะและวัฒธรรมจากอารยธรรมมิโนอัน (Minoan) มายังเธรา ทว่าอารยธรรมอันเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดก็ต้องพบกับหายนะ เมื่อภูเขาไฟในเกาะระเบิดขึ้นในฤดูร้อนช่วง 1,650 ปี ก่อนคริสตกาล (นักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงเรื่องเวลาที่แน่นอนอยู่)

แรงระเบิดส่งผลให้เกาะธีราแตกออกเป็น 3 เกาะ ซึ่งมีหน้าผาสูงชันและปกคลุมไปด้วยขี้เถ้ากับหินภูเขาไฟทั่วทุกตารางนิ้ว และกระแสลมยังได้พัดพาเถ้าภูเขาไฟไปไกลถึง 70 กิโลเมตร แรงระเบิดจากภูเขาไฟยังทำให้เกิดสึนามิที่มีความสูง 100-150 เมตร ถาโถมเข้าถล่มชายฝั่งทางด้านเหนือของเกาะครีต ทำให้เกาะทั้งเกาะแทบจะจมหายไปในทะเล

ทว่าโชคดีที่เกาะเธราเองได้รับความเสียหายน้อยกว่าเกาะครีตหลายเท่า ทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นห้องสมุดอารยธรรมมิโนอันขนาดใหญ่สำหรับนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ ใน ค.ศ. 1860 มีการขุดค้นบริเวณที่ถูกเถ้าถ่านและลาวาทับถม กระทั่งพบอาคารบ้านเรือน วิหารเทพเจ้า หลุมฝังศพในหุบเขา โรงละคร และข้าวของเครื่องใช้จำนวนมาก แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าในยุคสำริด (Bronze Age) ทำให้ความเป็นอยู่เปลี่ยนไปทั้งด้านการเมืองและสังคม ชุมชนเกษตรกรรมขยายตัวจนกลายเป็นชุมชนเมือง มีการแบ่งระดับชนชั้นตามความสามารถ มนุษย์จึงมีความมั่นคงปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้นนำไปสู่พัฒนาการทางสังคมสู่ความเป็นรัฐในเวลาต่อมา

การค้นพบ “หลักฐาน” ทาง “โบราณคดี” ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นตัวอย่างของความบังเอิญที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ เนื่องจากโครงการขุดค้นเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนและมีการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ทว่ายังมีแหล่งโบราณคดีเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการเหลียวแล เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องไม่ใส่ใจ และกว่าจะเห็นคุณค่าก็ต่อเมื่อมรดกที่บรรพบุรุษสร้างมาถูกกาลเวลาและน้ำมือมนุษย์ทำลายไปแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ข้อมูลอ้างอิง :

ภาพประกอบไม่มีลิขสิทธิ์จาก Wikimedia Commons

Hunt, Patrick. Ten Discoveries that Rewrote History. Plum, 2007.

http://artsmen.net/index_artsmen.php

http://satid.igetweb.com/index.php?mo=14&newsid=85710

http://www.suffragio.it/bassorilievi/arteassiri.htm

www.answers.com

www.britishmuseum.org

www.wikipedia.com

ข้อมูลจาก

วารยา. สุดยอดการค้นพบ ทางโบราณคดี, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม, กันยายน 2552

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2562

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สุดยอดการค้นพบ 10 หลักฐาน “โบราณคดี” เปลี่ยนโลก

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0