โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สุดฟิน! เปิดฤดูผลไม้เมืองลับแล   แดนสวรรค์ สำหรับคนรักผลไม้

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 23 มิ.ย. 2561 เวลา 07.41 น.
UD2

กระจองงอง กระจองงอง เจ้าข้าเอ้ย…สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ฝากตีฆ้องป่าวประกาศว่า เปิดฤดูการขายผลไม้แสนอร่อยของจังหวัดอุตรดิตถ์เริ่มแล้ว ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนกันยายน ใครที่ชื่นชอบบริโภคทุเรียนหลงลับแล และหลินลับแล ก็ห้ามพลาดงานนี้ แวะชิมและเลือกซื้อทุเรียนได้อย่างจุใจแล้ว ก็อย่าลืมซื้อมังคุด ลองกอง ลางสาด สับปะรดห้วยมุ่น เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบแห้ง ติดมือกลับบ้านไปฝากญาติพี่น้องที่บ้านกันด้วยเน้อ

หลงลับแล-หลินลับแล

มีวางขายถึงเดือนสิงหาคม

คุณอุดมศักดิ์ คำมูล เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทุเรียน เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก ทางจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตผลไม้คุณภาพได้มาตรฐาน ควบคู่กับการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเฉพาะการเปิดสวนผลไม้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้เข้ามาท่องเที่ยว เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตชาวสวนผลไม้ ที่มีคุณภาพจากสวนโดยตรง ควรพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว และสร้างเครือข่ายสวนผลไม้เพื่อเปิดบริการให้แก่นักท่องเที่ยว ได้รู้จักกับทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์

ทั้งนี้ พื้นที่อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งเดียวในภาคเหนือ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนรวมทั้งสิ้น 40,005 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 32,190 ไร่ ผลผลิตรวม 48,933 ตัน จะออกสู่ตลาดในเดือนพฤษภาคม 10% เดือนมิถุนายน 25% เดือนกรกฎาคม 30% เดือนสิงหาคม 20% เดือนกันยายน 15% เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 84.0% พันธุ์พื้นเมือง 11.2% พันธุ์หลงลับแล 4.7% พันธุ์หลินลับแล 0.2% ในช่วงต้นฤดูทุเรียนจะมีราคาดีมาก

สำหรับปีนี้ ทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล ไม้ผลสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีผลผลิตทยอยเข้าสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิงหาคม ปัจจุบัน ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 2,485 ไร่ ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ 1,750 ไร่ ให้ผลผลิต 2,275 ตัน โดยมีน้ำหนักเฉลี่ย ผลละ 1.5 -2 กิโลกรัม ราคาขายเฉลี่ย กิโลกรัมละ 400-450 บาท ขณะที่ทุเรียนพันธุ์หลินลับแล มีพื้นที่ปลูก 400 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 120 ไร่ ได้ผลผลิต 108 ตัน โดยมีน้ำหนักเฉลี่ย ผลละ 1.5-2 กิโลกรัม ราคาขายเฉลี่ย กิโลกรัมละ 600-700 บาท

คุณอุดมศักดิ์ กล่าวว่า ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และพันธุ์หลินลับแล ถือเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณภาพดี ได้รับการรับรองพันธุ์ และประกาศเป็นสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI.) มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว เป็นของดีที่มีประวัติเรื่องราวการพัฒนามาอย่างยาวนาน จนเป็นผลผลิตที่มีชื่อเสียง มีราคา และคุณค่าที่งดงามต่อความรู้สึกของผู้ผลิต ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป มีความภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของสมบัติอันล้ำค่าของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยและหนึ่งเดียวในโลก

 วิธีเลือกซื้อทุเรียนสุกแก่พร้อมกิน

โดยทั่วไปชาวสวนทุเรียนมักจะใช้วิธีนับอายุผลทุเรียน ตั้งแต่ดอกบาน จนถึงวันเก็บเกี่ยว เพื่อเก็บผลผลิตออกขาย สำหรับทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จะใช้เวลาดูแล ประมาณ 120-135 วัน พันธุ์กระดุม 90-100 วัน พันธุ์ชะนี 105-110 วัน ทั้งนี้ชาวสวนทุเรียนบางรายจะใช้วิธีสังเกตอายุเก็บเกี่ยวโดยปล่อยให้ผลทุเรียนร่วง เพราะโดยปกติดอกทุเรียนแต่ละรุ่นในต้นเดียวกัน จะบานไม่พร้อมกัน แต่จะแตกต่างกันไม่เกิน 10 วัน เมื่อมีผลแก่สุกและร่วง จะเป็นสัญญาณว่า ทุเรียนบนต้นนั้นเริ่มแก่ สามารถเก็บเกี่ยวมาให้กินได้นั่นเอง

เนื่องจากปีนี้ ราคาทุเรียนค่อนข้างแพง ทำให้เกษตรกรหรือพ่อค้าหลายรายแอบตัดทุเรียนอ่อนออกมาขายทำกำไร ทำให้ลูกค้าซื้อทุเรียนอ่อนไปรู้สึกผิดหวัง เพราะกินไม่ได้ หรือไม่ได้กิน เสียทั้งความรู้สึก เสียเวลา และทิ้งเงินไปอย่างน่าเสียดาย

หากใครไม่อยากเจอเหตุการณ์น่าช้ำใจแบบนี้ คุณอดุลย์ศักดิ์ ไชยราช หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ มีข้อแนะนำวิธีการเลือกซื้อทุเรียนสุกแก่พร้อมกิน โดยมีข้อสังเกตทุเรียนแก่ดังนี้

  • สังเกตก้านผลทุเรียน จะแข็ง มีสีเข้มขึ้น สัมผัสรู้สึกสากมือ บริเวณปากปลิงจะบวมโต เห็นรอยต่อชัดเจน ถ้าจับก้านผลแกว่ง จะรู้สึกก้านผลมีสปริงมากขึ้น
  • สังเกตหนาม ปลายหนามจะแห้ง สีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย หนามกางออก ร่องหนามห่าง เมื่อบีบหนามเข้าหากัน จะรู้สึกมีสปริง
  • สังเกตรอยแยกระหว่างพู เมื่อทุเรียนแก่จัด จะเห็นรอยแยกบนพูชัดเจน ยกเว้น ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว
  • ใช้วิธีเคาะเปลือกผล ทุเรียนแก่จัดเสียงจะดังโปร่งๆ หนัก-เบาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์
  • ใช้วิธีชิมปลิง เมื่อตัดขั้วผล หรือปลิงของผลทุเรียนที่แก่จัด จะพบว่ามีน้ำใส ไม่ข้นเหนียวเหมือนทุเรียนอ่อน เมื่อชิมดูจะมีรสหวาน
  • ดูความสุกแก่จากสีเนื้อทุเรียน โดยจะเปลี่ยนจากเนื้อสีขาวเป็นสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองเข้ม ตามลักษณะของแต่ละพันธุ์ และความแก่
  • ใช้วิธีนักเลง 5 ด. คือ “ดู” สังเกตสภาพผลทั่วไป “ดม” กลิ่นหอมทุเรียน “ดูด” การชิมน้ำใสๆ ที่ปลิงขั้วผล “ดีด”นิ้วดีดหรือไม้เคาะฟังเสียงแน่นหรือโปร่ง ที่ชัดที่สุดคือ “แด…” แกะกินเนื้อดูก็รู้ว่าสุกแก่กินได้ หรือไม่ได้ หากนำเคล็ดลับดีๆ เหล่านี้ไปใช้ เชื่อว่าท่านผู้อ่านจะได้ทุเรียนที่เนื้อสุกแก่พอดี นำกลับไปกินที่บ้านด้วยความเอร็ดอร่อยอย่างแน่นอน

 “ห้วยมุ่น” สับปะรดคุณภาพดีที่สุดในโลก

เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่า จังหวัดอุดรดิตถ์นอกจากโดดเด่นในเรื่องทุเรียนรสเยี่ยมแล้ว สับปะรดห้วยมุ่น ก็เป็นสินค้าเด่นอีกชนิดที่ขายดิบขายดีไม่แพ้กัน เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สับปะรดห้วยมุ่น ของจังหวัดอุดรดิตถ์ มีต้นกำเนิดจาก คุณพรมมา พุฒิแพง (นายฮ้อยแดง) ขี่ช้างนำสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย จากจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี 2409 จำนวน 60 หน่อ มาปลูกในพื้นที่เชิงเขา ซึ่งเป็นดินร่วนปนทราย ที่เกิดจากการพัดพาของน้ำ มีการสลายตัวตามธรรมชาติ ปริมาณน้ำฝนมากเพียงพอ สภาพอากาศอุณหภูมิเฉลี่ย 26-30 องศาเซลเซียส ส่งผลให้สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ที่นำมาปลูกจึงเกิดการกลายพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร โดยมีลักษณะผลกลม ขนาดน้ำหนัก 1.5-3.5 กิโลกรัม เฉลี่ยน้ำหนัก 2.2 กิโลกรัม ต่อผล ผิวเปลือกบาง ตาตื้น ผลดิบสีเขียวคล้ำ ผลแก่เปลือกสีเหลืองอมส้ม เนื้อหนานิ่ม สีเหลืองเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติหวานฉ่ำ กลิ่นหอม ที่สำคัญไม่กัดลิ้น

เนื่องจากสับปะรดพันธุ์ใหม่นี้ ถูกค้นพบในพื้นที่ ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุดรดิตถ์ จึงถูกเรียกขานว่า สับปะรดห้วยมุ่น มาจนถึงทุกวันนี้ สับปะรดห้วยมุ่นมีจุดขายสำคัญคือ รสชาติอร่อย ไม่กัดลิ้น ถือเป็นสับปะรดคุณภาพดีที่สุดในโลก เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วไปอย่างกว้างขวาง

สับปะรดห้วยมุ่น นิยมปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่ตำบลห้วยมุ่น และตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์   เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูก สับปะรดห้วยมุ่นในช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ของทุกปี เพราะสะดวกในการเตรียมพื้นที่ปลูก และเตรียมพันธุ์ที่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตมากที่สุด คุณภาพดีที่สุด ประมาณช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ในปี 2561 จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ปลูกสับปะรดห้วยมุ่น จำนวน 30,707 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 27,719 ไร่ คิดเป็นน้ำหนักกว่า 122,700 ตัน ทุกวันนี้ สับปะรดห้วยมุ่นของจังหวัดอุดรดิตถ์ ได้รับการประกาศให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI.) ตั้งแต่ วันที่ 13 มิถุนายน 2555 ทะเบียนที่ 56100056 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

คุณอดุลย์ศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สับปะรดห้วยมุ่น มีช่องทางการขายใน 2 ลักษณะ คือ ขายสับปะรดบริโภคผลสด โดยแบ่งเกรดการขาย เป็นเนื้อ 1, 2, 3 หรือ เกรด A, B, C ตรวจสอบได้โดยการสัมผัส ดีด เคาะ เกษตรกรนิยมจำหน่ายผลผลิตในพื้นที่ บางท้องถิ่นก็มีพ่อค้ารายย่อยเข้าไปรับซื้อผลผลิตถึงสวน หรือเกษตรกรบางรายนำผลผลิตออกมาวางขายเอง อีกกลุ่มขายเป็นสับปะรดโรงงาน โดยมีแผงค้าหรือล้งเป็นผู้รวบรวมผลผลิตจากสวนส่งขายโรงงานแปรรูปที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ชลบุรี ตราด โดยใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ ติดพ่วง จากโรงงานขึ้นไปรับผลผลิตจากแหล่งผลิต ครั้งละ 15-30 ตัน ต่อคัน

“เนื่องจากในปีนี้สภาพภูมิอากาศดี ทั้งปริมาณน้ำ ความชื้น ความหนาวเย็นเหมาะสม ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลเอาใจใส่การผลิตที่ดี มีการรวมกลุ่มผลิตที่เข้มแข็ง และมีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสม ทำให้ปีนี้ผลผลิตสับปะรดห้วยมุ่นออกสู่ตลาดผู้บริโภคมากกว่าปีก่อน” คุณอดุลย์ศักดิ์ กล่าวในที่สุด

หากผู้อ่านท่านใดมีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับไม้ผลของจังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก  สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. (055) 411-769 หรือ E-Mail : uttaradit@doae.go.th

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0