โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สุดท้ายดาราต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง? การแยกความเห็นทางการเมืองกับหน้าที่ ในกรณีปั้นจั่น

The MATTER

อัพเดต 24 มิ.ย. 2562 เวลา 07.07 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2562 เวลา 06.51 น. • Thinkers

ดราม่าของ ปั้นจั่น—ปรมะ อิ่มอโนทัย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลายสัปดาห์ก่อนและยังคงส่งผลต่อเนื่องมาถึงภาพยนตร์ที่เขาแสดงนำในตอนนี้อย่าง “รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน” นั้น บอกตามตรงครับว่าตอนแรกผมไม่ได้คิดจะเขียนถึงเรื่องนี้เลยด้วยเหตุผลหลายประการมาก (1) วงการบันเทิงไม่ใช่พื้นที่ทางความสนใจของผมนัก, (2) หนังเรื่องนี้ผมเองก็ยังไม่ได้ดู (ทั้งเพราะอยู่ที่ญี่ปุ่นด้วย และไม่ใช่คอหนังแนวนี้นัก), (3) ผมคิดว่าดราม่าเรื่องนี้ไม่ได้มีสาระมากมายอะไรแต่แรก ฯลฯ

แต่พอได้ยินข่าวจากมิตรสหายหลายคนที่อยู่ที่ไทยที่ไปดูหนังมาแล้ว บางคนบ่นว่าแย่ บางคนกลับชมว่าดีกว่าที่คิดไว้มาก แต่ล้วนบอกว่าคนดูน้อยมาก และจากข่าวล่าสุดที่ที่พูดถึงรายได้ที่หนังเรื่องนี้ทำได้[1] ก็คิดว่าข่าวเรื่องโรงคนโล่งนั้นคงจะมีความจริงอยู่บ้าง เลยคิดว่าในเมื่อมันดูจะมีผลยืดยาวมานาน เขียนถึงสักหน่อยก็แล้วกัน

ประเด็นดราม่าของปั้นจั่นนับตั้งแต่เกิดเรื่องมีคนพูดมามากมายแล้วในแทบทุกมุม และฝั่งที่โกรธเกรี้ยวโกรธานั้นก็ไล่ขุดประวัติมาแล้วน่าจะแทบทุกเรื่องเท่าที่จะทำได้ เพราะฉะนั้นผมจะไม่พยายามไปซ้ำประเด็นเดิมมากนัก เว้นแต่เรื่องเดียวคือเรื่องความซวยของตัวปั้นจั่นเอง ที่คิดว่าควรจะย้ำให้ชัดแต่แรกเพื่อความแฟร์ต่อตัวปั้นจั่นเอง คือ เราต้องไม่ลืมกันนะครับว่าภายใต้เนื้อเรื่องทั้งหมดทั้งมวลนี้ ‘ปั้นจั่นซวย เพราะสเตตัสเฟซบุ๊กที่เป็นจุดเริ่มต้นของดราม่านั้น จริงๆ เป็นสเตตัสที่ตั้งค่าให้เห็นได้เฉพาะเพื่อนของเขาเท่านั้น ไม่ใช่สเตตัสสาธารณะเลย ฉะนั้นว่ากันแบบเบื้องต้นพื้นฐานที่สุดเลยนี่คือ ปั้นจั่นไม่ได้ผิดอะไรเลย ณ จุดนี้

ผมคงไม่ต้องไปพูดอภิปรายถึงประเด็นว่า “ทุกคนมีสิทธิมีความคิดเห็นของตนเองอย่างไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ได้ไปมุ่งร้ายหรือบังคับขู่เข็ญอีกฝ่ายให้ทำตามที่ตนต้องการ” แต่ที่ผมอยากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ หากเป็นการพูดในทางสาธารณะนั้น เราทุกคนก็อาจจะถูกกำหนดให้วางตัว หรือไว้ท่าทีบางอย่าง ตามแต่ละเงื่อนไขบริบท ณ ขณะนั้น แต่ก็มีกรอบหรือระเบียบในการวางท่าที น้ำเสียง และขอบเขตบางอย่างอยู่ เช่น บางคนอาจจะระวังเรื่องความถูกต้องทางการเมือง บางคนระวังเรื่องภาพลักษณ์และมารยาท บางคนระวังเรื่องจะโดนคุก หากพูดอะไรไม่ต้องกับขอบเขตที่ถูกบังคับไว้ เป็นต้น แต่นั่นคือในกรณีการพูดหรือสื่อสารในที่สาธารณะ

แต่เมื่อเราพูดกันในวงเพื่อนแล้วผมคิดว่าเป็นกันหมดแหละที่ระดับของ ‘กรอบ’ ที่ว่านี้จะคลายตัวลงบ้าง หรือมากๆ ในบางกรณี

แน่นอนว่าระดับของการตั้งค่าให้เห็นได้แต่เพื่อนในเฟซบุ๊กนั้น จะมาบอกว่า ‘ผ่อนคลายกรอบข้อบังคับ’ มากขนาดการนั่งเมาท์กับกลุ่มเพื่อนสนิทในที่รโหฐานนั้นก็คงจะไม่ถูกต้องมากนัก เพราะเพื่อนในเฟซบุ๊กหลายครั้งเราไม่ได้สามารถจัดระดับขั้นของความสัมพันธ์แบบชัดได้ขนาดนั้น แต่อย่างน้อยก็เป็นการแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า เรื่องนี้จงใจคุยเฉพาะกับเพื่อนนะ ไม่ได้จะสื่อสารกับสาธารณะ ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีปั้นจั่นหรอก แต่เราทุกคนก็พูดแบบผ่อนคลายและระวังตัวน้อยลงอยู่แล้ว

เวลาเราคุยกับคนที่อยู่ในกลุ่มเพื่อน (หรือโพสต์เฟซบุ๊กลักษณะนี้) บางทีเราก็จะโพสต์อะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเรา หรือความคิดที่เราไม่กล้าโพสต์ในทางสาธารณะมากกว่าเดิม เพราะเกรงจะเจอดราม่าได้ บางครั้งเราก็ไม่ได้พีซีนัก อย่างบางคนเป็นนักวิชาการ เป็นนักข่าว ที่เวลาโพสต์สาธารณะก็ต้องรักษาท่าทีและเป็นทางการ ระวังเรื่องการไม่คุกคามใครต่างๆ แต่พออยู่ในวงกับเพื่อนกลับกลายเป็นคนธรรมดาที่เมาท์คนนั้นสวย คนนี้หล่อ อยากได้คนนั้น อยากเอาคนนี้ มีกันหมดทั้งนั้น หรือบ่นไอ้คนนั้นโง่ ไอ้พวกนี้ง่าว ไอ้เหล่ากระโน้นไร้สมองจริงๆ ก็ย่อมมีเป็นธรรมดา ตั้งแต่นินทาเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ไปยันผู้นำประเทศ

ในลักษณะดังว่านี้ ผมจึงคิดว่ากรณีของปั้นจั่นไม่ควรจะโดนว่าอะไร หรือเป็นดราม่าแต่แรก เพราะความปากพล่อยแบบที่ปั้นจั่นทำ ว่ากันตรงๆ เราก็ทำกันหมดแหละในวงเพื่อน ตั้งแต่แรกผมจึงจงใจไม่เขียนถึงเรื่องนี้เลย กระทั่งในเฟซบุ๊กส่วนตัวก็ไม่มีการแชร์ข่าวเรื่องนี้ เพราะไม่เห็นว่าเป็นสาระอะไร และเมื่อมันไม่ใช่โพสต์สาธารณะแล้ว เค้าก็ไม่ควรจะต้องรับผิดชอบต่อการวิจารณ์อะไรด้วยนอกจากจากตัวกลุ่มเพื่อนของเค้า เพราะไม่ใช่ประเด็นที่เป็นสาธารณะ ที่เมื่อพูดหรือสื่อสารออกไปแล้วต้องพร้อมรับผิดชอบต่อการกระทำของตนจากทางสาธารณะเอง (ประเด็นเรื่องปริมณฑลส่วนตัว กับสาธารณะแบบพื้นฐานเลย)

กระนั้นก็ตาม เมื่อโพสต์เฉพาะเพื่อน (ซึ่งหากนับสถานะจริงๆ คงต้องถือว่าเป็น ‘กึ่งสาธารณะ’) ของปั้นจั่นได้ถูกทำให้กลายเป็นโพสต์สาธารณะไปแล้ว คนที่มาวิจารณ์เองก็ไม่ได้ผิดอีกนะครับ เพราะเมื่อประเด็นถูกทำให้สามารถเข้าถึงได้โดยทุกคนแล้ว เขาเองก็ย่อมสามารถจะเห็นและวิจารณ์มันได้โดยไม่ใช่ความผิดอะไรใดๆ ของเขาในฐานะที่ ‘ได้มาเห็น’ และ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับข้อความ ว่ากันตรงๆ ไอ้คนที่ผิดสุด (ในสายตาผม) ในเคสนี้คืออีเพื่อนปั้นจั่นที่เอาโพสต์เฉพาะเพื่อนมาแปะหราเป็นโพสต์สาธารณะนี่แหละ

แต่ต่อให้เรามองว่า ตัวข้อความคือโพสต์สาธารณะ โดยไม่ต้องไปสนใจที่มาเริ่มต้นว่าแท้จริงแล้วมันเริ่มมาจากโพสต์เฉพาะเพื่อน ทั้งหมดที่ปั้นจั่นโพสต์ก็ยังคงเป็นสิ่งที่โพสต์ได้อยู่ดี และผมไม่เห็นว่าอยู่นอกขอบเขตของการพูดในทางสาธารณะใดๆ

อาจจะเป็นด้วยอคติส่วนตัวของผมด้วยที่ผมเป็นคนสนับสนุนกับการให้พื้นที่สื่อสารที่ไม่จำเป็นต้องถูกต้องทางการเมืองอยู่แล้ว ฉะนั้นกรอบของสิ่งที่ควรพูดได้ในทางสาธารณะก็จะ ‘ผ่อนคลายกว่าคนทั่วๆ ไป’ มากสักหน่อย เพียงแค่ว่าหากจะมองว่าโพสต์ของปั้นจั่นกลายเป็นโพสต์สาธารณะไปแล้ว ก็แน่นอนว่าย่อมต้องรับผิดชอบต่อความเห็นต่างๆ การชื่นชมหรือวิจารณ์ (กระทั่งด่าทอ) และความเกื้อหนุนหรือการต่อต้านไป ซึ่งแน่นอนว่าการตัดสินใจจะไปดูหรือไม่ดูหนังของเค้าด้วยเหตุผลนี้นั้นก็เป็นสิทธิของคนดูอย่างชัดเจนแน่นอน

ในกรณีที่มองว่ากรณีนี้เป็นเรื่องสาธารณะจะมีความต่างจากกรณีเฌอปรางและดารานักแสดงต่างๆ รับงานจาก คสช. สักเล็กน้อยอยู่ เพราะในกรณีนั้นเป็นเรื่องของการตัดสินใจทำงาน ซึ่งในบางครั้งพิสูจน์ชัดยากถึงการเป็นการตัดสินใจในทางส่วนตัว บางครั้งงานถูกรับโดยทางเอเจนซี่ ผ่านบริษัท หรือบางครั้งผู้จัดการก็คัดเลือกงานให้เอง หรือแม้แต่ในกรณีที่ดารานักแสดงนักร้องตัดสินใจรับงานด้วยตัวเอง ก็ยังมีคำอธิบายเรื่องความจำเป็นทางเศรษฐกิจได้ด้วยอีกว่า สุดท้ายแล้วคนก็ต้องทำมาหากิน ถ้าจะอ้างแบบนี้ว่าใครก็ตามที่รับเงินจากรัฐบาลนั้นสนับสนุนเผด็จการหมด แบบนี้ข้าราชการทุกคนก็ต้องโดนประณามด้วยไหม? ว่าง่ายๆ คือ ในกรณีแบบการรับงานมีความไม่ชัดเจนในตัวถึงสถานะของการตัดสินใจ ซึ่งบางครั้งการตัดสินใจในทางการงานไม่ได้สะท้อนอุดมการณ์ความคิดส่วนบุคคลในทางส่วนตัวเสมอไป

แต่ในเคสของปั้นจั่น (ที่หากมองว่านี่คือโพสต์สาธารณะ) เป็นเคสที่ปฏิเสธไม่ได้เลยถึงความชัดเจนในฐานะ ‘ข้อคิดเห็นในฐานะปัจเจกบุคคล’ ของตัวปั้นจั่นเองที่มีต่ออุดมการณ์ความคิดทางการเมืองและคนกลุ่มต่างๆ ของสังคม ซึ่งต่างจากกรณีการรับงานของรัฐบาลอย่างที่ว่าไว้ข้างต้น ในกรณีนี้ปั้นจั่นจึงสามารถถูกวิจารณ์ได้โดยไร้ซึ่งความคลางแคลงใจใดๆ ต่อสายตาสาธารณะว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัวของเขาต่อเรื่องนี้จริงๆ หรือไม่ ไม่ได้มีข้อถกเถียงที่พยายามจะโต้แย้งอะไรให้อย่างกรณีดารานักแสดงรับงานมากนัก

อย่างไรก็ตามความเห็นของนักวิชาการบางกลุ่มที่อาจจะไม่แพร่หลายต่อสาธารณะมากนัก แต่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือ การเปรียบเทียบกรณีของปั้นจั่นที่โดนคนรุมด่า โดยยกเปรียบเทียบกับคำพูดของอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา ซึ่งเคยเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่งเป็นระยะเวลาหลายปี ที่ว่า “คุณอย่าคิดอะไรมาก ประเทศนี้ไม่ใช่ของคุณ อยู่ๆ ไปเถอะคิดซะว่าเช่าเค้าอยู่ ทำงานหาเงิน ใช้ชีวิตให้มันมีความสุขไป สิ้นเดือนรับตังค์ แดกข้าว…” (ซึ่งผมต้องย้ำเช่นกันนะครับว่านี่คือบทสนทนาของ อ.ธเนศกับมิตรสหายในวงเหล้า ซึ่งมันมีเซนส์ของการพูดหยอกล้อด้วย) หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมตอนอาจารย์ธเนศพูด คนกลับแห่ชื่นชมชอบพอในประโยคเด็ดนี้ แต่พอปั้นจั่นที่เป็นดาราพูด คนกลับรุมด่าปานไปเหยียบหน้าญาติสนิทเรามา?

ผมคิดว่าคำถามนี้น่าสนใจ คือทั้งถูกต้องและผิดฝาผิดตัวไปพร้อมๆ กัน หากอ่านเผินๆ แล้ว เราจะพบว่าประโยคของอาจารย์ธเนศกับของปั้นจั่นนั้น เนื้อความโดยรวมๆ ต่างกันน้อยมาก แต่เพราะคนหนึ่งเป็นนักวิชาการผู้รอบรู้และปราดเปรื่องเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันหรือ พูดออกมาแล้วคนจึงยอมรับ แต่พอไม่มีหัวโขนดังว่าแล้ว คนจะมองประโยคลักษณะเดียวกันต่างไป โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นดารานักแสดง? นี่คือจุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจ

เพราะถ้าเป็นแบบนี้เท่ากับว่าฝั่งสังคมเราเองหรือเปล่าที่สร้างสถานะพิเศษให้กับหัวโขนแต่ละหัวเป็นการเฉพาะมากเกินไป จนสุดท้ายแล้วมาทำหน้าที่ในการ 'ลดทอน และหรือ สร้างอภิสิทธิ์’ ให้กับการมีเสรีภาพของปัจเจกภายใต้หัวโขนนั้นๆ เป็นการเฉพาะตามมา จุดนี้ผมคิดว่าเราน่าจะต้องคิดกับมันต่อไป และผมจะมาพูดต่อในตอนท้ายอีกทีครับ

อย่างไรก็ดีจุดที่ผมมองว่าการเปรียบเทียบนี้ผิดฝาผิดตัวไปมากก็เพราะว่า แม้คำพูดอ่านเผินๆ แล้วจะดูมีเนื้อความที่คล้ายกัน แต่ผมมองว่าสารหลักในประโยคของ อ.ธเนศ นั้น แฝงการวิพากษ์วิจารณ์ต่อตัวอำนาจนำในสังคมมากอยู่ โดยเฉพาะท่อนที่บอกว่า “คิดซะว่าเช่าเค้าอยู่” สะท้อนอย่างดีว่า ภายใต้กลไกการทำงานของประเทศนี้ ประชาชนแทบไม่เคยอยู่ในสมการของอำนาจและการปกครองเลย (ดูจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา คู่กับ ปปช., กกต, สว. และศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงจะพอได้) ว่าอีกแบบก็คือในประเทศนี้แม้ตัวเราจะ ‘อยู่ในพื้นที่นี้ ดูจะทำอะไรนั่นนี่ได้ แต่ความเป็นเจ้าของ หรือ ownership ของประเทศมันไม่เคยอยู่ที่ประชาชนอย่างเราเลย’ เราจึงเสมือนเช่าเค้าอยู่ ฉะนั้นผมคิดว่าจุดต่างสำคัญนี้แหละที่สร้างความต่างของคำพูดของทั้งสองคนเป็นการสำคัญมาก เพราะแม้สุดท้ายทั้งคู่จะไปสู่ผลลัพธ์แบบเดียวกันคือ “เออ กูไม่มีปัญญาจะไปสู้กับมันหรอก ยอมละ ทำมาหาแดกแล้วหาความสุขใส่ชีวิตต่อไปดีกว่า” แต่ที่มาต้นทางของความคิดนั้น ผมคิดว่าต่างกันมากอยู่ นี่จึงเป็นจุดที่ผมเห็นว่าการเทียบเคียงนี้ของนักวิชาการบางคนออกจะไม่แฟร์นัก

ทีนี้ย้อนกลับมาที่เรื่องหัวโขนอีกที ผมคิดว่านี่ต่างหากล่ะที่เป็นความผิดปกติจริงๆ ของบ้านเรา คือ ความเป็นดารานักร้องนักแสดงนั้น ถูกดึงให้แยกขาดจากพื้นที่ของการแสดงออกด้านความเห็นทางการเมืองอย่างมากเกินไป หรือหากจะว่ากันแบบชัดๆ ขึ้น อย่างน้อยๆ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความเห็นทางการเมืองแทบจะแบบเดียวที่ถูกอนุญาตให้แสดงออกได้โดยฝั่งดารานักแสดงคือความคิดแบบอนุรักษ์นิยม แบบคลั่งชาติคลั่งสถาบันฯ หรือกระทั่งสนับสนุนเผด็จการ มีน้อยกรณีมากที่ดารานักแสดงจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทางฝ่ายซ้าย ประชาธิปไตยเสรีนิยม ฯลฯ ออกมาอย่างชัดเจน หรือหากมีออกมา โดยมากก็มักจะโดนแบนกันไป อย่างหนึ่งในวาทกรรมที่ทรงพลังที่สุดทางการเมืองไทยสมัยใหม่เองอย่าง “บ้านของพ่อ” ก็เริ่มต้นจากพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เป็นต้น จนกระทั่งในช่วงปีหลังนี่แหละที่ผมคิดว่า ‘กระแสเรื่องนี้ไม่ได้สามารถพูดได้แค่ด้านเดียวอีกต่อไป’ แต่แนวคิดแบบฝั่งประชาธิปไตยเสรีเอง ก็เริ่มมีฐานที่มั่นให้พูดได้มากขึ้นแล้ว (ส่วนหนึ่งอาจจะต้องขอบคุณคนอย่างจอห์น วิญญู ด้วย)

อย่างไรก็ดี ผมยังคิดว่าโดยเปรียบเทียบแล้วดารานักแสดงที่กล้าพูดแนวคิดที่ยืนอยู่บนฟากเสรีประชาธิปไตยนั้น ก็ยังน้อยกว่าฝั่งอนุรักษ์นิยมเผด็จการมากอยู่ (ซึ่งในความเป็นจริงก็อาจจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ได้ คือ ดาราส่วนใหญ่นิยมชมชอบอุดมการณ์แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย เพียงแค่ผมไม่มีข้อมูล) ซึ่งปั้นจั่นเองก็ชัดเจนว่าจัดวางตัวเค้าเองอยู่ในกลุ่มหลัง และนั่นก็เป็นสิทธิที่เค้าจะทำได้

แต่ด้วยหัวโขนที่สังคมดูจะแยกห่างดารานักแสดงออกจากการพูดเรื่องการเมืองในทางสาธารณะเกินไปนี่แหละครับ ผมคิดว่ามันเลยถูกสร้างสถานะพิเศษขึ้นเมื่อใครสักคนตัดสินใจพูดออกมา

ผมคิดว่าในสังคมตะวันตกนั้น การที่ดารานักร้องนักแสดงออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องปกติมากๆ แล้ว ทั้งฝั่งที่เชียร์เดโมแครต และรีพับลิกันต่างก็พูดเปิดอกได้หมด ดราม่ามีบ้าง แต่ผมกลับรู้สึกว่าอย่างมากก็แค่ประเดี๋ยวประด๋าวและไม่ได้มีผลกระทบอะไรยิ่งใหญ่จริงๆ แบบในกรณีของไทย ว่าอีกแบบก็คือ ‘ความคิดเห็นทางการเมืองของดารานักแสดงไม่ได้มีสถานะพิเศษอะไรขนาดที่ต้องไปให้ความสนใจเป็นพิเศษมากนัก’ อาจจะพิเศษกว่าคนอื่นสักเล็กน้อยในฐานะว่า ’เออ เป็นคนดังกว่า’ แต่โดยมากก็เท่านั้น

ตรงกันข้ามกับกรณีของไทย ที่หากมีใครสักคนพูดออกมา ด้วยสถานะพิเศษที่ไม่ต้องตรงกับหัวโขนที่ถูกจัดวางนักนี่เอง สื่อต่างพากันประโคมข่าวให้ความสนใจชนิดล้นเกิน สังคมก็ดูจะสนใจตามแบบทวีคูณขึ้นไปอีก ถ้าว่ากันบ้านๆ ก็คือ สถานะพิเศษนี้ทำให้ ‘การกระทำที่ปกติธรรมดามากๆ ของเหล่าดารานักแสดงอย่างการแสดงความเห็นทางการเมืองถูกให้ราคามากจนเกินไป มากจนเกินกว่ามูลค่าของตัวสารมันเอง’ และโดยมากแล้ว หากพูดออกมาแล้วกลายเป็นดราม่า ส่วนใหญ่วิธีการแก้ไขก็คือ “ขอโทษครับ ผมผิดไปแล้ว ต่อไปจะไม่พูดแล้ว” ซึ่งก็เป็นทางออกที่เข้าใจได้แหละในฐานะอาชีพที่ต้องหากินกับกระแสของสังคมและภาพลักษณ์ที่มีต่อแฟนคลับ แต่ผมคิดว่าการหาทางออกหรือทางลงแบบนี้ยิ่งทำให้ปัญหานี้หยั่งรากลึกขึ้นไปอีก

ที่ว่าแบบนั้นก็เพราะ การเจอดราม่าโหมเข้ามา แล้วบอกขอโทษ แล้วก็หลบมุมเงียบไปยิ่งเป็นการเสริมอำนาจให้กับ ‘กรอบที่ผูกไว้กับหัวโขนของความเป็นดารานักแสดง’ ที่ว่าไม่ควรจะมาพูดเรื่องการเมืองหรืออยู่ห่างกับการเมือง (เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นกับ ‘เด็กๆ’ เหมือนกัน ว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เด็กๆ ไม่รู้เรื่องหรอก) ฉะนั้นการออกมาขอโทษและเงียบหายไปทำตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกยิ่งจะทำให้สถานะแบบนี้เลวร้ายยิ่งขึ้นไป เพราะสุดท้ายเท่ากับทางฝั่งดาราเองก็ยอมรับการเซ็นเซอร์ตัวเองนี้ ไม่ใช่แค่ตัวสังคมที่เข้าสร้างเงื่อนไขให้การเซ็นเซอร์การหุบปากเงียบกลายเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดเท่านั้น

วิธีการแก้ไขนั้นผมกลับคิดว่าตรงกันข้ามเลยครับ ไม่ต้องออกมาขอโทษอะไร หากคิดว่าสิ่งที่ตัวเองพูดนั้นมันไม่ผิด เชื่อแบบนั้นจริงๆ ก็ลุยพูดมันออกมาไปเรื่อยๆ นั่นแหละ

อย่างกรณีชมพู่ที่มีดราม่าเล็กๆ จากการถ่ายรูปกับจอห์น วิญญู ก็ตอกกลับด้วยการยืนยันในความไม่ได้ผิดอะไรของตัวเองและไม่ยี่หระ หรือคนหนึ่งที่ผมไม่เคยเห็นด้วยในความเห็นทางการเมืองของแกเลยอย่างดี้ นิติพงษ์ ห่อนาคนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมยอมรับในตัวแกก็คือ ต่อให้แกโดนด่าจากการพูดคุยกับแม่ประไพอย่างไร ก็ไม่ได้แคร์ แกก็พูดในสิ่งที่แกเชื่อต่อไป ซึ่งก็ดีแล้ว (คนด่าคนวิจารณ์อันเป็นสิทธิก็ด่าก็ทำต่อไปนะครับ) เพราะพอทำไปเรื่อยๆ จากที่ตอนแรกสื่อให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะ ‘เป็นเหตุการณ์แบบที่นานๆ จะเกิดที เพราะขัดกับจริตหัวโขนการเป็นดารา’ หลังๆ ดี้แกพูดบ่อยๆ เข้า คนก็ไม่ได้สนใจมากอะไรเป็นพิเศษนัก เพราะสถานะของการพูดทางการเมืองของแกนั้นถูก ‘ทำให้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว’ ฉะนั้นก็เฉพาะครั้งที่พูดอะไรมีประเด็นจริงๆ เท่านั้นแหละ ถึงจะกลายมาเป็นข่าว ซึ่งมันก็ควรจะเป็นแบบนั้น

กรณีแบบปั้นจั่นเองก็เช่นเดียวกัน แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ปั้นจั่นพูดเลย และพูดราวกับว่าที่ผ่านมาคนไม่ได้ทำมาหากิน หรือที่เรียกร้องจะเป็นจะตายกันอยู่นี้ ส่วนหนึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องการทำมาหากินและปากท้องด้วยเลยนั้น เอาตามตรงเป็นความเห็นทีไม่สมเหตุสมผลเลย แต่หากปั้นจั่นเชื่อแบบนั้นจริงๆ ไม่ต้องขอโทษครับ พูดย้ำๆ ออกมาเรื่อยๆ นี่แหละ และชวนเพื่อนๆ ดารานักแสดงของคุณทั้งวงการนี่แหละให้ทำลายช่องว่างระหว่างหัวโขนนักแสดงกับการแสดงความเห็นทางการเมืองลงเสีย ให้การพูดหรือสื่อสารเรื่องพวกนี้ของพวกคุณกลายเป็น ‘เรื่องปกติธรรมดาที่มันทำได้’ ไม่ต่างจากคนอื่นๆ การหาทางลงด้วยการยอมจำนนและเซ็นเซอร์ตัวเอง หรือหากพูดด้วยภาษาปั้นจั่นก็คือ การยอมจำนนแล้วกลับไปทำมาหากินลูกเดียวนั้น ไม่ได้ช่วยให้ปัญหานี้ดีขึ้นเลย รังแต่จะยิ่งแย่ลง

เอากันตรงๆ เลย ไอ้การต้องมาเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อให้อยู่รอดได้ในสังคมมีอยู่ในทุกสังคม ไม่ว่าจะเสรีประชาธิปไตย หรือเผด็จการ แต่ต่างกันที่ความมากน้อย และไม่ต้องสงสัยเลยว่าในสังคมแบบใดที่คนจำเป็นจะต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมากกว่ากัน หนักหน่วงกว่ากัน มันก็คือสังคมเผด็จการนิยม อำนาจนิยม อนุรักษ์นิยมนั่นแหละครับ ยิ่งอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมแฝงอยู่มากเท่าไหร่ ระดับการต้องเซ็นเซอร์สร้างกรอบ สร้างระยะให้กับตัวเอง การมีบทบาทเฉพาะของหัวโขนตัวเองอย่างหนักหน่วงนั้นก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นด้วยนั่นเอง

กล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือ ปั้นจั่นดูจะตกเป็นเหยื่อใน 2 ประการสำคัญ (1) คือ เพื่อนเฮงซวยของเค้าเองที่เอาโพสต์เฉพาะเพื่อนออกมาสู่สาธารณะ และ (2) มรดกตกทอดของวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมนี้ ซึ่งเอาจริงๆ ก็คือวัฒนธรรมของอุดมการณ์ที่ตัวปั้นจั่นเองสนับสนุนอยู่นั่นแหละครับ

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] โปรดดู https://www.dailynews.co.th/entertainment/716178

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0