โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สุจิตต์ วงษ์เทศ/พระเจ้าเสือไปเขาพนมยงค์ หินกอง หนองแค สระบุรี สร้างวัดเจ้าฟ้าในนิราศของสุนทรภู่

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 19 ม.ค. 2563 เวลา 14.07 น. • เผยแพร่ 19 ม.ค. 2563 เวลา 14.06 น.
สปด88-89-2056.indd
พนมโยง [ปัจจุบันเรียก เขาพนมยงค์] ชื่อเนินโขดเตี้ยๆ อยู่ทางทิศตะวันออกของพระนครศรีอยุธยา มีในแผนที่ไตรภูมิ [หนังสือ “สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1” กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542 หน้า 93]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระเจ้าเสือไปเขาพนมยงค์

หินกอง หนองแค สระบุรี

สร้างวัดเจ้าฟ้าในนิราศของสุนทรภู่

 

สุนทรภู่ตามลายแทงไปหายาอายุวัฒนะที่ “วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” [หินกอง หนองแค สระบุรี] บอกไว้ในหนังสือนิราศวัดเจ้าฟ้า แต่งสมัย ร.3

“เจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” คือ พระเจ้าเสือ [โอรสพระเพทราชา] แห่งกรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุผล ดังนี้

  • “เจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่แห่งฟ้าซึ่งเป็นที่พึ่งของปวงเทพบนสวรรค์ [เจ้าฟ้า คือ เจ้าแห่งฟ้า หมายถึง กษัตริย์, อากาศ แปลว่า ท้องฟ้า, นาถ แปลว่า ที่พึ่ง, นรินทร์ หมายถึง เทวดาบนสวรรค์]
  • สอดคล้องพระนามพระเจ้าเสือ [ไม่เป็นทางการ] ว่า “พระสุริเยนทราธิบดี” แปลว่า พระอาทิตย์ผู้เป็นใหญ่แห่งสวรรค์ เป็นที่รับรู้อยู่ในคำให้การชาวกรุงเก่า และคำให้การขุนหลวงหาวัด
  • อีกพระนามหนึ่งของพระเจ้าเสือ มีในคำให้การชาวกรุงเก่า ว่า “นรามรินทร์” เข้ากันได้กับ “นาถนรินทร์” ในสร้อยนามของชื่อวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์

 

ลายแทงโดยสุนทรภู่

 

“เจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” หมายถึงพระเจ้าเสือ ซึ่งสุนทรภู่ “เจตนา” บอกเป็นรหัสหรือลายแทงไว้ก่อนแล้วในชื่อ “เจ้าฟ้าพระกลาโหม” หมายถึงพระเพทราชา อยู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้า ตอนกล่าวถึงวัดพนัญเชิง อยุธยา

วัดพนัญเชิง เป็นแลนด์มาร์กไปวัดเจ้าฟ้า เมื่อนั่งเรือจากกรุงเทพฯ ทวนแม่น้ำเจ้าพระยาถึงอยุธยา พอผ่านหน้าวัดพนัญเชิงต้องเลี้ยวขวาเข้าคลองสวนพลู ซึ่งเป็นคลองเชื่อมไปลำน้ำอื่นๆ เข้าถึงบริเวณจะไปวัดเจ้าฟ้า สุนทรภู่แต่งกลอนนิราศอย่างจงใจบอกตั้งแต่แรกเลยว่า “มาถึงวัดพนัญเชิงเทิงถนัด ว่าเป็นวัดเจ้าฟ้าพระกลาโหม”

“วัดเจ้าฟ้าพระกลาโหม” ชื่อวัดล้อกันกับ “วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” เหมือนจงใจบอกว่าเป็นชื่อเครือเดียวกัน หรือเทือกเถาเดียวกัน

“เจ้าฟ้าพระกลาโหม” หมายถึง พระเพทราชา ที่เคยเป็นใหญ่ควบคุมกำลังอยู่กลาโหม ตำแหน่ง “พระกลาโหม” ก่อนได้ราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

[บทความเรื่อง “วัดพนัญเชิง : ความทรงจำที่ปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้า” ของ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (มหาวิทยาลัยรามคำแหง) พิมพ์ในเอกสารประกอบการบรรยายพิเศษ เรื่อง วัดเจ้าฟ้าในนิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่อยู่ที่ไหน? จัดโดยศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักวรรณกรรมฯ กรมศิลปากร วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน 2557]

 

พระเจ้าเสือ เสด็จเขาพนมยงค์

 

พระเจ้าเสือเคยเสด็จประพาสเขาพนมยงค์ (เขาพนมโยง) นมัสการพระเจดีย์บนยอดเขา แล้วประทับอยู่นาน (คราวเดียวกัน และประทับอยู่ 3 วัน เท่ากันกับคราวเสด็จพระพุทธบาท และพระพุทธฉาย)

แสดงว่าเขาพนมโยงต้องมีความสำคัญเป็นพิเศษ มีบอกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาดังนี้

“เสด็จยกพลนิกายบ่ายหน้าไปโดยปุรพทิศและเสด็จประพาสไปถึงเขาพนมโยง จึงเสด็จขึ้นนมัสการพระเจดียฐานบนยอดเขานั้น และเสด็จประทับอยู่ที่นั้นอีกสามเวร จึงเสด็จยกพลแสนยากรร้อนแรมประพาสไปในวนาประเทศทั้งปวงสิ้นสองสามเวร—-”

 

ซากวัดร้าง บนเขาพนมยงค์

 

บริเวณเขาพนมยงค์ มีซากวัดร้างยุคอยุธยาตั้งแต่ตีนเขาถึงยอดเขา พบฐานโบสถ์เก่าอยู่ตีนเขา กับมีซากเจดีย์อยู่ยอดเขา มีถ้ำอยู่บนเขาด้านตะวันออกเฉียงเหนือ แต่หินทลายปิดปากถ้ำแล้ว

[จากหนังสือ แหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับเส้นทางเดินทัพ และเส้นทางติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนฯ ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2538 หน้า 49-54]

 

เขาพนมยงค์-เขาพนมโยง

 

เขาพนมยงค์มีชื่อเดิมสมัยอยุธยาว่าเขาพนมโยง หมายถึงเนินหินขนาดใหญ่ที่โยงเข้ากับเชิงเขาโบสถ์-เขาโปร่งแร้ง [ทิวเขาสามหลั่น (เขาปัถวี หรือเขาพุทธฉาย)] เป็นเหตุให้ปัจจุบันเรียก หินกอง

[หรือหมายถึงเนินหินที่เชื่อมโยงทิวเขาศักดิ์สิทธิ์โดยรอบ ได้แก่ ถ้ำพระโพธิสัตว์ เขาทับกวาง, พระพุทธฉาย เขาปัถวี]

พบหลักฐานชื่อ “เขาพนมโยง” เป็นลายลักษณ์อักษร อย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่

[1.] แผนที่ไตรภูมิ สมัยอยุธยา-ธนบุรี และ [2.] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

เขาพนมโยง เป็นเขาเตี้ยๆ เชื่อมโยงต่อกันหลายลูก อยู่บ้านหินกอง อ.หนองแค จ.สระบุรี ต่อมามีถนนพหลโยธินตัดผ่าน แล้วถูกระเบิดหินพังทลายกร่อนหายไปอีกหลายส่วน ปัจจุบันเหลือเป็นเนินเตี้ยๆ ฝั่งตะวันออกชื่อเขาพนมยงค์ ฝั่งตะวันตกชื่อเขาน้อย

เขาพนมโยงเป็นแลนด์มาร์กสมัยก่อน เพราะเป็นภูเขาเตี้ยๆ มองเห็นแต่ไกล โผล่กลางทุ่ง แล้วต่อเป็นพืดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงพระพุทธฉาย

 

คำบอกเล่า

 

ชื่อวัดและเรื่องราวความเป็นมาของวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ล้วนได้จากคำบอกเล่าในลายแทงจากเมืองเหนือที่สุนทรภู่บอกในนิราศวัดเจ้าฟ้า

“เมืองเหนือ” ของราชสำนักอยุธยา ได้แก่ เมืองในรัฐสุโขทัย ได้แก่ สุโขทัย, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, ตาก, กำแพงเพชร, เพชรบูรณ์, พิจิตร, นครสวรรค์ และอาจหมายถึงพิจิตร เพราะเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับพระเจ้าเสือ พบในคำบอกเล่าหลายสำนวน

“เมืองเหนือ” ไม่ใช่ภาคเหนือทุกวันนี้ ถ้าจะหมายถึงภาคเหนือ ต้องเรียกล้านนาหรือโยนก

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0