โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สื่อมวลชน : บุคคลแห่งปี 2018 ของนิตยสารไทม์

new18

อัพเดต 11 ธ.ค. 2561 เวลา 22.50 น. • เผยแพร่ 11 ธ.ค. 2561 เวลา 22.50 น. • new18
สื่อมวลชน : บุคคลแห่งปี 2018 ของนิตยสารไทม์
นิตยสารไทม์อันทรงอิทธิพลของสหรัฐ ประกาศยกย่องผู้สื่อข่าว 4 คน และหนังสือพิมพ์ 1 ฉบับ ให้เป็น “บุคคลแห่งปี 2018” จากการยืนหยัดต่อสู้เพื่อความจริง ถึงแม้ว่าต้องเผชิญหน้ากับการเข่นฆ่าและความรุนแรง

นิตยสารไทม์อันทรงอิทธิพลของสหรัฐ ประกาศยกย่องผู้สื่อข่าว 4 คน และหนังสือพิมพ์ 1 ฉบับ ให้เป็น “บุคคลแห่งปี 2018” จากการยืนหยัดต่อสู้เพื่อความจริง ถึงแม้ว่าต้องเผชิญหน้ากับการเข่นฆ่าและความรุนแรง

ผู้สื่อข่าวทั้ง 4 คน และหนังสือพิมพ์ ซึ่งไทม์เรียกรวมว่า “กลุ่มผู้พิทักษ์” ประกอบด้วย นายจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย ที่ถูกสังหาร, น.ส.มาเรีย เรสซา ผู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์ ที่ถูกจับกุม และผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ชาวเมียนมา 2 คน คือนายว้า โลน และนายจอ โซ อู ที่ถูกคุมขังนานเกือบปี และหนังสือพิมพ์แคปิตอล แกเซตต์ ในเมืองแอนนาโปลิส รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งคนร้ายบุกยิงเสียชีวิต 5 ศพ ภายในกองบรรณาธิการ เมื่อเดือนมิถุนายน
นายเอ็ดเวิร์ด เฟลเซนธาล บรรณาธิการบริหารนิตยสารไทม์ เขียนบทความว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นตัวแทนการต่อสู้ของสื่อมวลชนอื่น ๆ นับไม่ถ้วนในทั่วโลก ซึ่งเผชิญความเสี่ยงทุกรูปแบบ ในการบอกเล่าเรื่องราวในยุคสมัยของเรา นับถึงวันที่ 10 ธ.ค. มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 52 รายถูกฆาตกรรมในปี พ.ศ. 2561
นิตยสารไทม์เลือกบุคคลเหล่านี้เพราะ “เผชิญความเสี่ยงอย่างยิ่งยวด ในการเสาะหาความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่า ความจริงที่เป็นศูนย์กลางการสนทนาของพลเมือง เสาะหาความจริงเพื่อเปิดเผยแบบหมดเปลือก”

คาช็อกกี นักเขียนบทความของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ และอาศัยอยู่ในสหรัฐ ถูกฆ่าเมื่อ 2 เดือนก่อน หลังจากเข้าไปในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ในเมืองอิสตันบูลของตุรกี เพื่อขอรับเอกสารสำหรับการแต่งงาน คาช็อกกีเคยเขียนบทความวิจารณ์เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียอย่างถึงพริกถึงขิง
เรสซา นักหนังสือพิมพ์ที่เคยคว้ารางวัลชาวฟิลิปปินส์ พร้อมด้วยเว็บไซต์ข่าวของเธอ ซึ่งวิจารณ์รัฐบาลของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ถูกกระทรวงยุติธรรมฟิลิปปินส์ ตั้งข้อหาหลีกเลี่ยงภาษี และเธอกล่าวอ้างว่าการกล่าวหาเธอเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง

ส่วนนายว้า โลน และนายจอ โซ อู ถูกคุมขังในเมียนมานานเกือบปี หลังทำการสอบสวนการสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮีนจา ทั้ง 2 คน ถูกรัฐบาลเมียนมาดำเนินคดี วันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ภายใต้กฎหมายความลับทางราชการ ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ซึ่งเป็นคดีที่ถูกมองว่า เป็นบททดสอบเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยในเมียนมา
ขณะที่ ผู้สื่อข่าว 4 คน และพนักงานฝ่ายขาย 1 คน ถูกยิงเสียชีวิตโดยคนร้ายรายหนึ่ง ภายในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แคปิตอล แกเซตต์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ไทม์ขึ้นหน้าปกผู้สื่อข่าว 4 คน แบบแยกเล่มกันเป็น 4 เล่ม ซึ่งเล่มหนึ่งเป็นภาพของภรรยาของนักข่าวรอยเตอร์ที่ถูกคุมขังในเมียนมา เป็นภาพสวมกอดกันและกัน ขณะที่มือของพวกเธอก็ถือภาพถ่ายของสามี
จากข้อมูลที่รวบรวมโดยกลุ่มซีพีเจ ตลอดปี พ.ศ. 2560 มีผู้สื่อข่าวทั่วโลกถูกสังหาร 46 คน ส่วนปี 2559 ถูกสังหาร 50 คน และ 73 คนในปี 2558 และในปี 2560 มีผู้สื่อข่าวทั่วโลกถูกจำคุก 262 คน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0