โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สื่อฝรั่งลากไส้สหรัฐฯเห็นเงินสำคัญกว่าชีวิตมนุษย์ กดดันไทยไม่ให้แบนสารเคมีอันตราย

Manager Online

เผยแพร่ 11 พ.ย. 2562 เวลา 16.30 น. • MGR Online

การ์เดียน - สื่อมวลชนอังกฤษ'การ์เดียน" เผยแพร่บทความตีแผ่ด้านมืดของรัฐบาลสหรัฐฯของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุเห็นเงินทองผลกำไรมาก่อนชีวิตมนุษย์ ด้วยการกดดันไทยไม่ให้แบนยากำจัดวัชพืชที่ใช้สารเคมีของ 2 บริษัทสมาชิกดัชนีดาวโจนส์อย่าง ซินเจนทาและมอนซานโต

ในบทความที่เขียนโดยคารีย์ กิลแลม ได้เขียนเหน็บแนมว่าคงเป็นวันที่มืดมนสำหรับคนอเมริกา หากว่าพวกผู้นำต่างชาติจำเป็นต้องเรียกบรรดาเจ้าหน้าที่สหรัฐฯเข้าไปรับฟังคำบรรยายชี้ให้เห็นว่าความสำคัญของสุขภาพประชาชนต้องมาก่อนผลกำไรของบริษัท แต่เวลานี้มันเกิดขึ้นแล้ว ดังจะเห็นได้จากกรณีที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังกดดันไทยไม่ให้แบน 3 สารเคมีกำจัดวัชพืช แม้ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นที่ยืนยันแล้วว่าเป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็กและประชากรที่อ่อนแออื่นๆ

บทความระบุต่อพวกผู้นำของไทยเผยว่าในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ มาตรการแบนจะมีผลบังคับใช้กับ "คลอร์ไพริฟอส" สารเคมีการเกษตรที่ผลิตโดยดาวเคมิคอล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าก่อความเสียหายแก่สมองเด็ก, “พาราควอต” สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของซินเจนทา ซึ่งพวกนักวิทยาศาสร์บอกว่าเป็นต้นตอของโรคพาร์กินสัน และถูกแบนในยุโรปมาตั้งแต่ปี 2007 และ "ไกลโฟเซต" ของมอนซานโต ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับโรคมะเร็งและปัญหาสุขภาพอื่นๆ

กิลแลมระบุว่าทั้งดาวเคมิคอล, ซินเจนทาและมอนซานโต ต่างฝ่ายต่างควบรวมกิจการกันและกัน ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีความใหญ่โตมหึมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กุมอำนาจอยู่ในวอชิงตันเพื่อเดินหน้าทำเงินในตลาดยาฆ่าแมลง อย่างไรก็ตามพวกเขาชักไม่ถูกชะตากับบรรดาผู้นำของต่างชาติ ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆเกี่ยวกับความอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีต่อสุขภาพมนุษย์

ผู้เขียนกล่าวว่าไทยเป็นหนึ่งในหลายสิบประเทศทั่วโลกที่ทั้งแบนหรือกำลังแบนคลอร์ไพริฟอส, พาราควอต และ ไกลโฟเซต โดยในไทยนั้น ทางคณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติเมื่อเดือนก่อน ให้แทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด สืบเนื่องจากอันตรายต่างๆที่สามารถพิสูจน์ได้จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

การตัดสินใจของพวกผู้นำในไทยมีแรงจูงใจส่วนหนึ่งมาจากผลวิจัยที่พบว่าการใช้สารเคมีเหล่านี้ในภาคการเกษตร ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ชีวิตเกษตรกรตกอยู่ในความเสี่ยงเท่านั้น แต่มันเป็นอันตรายกับพวกผู้บริโภคด้วย เนื่องจากพวกมันจะตกค้างอยู่ในผลไม้, ผัก, ธัญพืชและอาหารอื่นๆ

ในบทความระบุว่าในสหรัฐฯ การตกค้างของสารเมีเหล่านี้เป็นเรื่องปกติมากในซัพพลายอาหารภายในประเทศ โดยที่ทางสำนักงานอาหารและยาเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน พบว่ามากกว่า 84% ของผลไม้, 53% ของผัก และ 42% ของธัญพืช ภายในสหรัฐฯที่จำหน่ายแก่พวกผู้บริโภค ล้วนแต่มีสารเคมีตกค้าง

คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบของสหรัฐฯในภาคอุตสาหกรรมนี้ พยายามกลบกระแสความกังวลด้วยการยืนยันว่าการบริโภคอาหารที่มีสารพิษตกค้างนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล และยืนยันว่าความเสี่ยงใดๆที่เกษตรกรต้องเผชิญนั้นสามารถบรรเทาได้จากการฝึกใช้งานอย่างถูกต้อง, สวมชุดป้องกันและใช้มาตรการอื่นๆ

บทความชิ้นนี้ได้อ้างรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยที่ระบุว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้ส่งเสียงเตือนไทยว่าคำสั่งแบนจะก่ออุปสรรคต่อผลตอบแทนทางการค้า ในขณะที่สหรัฐฯมีความผิดหวังอย่างยิ่งโดยเฉพะากับการแบนไกลโฟเซต กระตุ้นให้ฝ่ายไทยต้องออกมาชี้แจงว่าเป้าหมายที่ให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทย

กิลแลมบอกว่าคำขู่ดังกล่าวของสหรัฐฯเป็นเรื่องน่าละอาย แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเท่าไหร่ที่ได้เห็นรัฐบาลของทรัมป์กำลังทำงานเพื่อปกป้องไกลโซเฟตและสารพิษอื่นๆ เนื่องจากนำพากำไรมหาศาลมาสู่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ในขณะที่บริษัททั้งหลายในอุตสาหกรรมสารเคมีล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริจาครายใหญ่แก่กลไกทางการเมืองที่ควบคุมวอชิงตัน และพวกเขาก็ต่างคาดหวังช่องทางในการทำเงินเป็นการตอบแทน

ผู้เขียนยกตัวอย่างว่าคลอร์ไพริฟอส มีกำหนดถูกแบนจากการใช้งานในภาคการเกษตรของสหรัฐฯตั้งแต่ 2 ปีก่อน แต่พอทรัมป์ก้าวเข้าสู่อำนาจ ทางสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ(อีพีเอ) ตัดสินใจเลื่อนดำเนินการใดๆไปจนถึงอย่างน้อยปี 2020

หน่วยงานแห่งนี้อ้างว่ากำลังอยู่ระหว่างอัพเดทการประเมินความเสี่ยงของพาราควอต และกำลังขอความคิดเห็นจากประชาชนจนถึงวันที่ 16 ธันวาคม แต่ความจริงนี้ดูเหมือนว่ามันจะได้รับอนุญาตให้ใช้ต่อไป ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่าง ในขณะที่เมื่อช่วงต้นปี ทางอีพีเอย้ำอีกครั้งว่าพวกเขาไม่พบความเสี่ยงทางสุขภาพใดๆที่เกี่ยวข้องกับไกลโฟเซต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0