โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

สึนามิตกงานปลายปี 1.5 ล้านคน ชง 10 ข้อเสนอ แก้ปัญหาลอยแพ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 13 ก.ค. 2563 เวลา 02.24 น. • เผยแพร่ 11 ก.ค. 2563 เวลา 11.02 น.
THAILAND-ECONOMY
AFP PHOTO/ Saeed KHAN

แรงงานภาคอุตสาหกรรมเจอสึนามิของจริง เสี่ยงตกงานเพิ่มอีก 1.5 ล้านคนช่วง 5 เดือนหลัง ทั้งปีรวมกว่า  3 ล้านคน ด้าน แรงงานนอกระบบประกันสังคมอีก 12 ล้านคน เสี่ยงตกงานอีกเพียบ  ส.อ.ท.เสนอรัฐ 10 มาตรการแก้ปัญหาว่างงาน  วอนต่ออายุจ่ายเงินชดเชยประกันสังคม 62% ตามมาตรา 33 ถึงสิ้นปี ช่วยนายจ้างรับมือสึนามิคนตกงาน ชี้ถ้าไม่มีเงินช่วยเหลือใหม่เข้ามาต้องปิดโรงงานลอยแพคนงานแน่

แม้ว่าประเทศไทยจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ทางเศรษฐกิจและสังคมลง หลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญยังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐ-สหภาพยุโรปมีคำสั่งซื้อสินค้าลดลง การชะลอการลงทุนในไทย ไปจนกระทั่งถึงมาตรการ “จำกัด” การเดินทางที่ส่งผลกระทบมาถึงภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทยและนำมาสู่ปัญหาการปิดกิจการและการจ้างงานโดยตรง

รอดโควิดแต่เหมือนคนป่วย

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน (ส.อ.ท.) กล่าวถึงทิศทางการจ้างงานว่า ขณะนี้มีแนวโน้มการเลิกจ้างแรงงานมากขึ้น แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลายลง แต่การแพร่ระบาดทั่วโลกยังมีความรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐ-สหภาพยุโรป ที่ส่งผลเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยไปยังประเทศเวียดนามมากขึ้นด้วย

“ไทยมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ได้ดีมาก เรายอมแลกเศรษฐกิจกับความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องถูกต้อง ทำให้รอดจากโควิดอย่างสวยงาม แต่คนอื่นยังป่วย ทำให้เราก็เหมือนป่วยเหมือนประเทศอื่น ๆ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.5 ล้านคนเข้ามาในประเทศไทยไม่ได้เลย อาจจะเหลือแค่ 9 ล้านคน ไทยยังส่งออกไปประเทศอื่นไม่ได้ ซึ่งตัวเลขนี้คิดเป็น 75% ของ GDP เป็นการส่งออกสินค้า 55% ที่เหลือเป็นท่องเที่ยวและแบ่งอีกได้ว่า เที่ยวในประเทศ 8% ต่างประเทศ 12% ฉะนั้นการหนุนท่องเที่ยวไทยจึงไม่สามารถหารายได้มาชดเชยได้ อีกเรื่องที่น่าห่วงก็คือ ผู้ประกอบการไทยและต่างชาติในประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น ย้ายฐานการลงทุนออกไปยังประเทศเวียดนามไม่ใช่น้อย ๆ ส่งผลให้เราจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์แรงงาน จะทำอย่างไรเพื่อดึงดูดนักลงทุนไว้ให้ได้”

เสี่ยงตกงานเพิ่มอีก 1.5 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงปลายปี จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า“เมนช็อก (main shock)” หรือเกิดสึนามิของจริงในภาคธุรกิจ เนื่องมาจากเศรษฐกิจในประเทศยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ ทางอนุกรรมการแรงงาน ส.อ.ท.คาดการณ์ว่า จะมีผู้ว่างงานภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน จาก ณ เดือนมิถุนายนคาดว่า มีจำนวนผู้ว่างงาน 2 ล้านคนเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธุรกิจ SMEs น่าห่วงที่สุด” จากในปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 3 ล้านราย แต่ยังมีการจ้างแรงงานอยู่ถึง 12 ล้านคน ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่เป็นภูเขาน้ำแข็ง แต่ยังไม่สามารถฟันธงไปได้ว่าจะมีจำนวนเท่าไร แต่ถือว่ารุนแรง เพราะ SMEs กลุ่มนี้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

“เดิมที่ผมเห็นข้อมูลคาดว่าจะมีแรงงานเสี่ยงตกงานจากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ กกร.ใช้แถลงจำนวน 8.4 ล้านคน แบ่งเป็น ภาคบริการ4.4 ล้านคน ภาคท่องเที่ยว 2.5 ล้านคน และภาคอุตสาหกรรม 1.5 ล้านคนแต่เรามีข้อมูลประกันสังคมที่ยืนยันได้ว่าณ เดือนมิถุนายน 2563 มีแรงงานที่ตกงานไปแล้ว 850,000 คน จากเดือนเมษายนที่มี 319,824 คน และยังมีกลุ่มว่างงานชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัยที่ขอรับเงินชดเชยตามมาตรา 33 ประกันสังคมจ่าย 62% อีก 2.1 ล้านคน 3 เดือนกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม โดยคาดว่ากลุ่มนี้จะกลับมาทำงาน 50% หรือ 1 ล้านคน และมีกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวที่ตกงานได้รับชดเชย 75% ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอีก 500,000-600,000 คน รวม 2 ล้านคนเศษ ซึ่งหากนำมารวมกับยอดคาดการณ์จำนวนผู้ตกงานเพิ่ม 1.5 ล้านคน คิดเป็นตัวเลขกลม ๆ ก็ประมาณไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคนแน่” นายสุชาติกล่าว

ทั้งนี้ ในภาพรวมประเทศไทยมีจำนวนแรงงานในประเทศทั้งหมด 38.5 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66-67 ล้านคน และหากแยกตามประเภทแรงงานเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศมีจำนวน 6.5 ล้านคน ซึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ คิดเป็น 30% ของ GDP

“แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมทั้งหมด 11 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้มีปัญหาอยู่ประมาณ 2 ล้านคนเศษดังกล่าว เราได้การสำรวจว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือด้านประกันสังคมในการเยียวยาผลกระทบ5% เพราะมีเงื่อนไขกำหนดว่า หากหยุดไม่ถึง 30 วัน จะไม่เข้าเกณฑ์ใช้ประโยชน์ ทำให้เอกชนที่ยังสามารถปรับลดเวลาการทำงานเพราะผลิตอยู่บางส่วนนั้นไม่สามารถใช้สิทธิขอรับเงินชดเชยได้ แต่หลังจากเดือนสิงหาคมไปแล้วจะเห็นภาพการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นแน่นอน” นายสุชาติกล่าว

ขอขยายชดเชย ม.33 ถึงสิ้นปี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการหารือกับภาครัฐถึงการเตรียมมาตรการรับมือการว่างงานในระยะเร่งด่วน โดยขอให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยการขยายระยะเวลาจ่ายชดเชยการว่างงานชั่วคราวตามมาตรา 33 จ่าย 62% ซึ่งเดิมจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม ออกไปอีก 150 วัน หรือไปถึงสิ้นปี 2563 โดยหากคำนวณเฉลี่ยประกันสังคมช่วยจ่ายอยู่ที่คนละ 6,000 บาท 5 เดือนรวมเป็นคนละ 30,000 บาท คิดเป็นวงเงินรวม 90,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยหากเทียบกับวงเงินประกันสังคมที่มีอยู่ 1.74 ล้านล้านบาท

“เหตุที่เสนอให้ขยายระยะเวลาการจ่ายชดเชยตามมาตรา 33 ออกไป เพราะเราเห็นแล้วว่าสึนามิจะมาในเดือนสิงหาคม เราต้องรับมือด้วยการใช้ประกันสังคมมาซัพพอร์ต เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาถูกเลิกจ้างมากขึ้น วิธีนี้ช่วยทั้งลูกจ้างและนายจ้างให้ยังมีชีวิตสามารถอยู่ต่อไปได้ หากปีหน้าฟ้าใหม่กลับมาทำธุรกิจก็จ้างต่อได้ แต่หากรัฐบาลไม่ช่วยผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการอยู่ไม่ไหว เดือนสิงหาคมก็จบกันแค่นี้ ต่างคนต่างไป เจ้าของอาจจะคิดสั้นไปเลย ถึงขั้นลอยแพคนงานก็เป็นได้”

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอให้ขยายระยะเวลาจ่ายชดเชยตามมาตรา 33 ถือเป็น 1 ใน 10 ข้อเสนอด้านการเยียวยาและการฟื้นฟูด้านแรงงานในนาม ส.อ.ท. ที่เสนอต่อรัฐบาลเพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงการคลัง ส่วนข้อเสนออีก 9 ข้อที่เหลือประกอบด้วย 1) อนุญาตให้ปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ40-41 บาท/ชม. ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชม./วัน เรื่องนี้จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อแก้ไขกฎหมายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 2) ขอปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เหลือร้อยละ 0.01 3) จัดสรรกองทุนเยียวยา
ผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้างโดยให้เงินเยียวยาแก่ลูกจ้างผ่านนายจ้าง

4) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี 5) อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาต (ซึ่งถูกเลิกจ้างเนื่องจากการเลิกกิจการ) สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ชั่วคราว 6) ขอให้ภาครัฐรับรองการอบรม online เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดอบรม ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อเพิ่มทางเลือกในรูปแบบการฝึกอบรมและลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ 7) จัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงาน upskill/reskill เพื่อรองรับงานในอนาคต โดยควรจะมีการพิจารณาเพิ่มงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีงบประมาณ 30 ล้านบาท ควรเพิ่มเป็น 3,000-5,000 ล้านบาท โดยให้ภาคเอกชนร่วมเป็นผู้นำในการปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงานเพื่อดึงดูดการลงทุน

8) ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง จากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 1 และขยายระยะเวลาลดเงินสมทบประกันสังคมของลูกจ้างเหลือร้อยละ 1 โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา

และ9) ขยายมาตรการนำค่าจ้างพนักงานมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่าจนถึงสิ้นปี 2563 โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเรื่องจำนวนลูกจ้างต้องไม่น้อยกว่าจำนวนลูกจ้าง ณ วันสุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562 มาตรการเดิม หักรายจ่ายได้ในเดือน เม.ย.-ก.ค. 2563 เฉพาะ SMEs

ส่วนการให้ความช่วยเหลือแรงงานในกลุ่มนอกประกันสังคมของ SMEs 12 ล้านคน ตอนนี้ยังไม่มีมาตรการอะไร เพียงแต่รัฐบาลเตรียมออกกองทุนให้ผู้ประกอบการกู้เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ รวมถึงการจ้างงาน ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0