โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สิงห์ชนช้าง เขย่าพอร์ตโรงแรม กินยาวรับทัวริสต์โต

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2562 เวลา 01.00 น.

     ในอดีตเราอาจจะเห็นภาพการหํ้าหั่นกันในธุรกิจนํ้าเมา ของ 2 ยักษ์ใหญ่ ทั้ง“สิงห์” และ“ช้าง” แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าทั้ง 2 บิ๊กธุรกิจ ต่างหันมาขยายพอร์ตการลงทุนในหลากหลายด้านมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านฮอสพิทาลิตี ซึ่งที่ผ่านมาจะเป็นไปในลักษณะการลงทุนสร้างโรงแรม เพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยว มาวันนี้ชัดเจนว่าธุรกิจนี้จะเป็นอีกหนึ่งเรือธง ที่ถูกผลักดันให้เกิดการขยายพอร์ตโรงแรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

   หลังจาก “สิงห์เอสเตท” ของตระกูลภิรมย์ภักดี และ“ทีซีซี แลนด์” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศนำบริษัทที่กุมบังเหียนด้านนี้ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก(IPO) ภายในปีนี้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ โฟกัสการบริหารงานแบบมืออาชีพ รวมถึงการสร้างรายได้แบบต่อเนื่องหรือที่เรียกว่า recurring income ให้แก่ธุรกิจ เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติใกล้จะทะลุ 40 ล้านคนต่อปีแล้ว และการท่องเที่ยวของโลกก็มีแนวโน้มเติบโต 6-7% ต่อปี

รร.ในมือรวม90 แห่งทั่วโลก

       การก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมของ“สิงห์เอสเตท” เพิ่งเริ่มมาได้เพียง 5 ปี นับจากปี 2557 ที่เข้าไปซื้อและบริหาร 2 โรงแรมในสมุย คือ สันติบุรี สมุย และพีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ บีช รีสอร์ท จากนั้นก็ได้ขยายการลงทุนมาก มาย โดยโฟกัสไปที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการไปร่วมลงทุนกับบริษัทฟิโก้ คอร์ปอเรชั่นฯ ในสัดส่วน 50 :50 ภายใต้บริษัท เอฟเอส เจวี โค จำกัด ซื้อโรงแรมในสหราชอาณาจักรรวม 29 แห่งช่วงปี 2558-2559

      ตามมาด้วยการทยอยลงทุนกว่า 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตั้งแต่ปี 2560 ในการพัฒนา โครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ ที่ทำเป็น Tourist Facilities และสร้างโรงแรมใน 3 เกาะของมัลดีฟส์ ที่จะทยอยเปิดให้บริการในส่วนที่เกาะ 1 และเกาะที่ 2 ภายในปีนี้ ได้แก่ โรงแรม SAii Lagoon Maldives, Curio Collection by Hilton และโรงแรม Hard Rock Hotel Maldives รวมถึง Marina @ CROSSROADS

   

 โดยทั้ง 3 เกาะเป็นการเช่า ต่อมาจากบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด จากทั้งหมดที่บุญรอดได้สัมปทานจากรัฐบาลมัลดีฟส์มาพัฒนาทั้งหมดรวม 9 เกาะ และในปี 2561 สิงห์เอสเตท ก็ไปซื้อ 6 โรงแรมภายใต้แบรนด์เอาท์ริกเกอร์ ใน 4 ประเทศทั้งในไทย, ฟิจิ, มอริเชียส, มัลดีฟส์ ส่งผลให้วันนี้สิงห์เอสเตท มีพอร์ตโรงแรมในมือรวมกว่า 39 แห่งรวมห้องพักกว่า 4,271 ห้อง

      “ทีซีซี แลนด์” ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ในการลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของทีซีซี กรุ๊ป เฉพาะธุรกิจด้านโรงแรม คนไทยรู้จักมายาวนาน กับโรงแรมของเสี่ยเจริญ ที่เริ่มต้นด้วยแบรนด์โรงแรมในเครืออิมพีเรียล จากนั้นก็จัดตั้งบริษัททีซีซีโฮเทลส์ กรุ๊ปฯ(ชื่อเดิม: ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์) เพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ปัจจุบันมีโรงแรมและรีสอร์ตภายใต้การบริหารกว่า 51 แห่งใน 11 ประเทศรวมจำนวนห้องพักกว่า 1 หมื่นห้อง โดยใช้หลากหลายแบรนด์บริหารโรงแรมจากต่างประเทศเข้าบริหาร

 ดังนั้นเมื่อรวมจำนวนโรงแรมของทั้ง 2 บิ๊กธุรกิจนี้ รวมกันแล้วมีกว่า 90 แห่งทั่วโลก รวมห้องพักกว่า 1.49 หมื่นห้อง

 

 

 

2 บิ๊กอสังหาฯปรับโครงสร้าง

       ทั้ง 2 บิ๊กธุรกิจ ยังคงเดินหน้าปักหมุดขยายพอร์ตโรงแรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับโครงสร้างใหม่ และจ่อขายหุ้น IPO ภายในปีนี้ ซึ่งบมจ.สิงห์เอส เตท ชู“เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท” กุมธุรกิจโรงแรม พร้อมจะนำบริษัทเอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด(มหาชน) หรือ SHR ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 1.7 หมื่นล้านบาท ชำระแล้ว 1 หมื่นล้านบาท เข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯและเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 1,437.75 ล้านหุ้น

     อีกทั้งสิงห์ เอสเตท ยังคงถือหุ้นใหญ่ใน SHR ไม่ตํ่ากว่า 51% เพราะปัจจุบันรายได้ของเอสโฮเทล คิดเป็น 40% ของสิงห์เอสเตท หรือราว 8 พันล้านบาท จากรายได้รวมสิงห์เอสเตทซึ่งอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท

           ส่วนทีซีซีตั้งบริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด(มหาชน) หรือ AWC ซึ่งมีทั้งธุรกิจโรงแรมและรีเทล อยู่ภายใต้การดูแล โดยมีทายาทเสี่ยเจริญ "วัลลภา ไตรโสรัส"กุมบังเหียน ที่คัดเฉพาะพอร์ตโรงแรมคัดมา 15 แห่งในพื้นที่ไพร์มโลเคชั่นรวมห้องพักกว่า 4,960 ห้องมาเข้าพอร์ต เพื่อนำบริษัทนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะเปิดขาย IPO จำนวน 6,957 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์)หุ้นละ1 บาท ภายในปีนี้(ตารางประกอบ) (ไม่รวมโรงแรมที่อยู่ภายใต้การบริหารของ AWC เช่น ฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพฯ สาทร, โรงแรมแบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์, โรงแรม ภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา, ในยางบีช) อีกทั้งในอนาคตAWC ก็สามารถนำที่ดินหรือธุรกิจโรงแรมที่มีศักยภาพในกลุ่มทีซีซี แลนด์ มาพัฒนาต่อได้

        ปัจจุบันรายได้ของ AWC ในส่วนของธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 60% และรีเทลอยู่ที่ 40% จากรายได้รวมที่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท และหลังการขายหุ้น AWC จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ไม่เกิน 3.2 หมื่นล้านบาท

รุกIPOขยายโรงแรม

       ส่วนแผนการขยายธุรกิจ หลังการขาย IPO ทาง SHR ก็มอง จะลงทุนโรงแรมอย่างต่อเนื่อง เน้นเป็นผู้ลงทุนโรงแรมและบริหารรีสอร์ตระดับพรีเมียม ในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมต่างๆ ทั่วโลก

           การลงทุนจะมีทั้งการซื้อและเข้าไปรับบริหารเอง การรับบริหาร และซื้อแบรนด์อื่นมา บริหาร(แฟรนไชส์) หรือร่วมลงทุนซึ่งปีนี้ SHR มีแผนลงทุนอย่างน้อย 4-5 พันล้านบาท เช่นการพัฒนาเกาะที่ 3 ในโครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ ทั้งมีเป้าหมายขยายโรงแรมจาก 39 แห่ง เพิ่มเป็น 75 แห่งในปี 2568

 

       ขณะที่ AWC นอกจากเปิดโรงแรมอยู่แล้ว 10 แห่ง ก็ยังอยู่ระหว่างพัฒนาอีก 5 แห่งรวม 1,528 ห้อง ได้แก่ เดอะเมโทรโพล ภูเก็ต, อิมพีเรียล โบ๊ทเฮ้าส์ บีช รีสอร์ท(รีแบรนด์เป็น มีเลีย สมุย), แบงค็อก แมริออท เดอะเอเชียทีค, อินไซด์ แบงค็อก สุขุมวิท, บันยันทรีกระบี่

     นอกจากนี้ AWC ยังอยู่ระหว่างการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทที่เป็นเจ้าของโรงแรม 12 แห่ง(ดำเนินการแล้ว 4 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนาหรือมีแผนในการพัฒนา 8 แห่ง) โดยโรงแรมของบริษัทอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวสำคัญในไทย ที่จะพัฒนาในช่วง 5 ปีนี้ ซึ่งจะทำ ให้มีห้องพักเพิ่มเป็น 8,500 ห้อง

     สมรภูมิในธุรกิจโรงแรม จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในการเปิดเกมรุกของทั้งสิงห์และช้างที่เกิดขึ้นจากนี้

รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3479 วันที่ 16-19 มิถุนายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0