โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สำรวจ 5 พฤติกรรม ยิ่งทำบ่อย ยิ่งเข้าใกล้มะเร็งไม่รู้ตัว

LINE TODAY

เผยแพร่ 24 ก.พ. 2563 เวลา 04.59 น.

ใครที่เคยคิดว่ามะเร็งเป็นเรื่องไกลตัว ขอให้รีบเปลี่ยนความคิดซะเดี๋ยวนี้ เพราะจริง ๆ แล้วมะเร็งเป็นเรื่องของการไม่ดูแลตัวเองบวกกับพันธุกรรม ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 70,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 ราย

อีกสถิติหนึ่งที่น่าสนใจก็คือคนไทยเสียชีวิตเพราะป่วยเป็นมะเร็งมากกว่าตายเพราะอุบัติเหตุ ดังนั้นมะเร็งจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะแค่พฤติกรรมที่เราทำกันเป็นประจำก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งให้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ที่สำคัญมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ โดยมากระยะเริ่มแรกของโรคมักจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ หรือหากมีก็จะมีอาการที่เป็นลักษณะทั่วไปที่เหมือนกับไม่เป็นอะไรมาก เช่น ปวดท้อง แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เพราะฉะนั้นผู้ป่วยจึงไม่รู้ตัวและมารู้อีกทีก็ต่อเมื่อระยะลุกลาม รักษาไม่ได้แล้ว

ลองมาสำรวจพฤติกรรมสุดเบสิกที่หลายคนทำกันเป็นประจำดูว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเพราะมีพฤติกรรมเหล่านี้ด้วยหรือไม่..

1. นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ

รู้กันอยู่แล้วว่าร่างกายคนเราต้องการการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ถ้านอนน้อยหรือนอนไม่เป็นเวลาจะส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์และประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยตรง ที่สำคัญถ้านอนไม่พอบ่อย ๆ เข้าก็ทำให้เสี่ยงเป็นโรคและมีปัญหาสุขภาพได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และที่สำคัญเสี่ยงเป็นมะเร็งบางชนิดด้วย

โดยเฉพาะมะเร็งตับ เพราะเมื่อนอนน้อย ภูมิต้านทานร่างกายจะลดต่ำลง เกิดความเครียด ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ในกรณีที่มีการติดเชื้อเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน จะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่ภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับได้

นอกจากมะเร็งตับแล้ว การพักผ่อนไม่พออาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วย ยิ่งถ้านอนวันละ 6 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้นก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นถึง 62% เพราะฮอร์โมนที่สมองผลิตออกมาขณะหลับมีบทบาทสำคัญในการป้องกันมะเร็งเต้านมจากการจำกัดปริมาณการหลั่งเอสโตรเจน ที่เป็นตัวการหลักทำให้เป็นมะเร็งเต้านม

ดังนั้นการนอนไม่พอที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทำกันเป็นประจำจึงกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ ไปแบบไม่รู้ตัวนั่นเอง

2. กินไม่เลือก

การกินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเราเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ ยิ่งกินไม่เลือก กินเยอะ กินจุ กินหนัก กินแต่ของไม่มีประโยชน์ แถมยังไม่เคยออกกำลังกาย ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้ตัวเองมากขึ้น

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่ามีโอกาสพบสารก่อมะเร็งปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่เรากินอยู่เป็นประจำ และสารเหล่านั้นก็เป็นอาหารอันโอชะที่มะเร็งชอบซะด้วย

  • อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ ป๊อปคอร์น
  • อาหารหมักดอง เช่น ผลไม้ดอง ผักกาดกระป๋อง
  • อาหารปิ้งย่าง รมควัน เช่น หมูกระทะ หมูย่าง เนื้อย่าง ไก่ย่าง
  • อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น แหนม กุนเชียง ไส้กรอก เบคอน แฮม โบโลน่า
  • อาหารทอด เช่น มันฝรั่งทอด กล้วยทอด ปาท่องโก๋ เนื้อสัตว์ทอด
  • อาหารไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน
  • อาหารปนเปื้อนเชื้อรา เช่น เมล็ดธัญพืช ถั่วลิสง ผลไม้อบแห้ง พริกแห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ

สารก่อมะเร็งพวกนี้จะไปสะสมอยู่ในร่างกายทำให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ สุดท้ายก็ทำให้เป็นโรคต่าง ๆ นั่นเอง

3. ปาร์ตี้เก่ง ทั้งดูด ทั้งดื่ม

น่าจะรู้กันอยู่แล้วว่าบุหรี่และแอลกอฮอล์น่ากลัวแค่ไหน โดยเฉพาะคนที่นอนไม่ค่อยพอ กินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ แล้วถ้าสูบบุหรี่พ่วงดื่มเหล้าจัดเข้าไปด้วย คงไม่ต้องบอกว่าจุดจบจะเป็นโรคอะไรบ้าง

พฤติกรรมเหล่านี้สำหรับคนไทยถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็เป็นกัน แต่ถ้าไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค อย่างน้อยก็ควรงดดื่ม งดดูด เพราะดื่มเหล้าหนักก็เสี่ยงมะเร็งตับ สูบบุหรี่หนักก็เสี่ยงมะเร็งปอด ซึ่งในระยะแรกจะมีอาการทั่วไป เช่น มะเร็งปอดจะไอแห้ง มีเสมหะ หายใจหอบ เสียงแหบ ส่วนมะเร็งตับระยะแรกไม่มีอาการ แต่จะแสดงอาการเมื่ออยู่ในระยะลุกลามแล้วเท่านั้น ดังนั้นการตรวจพบจึงมักอยู่ในระยะรุนแรง ทำให้โอกาสรอดชีวิตมีน้อยกว่ามะเร็งชนิดอื่น

4. เครียดกับทุกสิ่งอย่าง

ความเครียดเป็นอีกหนึ่งตัวการร้ายที่ทำให้คนเราเป็นโรคได้สารพัด ปกติร่างกายคนเรามีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งกันอยู่แล้ว ทั้งจากการกินอาหาร ได้รับฮอร์โมน พันธุกรรม ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ร่างกายจะสามารถกำจัดสารพวกนี้ทำให้ไม่เกิดมะเร็งได้ แต่เมื่อคนเราเครียดก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถขจัดสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้

ถึงแม้ความเครียดจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่แน่นอนว่าความเครียดทำให้เกิดมะเร็งได้โดยตรง แต่ที่แน่ ๆ ก็คือความเครียดส่งผลต่อการขยายขนาดและแพร่กระจายของเนื้องอก ดังนั้นไม่ว่ายังไงเราต้องรู้จักจัดการกับความเครียดไม่ให้มีผลกระทบกับร่างกายและจิตใจ

5. กินฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด

มะเร็งบางชนิดไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่ที่แน่ ๆ คือมะเร็งเกิดจากการได้รับฮอร์โมนบางชนิดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น มะเร็งเต้านมที่ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร แต่จากผลวิจัยระบุว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงอาจเป็นสารกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมให้มีการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้น และทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม

สำหรับผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดเป็นประจำ ต้องรู้ด้วยว่าในยาคุมมีฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ไม่ต้องตกใจกลัวเกินเหตุ เพราะฮอร์โมนในยาคุมอยู่ในร่างกายของเราไม่นาน ถ้าไม่กินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือไม่มีความเสี่ยงอื่น ๆ มาคอยหนุน เช่น กรรมพันธุ์ สภาพร่างกาย อาหารการกิน ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่ายาคุมจะทำให้เป็นมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

นอกจากพฤติกรรทำบ่อยเหล่านี้แล้ว อย่างที่บอกว่ามะเร็งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ที่สำคัญก็คือมะเร็งบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ คนที่มีญาติพี่น้องเคยเป็นมะเร็ง ถึงแม้จะรักษาหายแล้วก็ถือว่ามีความเสี่ยง ดังนั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่เราจะเพิ่มความเสี่ยงเข้าไปอีกด้วยพฤติกรรมทำร้ายตัวเองแบบนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0