โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิเคราะห์สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯ ผ่านมุมมองการแพทย์สมัยใหม่

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 20 พ.ค. 2566 เวลา 11.01 น. • เผยแพร่ 19 พ.ค. 2566 เวลา 00.10 น.
ภาพปก-กรมหลวงชุมพร
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

หากใครสักคนตั้งคำถามว่า“ใครคือเสด็จเตี่ย” ผู้คนส่วนใหญ่คงจะทราบดีว่าเสด็จเตี่ย หมายถึง พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (ในบทความนี้ผมขอใช้ “กรมหลวงชุมพร”) ซึ่งพระองค์ได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” และต่อมาได้แก้ไขเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 จากพระกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก [1]

กรมหลวงชุมพรทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 ทรงเป็นต้นราชสกุลอาภากร [1]

พลเรือโท ศรี ดาวราย สันนิษฐานว่า การที่นักเรียนนายเรือพากันเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” มาจากการที่พระองค์ทรงขัดดาดฟ้าให้นักเรียนนายเรือใหม่ๆ ที่ฝึกภาคทางทะเลบนเรือหลวงพาลีรั้งทวีปดูเป็นแบบอย่าง ในปี พ.ศ. 2462 หลังจากที่ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนเหล่านั้นทำงานนี้ด้วยท่าทางเงอะงะเก้งก้าง โดยตรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า “อ้ายลูกชาย มานี่เตี่ยจะสอนให้” [2]

กรมหลวงชุมพรทรงถูกออกจากราชการในปี พ.ศ. 2454

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระประวัติของกรมหลวงชุมพร ซึ่งมีตอนหนึ่งกล่าวถึงพระสุขภาพของพระองค์ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงชุมพรเป็นผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออยู่ได้เพียง 1 ปี ว่า

“…กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ทรงสบาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกเป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว [1] จนถึงปีมะเส็ง พ.ศ. 2460 จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นตำแหน่งจเรทหารเรือ…”[3]

ตามคำสั่งกองทัพเรือที่ลงพระนามโดย พลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ความว่า

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ออกเปนนายทหารกองหนุน
————————————–
ที่ ๒๔ / ๑๓๐
๐๐๔๗๔
แพนกปกครอง

วันศุกรที่ ๑๔ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ มีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งเหนือเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเรือตรีพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้ช่วยเสนาบดี กระทรวงทหารเรือ แลเจ้ากรมยุทธศึกษา ออกจากตำแหน่งหน้าที่ราชการประจำ เปนนายทหารกองหนุน รับพระราชทานเบี้ยหวัดตามพระราชบัญญัติ ส่วนหน้าที่เจ้ากรมยุทธศึกษาซึ่งว่างลงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเรือตรีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ ผู้บัญชาการ กรมทหารชายเทล เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษา แลคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่เดิมนั้นด้วยสนองพระเดชพระคุณสืบไป

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐ เปนต้นไป

บริพัตร
นายพลเรือเอก เสนาบดี

ซึ่งในกรณีที่กรมหลวงชุมพรทรงออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุนเมื่อต้นรัชกาลที่ 6 นั้น คุณศรัณย์ ทองปาน กลับมีความเห็นต่างออกไป โดยเห็นว่า

“…ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 เกิดเหตุนายทหารเรือผู้หนึ่งเมาสุราในร้านอาหารสันธาโภชน์ ที่ตำบลบ้านหม้อ แล้วเกิดวิวาทกับมหาดเล็กหลวง ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงพิโรธดังความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

‘…ปรากฏชัดว่าได้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตร์ฟุ้งสร้านจนนับว่าเสื่อมเสียวินัยและนามของทหาร… สมควรจะลงโทษให้เป็นตัวอย่าง…’

ประกอบมีข่าวลือว่า กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์กับกรมขุนนครสวรรค์วรพินิต กำลังวางแผนก่อกบฏ ชิงราชสมบัติ โดยแม้ว่าพระองค์ทรงออกจากราชการแล้ว ทางการก็ยังให้ตำรวจท้องที่คอยติดตามการเคลื่อนไหวของพระองค์…” [2]

ผมเห็นด้วยกับ คุณศรัณย์ ทองปาน ว่า กรมหลวงชุมพรไม่น่าจะทรงถูกให้ออกจากราชการเพราะเหตุ พระพลานามัย เพราะหากพระองค์ทรงออกจากราชการเพราะประชวรจริง ก็ไม่ควรจะทรงพาครอบครัวล่องเรือใบไปเรื่อยๆ จนครั้งหนึ่งทรงพบกับวาตภัยที่รุนแรง ทั้งฝน ทั้งลมงวง ดังนั้น เมื่อลมสงบจึงทรงเปลี่ยนพระทัยกลับกรุงเทพฯ ซึ่งปรากฏในบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระราชธิดาของพระองค์ ที่ คุณศรัณย์ ทองปาน ได้อ้างไว้ในหนังสือของท่านอีกทีหนึ่ง [2]

และอีกประการหนึ่งผมได้พบหลักฐานสำคัญอันหนึ่งเกี่ยวกับกรณีกรมหลวงชุมพรทรงออกจากราชการ ของ น.อ. สวัสดิ์ จันทนี ร.น. ที่ได้เขียนบรรยายไว้ในหนังสือนิทานชาวไร่ [5] ความว่า

“…ในหลวงทรงกลัวว่าเสด็จเตี่ยจะชิงสมบัติเอาไปให้กรมพระนครสวรรค์ เพราะเรื่องนี้ดูลือกันหนาหู

…แต่ข้าพเจ้า [น.อ.สวัสดิ์ จันทนี ร.น. – ผู้เขียน] นึกในใจว่า เสด็จเตี่ยเอาจริงๆ คุณถวิล [ร.ท. ถวิล เสถียรสวัสดิ์ ร.น. เป็นข้าราชบริพารของท่านหญิงทิพยสัมพันธ์ ซึ่งเป็นชายาของกรมหลวงชุมพร – ผู้เขียน] ก็บอกว่าท่าจะเอาจริง ๆ

…เมื่อออกจากราชการแล้วนี่สิ เรืองน่าจะเอาจริงๆ ก็ชักจะเป็นรูปเป็นรอยขึ้น คุณถวิลบอกว่าดีแต่ หลวงพ่อวัดมะขามเฒ่าห้ามไว้ โดยเตือนสติว่า “ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อย่าไปขัดท่านเลย” คุณถวิลเล่าว่า “เสด็จเตี่ยทรงได้สติถึงลงกราบพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 6 แต่จะกราบเวลาใดวันใดได้ซักไซ้แล้วก็บอกว่าจำไม่ได้” [5] และเมื่อพิจารณาจากคำสั่งกองทัพเรือไม่ได้เขียนว่าให้กรมหลวงชุมพรออกจากราชการเพราะเหตุใด แต่ไม่ได้เขียนว่าเพราะพระพลานามัยไม่แข็งแรง

โดยสรุปผมคิดว่า สาเหตุสำคัญที่กรมหลวงชุมพรทรงถูกออกจากราชการ น่าจะเกิดจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงกลัวว่ากรมหลวงชุมพรจะก่อการกบฏ ไม่ใช่จากเหตุพระพลานามัยของพระองค์ไม่แข็งแรง

ทรงกราบบังคมลาออกจากราชการ พ.ศ. 2466

หลังจากที่เสด็จกลับมารับราชการอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2460 แต่ต่อมาพระองค์ทรงออกจากราชการอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2466 แต่คราวนี้ทรงลาออกเองโดยสมัครใจ ซึ่ง คุณอัจฉรา ทองรอด ได้เขียนเกี่ยวกับกรณีนี้ในหนังสือ “ทหารเรือ หมอยา คาถา ศิลปิน” ความว่า

…พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระองค์ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงทหาร ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466 แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันทรงกราบบังคมลาราชการออกไปเพื่อรักษาพระองค์จากพระอาการประชวร” [1]

ส่วน คุณศรัณย์ ทองปาน เขียนไว้ว่า“เสด็จในกรมฯ [กรมหลวงชุมพร – ผู้เขียน] ได้กราบบังคมลาราชการออกไปตากอากาศเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ เนื่องจากทรงประชวรพระโรคภายใน…” [2]

พระองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่ด้านใต้ปากน้ำเมืองชุมพร อันเป็นที่ที่ทรงจองไว้จะทำสวน ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่ชุมพร ประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่เนื่องจากถูกฝน ประชวรอยู่เพียง 3 วันก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ ตำบลหาดทรายรี สิริพระชันษาได้ 44 ปี [1], [2]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์กรณีสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรในพระประวัติของกรมหลวงชุมพรที่ปรากฏในหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระศพของกรมหลวงชุมพร ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ดังนี้ [3]

“…แต่เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ ได้ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือนั้น เป็นพระโรคภายในประชวรเสาะแสะอยู่แล้ว พอทรงรับตำแหน่งแล้วก็กราบบังคมลาออกไปเปลี่ยนอากาศที่ชายทเล ข้างใต้ปากน้ำเมืองชุมพร ณ ที่ซึ่งได้ทรงจองไว้หมายจะทำสวน ผเอิญไปถูกฝน เกิดเป็นโรคหวัดใหญ่ ประชวรอยู่เพียง 3 วัน ก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ปีกุญ พ.ศ. 2466 ประมวลพระชัณษาได้ 44 ปี…” [3]

สาเหตุการสิ้นพระชนม์

ต่อไปผมขอวิเคราะห์สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพร จากเอกสารต่างๆ ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ผมพบว่าเอกสารส่วนใหญ่อ้างอิงมาจากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ลงในหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระศพของกรมหลวงชุมพร [3] และจากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฉบับนี้ที่เขียนว่า กรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์จากโรคหวัดใหญ่ [3] นั้น ทำให้ผมคิดถึงกรณีทิวงคตของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ที่เมืองสิงคโปร์ ซึ่งผมได้เขียนลงในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 โดยผมสันนิษฐานว่า สาเหตุการทิวงคตของพระองค์มาจากพระโรคปัปผาสะอักเสบจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ แล้วต่อมาเชื้อได้ลุกลามไปสู่สมองเกิดภาวะสมองอักเสบ [4]

ผมคิดว่า กรณีทิวงคตของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ มีความคล้ายคลึงกับกรณีสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพร หลายประการ คือ

ประการที่ 1 ทั้ง 2 พระองค์ยังทรงหนุ่มแน่นอยู่ (สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ทิวงคตเมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา ส่วนกรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาได้ 44 ปี)

ประการที่ 2 ทั้ง 2 พระองค์ทรงตากฝนก่อนที่จะประชวรหนัก

ประการที่ 3 ทั้ง 2 พระองค์ประชวรหนักเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะทิวงคต (5 วัน) และสิ้นพระชนม์ (3 วัน)

ประการที่ 4 จากเอกสารเบื้องต้นสันนิษฐานว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุที่ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ทิวงคตและกรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์

ผมมีความยากลำบากในการวิเคราะห์สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของพระองค์มากกว่ากรณีทิวงคตของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์มาก เพราะไม่มีเอกสารใดๆ เลยที่บันทึกพระอาการของพระองค์ในช่วงที่ทรงประชวรหนัก

มีแต่ข้อมูลชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงใกล้ๆ วันสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพร เป็นบทความหนึ่งที่เขียนไว้ในหนังสือ “คิดถึงพ่อ” ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของ นาวาเอก สมารมภ์ บุนนาค ได้บรรยายโดยอ้างอิงท่านหญิงน้อย หรือหม่อมเจ้าหญิงสุริยนันทนา สุริยง ว่า ได้ทรงเล่าถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพร ซึ่งท่านเป็นองค์หนึ่งที่เคยประทับอยู่ที่หาดทรายรีตอนที่กรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์

โดยสรุปใจความได้ว่า ช่วงนั้นพระมารดาของกรมหลวงชุมพร (เจ้าจอมมารดาโหมด) ได้เสด็จมาเยี่ยมพระองค์โดยเรือเจนทะเล ซึ่งได้จอดเรือที่ชุมพรประมาณ 1 อาทิตย์ ท่านกะว่าจะออกเรือไปสงขลาแล้วจะกลับมาชุมพรอีกที และมีเหตุการณ์ที่ผมคาดว่าน่าจะทำให้สิ้นพระชนม์ เขียนไว้ดังนี้

“…ก่อนที่จะออกเรือไปสงขลาเพียงวันเดียว ตกกลางคืนชาวบ้านเอาหนังตะลุงมาเล่นถวายเสด็จในกรมฯ อากาศตอนนั้นก็เยือกเย็น เสด็จลงประทับบนเก้าอี้ มีผ้าคลุมพระชงฆ์ทั้งๆ ที่ท่านไม่ค่อยทรงสบายประชวรหวัดอยู่บ้างแล้ว ตอนนั้นทรงฉลองพระองค์เสื้อกุยเฮง กางเกงแพรปังลิ้ม มักจะประทับบนเก้าอี้ คุยเล่นกับเด็กๆ ทำของเล่นกับเด็กๆ ไม่เห็นท่านดำเนินไปไหนมาไหนเลย

ในคืนวันนั้นด้วยความที่ท่านเกรงใจในความหวังดีของชาวบ้าน จึงต้องแข็งพระทัยทอดพระเนตรอยู่ทั้งๆ ที่ต้องตากน้ำค้างด้วย ตกดึกมีอาการมากขึ้น ต้องให้คนขี่ม้าไปซื้อยาในตลาด กว่าจะไปถึง กว่าจะกลับมาอาการก็ทรุดหนัก ต่อมามีหมอจากกรุงเทพมาตรวจบอกว่าท่านเป็นปอดบวม หาซื้อยาที่ต้องการก็ไม่ได้ ตามที่ท่านเสด็จไปหาดทรายรีคราวนั้นก็ไม่ได้เตรียมการอะไรมากมายเลย เพราะกะไว้ว่าจะต้องกลับไปอีกครั้ง

ตอนดึกได้ยินเสียงคุณย่าร้องไห้จึงทราบว่าเสด็จลุงกรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์เสียแล้ว…” [6]

ในหนังสือ “คิดถึงพ่อ” นี้เองก็มีอีกบทความหนึ่งซึ่ง คุณวิสิฎฐ์ ทุมมานนท์ เขียนเรื่องเล่าเหตุการณ์วันที่กรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์ ไว้ในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา (เจริญ ทุมมานนท์ – อดีตรองผู้บัญชาการทหารเรือ) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านได้เล่าให้คุณวิสิฎฐ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานลุงฟัง มีใจความว่า

“…เรือเอกเจริญ ทุมมานนท์ เป็นนายธงคนสุดท้ายของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ตามเสด็จไปที่จังหวัดชุมพรด้วย ในคราวที่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ เพิ่งหายจากประชวรและทรงหวังจะไปพักผ่อน พระองค์โปรดให้สร้างพระตำหนักชั่วคราวขึ้นที่หาดทรายรีเป็นที่พักแรมเพราะทรงรักหาดทรายรีมาก

วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ พระองค์ประชวรหนัก ก่อนหน้านี้ก็ได้ประชวรอยู่แล้ว แต่พระอาการมาทรุดหนักเอาในวันนี้ แพทย์ประจำพระองค์ได้ถวายการพยาบาลอย่างเต็มที่ ขณะนั้นเรือเอกเจริญฯ เข้าเวรอยู่ภายนอกห้องพระบรรทม หากไม่มีราชการก็จะไม่เข้าไป เพราะแพทย์ห้ามรบกวน คงมีแต่หม่อมของพระองค์ท่านเท่านั้นที่เฝ้ารับใช้ใกล้ชิดอยู่ภายใน พระอาการหนักมากไม่ดีขึ้นเลย

แพทย์ได้ถวายยาฉีดระงับไว้เป็นพักๆ เพื่อให้ได้ทรงพักผ่อน ต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะพระอาการมีแต่ทรุด ไม่กระเตื้องขึ้น ยิ่งดึกอากาศก็แปรปรวนฟ้าฝนคะนองอย่างหนัก

ภายในพระตำหนักคงมีแต่แพทย์ประจำพระองค์ เรือเอกเจริญฯ คอยฟังคำสั่งอยู่ข้างนอก มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกมาจากห้องบรรทมด้วยใบหน้าที่เศร้าหมอง แล้วพูดด้วยเสียงสั่นเครือว่า เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์แล้ว…”

ผมคิดว่าพระพลานามัยของพระองค์ที่กำลังอ่อนแออยู่ เมื่อต้องมาตรากตรำพระองค์ตลอดคืนท่ามกลางอากาศที่เย็นและน้ำค้างที่ลง ทำให้ไม่ทรงสามารถฝืนพระองค์ได้ต่อไปอีก จึงสิ้นพระชนม์ในคืนนั้นเอง

โดยสรุป ผมจึงสันนิษฐานว่า พระองค์น่าจะทรงเป็นพระโรคไข้หวัดใหญ่ ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้

ถ้านับจาก พ.ศ. 2463 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์เสด็จทิวงคต ด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ มาถึง พ.ศ. 2466 ที่กรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์ เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่โรคไข้หวัดใหญ่มักระบาดทุกๆ 1-3 ปี [7,8] ในช่วงการระบาดที่รุนแรง (ค.ศ. 1918-19)

และจากการที่เชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นไวรัสตัวใหม่ๆ ที่แพร่ไปสู่ประชากรโลกที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน (immunity) ต่อเชื้อไวรัสนี้ มักไม่เกิดในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามปกติ และโรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกอายุโดยเฉพาะคนหนุ่มที่แข็งแรง [8]

โดยเหตุนี้เองทำให้ไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้กรมหลวงชุมพรประชวรหนัก ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงเป็นนายทหารเรือที่มีพระพลานามัยแข็งแรงมาก่อน

ผมคิดว่าภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้พระองค์สิ้นพระชนม์ เช่น โรคปอดอักเสบ (ปอดบวม) โรคสมองอักเสบ เช่นเดียวกับที่ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์เสด็จทิวงคต

แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีเอกสารใดบันทึกพระอาการในช่วงก่อนสิ้นพระชนม์ไว้อย่างละเอียดเหมือนสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ทำให้ผมไม่สามารถสรุปได้ว่า ภาวะแทรกซ้อนใดที่ทำให้พระองค์สิ้นพระชนม์

ผมมีข้อสังเกตอยู่ประการหนึ่ง พระอาการประชวรด้วยพระโรคภายในอะไรที่พระองค์ทรงป่วยเสาะแสะอยู่แล้วเป็นสาเหตุให้พระองค์ต้องกราบบังคมลาออกจากราชการไปตากอากาศเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ ซึ่งผมจนปัญญาจริงๆ ที่จะวินิจฉัยพระโรคของพระองค์ เพราะว่าไม่มีเอกสารใดๆ เลยที่เขียนถึงพระอาการ (Symptom) และพระอาการแสดง (Sign) ของพระองค์เลย

แต่อย่างน้อยหลักฐานนี้บอกเราว่า ในขณะนั้นพระองค์ไม่ได้ทรงแข็งแรงเหมือนในอดีตก่อนหน้านั้นอย่างแน่นอน ซึ่งช่วยทำให้เราเชื่อได้ว่าพระองค์น่าจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายแม้ว่าพระองค์ยังทรงหนุ่มอยู่ ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่มักพบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 64 ปี ผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ เบาหวาน ไตทำงานผิดปกติ โรคเลือด (Hemoglobinopathies) เช่น โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia) และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunosuppression) [9]

สรุป

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงมีพระโรคเดิมอยู่แล้วที่ทำให้ทรงลาออกจากราชการไปพักผ่อน ต่อมาประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคที่รุนแรง อันเป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

บรรณานุกรม :

[1] อัจฉรา ทองรอด. ทหารเรือ หมอยา คาถา ศิลปิน พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิราชสกุลอาภากร ใน พลเรือเอก กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์, 2557.

[2] ศรัณย์ ทองปาน. เสด็จเตี่ย “เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น”. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2549.

[3] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. “พระประวัติ พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์,” ใน จดหมายเหตุเรื่อง เซอเชมสบรุกเข้ามาขอทำสัญญาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๙๓. พิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2466.

[4] เอกชัย โควาวิสารัช. “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีทิวงคตของ จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 35 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2557).

[5] สวัสดิ์ จันทนี, น.อ. นิทานชาวไร่ เล่ม 9. พิมพ์ครั้งแรก. พระนคร : ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, 2515.

[6] กรีฑา พรรธนะแพทย์, พล.ร.ต. “19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์,” ใน คิดถึงพ่อ. พิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก สมารมภ์ บุนนาค. กรุงเทพฯ : พันกร ครีเอชั่น, 2546.

[7] Hayden FG. Influenza. In : Goldman L, Ausiello D, editors. Cecil Textbook of Medicine. 22nd ed. Philadelphia : Saunders, 2004, pp. 1974-1978.

[8] Treanor JJ. Influenza viruses, including avian influenza and swine influenza. In : Mandell GL, Bennett JE, Dolin R, editors. Mandell, Douglas and Bennett’s Principles and Practice of Infections Diseases. 7th ed. Philadelphia : Churchill Livingstone Elsevier, 2010, pp. 2265-2288.

[9] Roos KL, Tyler KL. Meningitis, encephalitis, brain abscess, and empyema. In : Longo DL, Fauci AS, Kasper DL, Hauser SL, Jameson JL, Loscalzo JL, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 18th ed. New York : Mc Graw Hill Medical, 2012, pp. 3410-3434.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0