โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สาวๆ ทำอะไร เมื่อแรกมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475

The MATTER

อัพเดต 10 ธ.ค. 2562 เวลา 03.32 น. • เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2562 เวลา 03.31 น. • seX-ray

ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือของอำนาจเผด็จการใช้ฟอกตัว เมื่อแรกเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หนังสือพิมพ์ หนังสือ นิตยสาร ได้เฉลิมฉลองไว้ว่า รัฐธรรมนูญอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของการปกครองระบอบใหม่ที่จะนำพาให้ประเทศศิวิไลซ์ ประชาชนมีเสรีภาพ ไม่ถูกกดขี่ และเป็นกฎระเบียบกลไกการปกครองที่จะมาแก้ไขปัญหาความอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ธันวาคม จะไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากประชาชนจริง ๆ แต่ก็เป็นความอดทนอดกลั้นและความอะลุ่มอล่วยของคณะราษฎรที่มีต่อกลุ่มคนจากรัฐบาลระบอบเก่า เพราะก่อนปฏิวัติ ก่อนจะมีคณะราษฎร ราษฎรจำนวนมากก็อิดหนาระอาใจกับรัฐบาลอย่างมาก เหมือน hashtag ในปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ นิตยสารจำนวนมากในขณะนั้นคอยเปิดโปงและแซะการบริหารรัฐบาลเจ้าอย่างต่อเนื่อง

งานเขียนที่เขย่าขวัญรัฐบาลเจ้าขณะนั้นอย่างมาก กลับไม่ได้มีจุดประสงค์ต้องการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเขียนไว้ตั้งแต่ปลายอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์ และเขียนโดยหญิงตายไปล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2370 ก่อนปฎิวัติตั้ง 105 ปี คือ เจ้าครอกวัดโพธิ์ หรือ กรมหลวงนรินทรเทวี ผู้ให้บันทึกจดหมายเหตุความทรงจำที่ระบุเกี่ยวกับคำทำนายกรุงรัตนโกสินทร์ว่า “ด้วยชะตาเมืองคอดกิ่วใน 7 ปี 7 เดือน เสร็จสิ้นพระเคราะห์เมื่องจะถาวรลำดับกษัตริย์ถึง 150 ปี” นางกลายเป็นหญิงที่มีอิทธิพลและถูกพูดถึงมากในช่วงสิ้นสุดระบอบการปกครอง แม้ชนชั้นสูงว่าจะวิจารณ์ในลักษณะปลอบใจตนเอง แต่ข่าวลือคำทำนายนี้ก็แพร่สะพัดไปทั่วกรุงเทพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายเดือนก่อนหน้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

หลังปฏิวัติ รัฐบาลคณะราษฎรพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาราคาข้าวที่ชาวนาปลูกเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ เมื่อราคาตกต่ำอย่างรุนแรง ราคาที่ดินก็ตกลงเช่นกัน ตั้งแต่ พ.ศ.2472 ชาวนาจึงขาดเงินสดที่จะซื้อของอุปโภคบริโภคและขาดเงินเสียภาษีอย่าง 'เงินรัชชูปการ' 6 บาทต่อปี รวมถึงอากรค่านา ปรีดี พนมยงค์ มันสมองคณะราษฎร ซึ่งก็เป็นลูกชาวนา จึงมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตและสถานภาพของชาวนา ผ่านเอกสาร 'เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ'

ในเนื้อหาของเค้าโครงเศรษฐกิจ ไม่เพียงจะยกระดับคุณภาพชีวิตสวัสดิการชาวนาให้เสมอข้าราชการ แต่ยังพยายามคุ้มครองผู้หญิงผู้ประกอบอาชีพนอกบ้านที่เริ่มมีมากขึ้น เช่น เสมียน ครูอาจารย์ โดยผู้หญิงเมื่อเริ่มมีการศึกษาก็จะไปประกอบอาชีพนี้  เค้าร่าง พ.ร.บ. ของเค้าโครงเศรษฐกิจ ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร หมวดที่ 2 ว่าด้วยการทำงาน มาตรา 8 ข้อ 4 จึงระบุว่า งานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสถานที่ การเสมียน การเป็นครู การอนุบาลเด็ก การจำหน่ายของอุปโภคบริโภค ให้พยายามผ่อนผันใช้เพศหญิง เว้นแต่จำเป็นจึงใช้เพศชายและในมาตรา 10 ให้หญิงมีครรภ์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำงาน

อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้ก็ไม่สำเร็จเพราะโครงการที่ปรีดีเสนอ

ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับคณะราษฎร

โดยเฉพาะปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นมันสมองของคณะ

โดยกลุ่มฝักใฝ่ระบอบเก่า

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎรก็ทำให้ประชาชนปีติยินดีอย่างมาก มีการต้อนรับรัฐบาลคณะราษฎร มีสาส์นแสดงความยินดีจากตัวแทนราษฎรหลายกลุ่ม เช่นจากตำบลหัวรอ อำเภอกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา ข้าราชการจากมณฑลราชบุรี อยุธยา สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส สมาคมแพทย์จีนในสยาม และชาวต่างชาติในสยาม เช่น สยามคริสต์ศาสนาสภา คณะชาวกวางตุ้งนำโดยเซียงฮุดเสง

เมื่อคณะราษฎรประกาศรัฐธรรมนูญที่โรงละครใหญ่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ที่มณฑลพายัพ ก็มีผู้เข้ามาฟังประกาศจำนวนมาก ทั้งเจ้านาย ข้าราชการ พ่อค้า ราษฎร ชาวต่างประเทศเช่น จีน พม่า เงี้ยว แขก กะเหรี่ยง จนล้นออกมาจากโรงละครที่จุคนได้ 500 คน[1] ประชาชนตื่นเต้นกับการมีรัฐธรรมนูญอย่างมาก ในฐานะที่เป็นสถาบันสูงสุด และกระตือรือร้นที่จะสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จึงนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมาก ตามจังหวัดต่าง ๆ  เช่น ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ประชาชนในในสุรินทร์ และ บึงพลาญชัยในร้อยเอ็ด ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ ซึ่งแล้วเสร็จก่อนรัฐบาลคณะราษฎรจะมีแนวคิดสร้างอนุสาวรีย์กลางถนนราชดำเนินถึง 3 ปี[2]

ในช่วงเวลาแห่งความกระตือรือร้นกับการจะได้มีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองนี้ ทำให้รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งของสาธารณะเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ไปปรากฏในพื้นที่ส่วนบุคคลของประชาชน ในบ้าน ในวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนในฐานะพลเมืองของประเทศ เพื่อเป็นสิ่งย้ำเตือนถึงระบอบการปกครองใหม่ที่อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน ไม่เพียงสินค้าข้าวของเครื่องใช้ อุปโภคบริโภคที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตภายในบ้าน

มีการนำรูปรัฐธรรมนูญมาประดับหรือ motto เทิดทูนหวงแหนเทิดทูนระบอบการปกครองใหม่ในโฆษณาโดยผู้ประกอบการเอกชน เช่น จาน ชาม ยารักษาโรค โอ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงเครื่องสำอางสำหรับสุภาพสตรี แป้งประทินผิวและร้านเสริมสวยสุภาพสตรี '1.77' ที่ได้กล่าวถึงการเผยแพร่รัฐธรรมนูญ ลงโฆษณานิตยสารหนังสือพิมพ์[3] พานแว่นฟ้าและรัฐธรรมนูญ เรียกได้ว่าเป็นรูปที่มีทุกบ้านในเวลานั้นก็ไม่แปลก

ในช่วงเวลานี้ ผู้หญิงได้รับการศึกษาจากโรงเรียนมิชชันนารีและโรงเรียนเอกชนที่มีจำนวนมาก จนพวกเธออ่านออกเขียนได้ ความรู้ความสามารถทักษะทางภาษาจึงเป็นสิ่งใหม่สำหรับผู้หญิงที่ใช้สนับสนุนระบอบรัฐธรรมนูญในความหมายของประชาธิปไตย ทันทีที่เริ่มรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎรที่เริ่มใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475  ที่ได้ให้สิทธิพลเมืองทั้งชายหญิงเท่าเทียมกัน หนังสือพิมพ์ 'หญิงไทย' ก็เริ่มได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ผู้หญิงจะมีสิทธิพลเมืองอย่างเสมอภาคกับผู้ชาย แต่การที่มีผู้หญิงเข้าไปในรัฐสภาเพียง 2-3 คน อาจจะเป็นเกียรติยศเฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหญิงคนอื่นๆ หากไม่คำนึงถึงสถานภาพของผู้หญิงที่ยังคงยากลำบากเป็นรองผู้ชายอยู่อีก 7,000,000 คน[4]

พวกเธอจึงตื่นตัวกับระบอบการปกครอง

และต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้หญิงไปพร้อมกัน

ในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2476[5] ซึ่งเป็นการเลือกผู้แทนทางอ้อม ที่ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัด ซึ่งผู้แทนตำบลจะได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกในตำบลมาก่อน ผู้แทนตำบลจะมีหน้าที่เลือกตั้งส.ส. และเป็นผู้แทนหรือหัวหน้าของราษฎรในตำบล[6] ซึ่งก็มีผู้หญิงไปสมัครรับเลือกตั้งทั้งผู้แทนตำบลและผู้แทนราษฎร แม้ว่าจะไม่มีผู้หญิงได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่พวกเธอบางคนได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบล (อ่านเพิ่มติมที่ การเลือกตั้งครั้งแรก! กับสตรีผู้ปรารถนาจะมีส่วนร่วมทางการเมือง)

ในการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทำให้ประเทศปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ที่ไม่ได้จากประชาชนจริง ๆ แต่ก็มีการจัดงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญให้เป็นมหกรรมสาธารณะที่ประชาชนสามัญชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน มีการกำหนดวันรัฐธรรมนูญให้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ 3 วัน (วันที่ 10-12 ธันวาคม ต่อมาเลื่อนมาวันที่ 9-11 ธันวาคม เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือแค่ 1 วันคือ 10 ธันวาคม) และจัดงานรื่นเริงทุกจังหวัดทั่วประเทศ กลายเป็นงานประจำปีที่มีทั้งมหรสพ คอนเสิร์ต กีฬา โขน งิ้ว ดึงดูดประชาชนเข้ามาเรียนรู้ระบอบการเมืองใหม่

ในงานก็ได้จัดแสดงกิจกรรมต่างๆ จากหน่วยงานรัฐ มีการนำเสนองานวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ให้ความรู้ส่งเสริมการประกอบอาชีพกสิกรรม เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม มีงานการประกวดผลงานวิชาชีพ งานประณีตศิลป์ ประกวดอาหาร หนังสือ ผักผลไม้ หัตถกรรม ประกอบยนต์ ประกวดแฟชั่น การออกแบบตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ภายในงานยังมีการประกวดปาฐกถา สุนทรพจน์ บทเพลง กวี เกี่ยวกับระบอบรัฐธรรมนูญ[7]

ประชาชนตื่นเต้นกับงานฉลองรัฐธรมนูญอย่างมาก “หญิงสาวๆ ทั้งสาวใหญ่ สาวกลางและสาวน้อย ต่างวุ่นวายกับการเตรียมเสื้อผ้าเพราะงานมีถึง 7 วัน 7 คืน และยังต้องเตรียมทำผมกันอีก ดูชุลมุนกันไปทุกมุมเมือง”[8]

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2481 ก็เริ่มมีกิจกรรมประกวดเรียงความส่งเสริมระบอบรัฐธรรมนูญและกระตือรือร้นที่จะช่วยรัฐบาลสร้างชาติ ผู้หญิงจึงมีโอกาสโชว์ความสามารถด้านภาษาและแสดงความหวงแหนประชาธิปไตยไปพร้อมกัน ซึ่งในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2483 นางสาวบุญเจือ มิ่งขวัญ อายุ 17 ปีนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนศึกษานารี ก็ได้รับรางวัลที่ 1 สำหรับเรียงความระดับมัธยมและอุดมศึกษา ในหัวข้อ “รัฐนิยมส่งเสริมอารยธรรมของชาติไทยอย่างไร?” จากผู้ส่งเรียงความ 377 ราย[9]

และในกิจกรรมประกวดปีต่อมา ปี พ.ศ. 2484 นางสาวสวาท สุนทรกิติ อายุ 16 ปี นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนกเตรียมแพทยศาสตร์ปีที่ 1 ได้รับรางวัลประเภทมัธยมศึกษาและเตรียมอุดม ในบรรดาเรียงความที่ถูกส่งมา 247 ราย เธอได้รับรางวัลเป็นเงิน 100 บาท ในหัวข้อ “พลเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ช่วยเหลือการป้องกันประเทศชาติอย่างไร?” ซึ่งเป็นเรียงความที่มีขนาดไม่เกิน 15 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ปหรือ 12 หน้ากระดาษพิมพ์[10]

และเมื่อรัฐบาลคณะราษฎรเปลี่ยนชื่อประเทศจาก 'สยาม' เป็น 'ไทย' ทำให้รัฐมีโครงการเที่จะให้มีเพลงประจำชาติชื่อตรงตามชื่อใหม่ของประเทศ นำไปสู่การประกวดเนื้อเพลงชาติใหม่ ซึ่งมีผู้เข้าส่งประกวด 614 รายถูกคัดเลือกเนื้อร้องที่สมควรได้รับพิจารณา 7 ราย ซึ่ง 1 ใน 7 ของเนื้อเพลงได้รับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีคือของนางสาวประสาน วาสิกะสิน สำหรับเชิงกลอนที่ดีที่สุด มีเสียงเพี้ยนเพียง 11 แห่ง แต่คณะกรรมการก็ไม่ได้ตัดสินนำเนื้อเพลงของเธอมาใช้และแก้ไข[11]

ในช่วงเวลาที่แรกเริ่มมีรัฐธรรมนูญ ในฐานะการปฏิวัติประเทศเพื่อก้าวสู่ประชาธิปไตย ประชาชนตื่นตัวอย่างมากรวมถึงผู้หญิงด้วย (ลืมภาพแม่พลอยสี่แผ่นดินไปเถอะ ตัวละครที่ไม่สนสี่สนแปดอะไร ก็ไม่ควรเอาเป็น role model)

แม้ว่าจะเป็นวันหยุดสำคัญวันที่ 10 ธันวาคมเพื่อรำลึกถึงการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ แต่เพราะการดึงรัฐธรรมนูญออกจากประชาชนผ่านการรัฐปะหารหลายๆ ครั้ง การทำลายความหมายคุณค่าคณะราษฎรและลบเลือนประวัติศาสตร์ช่วงเวลานี้ไป ก็ยิ่งทำให้ประชาชนอยู่ห่างไกลออกไปอีกกับคำว่าปฏิวัติและคุณค่าความหมายของรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็น จนวันรัฐธรรมนูญกลายเป็นแค่วันหยุดวันหนึ่งที่จะงงๆ ว่าเขาขายเหล้าป่าววะวันนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] ศราวุฒิ วิสาพรม. ประวัติศาสตร์สามัญชนในสังคมไทยสมัยแรกเริ่มรัฐประชาชาติ พ.ศ. 2475-2490. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2557, น. 86

[2] ศรัญญู เทพสงเคราะห์ มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน ศิลปวัมนธรม ปีที่ 39 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2561 น. 76

[3] ศราวุฒิ วิสาพรม. ประวัติศาสตร์สามัญชนในสังคมไทยสมัยแรกเริ่มรัฐประชาชาติ พ.ศ. 2475-2490. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2557, น. 119-121

[4] ศิริพร สะโครบาเน็ค. การเรียกร้องสิทธิสตรีของหญิงไทย สตรีทัศน์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 สิงหาคม-ตุลาคม 2526 ; มาลินี คุ้มสุภา  สิทธิสตรีในความคิดของปรีดี พนมยงค์. วารสารธรรมศาสตร์, ปีที่ 25, ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2542.

[5] พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 พุทธศักราช 2476. ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476 เล่ม 50 หน้า 355-357.

[6] วันที่ 21 ธันวาคม 2475 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475.  หน้า 556 ; พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476. ราชกิจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476 เล่ม 50 หน้า 338

[7] ปรีดี หงษ์สต้น. งานสมโภชพระนครครบร้อยปี งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ และงานฉลองรัฐธรรมนูญ: สยามกับมหกรรมสาธารณะก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ : รายงานวิจัยของโครงการวิจัยย่อยภายใต้ชุดโครงการวิจัยเรื่อง “การช่วงชิงความเป็นสาธารณะในประวัติศาสตร์โลก” ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากกองทุนวิจัยคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2559, น. 36-37, 44.

[8] ลาวัณย์ โชตามระ. ชีวิตชาวกรุงสมัยค่อนศตวรรษมาแล้ว และชีวิตชาวกรุงสมัยสงคราม. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2527, น. 154.

[9] กรมโฆษณาการ. เรียงความเนื่องในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2483 ฉะบับที่ได้รับรางวัล สำหรับประเภทมัธยมศึกษาและเตรียมอุดม กับอุดมศึกษา. พระนคร: บำรุงนุกูลกิจ, 2483.

[10] กรมโฆษณาการ. พลเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ช่วยเหลือการป้องกันประเทศชาติอย่างไร และ รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญได้บำรุงและส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติอย่างไร เรียงความเนื่องในงานฉลอองรัฐธรรมนูญ ประจำพุทธศักราช 2484 ฉบับที่ได้รับรางวัลของกรมโฆษณาการ. พระนคร: พานิชศุภผล, 2484.

[11] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 69/2482 วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2482.

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0