โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สาละอินเดีย มุมหนึ่ง ชีวิตหนึ่ง กับงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2561 เวลา 21.00 น.
สาละอินเดีย 15ธค

สาละอินเดีย (Sal)

ชื่อสามัญ สาละอินเดีย สาละใหญ่ มหาสาละ สาละ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea robusta C.F. Gaertn.

วงศ์ Dipterocarpaceae

เมื่อเมฆฝนได้ผ่านพ้นไปเหมันตฤดูก็กำลังคืบคลานเข้ามา…ฉบับก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้เล่าถึงต้นสาละอินเดียที่พวกเราเคยหลงเข้าใจผิดว่า (ตอนนี้ก็ยังมี)…ต้นสาละอินเดีย กับต้นลูกปืนใหญ่คือต้นเดียวกัน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคนละชนิดกันเลย สาละอินเดีย เป็นไม้วงศ์ยาง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea robusta C.F. Gaertn. ส่วนต้นลูกปืนใหญ่นั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Couroupita guianensis

สาเหตุหลักๆ ที่จุดประกายให้ผู้เขียนอยากจะนำต้นสาละอินเดียมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ก็เพราะสาละอินเดียไม่ได้มีให้เราเจอะเจอมากนัก และต้นแม่ใหญ่ๆ  ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ต้นก็ไม่สามารถออกดอกออกผลได้ทุกปี หรือทุกฤดูกาล ต้องเว้นไปอีก 2-3 ปี จึงจะผลิตเมล็ดชุดใหม่ออกมา

อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะสาละอินเดียเป็นต้นไม้สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ผู้เขียนจึงอยากเพิ่มจำนวนต้นให้มีมากๆ เพื่อจะได้ช่วยกันปลูกให้ทั่วแผ่นดิน ให้คนไทยได้เห็น ได้รู้จัก ต้นสาละอินเดียมากยิ่งๆ ขึ้น และนับเป็นความโชคดีที่ผู้เขียนทำงานวิจัยด้านเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออยู่แล้ว จึงมี-อุปกรณ์เครื่องมือพร้อมที่จะทดลองทำ (ของหลวง..ฮาา…)

เมื่อกล่าวมาถึงคำว่า เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หลายท่านคงยังนึกภาพไม่ออก อาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า…เนื้อเยื่อนำมาเพาะได้ด้วยหรือ นึกว่าเพาะได้แต่เมล็ด แล้วการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคืออะไร..ทำอย่างไร??

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือจะเรียกให้หรูหน่อยว่า tissue culture หรือ micropropagation ซึ่งไม่ว่าคำไหนก็หมายถึงการขยายพันธุ์พืช โดยใช้ชิ้นส่วนเล็กๆ จำพวกเนื้อเยื่อเจริญ เช่น ตายอด ตาข้าง มาเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ ในอาหารสังเคราะห์สูตรพิเศษที่มีสารอาหารที่พืชต้องการ สภาพที่เลี้ยงต้องควบคุมอุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส แสง 3,000 ลักซ์ เวลาให้แสง 8-10 ชั่วโมง ต่อวัน ซึ่งจะทำให้ได้ต้นจำนวนมาก ที่มีหน้าตาหรือพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ เทคนิคนี้เหมาะกับการขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณต้นที่หายาก หรือมีเมล็ดพันธุ์น้อย

ในสภาพที่ให้สารอาหารครบ อยู่ในที่สะอาด ไม่มีขี้ฝุ่น เปิดแอร์ให้นอน แถมให้น้ำตาลเป็นรางวัลอีก จะได้ไม่ต้องสังเคราะห์แสงเองเพื่อได้น้ำตาลในขั้นตอนสุดท้าย (แต่ยังต้องใช้แสงเพื่อการเจริญเติบโต และขบวนการอื่นๆ ของพืช) ไม่ต่างอะไรกับคุณหนูไฮโซ เค้าว่ากันว่าในสภาพนี้นี่แหละเนื้อเยื่อเจริญเติบโตได้ดีนัก เพิ่มจำนวนได้อย่างมากมาย หากต้องการให้เนื้อเยื่อเจริญไปเป็นตายอดหรือให้ออกราก ก็สามารถทำได้โดยให้สารควบคุมการเจริญเติบโต หรือที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” ถ้าต้องการให้ได้ยอดเยอะก็ให้ฮอร์โมนในกลุ่ม Cytokinin เช่น BA, Kinetin, TDZ ฯลฯ ถ้าต้องการให้ออกรากก็ให้ฮอร์โมนในกลุ่ม Auxin เช่น NAA, IAA, IBA เป็นต้น

งานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสาละอินเดียที่ผู้เขียนได้ทดลองทำครั้งแรกนั้น เริ่มต้นจากคุณหมอท่านหนึ่งได้นำกิ่งมาให้ผู้เขียน แล้วบอกให้เพิ่มจำนวนให้หน่อย กิ่งสาละอินเดียที่คุณหมอนำมานี้ได้มาจากวัดเบญจมบพิตร กทม. ซึ่งเป็นต้นที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2516 แต่ด้วยความที่เป็นกิ่งแก่ มีฝุ่น และจุลินทรีย์ติดมากับผิว ซอกใบ ตายอด และตาข้าง งานที่ทำในครั้งนั้นจึงล้มเหลว

ในการเลือกเนื้อเยื่อมาเพาะเลี้ยงควรเลือกกิ่งอ่อนที่เพิ่งแตกยอด หรือกิ่งที่ไม่แก่เกินไป เพราะเป็นเนื้อเยื่อที่ใหม่ และสะอาด จึงได้ขอกิ่งสาละอินเดียมาทดลองใหม่อีกครั้ง แต่ก็ล้มเหลวอีกเช่นเคย ผู้เขียนจึงศึกษาอย่างจริงจังจากงานวิจัยอื่นๆ แต่ก็ยังไม่พบงานวิจัยใดๆ ของคนไทยเลย หรือเพราะต้นสาละอินเดียมีถิ่นกำเนิดที่อินเดีย คนไทยจึงยังไม่รู้จัก และเห็นความสำคัญเท่าใดนัก

มีงานวิจัยของชาวอินเดียกลุ่มหนึ่ง คือ M. Singh, S. Sonkusale, Ch. Niratker, P. Shukla. ได้ตีพิมพ์ใน JOURNAL OF FOREST SCIENCE, 60, 2014 (2): 70–74 ว่าสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นสาละอินเดียได้ จึงทำให้ผู้เขียนเกิดแรงมุมานะที่จะทดลองทำใหม่อีกครั้ง ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งมีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เลยนึกเข้าข้างตัวเองว่าการทำงานกับต้นไม้สำคัญน่าจะต้องมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือบุญบารมีจากใครสักคนมาปกปักษ์ จึงส่งใจอธิษฐานขอให้งานที่ทำสำเร็จบ้างสักน้อยก็ยังดี

ต้นกล้าที่ผู้เขียนนำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในครั้งนั้น ได้มาตั้งแต่สมัยไปประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พฤษภาคม 2559) เป็นต้นที่เพาะจากเมล็ดของต้นแม่ที่สถานีวิจัยวนวัฒน์งาว จังหวัดลำปาง อายุตอนนี้ก็น่าจะหลายสิบปีแล้ว ตอนนั้นได้มาประมาณ 10 ต้น แต่ก็แจกจ่ายให้กับเพื่อนฝูงไปปลูกตามวัดหมดแล้ว เหลือไว้เป็นต้นพันธุ์สำหรับทำงานแค่ 2 ต้น ต้นที่เป็นพระเอกของเรื่องนี้เพิ่งได้ฤกษ์ปลูกลงดินเมื่อ 23 ตุลาคม 2561 นี่เอง ที่บ้านโนนตูม อำเภอชุมพวง จังหวัดนคราชสีมา ซึ่งที่นั่นผู้เขียนตั้งใจจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และเกษตรอินทรีย์ และจะให้ชื่อว่า “ลานสะแบงฟาร์ม…ตามรอยเท้าพ่อ”

ต้นสาละอินเดียต้นนี้เป็นต้นหลักเลยทีเดียว พอผลิยอดออกมาใหม่ๆ ผู้เขียนก็ตัดไปทดลองทำ ได้เรียนรู้ ได้ศึกษางานมากพอสมควร ที่สำคัญต้นสาละอินเดียต้นนี้เป็นต้นที่ทำให้ผู้เขียนประสบความสำเร็จ ต้องขอบคุณน้องป่าไม้รูปหล่อคนนั้นที่ได้มอบกล้าไม้ชุดนี้ให้กับมือ

หลังจากนั้นไม่นานสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจก็ได้บังเกิดขึ้น ผู้เขียนสามารถนำชิ้นส่วนตายอดของต้นสาละอินเดียให้เข้ามาอยู่ในหลอดทดลองได้สำเร็จ และสามารถชักนำให้เนื้อเยื่อเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง และกำลังจะเจริญเติบโตพร้อมที่จะให้เราขยายเพิ่มปริมาณ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะจำนวนตัวอย่างที่ได้จากการทดลองครั้งนั้นมีน้อยมาก เมื่อผ่านฤดูฝนอากาศชื้น ห้องปฏิบัติการเกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ (contaminate) ผู้เขียนจึงสูญเสียเนื้อเยื่อทั้ง 4 หลอด นั้นไปอย่างไม่น่าให้อภัยตัวเอง แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ภาคภูมิใจว่า…งานที่ทำในครั้งนั้นยังไม่มีคนไทยเคยรายงานผลออกมาก่อนเลย…

การนำต้นสาละอินเดียมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น ความยากมันอยู่ตรงที่ว่า สาละอินเดียเป็นไม้เนื้อแข็ง การเจริญเติบโตในสภาพธรรมชาติเป็นอย่างไร เมื่อนำมาเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไร เราไม่สามารถบังคับหรือเปลี่ยนแปลงธรรมชาติได้ว่าให้มันโตเร็วๆ เริ่มจะสนุก หรือเครียด…กันบ้างแล้วหรือยัง??…มาดูขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกัน

ขั้นตอนแรก เป็นการฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บริเวณผิว ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุด ถือว่าเป็นงานปราบเซียนเชียวหละ ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเลือกชิ้นส่วนที่สะอาด การทำให้ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ตามซอก หลืบ กิ่งแก่งต่างๆ สามารถเป็นที่ยึดเกาะของจุลินทรีย์ หรือฝุ่นได้ดี ต้องอาศัยฝีมือ และประสบการณ์ล้วนๆ

หากเราใช้สารเคมีที่เข้มข้นมากๆ มาฆ่าเชื้อจุลินทรีย์หวังให้ตายกันให้หมดให้สิ้นซาก เนื้อเยื่อที่เราจะเอาไปเลี้ยงก็ไม่รอดเช่นเดียวกัน เราต้องถนอมเนื้อเยื่อของพืชที่เป็นตาอ่อนๆ ไม่ให้ได้รับความเสียหาย เพราะตาเหล่านี้จะเกิดเป็นกิ่งหรือต้นใหม่ต่อไป ครั้นจะทำเบาๆ ถนอมหน่อย ใช้ความเข้มข้นต่ำๆ เชื้อจุลินทรีย์ทั้งหลายก็ตายไม่หมด เหลือไปอยู่ในขวดอาหารแทน เราก็คงจะได้เลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์แทนเนื้อเยื่อต้นไม้ (ฮา…)

ขั้นตอนที่2 การชักนำให้เกิดการแตกยอด ขั้นตอนนี้ก็เหมือนกับการปรุงอาหารชั้นเลิศให้กับชิ้นเนื้อเยื่อที่กำลังจะเจริญเติบโต แต่ละชนิดพืชชอบรสชาติของอาหารต่างกัน แต่องค์ประกอบหลักๆ ของสารอาหารคงไม่ต่างกัน เช่นเดียวกับคนที่ชอบข้าวมันไก่ น้ำจิ้มเปรี้ยว หวาน แตกต่างกัน

ขั้นตอนที่ 3 การชักนำให้เกิดราก ก็จะคล้ายกับขั้นตอนที่ 2 ที่ต้องเลือกว่าจะใช้ฮอร์โมนอะไร ความเข้มข้นสักเท่าไรกำลังดีที่จะให้ต้นออกราก ถ้าให้ผิดจากที่ชอบอาจไม่ออกรากเอาดื้อๆ

ขั้นตอนที่ 4 การย้ายปลูก หรือการอนุบาลต้นกล้า อันนี้แหละยิ่งกว่าปราบเซียน ส่วนใหญที่ตกม้าตายก็ขั้นตอนนี้ การอนุบาลต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนยิ่งกว่าศาสตร์และศิลป์รวมกัน…กว่าที่ต้นไม้จะปรับตัวจากการเป็นน้องนางบ้านนา เข้ามาอยู่ในขวดแบบคุณหนูไฮโซได้ก็ต้องอาศัยเวลานานพอสมควร อยู่ๆ จะเอาออกมานอกขวดก็ต้องให้เวลากับเขาเตรียมตัวหรือทำใจสักหน่อย

สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนนี้คือ การปรับสภาพแวดล้อมให้ต้นไม้จากที่เคยอยู่ในขวดไปอยู่นอกขวด หรือสภาพธรรมชาติ จะต้องมีการลดแสง ลดอุณหภูมิ  รวมทั้งความชื้น เพื่อให้ต้นไม้ชินกับสภาพใหม่ที่จะต้องไปอยู่ และเจริญเติบโตต่อไป

ก่อนที่จะมาถึงบทสุดท้าย…อยากจะบอกว่า ผู้เขียนได้ผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย หลากหลายความรู้สึก ได้สั่งสมทุกๆ อารมณ์ โดยเฉพาะความท้อแท้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นสtละอินเดีย…แต่ก็ไม่ได้ท้อถอย และจากนี้ไปผู้เขียนคงจะเริ่มทำงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสาละอินเดียใหม่…และจะทำต่อไป  เพื่อให้สมาชิกในชมรมรักษ์สาละ และทุกคนที่ปรารถนาดี สุขสมหวัง ให้สมกับการที่พวกเขารอคอยต้นกล้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0