โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สายสีนํ้าเงินเปลี่ยนเมือง พลิกโฉมเยาวราช ทุนใหญ่สบช่องไล่ซื้อ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 23 มิ.ย. 2562 เวลา 23.40 น.

รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ผ่ากลางเมืองเก่าเยาวราช เตรียมเปิดใช้เส้นทาง ดันตึกแถวเก่า เปลี่ยนมือคึกคัก ชาวชุมชน เจริญไชยผวาซํ้ารอยเวิ้งนาครเขษม ของเจ้าสัวเจริญ

เมืองเก่าไชน่าทาวน์เยาวราช ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยว นักลงทุน อย่างไม่ขาดสาย จากเสน่ห์ดั้งเดิมของคนอยู่อาศัยทำการค้าเล็กๆ ในชุมชนของชาวไทยเชื้อสายจีน สืบทอดมาอย่างยาวนาน กระทั่งรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ผ่านพื้นที่ ความเปลี่ยนแปลง ก็เริ่มเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับความกังวลของคนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มเช่าที่ดินรัฐและกรณีเช่าที่ดินนายทุน อย่าง “บ้านเก่าเล่าเรื่อง…ชุมชนเจริญไชย” ของตระกูลบริพัตร ที่มักมีกระแสแว่วลอยลมมาไม่ขาดสายว่า กำลังจะตกอยู่ในมือนายทุน เนื่องจากเป็นที่ดินผืนใหญ่ ติดแนวรถไฟฟ้า ขณะแปลงใกล้กัน ถูกพลิกโฉมจากโรงภาพยนต์เก่า กลายเป็นมิกซ์ยูสศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม “แอมไชน่าทาวน์” ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเปิดขาย

“ฐานเศรษฐกิจ” สอบ ถามชาวบ้านในชุมชน “บ้านเก่าเล่าเรื่อง…ชุมชนเจริญไชย” ว่าแม้เยาวราชจะเกิดความเปลี่ยนแปลง จากเส้นทางรถไฟฟ้า คนพื้นที่บางกลุ่ม ต้องการอนุรักษ์ ทั้งสภาพอาคารและคนดั้งเดิมให้คงอยู่ในพื้นที่ขณะคนที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่างขายตึกแถวที่ดิน ให้กับนายทุนไปจำนวนมาก เหลือเพียงที่ดินทรัพย์สินเท่านั้นที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนมือ ชาวชุมชนเล่าว่านอกจาก กลุ่มเจ้าสัวเจริญ ซื้อที่เวิ้งนาครเขษม ของตระกูลบริพัตร เนื้อที่ 14 ไร่เศษไปแล้ว ก็หวั่นเกรงกันว่า ชุมชนเจริญไชย จะถูกเปลี่ยนมือ แม้จะอยู่ในรูปมูลนิธิ ส่วนสะพานเหล็ก บ้านหม้อ จีน แผ่นดินใหญ่ซื้อ ตึกแถวเก่าไปทั้งแถบมีทั้งตั้งรูปแบบบริษัทไทยให้ลูกจ้างเป็นนอมินี, รูปแบบตั้งบริษัทไทยพร้อมทั้งจ้างคนไทยจดทะเบียนสมรส เปิดร้านค้าขายสินค้าตัดราคาคนดั้งเดิม พัฒนาทำโรงแรม ที่พักรองรับกลุ่มเดียวกัน

ขณะ ถนนเสือป่า พบว่า บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) พัฒนาโฮมออฟฟิศหรูขายกลางเมืองเก่า ซึ่งเป็นเสน่ห์อีกแบบท่ามกลางย่านอนุรักษ์

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-พรีเมียม บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เยาวราชเป็นชุมชนเก่าอนุรักษ์ ให้ โอลด์ทาวน์ เหมือนต่างประเทศ อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส สิงคโปร์ เวียดนาม สร้างมูลค่าให้กับพื้นที่

อย่างไรก็ตาม แม้ พฤกษาเคยพัฒนา โครงการในย่านวงเวียน 22 แยกหมอมี เยาวราช แต่ดูเหมือนว่าคนที่สนใจอยู่กลับเป็นคนต่างถิ่น ไม่ใช่คนพื้นที่ จึงเชื่อว่ายากที่คนเยาวราชจะขายที่ดินตึกแถวอายุกว่า 100 ปีราคา คูหาละตั้งแต่ 20-50 ล้านบาท ไปถึงกว่า 100 ล้านบาท โดยเฉพาะร้านทอง ศูนย์กลางการค้าทองคำในเยาวราช

มุมมองความเปลี่ยนแปลง ย่านเมืองเก่า นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด ยืนยันว่า พื้นที่ตามแนวถนนเจริญกรุงและเยาวราชเริ่มเปลี่ยน แปลงมากขึ้นหลังการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินช่วงหัวลำโพง-หลักสองมีความชัดเจน ชาวชุมชนมีการประกาศขาย ที่ดิน-ตึกแถวเก่าแก่ให้กับกลุ่มนายทุนต่างถิ่น ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนบางกลุ่ม ก็เข้าไปซื้ออาคารเพื่อพัฒนาเป็นโครงการรูปแบบ อื่นๆ ล่าสุดเช่น โรงพยาบาลสมิติเวชของกลุ่ม BDMS ที่ปรับปรุงอาคารสำนักงานเดิมของสหธนาคารเป็นโรงพยาบาลกรุงเทพไชน่าทาวน์ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสมิติเวชไชน่าทาวน์ โรงพยาบาลขนาด 59 เตียงที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะคนจีนและคนไทยในพื้นที่โดยรอบ ร้านค้าหรือพื้นที่ค้าปลีกในเยาวราชก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ร้านค้ารูปแบบเดิมๆ เริ่มลดลงมีการเปลี่ยนไปสู่รูปแบบที่สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเส้นทางรถไฟฟ้ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงศักยภาพของพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง แม้แต่พื้นที่ที่แทบหาที่ดินในการพัฒนาไม่ได้แล้วอย่างในย่านเยาวราชก็ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงให้เห็น แต่รูปแบบโครงการที่อาจจะแทบไม่มีเลยคือ โครงการคอนโดมิเนียมเพราะคนในพื้นที่มีความต้องการบ้านและที่จอดรถมากกว่าคอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ที่เปิดขายใหม่ในพื้นที่โดยรอบเยาวราชได้รับความนิยมมากเพราะเจ้าของกิจการในเยาวราชซื้อเพื่อไว้เก็บของและจอดรถ แม้ว่าจะมีราคาขายมากกว่า 20 ล้านบาทต่อหน่วยก็ตาม และปิดการขายได้เร็วมากๆ แต่ถ้าในอนาคตเมื่อเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมต่อกับระบบเส้นทางปัจจุบันแล้วพื้นที่โดยรอบเยาวราชทั้งในฝั่งธนบุรี และพื้นที่ตามแนวถนนพระราม 4 ซึ่งไม่ไกลจากเยาวราชอาจจะเป็น 1 ในพื้นที่ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในอนาคต 

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3481 ระหว่างวันที่ 23 - 26 มิถุนายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0