โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'สามารถ' แฉเบื้องลึก ทอท. เดินหน้าสร้างเทอร์มินัล 2 เมินขยายเทอร์มินัล 1

MThai.com - News

เผยแพร่ 23 ก.ย 2561 เวลา 10.48 น.
'สามารถ' แฉเบื้องลึก ทอท. เดินหน้าสร้างเทอร์มินัล 2 เมินขยายเทอร์มินัล 1
'สามารถ' แฉเบื้องลึก ทอท. เดินหน้าสร้างเทอร์มินัล 2 เมินขยายเทอร์มินัล 1 ชี้ ไม่อยากให้ถูกครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เคพีเอส

‘สามารถ’ แฉเบื้องลึก ทอท. เดินหน้าสร้างเทอร์มินัล 2 เมินขยายเทอร์มินัล 1 ชี้ ไม่อยากให้ถูกครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เคพีเอส

จากกรณีที่คณะกรรมการ ทอท. มีมติเห็นชอบให้ ทอท. ดำเนินงานจ้างสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาจ้างสำรวจออกแบบฯ ได้ภายในเดือน ก.ย. 2561 และดำเนินการออกแบบก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 10 เดือน คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปลายปี 2562 และแล้วเสร็จในปลายปี 2564

ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ในประเด็นความเหมาะสมของแบบ และตำแหน่งที่ตั้งของอาคารซึ่งไม่ตรงกับตำแหน่งที่มีการจัดเตรียมไว้ในแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ

แผนแม่บทนี้จัดทำโดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของ ทอท. โดยมีบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของอเมริการ่วมอยู่ด้วย

ในช่วงหนึ่งของการทำงานของผม ผมมีอาชีพเป็นวิศวกรที่ปรึกษาด้านคมนาคมขนส่ง โดยได้มีโอกาสทำงานในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย อีกทั้ง ได้ทำงานกับบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ฯ อยู่หลายปี ในช่วงระยะเวลาที่ทำงานในสังกัดของบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ฯ ประมาณปี พ.ศ.2533-2534

ผมได้ร่วมศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบท่าอากาศยานทั่วประเทศไทย (Airport System Master Plan Study) ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ พบว่ากรุงเทพฯ จำเป็นจะต้องมีสนามบินแห่งใหม่ และประมาณปี พ.ศ.2535-2536 ผมได้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ผมมีข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิพอสมควร

ตามแผนแม่บทดังกล่าว อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะตั้งอยู่ทางด้านใต้ของอาคารผู้โดยสารในปัจจุบัน หรืออาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 โดยจะมีทางเข้าออกจากถนนบางนา-ตราดเป็นหลัก ในขณะที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 มีทางเข้าออกจากมอเตอร์เวย์เป็นหลัก การเดินทางเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารทั้งสอง จะมีรถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือเอพีเอ็ม) ให้บริการ

แต่อย่างไรก็ตาม อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่ ทอท.กำลังจะดำเนินการก่อสร้างนั้น ไม่ได้มีตำแหน่งตรงกับแผนแม่บท โดย ทอท.ได้ย้ายมาอยู่ใกล้ๆ กับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 หากเดินทางเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิจากมอเตอร์เวย์ อาคารนี้จะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1

การเปลี่ยนตำแหน่งของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะมีผลกระทบต่อภาพรวมในการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิอย่างไร เป็นเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจ ด้วยเหตุนี้ ทอท.จะต้องชี้แจงให้สาธารณชนได้รับรู้

ตามแผนการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนที่จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 นั้น ทอท.จะต้องขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ออกไปทั้งสองด้าน คือด้านตะวันออกและด้านตะวันตก เพื่อเพิ่มความจุให้อาคาร เหตุที่ ทอท.ไม่ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ให้ครบถ้วนตามแบบตั้งแต่ตอนแรกก็เพราะว่ารัฐบาลในขณะนั้นต้องการลดงบประมาณการก่อสร้าง

จึงได้ตัดพื้นที่ดังกล่าวออกไป พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุบางส่วน จึงทำให้ค่าก่อสร้างถูกลง จากราคากลางเดิม 45,000 ล้านบาท เหลือ 36,000 ล้านบาท เหตุใด ทอท.ไม่ขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ก่อนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

ก่อนเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 28 กันยายน 2549 ทอท.และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด หรือเคพีเอส ได้ร่วมลงนามในสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ สัญญาที่ ทสภ.1-01/2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2548 อายุสัญญา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2559

โดยเคพีเอสเสนอที่จะทำกิจกรรมร้านอาหารและเครื่องดื่มแบบ Jungle Garden บริเวณอาคารผู้โดยสารภายในประเทศซึ่งอยู่ด้านตะวันออกของอาคาร ต่อมาเคพีเอสมีหนังสือที่ คพส.040/2548 ลงวันที่ 13 กันยายน 2548 ถึง ทอท. ขอพื้นที่สร้างอาคาร City Garden ขนาด 2 ชั้น บริเวณอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ โดยพื้นที่ชั้นที่ 1 จะทำเป็นสำนักงาน และชั้นที่ 2 จะทำกิจกรรมร้านอาหารและเครื่องดื่ม

เพื่อให้รู้ถึงตำแหน่งของอาคาร City Garden อย่างชัดเจน หากเราเดินทางไปต่างจังหวัด จะต้องเดินไปที่ประตูขึ้นเครื่องหรือเกทที่ต้องการบนชั้นที่ 2 ของอาคารผู้โดยสาร หลังจากสิ้นสุดทางเลื่อนแล้วให้เลี้ยวซ้าย จะเห็นร้าน Boots อยู่ที่หัวมุม ถัดจากร้าน Boots ให้เลี้ยวซ้ายก็จะถึงร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งขายดีมาก

ต่อมาในวันที่ 19 ตุลาคม 2548 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีมติเห็นชอบตามที่เคพีเอสร้องขอ แต่ได้ระบุชัดว่า หาก ทอท.มีแผนขยายอาคารผู้โดยสาร เคพีเอสจะต้องรื้อถอนอาคาร City Garden ออกไป ซึ่งตามรายงานการประชุมดังกล่าว ในหน้าที่ 7 ข้อ 2.4 ระบุว่า “อาคารดังกล่าวจะใช้งานประมาณ 5-10 ปี และหาก ทอท.มีแผนขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร บริษัทฯ มีความยินดีจะปรับรื้ออาคารดังกล่าวออกให้ต่อไป”

อีกทั้ง ในวันที่ 5 มกราคม 2549 ทอท.ได้มีหนังสือเลขที่ ทอท.(สคก.) 4/2549 ถึงเคพีเอส โดยเน้นย้ำชัดๆ ว่า “ทอท.ขอแจ้งให้ทราบว่า จะมีโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 3 ในปี พ.ศ.2553 โดยมีการขยายอาคารที่พักผู้โดยสารทั้ง 2 ด้าน (ตะวันออกและตะวันตก) ซึ่งจะกระทบต่ออาคารของบริษัทฯ เนื่องจากอาจจะต้องมีการรื้อย้ายอาคาร City Garden ในภายหลัง”

ในเวลาต่อมา ทอท.ได้ปรับเปลี่ยนแผนโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้มีแผนที่จะขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก ในระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560) ซึ่งมีวงเงิน 4,825.5 ล้านบาท ทั้งนี้ ทอท.อ้างว่าจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม โครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ก็ไม่มีงานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกรวมอยู่ด้วย

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไม ทอท.จึงดึงงานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกออกจากโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 และทำไม ทอท.จึงไม่มีคำสั่งให้เคพีเอสรื้ออาคาร City Garden ออกไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ ทั้งๆ ที่มีการใช้งานอาคารดังกล่าวเกิน 10 ปีแล้ว

และทั้งๆ ที่ เคพีเอสก็มีความยินดีที่จะรื้ออาคารดังกล่าวตามที่ได้ระบุไว้ชัดเจนในรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันพุธที่ 19 ตุลาคม 2548

หาก ทอท.เลือกที่จะขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตกตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะใช้งบประมาณและเวลาน้อยกว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคนต่อปี (ประมาณการจากตัวเลขของ ทอท.ที่อ้างว่าการขยายอาคารด้านตะวันออกเพียงด้านเดียวจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี)

ดังนั้น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งมีวงเงินถึง 42,084 ล้านบาท โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปีเช่นเดียวกัน ก็สามารถชะลอออกไปได้ ทั้งหมดนี้ด้วยความห่วงใย ทอท. ไม่อยากให้ถูกครหาว่าการไม่ขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เคพีเอสเท่านั้นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0