โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สามสิบ x เพื่อน ม.ปลาย - บองเต่า

THINK TODAY

เผยแพร่ 30 ม.ค. 2562 เวลา 07.43 น. • บองเต่า

ผมเคยอ่านเจอประโยคหนึ่งในอินเตอร์เนทซึ่งผมชอบมาก ประโยคนี้บอกผมว่า “Friends are like T-shirts. The older, the more comfortable” เพื่อนก็เหมือนเสื้อยืด ยิ่งเก่าก็ยิ่งสบาย 

วัยสามสิบกว่าๆ ของผมพิสูจน์ว่าประโยคนี้เป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะกับเพื่อน ม.ปลาย ซึ่งถ้าจะนับอายุกันแล้วก็พบว่าผมรู้จักไอ้เพื่อนพวกนี้มาเกือบยี่สิบปีแล้ว และน่าจะตกใจกว่านั้นเมื่อคำนวณแล้วพบว่าผมรู้จักพวกมันเกินครึ่งของชีวิตนี้ด้วยซ้ำ

เพราะตอนที่ผมเรียนมัธยม เป็นโรงเรียนระดับกลางๆ ที่ไม่ได้โดดเด่นมีชื่อเสียงอะไรมาก ตอนที่รุ่นผมสอบเอนทรานซ์เข้ามหาลัย (ครับ… สมัยก่อนเราเรียกการสอบเข้ามหาวิทยาลัยว่าสอบเอนทรานซ์) 

เกิดปรากฏการณ์แพแตกโดยสมบูรณ์ เพราะเพื่อนในห้องต่างกระจัดกระจาย เข้ามหาลัยและคณะต่างๆ กระจายไปคนละทิศคนละทาง กระจายไปขนาดที่ว่า ทั้งโรงเรียนมีผมที่สอบเข้าคณะบัญชี จุฬาฯ แค่คนเดียว 

ถ้าจะนับคนที่สอบเข้าจุฬาฯ ในรุ่นผมก็มีไม่ถึงสิบคน แต่ละคนก็กระจายไปอยู่คนละคณะกันหมด ซึ่งจะไม่เหมือนกับโรงเรียนดังๆที่เวลาเข้ามหาลัยให้ความรู้สึกเหมือนเปลี่ยนโรงเรียน เพราะเพื่อนก็แห่กันมาเรียนคณะหรือมหาลัยเดียวกันเต็มไปหมด

ความแพแตกนี้ทำให้การกลับมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนกลายเป็นเรื่องยากมาก เพราะบางคนก็ย้ายถิ่นฐานไปต่างจังหวัด บางคนต้องไปอยู่หอ ตารางเรียนก็ไม่เหมือนกัน 

เรียกว่าสี่ปีในรั้วมหาลัยกลายเป็นหลุมดำของความสัมพันธ์กับเพื่อน ม.ปลาย ไปแบบช่วยไม่ได้ ถึงจะนัดเจอกันได้ ก็จะได้เจอกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เป็นหย่อมๆ ไปตามวาระโอกาส ถ้าจะนัดมาเจอกันแบบเกินสิบคนนี่บอกเลยว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลย

แต่แล้วพอเลขสามสิบมาถึง กลับกลายเป็นว่ามันเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์กับเพื่อน ม.ปลายกลับมาสนิทชิดใกล้กันมากขึ้น ส่วนนึงคงเป็นเพราะมันมีวาระโอกาสให้ได้มารวมตัวกัน เช่นงานบวช งานแต่ง หรือแม้แต่งานศพ (ซึ่งผมผ่านมาหมดแล้วทั้งศพในครอบครัวเพื่อน และศพเพื่อนเอง)

งานแต่ง งานบวช งานหมวดรื่นเริงนี่เป็นอะไรที่พิสูจน์ความแน่นแฟ้นของมิตรภาพ ม.ปลายได้ดีมาก ทุกครั้งที่เรารวมตัวกัน จะมีกิจกรรมนึงที่โผล่ขึ้นมาแทบทุกครั้ง คือการนั่งไล่เลขที่ของเพื่อนทุกคนในห้องตอน ม.6 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดห้าสิบกว่าคน เราก็จะนั่งช่วยกันไล่ไปเรื่อยๆตั้งแต่เลขที่หนึ่ง ไปจนจบ 

แล้วเวลาไล่ไปถึงเพื่อนบางคนที่หายสาบสูญออกนอกวงโคจรไปนาน ก็จะพยายามช่วยกันสืบว่าตอนนี้มันทำอะไรอยู่ที่ไหน บางคนก็พอสืบได้ แต่บางคนก็หลุดออกนอกวงโคจรไปไกลจริงๆ ความพีคที่สุดของเรื่องเลขที่ คงเป็นตอนที่ในกรุ๊ปไลน์เพื่อน ม.ปลาย ที่ตอนนี้รวบรวมกันกลับมาได้สามสิบกว่าชีวิต 

มีเพื่อนทักขึ้นมาว่ากำลังจะแต่งงาน ต้องการให้ทุกคนส่งชื่อจริง นามสกุลจริงมาให้หน่อย เพื่อจะใช้จ่าหน้าซองการ์ดเชิญ ปรากฏว่าอยู่ดีๆ เพื่อนคนนึงที่เคยทำหน้าที่เป็นเลขาของห้อง ก็ส่งรูปใบเช็คชื่อ ซึ่งเป็นกระดาษขนาดเอฟสี่ (ยาวกว่าเอสี่นิดหน่อย) สีเหลืองปอนด์ๆ ที่เราเรียกกันว่า “โรเนียว” ซึ่งมีชื่อจริง นามสกุลจริงของเพื่อนทุกคน เรียงเลขที่ทั้งห้องไว้ครบถ้วนหมดแล้ว

ซึ่งใบเช็คชื่อนี้เป็นเอกสารที่ไปขอได้จากห้องวิชาการ ส่วนมากคนที่ใช้ใบเช็คชื่อในห้องจะมีไม่กี่คนแค่นั้นแหละ แต่ภาพใบเช็คชื่อนี้มันเพอร์เฟกต์มาก เพราะไม่มีรอยขีดเขียนอะไรเลย ถ้านับอายุใบเช็คชื่อนี้ก็เกือบยี่สิบปีแล้ว แต่มันก็ยังเป็นไฟล์ที่ถูกเก็บรักษา ส่งต่อ และใช้งานอยู่จนถึงทุกวันนี้เมื่อต้องแจกการ์ดแต่งงาน

อีกนอกจากชื่อเพื่อนแล้ว ชื่อพ่อเพื่อนก็ยังเป็นอะไรที่อยู่ในความทรงจำไม่มีลืม เมื่อเจอหน้ากันนอกจากชื่อเพื่อนแล้วเราก็ยังจำชื่อพ่อมันได้โดยอัตโนมัติ ถึงแม้ว่าโตขึ้นมาแล้วเราก็ยังไม่เข้าใจตรรกะของการล้อชื่อพ่อเพื่อนตอนเรียน ว่ามันสนุกตรงไหน ทำไมเราต้องปิดบังชื่อพ่อไว้ห้ามให้เพื่อนรู้ยิ่งกว่าความลับสวรรค์

ด้วยช่องว่างของเวลาที่เราต่างคนต่างแยกย้ายกันไป ทำให้บทสนทนาบนโต๊ะจีนงานแต่งวันนั้นหลากหลายและไหลลื่นไม่หยุดตั้งแต่งานเริ่มจนกระทั่งเราเป็นโต๊ะสุดท้ายที่ออกจากงาน เราคุยกันตั้งแต่ ทริปต่างประเทศที่เพิ่งไปเที่ยวกันมา 

ปัญหาในชีวิตการทำงาน แลกเปลี่ยนรายชื่อหมอรักษาหัวล้าน นัดกันไปซ้อมวิ่งที่สวนลุม ไปจนถึงแถลงข่าวเบื้องลึกการหย่าร้างของเพื่อนผู้มีประสบการณ์ตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่หนักหนาแค่ไหน วันนั้นเราหัวเราะกันจนเหนื่อย

วัยสามสิบพาผมกลับมาเจอฝูงเพื่อน ม.ปลายที่ห่างหายไปเป็นสิบปีอีกครั้ง กลับมาพูดคุยแบบต่อกันติดราวกับว่าเราเพิ่งเจอกันครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้ วัยสามสิบทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วพวกมันไม่ได้หายไปไหนไกลเลย 

มันก็ยังเป็นเพื่อน “สนิท” ของเราอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ คำว่า “สนิท” นั้นไม่ได้บ่งบอกด้วยการ เจอกันทุกวัน โทรหากันบ่อยๆอีกต่อไป แต่มันยืนยันได้ด้วยความ “เหมือนเดิม” ที่ยังมั่นคงผ่านกาลเวลา

วันนั้นผมขับรถกลับจากงานแต่งอย่างอารมณ์ดี เมื่อถึงบ้านแล้วจึงโพสต์สเตตัสพร้อมแปะรูปถ่ายในงานแต่งในเฟซบุ๊กไว้ว่า “เพื่อนก็เหมือนเสื้อยืด ยิ่งเก่ายิ่งใส่สบาย”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0