โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สามสิบ x เงินเก็บ - บองเต่า

THINK TODAY

เผยแพร่ 13 ก.พ. 2562 เวลา 07.47 น. • บองเต่า

ผมเป็นคนที่ชอบอ่านกระทู้พันทิปมาก จริงๆ ผมเป็นสมาชิกพันทิปรุ่นดึกดำบรรพ์มาเกือบยี่สิบปี ถ้าเด็กรุ่นใหม่เข้าเฟซบุ๊ก ดูไอจีกันทุกวัน 

สมัยที่ผมยังต่ออินเตอร์เนทผ่านโมเด็ม ยังต้องซื้อชั่วโมงขูดรหัสมากรอกในยุคนั้น พันทิปก็ไม่ต่างจากเฟซบุ๊ก หรือไลน์ทูเดย์ในวันนี้ที่ผมต้องเข้ามาหาอะไรอ่านทุกวัน

หนึ่งในกระทู้ที่ผมอ่านผ่านตาบ่อยที่สุดในพันทิป คือกระทู้เงินเดือน เงินเก็บ

      “อายุ 25 เงินเดือนสองแสน ไม่เหลือเงินเก็บเลยครับ”

      “อายุ 30 ปี ต้องมีเงินเก็บเท่าไรถึงจะมั่นคงคะ”

      “อายุ 35 แต่ยังไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ถือว่าชีวิตล้มเหลวมั้ยครับ”

โอ้โห มนุษย์พันทิปนี่เขาทำงานอะไรกัน ทำไมเงินเดือนเงินเก็บถึงได้ทะลุชั้นบรรยากาศโลกไปขนาดนั้น นี่เราอ่านกระทู้หรือนิยายอยู่กันเนี่ย แล้วลองคิดดูนะครับว่าตอนที่ผมอ่านกระทู้พวกนี้ คือเริ่มทำงานใหม่ๆ เงินเดือนสองสามหมื่น แค่จะเอาชีวิตให้รอดถึงสิ้นเดือนยังไม่ง่าย มาเจอกระทู้แบบนี้นี่ยิ่งเครียดเข้าไปอีก คนอื่นเขาจริงจังเรื่องการเงินกันตั้งแต่อายุ 25 แต่เราคิดได้แค่ว่าพรุ่งนี้จะไปกินบอนชอนหรืออาฟเตอร์ยูดี

ผมพบว่าชีวิตก่อนสามสิบนั้น การเก็บเงินเป็นอะไรที่ไม่ง่ายเลย ส่วนที่เก็บได้ก็เล็กน้อยหอยเห็บจนไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไร ซึ่งจะไปโทษเรื่องรายได้อย่างเดียวก็ไม่ถูกนัก แต่สิ่งนึงที่ทำให้การเก็บเงินในช่วงแรกมักล้มเหลวพังพินาศ คือความไม่มีวินัยทางการเงินของตัวเราเองนี่แหละ 

เอะอะก็ให้รางวัลตัวเองไว้ก่อน เฮ้ย เราอาทิตย์นี้เราทำงานเหนื่อยเว้ย เราต้องให้รางวัลด้วยอาหารดีๆสักมื้อ เอะอะก็ต้องออกไปตามแพสชั่น YOLO ยูโอนลี่ลีฟวั๊นซ์ จัดไป อาแปะบอกว่าตอนนี้มีตั๋วเครื่องบินโปรโมชั่นไปโอซาก้าถูกยิ่งกว่าไปภูเก็ต ไม่จัดได้ไง

ครับ… กว่าจะได้สติ ภาพก็ตัดกลับมาที่ความแห้งแล้งของบัญชีเงินฝาก แห้งยิ่งกว่าเขตป่าเสื่อมโทรม

วัยสามสิบ คือวัยที่ผมได้สติกลับคืนมาว่า เฮ้ย เรื่องเงินเรื่องใหญ่นะ ต้องจริงจังแล้วนะ เงินเดือนส่วนที่จะเก็บ จะเก็บยังไง ลงทุนยังไง อัตราผลตอบแทนเท่าไร ความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน มันถึงเวลาต้องศึกษาแล้ว ไหนจะหุ้น ไหนจะกองทุน ไหนจะประกัน ความรู้สมัยเรียนไฟแนนซ์ตอนมหาลัยนี่ต้องขุดออกมาจากหลุมขึ้นมาปัดฝุ่นกันให้หมด

แล้วสติที่ว่านั่นมาจากไหน มันไม่ได้เกิดจากการตรัสรู้เข้าถึงนิพพาน แต่มันมาจากการที่ผมถามตัวเองว่า เดือนๆนึงเราใช้เงินไปกี่บาท แล้วผมพบว่าผมไม่สามารถตอบตัวเองได้ ซึ่งผมพบว่าเป็นเรื่องที่โคตรน่ากลัวเลย เพราะการที่เราไม่รู้ว่าเราใช้เงินเท่าไรแปลว่า เราก็ไม่รู้ด้วยว่าเราเก็บเงินได้เท่าไรเช่นกัน 

นั่นแหละครับ เหมือนโดนฝ่ามืออรหันต์ตบหน้าให้ได้สติทันที อย่างแรกที่ทำตอนนั้นคือหาแอพจดค่าใช้จ่าย โหลดใส่มือถือก่อนเลย ซึ่งแอพพวกนี้เดี๋ยวนี้มีเยอะมากครับ แอพฟรีก็หลายอันให้เลือกใช้ได้

ผมเรียนรู้ว่าการจดค่าใช้จ่ายนี่ถือเป็นก้าวแรกที่ดีของการเก็บเงิน เราสามารถจากการเริ่มจดคร่าวๆ ว่าวันนี้ใช้ไปกี่บาท แล้วมาดูตอนสิ้นเดือนว่าใช้ไปเท่าไร ซึ่งโมเมนต์ของการสรุปยอดสิ้นเดือนจะคอยเตือนสติให้เกิดหิริโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปไปเองว่าเดือนนี้ใช้เยอะจัง เดือนหน้าต้องเพลาๆหน่อยนะ

พอเริ่มมีสติแล้ว เดี๋ยวขั้นตอนต่อไปมันจะเริ่มง่ายขึ้นเองครับ เช่น การศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุน ตราสารหนี้ ต่างกับหุ้นยังไง ความเสี่ยงกองทุนดูตรงไหน ไปจนถึงการสร้างวินัยในการเก็บเงิน ซึ่งของพวกนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่สร้างได้ภายในวันเดียว แต่ใช้เวลาเป็นปี ค่อยๆฝึก ค่อยๆ ทำจนกลายเป็นนิสัย 

มันไม่ได้ซับซ้อนจนน่ากลัว เพราะความรู้หลายอย่างในวันนี้มีให้ศึกษากันฟรีๆในอินเตอร์เนทแล้ว แถมเป็นภาษาง่ายๆเข้าใจได้โดยไม่ต้องจบปริญญาด้านการเงินก็อ่านรู้เรื่อง

หลักสำคัญอีกอย่างของการเก็บเงินคือ ใครเริ่มก่อนได้เปรียบ ทุกครั้งที่มีโอกาสได้คุยกับน้องในทีมเรื่องการเก็บเงินออมเงิน ผมจะพยายามให้เริ่มทันที เริ่มจากน้อยๆ เดือนละไม่กี่ร้อย เพราะเงินไม่กี่ร้อยนี่แหละที่จะสามารถทบดอกเบี้ยผลตอบแทนทุกปีทีละนิดๆ จนกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ ขอแค่เริ่มตั้งแต่วันนี้

ความรู้ที่สำคัญที่สุดอย่างนึงที่ชีวิตวัยสามสิบมอบให้ผม คือสิ่งที่เรียกว่า financial literacy หรือที่แปลกันง่ายๆก็คือ ความรู้พื้นฐานเพื่อบริหารเงินและทรัพย์สินของตัวเอง 

ถึงแม้ว่าอายุเกษียณนั้นจะอยู่อีกไกลลิบ แต่เราต้องเริ่มคิดมากกว่าอาหารของวันพรุ่งนี้ แต่ต้องคิดแล้วว่าจะต้องบริหารเงินยังไงให้มีเงินใช้ในวันนั้น เพราะจะไปเริ่มวางแผนกันตอนอายุห้าสิบกว่าก็ช้าไปแล้ว

การเก็บเงินอย่างมีสติ ไม่ใช่การเลิกกิน เลิกเที่ยว เลิกใช้จ่าย เพราะถ้าทำแบบนั้นแนะนำให้ไปบวชหรือธุดงค์จะตอบโจทย์กว่า เรายังสามารถใช้ชีวิตที่แซ่บได้เหมือนเดิม แต่จงแซ่บอย่างมีสติ แซ่บอย่างรู้คุณค่าเงินทุกบาทที่จ่ายไป แซ่บอย่างรู้กำลังทรัพย์ว่าแซ่บระดับไหนที่เหมาะสมกับเราที่สุด นี่แหละคือชีวิตแซ่บอย่างมีคุณภาพที่แท้จริง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0