โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สามก๊ก ฉบับ’ถาปัดจุฬาฯ - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 03 ก.ย 2561 เวลา 04.22 น. • วินทร์ เลียววาริณ

สามก๊ก ของหลอก้วนจงเป็นนวนิยายที่ถูกดัดแปลงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในโลก ในรูปหนังสือเฉพาะในบ้านเราก็มีหลายสิบเวอร์ชั่น บทกวี การ์ตูน ไปจนถึงภาพยนตร์ ก็สร้างมาแล้วทั้งจอเงินและจอแก้ว

ส่วนสามก๊กฉบับละครน่าจะมีน้อยกว่า และละครสามก๊กที่เป็นเวอร์ชั่นตลก ในเมืองไทยน่าจะมีแค่เวอร์ชั่นเดียวคือ สามก๊กฉบับ’ถาปัด จุฬาฯ เมื่อปี 2520 ก็สี่สิบกว่าปีแล้ว

คณะสถาปัตย์ จุฬาฯน่าจะเป็นคณะสถาปัตย์เดียวในโลกที่ทำละครตลกด้วย และทำต่อเนื่องมาหลายสิบปี กลายเป็นกิจกรรมหนึ่งของคณะไปแล้ว จนเกือบจะเปลี่ยนชื่อเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการละคร

นิสิตคณะนี้ก็ไม่ค่อยเรียน ทำกิจกรรมเล่นสนุกไปวันๆ หาแก่นสารอะไรมิได้! กิจกรรมหนึ่งในบรรดาเรื่อง ‘หาแก่นสารอะไรมิได้’ ก็คือเล่นละคร เล่นเองขำเอง

เอกลักษณ์เฉพาะของละคร’ถาปัดคือไร้สูตร ไร้รูปแบบ เป็นส่วนผสมของความคิดสร้างสรรค์กับอารมณ์ขัน ส่วนหนึ่งเพราะการเรียนจำเป็นต้องพึ่งความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ

ละคร’ถาปัดเริ่มต้นเมื่อปี 2517 หนึ่งปีก่อนผมเข้าเรียน เรื่องแรกคือ คอยรถเมล์ ตามมาด้วย ลืมบอกแม่ เรื่องที่สาม โรเมโอ-จูเลียต

โรเมโอ-จูเลียต เป็นละครรูปแบบใหม่ นำเสนอต่างจากละครทั่วไปคือ ไม่มีเวทีเป็นเรื่องเป็นราว แต่จัดที่นั่งให้คนดูล้อมวงคนแสดง

ผลตอบรับละครอยู่ในเกณฑ์ดี คนบอกต่อกันเยอะ ทำให้นิสิตเกิดความฮึกเหิมทำต่อมาอีกสองเรื่อง คือ รถเมล์คันสุดท้าย และ สามก๊ก

หัวเรือใหญ่หรือผู้กำกับละคร สามก๊ก คือ จรัสพงษ์ สุรัสวดี เป็นนิสิตรุ่นพี่ผมสามปี ผู้วางโครงสร้างเรื่องคือ สุจิตร โสรจศรีโสม เพื่อนสนิทรุ่นเดียวกับผม เขาย่อย สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หนึ่งพันห้าร้อยกว่าหน้าเป็นบทละครยาวสามชั่วโมง จากนั้นทีมงานก็ร่วมเขียนบท คิดแก๊ก มุขตลกต่างๆ ทีมงานสามก๊กแต่ละคนยังเป็นนิสิตวัยละอ่อน ไม่เคยมีประสบการณ์การทำละครและการเขียนบท แต่ก็ใช้สัญชาตญาณเขียนออกมาจนสำเร็จ

เราแบ่งงานออกเป็นทีม ทีมออกแบบเครื่องแต่งกายตัวละคร ทำแบบที่เป็นชุดจีนโบราณ แล้วตัดเย็บออกมา ออกแบบอาวุธต่างๆ

เรื่องเมคอัพแต่งหน้านั้น ก็ไม่มีใครเคยมีประสบการณ์มาก่อนเช่นกัน ต้องเขียนคิ้วให้ใหม่ ใส่หนวดเครา ก็มั่วจนเสร็จเรียบร้อย

นิสิตคนหนึ่งผิวดำคล้ำ แต่รับบทขุนศึกจีนผิวขาว ทีมเมคอัพก็ต้องหาวิธีทาหน้าเขาจนขาว ปรากฏว่าทาใบหน้าจนแป้งจะหมดกระปุก ตัวยังไม่ขาวขึ้น

ข้อดีของการแสดงแบบให้คนดูล้อมวงนักแสดง ดีตรงที่ไม่ต้องทำฉากเลย ประหยัดดี

เช่นเดียวกับละครเรื่องก่อนคือ โรเมโอ-จูเลียต สามก๊กก็มีกำหนดเล่นที่ศาลาพระเกี้ยว แต่ในนาทีสุดท้าย ศาลาพระเกี้ยวปิดซ่อม ต้องย้ายโรงละครไปที่ใต้ถุนตึกเคมี 3 ทำให้ทีมงานปวดหัว เนื่องจากการย้ายทุกอย่างข้ามตึกไม่ง่าย แต่ก็ร่วมมือร่วมแรงทำเสร็จเรียบร้อย ละครเริ่มรอบแรกที่ใต้ถุนตึกเคมี 3 ตรงกำหนด

ในการแสดงรอบแรก เมื่อผู้ชมนั่งประจำที่แล้ว ทั้งโรงละคร (ก็คือใต้ถุนตึกเคมี 3 ที่มีผ้าดำกั้น) ก็จมในความมืด มีเสียงบรรยายเกริ่นเข้าเรื่อง ประโยคแรกคือ “วันนี้คือการซ้อมใหญ่ครั้งที่หนึ่ง”

ปรากฏเสียงฮาแรกของการแสดง!

งานนี้ไม่มีอะไรซีเรียสเลยจริงๆ

แล้วนักแสดงก็ออกมาวาดลวดลาย คนรับบทเตียวเสี้ยนคือเพื่อนรุ่นผมเอง รูปร่างเธอสูงใหญ่เพราะเป็นนักกีฬา ดูไม่ค่อยเหมือนเตียวเสี้ยนในหนังสือเท่าไร แต่อย่างที่บอก เรื่องนี้เล่นเอาฮา

ฉากหนึ่งในละคร โจโฉมอบของที่ระลึกให้กวนอู บอกว่า “เราให้ท่านเป็นกำนัล”

กวนอูตอบว่า “โอ! ขอบคุณๆ ข้าได้เป็น ‘กำนัน’ เลยหรือ”

สามก๊กฉบับ’ถาปัด จุฬาฯ เต็มไปด้วยมุขล้อเลียนโฆษณา เป็นแก๊กที่ปัจจุบันเราเรียกว่า มุขควาย ยกตัวอย่างเช่น สมัยนั้นหลอดไฟโตชิบาออกโฆษณาเป็นฉากร้านขายของ ลูกค้าฝรั่งคนหนึ่งเดินเข้าไปในร้าน ขอซื้อ “โต่ชิบ่า” เถ้าแก่มองหน้าลูกค้าอย่างประหลาด แล้วตอบว่า “ในเมืองไทยเราเรียกว่า โต-ชิ-บ้า”

แก๊กนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของละคร เมื่อบังทองเรียกขงเบ้งว่า “เบ้ง เบ้ง” ขงเบ้งที่ถูกเรียกก็ยืดอก บอกว่า “ในเมืองไทยเราเรียกว่า ขง-เบ้ง”

ปรากฏว่าเสียงหัวเราะดังแทบทุกนาที หัวเราะท้องคัดท้องแข็ง

ผมสถิตใต้ถุนตึกเคมี 3 แทบทุกคืน ได้ยินเสียงหัวเราะเสมอต้นเสมอปลาย ทุกคนมีความสุข

ละคร สามก๊ก ฉบับ’ถาปัดจุฬาฯ เป็นจุดสูงสุดของละครตลกมหาวิทยาลัย เพราะเป็นเรื่องเดียวที่สมเด็จพระเทพฯเสด็จไปชม และสรวลเช่นเดียวกับผู้ชมทั้งหมด

หลังจากนั้นทีมงานก็ยกขบวนไปแสดงต่อหน้าพระพักตร์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่สวนอัมพร

หลังละครเลิก นักแสดง คนทำฉาก และทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอาหารจากวัง

เป็นความทรงจำของชาวคณะมิรู้ลืม

…………..

สามก๊กประสบความสำเร็จอย่างสูง ใครๆ ดูแล้วอารมณ์ดี

หลังจาก สามก๊ก ก็มีละครตลกอีกหลายเรื่อง ไล่เรียงมาเกือบทุกปี เช่น เจอติ๋มที่สี่แยก, สวัสดีไมโครโฟน, โรบินฮูด, ผีเสื้อขนมโก๋, น่านเจ้า, โชกุน, ก๊อดฟาเธอร์, เชอร์ล็อค โฮล์มส์, ชอลิ้วเฮียง, เดชไอ้ด้วน ฯลฯ

ผลที่ไม่มีใครคาดถึงคือมันเปิดโลกใหม่ให้ชาว’ถาปัด จุฬาฯ นั่นคือโลกภาพยนตร์และโทรทัศน์

นายทุนภาพยนตร์คนหนึ่งคงไปดูละคร สามก๊ก ประทับใจอย่างยิ่ง จึงให้เงินมาทำหนัง เป็นที่มาของหนังเรื่อง สืบยัดไส้ ในปี พ.ศ. 2521

ทีมงาน สามก๊ก เช่น จรัสพงษ์ สุรัสวดี, ปัญญา นิรันดร์กุล, ภิญโญ รู้ธรรม ฯลฯ เข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างไม่คาดฝัน

หนังเข้าโรงแบบงงๆ ไม่มีใครรู้จักผู้กำกับและนักแสดง ผลก็คือหนังล้มเหลวไม่มีคนดู จนทีมงานสร้างต้องจ้างคนไปดู เพื่อต่ออายุให้หนัง ทุกวันพวกเขาซื้อตั๋วหนังเป็นปึก แจกทุกคน ขอร้องให้ไปดู

ผมเองได้ตั๋วมาหลายใบ ก็ส่งต่อให้คนอื่น ปรากฏว่าได้รับคำชื่นชมล้นหลามเป็นเสียงเดียวกันว่า “หนังบ้าอะไรวะ!”

บางคนเปลี่ยนคำว่า ‘บ้า’ เป็นนามสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง แสดงว่าหนังของเขาดีจริง!

แม้หนังล้มเหลว ขาดทุนย่อยยับ แต่สำหรับวงการบันเทิง มันกลับเป็นกำไร เพราะมันแผ้วทางสายใหม่ให้นิสิต’ถาปัด จุฬาฯ

…………..

เจ็ดปีหลังจาก สามก๊ก ที่ใต้ถุนตึกเคมี 3 ทีมงานนี้แยกแตกหน่อออกไปสู่จอโทรทัศน์ ในปี 2527 รายการตลกรายการหนึ่งปรากฏที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ชื่อ เพชฌฆาตความเครียด เขียนบทและเล่นโดยกลุ่มเดิมที่ติดตรา ‘ซูโม่’ เรียกว่า ‘กลุ่มซูโม่สำอาง’

ชื่ออดีตนิสิตทั้งหลายที่ไม่คิดเอาดีทางสายวิชาที่เรียนมา มีคำว่า ‘ซูโม่’ นำหน้า เช่น ซูโม่ตู้ (จรัสพงษ์ สุรัสวดี), ซูโม่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล), ซูโม่โญ (ภิญโญ รู้ธรรม), ซูโม่เจี๊ยบ (วัชระ ปานเอี่ยม), ซูโม่ตุ๋ย (อรุณ ภาวิไล), ซูโม่โค้ก (สมชาย เปรมประภาพงศ์) และอีกมากมาย

รายการนี้ใช้มุขตลกล้อเลียนซึ่งสืบสายพัฒนามาจากละคร’ถาปัดเรื่องแรก เช่น ‘ภาษาไทยคำละวัน’ ที่ ปัญญา นิรันดร์กุล ล้อเลียนรายการ ‘ภาษาไทยวันละคำ’ ของอาจารย์กาญจนา นาคสกุล ฯลฯ ล้อเลียนครูบาอาจารย์นี่น่าตีมือจริงๆ!

ผู้กำกับและนักแสดงละคร’ถาปัด จุฬาฯ หลายคนเข้าสู่วงการบันเทิงจนทุกวันนี้ หลายคนยึดเวทีเป็นบ้านที่สอง เช่น ซูโม่กิ๊ก (เกียรติ กิจเจริญ), ดู๋ (สัญญา คุณากร) บางคนเข้าสู่วงการหนัง เช่น ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ส่วน ปัญญา นิรันดร์กุล กับ ประภาส ชลศรานนท์ เปิดโลกเกมโชว์และรายการสร้างสรรค์อื่นๆ ในอาณาจักรเวิร์คพอยท์

คนเหล่านี้เปลี่ยนวงการบันเทิงและโทรทัศน์ในหลายด้าน ซึ่งล้วนมีจุดเริ่มต้นจาก สามก๊ก ฉบับ’ถาปัดจุฬาฯ

ใช่! เสียงหัวเราะและความบันเทิงทั้งหลายในรอบหลายสิบปีนี้ เราให้ท่านเป็นกำนัล!

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

สิงหาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0